ที่มา หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน พนิดา สงวนเสรีวานิช
เสียงเพลงบุพเพสันนิวาส ที่ขับร้องโดย ไอซ์-ศรัณยู ดังกระหึ่มไปทั่วคุ้งน้ำวัดไชยวัฒนาราม ปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยวเมืองกรุงเก่าให้ดูขลังยิ่งขึ้น
ราวกับต้องมนต์กฤษณะกาลี ภาพของออเจ้าทั้งหลายชาย-หญิง ทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ตรงหน้า แต่งกายด้วยชุดไทยกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่โบราณสถาน เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงกระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ที่สร้างปรากฏการณ์อย่างแท้จริง
ที่สำคัญคือ เป็นอานิสงส์ให้กับเศรษฐกิจโดยรอบสะพัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงการค้าขายอาหาร-เครื่องดื่ม ยังรวมกิจการให้เช่าชุดไทย พร้อมแต่งหน้าทำผม
ชุดออเจ้า ผู้ใหญ่ 250 บาท เด็ก 200 บาท สนนราคานี้รวมทั้งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หรือจะเป็นพัดก็มีให้บริการพร้อมสรรพ
ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่วัดไชยวัฒนารามในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันคน ยิ่งในวันเสาร์-อาทิตย์ พุ่งทะยานขึ้นเป็นหลักหมื่นคน ทำให้ต้องมีการขยายเวลาเข้าชม (ตั้งแต่ 8 โมงเช้า) จากที่เคยปิดบริการ 1 ทุ่ม เป็น 3 ทุ่ม
ไม่ต่างจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่นี่เป็นฉากภายในห้องเรียนคณะโบราณคดีของเกศสุรางค์และเพื่อนสนิท-เรืองฤทธิ์
ศาลิสา จินดาวงษ์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา
ศาลิสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา บอกว่ากระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จากสถิติ 6 เดือนก่อนออนแอร์ มีนักท่องเที่ยว 3 หมื่นกว่าคน เฉพาะเดือนนี้ (มีนาคม 2561) มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 3,000 กว่าคน
พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา มีนักท่องเที่ยวคึกคัก
นอกจากฉากห้องเรียนนางเอกของเรื่อง ผอ.ศาลิสาบอกว่า “เครื่องกรองน้ำ” ที่เรือนไทย เป็นอีกจุดเรียกแขก โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่งชุดไทยกันสวยงามเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ ส่วนใหญ่จะมาถามว่าห้องเรียนอยู่ที่ไหน เครื่องกรองน้ำอยู่ที่ไหน ซึ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่ได้มาดูแค่ 2 สิ่งนี้เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เป็นความรู้นอกห้องเรียนอีกมากมาย และทำให้ความคิดเดิมที่บางคนอาจคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่เก่าๆ โบราณๆ เป็นที่เก็บสมบัติเปลี่ยนไป
ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑ์ในภูมิภาคแห่งแรกของกรมศิลปากร ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นจากเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ ตอนกรุแตกปี 2500 และพบโบราณวัตถุล้ำค่า คือเครื่องทองในกรุวัดราชบูรณะ และพบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า “ของที่เจอที่ไหนสมควรได้จัดแสดงที่นั่น” และเสด็จฯมาเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง
ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน
เมื่อกระแสตามรอยออเจ้าหนุนนำให้นักท่องเที่ยวไม่เกี่ยงเพศและวัยเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ปรากฏในฉากละครกันอย่างถล่มทลาย นี่จึงเป็นโอกาสที่จะสอดแทรกนำเสนอเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของสถานที่แต่ละแห่ง ดังที่ ผอ.ศาลิสาเล่าว่า ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาจึงทำป้ายเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพระนครศรีอยุธยาให้แวะเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนที่ไม่ได้มีแค่ “เครื่องกรองน้ำโบราณ”
สะพานป่าดินสอ หรือ “สะพานวานร” อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีวัดสำคัญคือ วัดบรมพุทธาราม วัดของพระเพทราชา
“มติชนอคาเดมี” ซึ่งเป็นสถาบันที่นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงความรู้ร่วมบรรยายให้ความรู้ตลอดทริปเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา จึงจัดทริป “ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาสตร์อยุธยา” โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในช่วงพระนารายณ์กับฝรั่งเศส พาย้อนอดีตไปรู้จักกับเบื้องหลังสถานที่ในฉากละครบุพเพสันนิวาส
ความงามของปูนปั้นที่ยังเหลือให้เห็นที่วิหารแกลบ ในวัดพุทไธศวรรย์
นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาแล้ว ยังพาไปสะพาน “ป่าดินสอ” บริเวณย่านการค้าเครื่องเขียน ที่แม่หญิงการะเกดมาช้อปปิ้งสมุดไทยและดินสอศิลาขาว “ป้อมเพชร” จุดที่นางเอกของเรื่องนั่งเรือและโบกมือทักทายกับบรรดาทหารบนป้อม “วัดธรรมาราม” สถานที่เป็นฉากก่อเจดีย์ทราย ก่อนจะลงเรือที่ท่าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ชมทัศนียภาพริมฝั่งน้ำ ไปขึ้นที่ท่าน้ำ “วัดพุทไธศวรรย์” และปิดท้ายที่ “วัดไชยวัฒนาราม”
เพื่อปูพื้นการเดินทางตามรอยออเจ้าทริปนี้เป็นไปอย่างเข้าใจมากขึ้น รศ.ดร.ปรีดีเล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า ที่เห็นจากในละครที่ขุนศรีวิสารวาจาเดินทางไปเป็นตรีทูตร่วมกับคณะทูตเจ้าพระยาโกษา(ปาน) ไปฝรั่งเศสนั้นเป็นการส่งราชทูตไปครั้งสุดท้ายแล้ว
ครั้งแรกส่งทูตไปแล้วเรือแตก ครั้งที่ 2 ส่งไปเพื่อตามข่าวครั้งแรกและทราบข่าวเรือแตก มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทราบความเรือแตกจึงส่ง “เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์” อัญเชิญพระราชสาสน์เข้ามาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ติดตามข่าวสารของไทย และเมื่อเดอ โชมองต์ จะกลับ เราจึงส่งคณะทูตไปเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งก็คือครั้งที่ขุนศรีวิสารวาจา และคณะทูตของเจ้าพระยาโกษา(ปาน) เดินทางไป ซึ่งราชทูตชุดนี้กลับมาจากฝรั่งเศสพร้อมกับ “เดอ ลา ลูแบร์” และ “โกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล”
“เป้าประสงค์การมาของเซเบอแร คือแก้ไขสนธิสัญญาที่เดอโชมองต์ทำไว้ เซเบอแรจึงเป็นคนแก้ไขสัญญาทางการค้าทั้งหมด ขณะที่ลาลูแบร์เป็นผู้แทนพิเศษที่เข้ามาเจรจาความอื่นๆ นอกเหนือจากการค้า คือการเมืองและการทหาร มาขอป้อมที่บางกอก และที่สงขลา
“ซึ่งถ้าฝรั่งเศสได้สงขลา มะริด ทวาย ตะนาวศรี และบางกอกไปแล้ว แปลว่าราชอาณาจักรสยามหายหมดเลย เหลือแค่เกาะอยุธยา และนี่ทำให้พระเพทราชาและสมเด็จพระนารายณ์ทรงวิตกกังวลพอสมควร รวมถึงขุนนางไทยที่เห็นว่าอำนาจของฝรั่งเศสคืบคลานเข้ามา”
วัดพุทไธศวรรย์ติดป้ายประชาสัมพันธ์เพจของวัด Putthaisawan
‘ม่านอาคม’เป็นเหตุ วัดพุทไธศวรรย์แทบแตก
เป็นอีกสถานที่ที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสละครบุพเพสันนิวาสไปเต็มๆ ความที่ถูกใช้เป็นฉากที่เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าการะเกดที่แท้เป็นใคร และยังได้มอบมนต์ใช้กำบังกายให้กับเธอ
“วัดพุทไธศวรรย์” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ในบริเวณที่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับของพระองค์ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงมีพระปรางค์เป็นหลัก ลักษณะเป็นพระปรางค์องค์เดี่ยว ถือเป็นหนึ่งในสองสิ่งสำคัญของวัดนี้ นอกจากพระระเบียง
เพียงแค่ก้าวเข้าไปในส่วนของระเบียงคด เสียงของเจ้าหน้าที่สาวในชุดสไบส่งเสียงเชื้อเชิญ ถ้าจะไปดูประตูม่านอาคมเชิญทางฝั่งขวานะคะ
แน่นอน นาทีนี้นักท่องเที่ยวแน่น แทบจะเข้าคิวรอถ่ายรูปกับประตูที่กลายเป็นสถานที่ต้องเช็กอินไปแล้ว
เหตุนี้วัดพุทไธศวรรย์จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมถ่ายรูปตั้งแต่เช้า แม้ไม่ถึงกับมีร้านให้บริการเช่าชุดไทยเช่นบริเวณหน้าวัดไชยวัฒนาราม แต่บางมุมก็มีผ้าซิ่นให้หญิงสาวที่นุ่งกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นได้ยืมเปลี่ยนชั่วคราวเพื่อขึ้นไปกราบสักการะบนพระอุโบสถ
พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
สำหรับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมวัดพุทไธศวรรย์ ไม่อยากให้พลาดชม “พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” อาคารปูน 2 ชั้น เป็นตำหนักเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์
“พระตำหนัก 2 ชั้นหาได้ยากในอยุธยา ที่สำคัญซุ้มประตูด้านล่างเป็นซุ้มประตูแบบพระราชนิยม เป็น Pointed arch คือเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมแบบวังนารายณ์
“ที่สำคัญไปกว่านั้น พระพุทธโฆษาจารย์รูปนี้ก็เดินทางไปลังกา ภายในพระตำหนักชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เลือนเต็มทนแล้ว บอกเล่าถึงประวัติของท่าน”
รศ.ดร.ปรีดีเกริ่นก่อนนำขึ้นพระตำหนักไปชมภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจในแต่ละจุด รวมทั้งชี้ให้ดูผนังด้านหนึ่งเหนือบานหน้าต่างเขียนภาพไตรภูมิ เชื่อว่าแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
“ไฮไลต์ของภาพที่อยากให้ชมกันคือ ภาพนางรำที่ถือเป็นแม่แบบการรำของอยุธยา ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นแม่บทของท่ารำในปัจจุบัน
“บนตำหนักนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่ขึ้นมาชม เราก็จะมุ่งไปที่ม่านอาคมกับมนต์กฤษณะกาลี” วิทยากรของทริปบอกพร้อมกับรอยยิ้ม และฝากย้ำเพื่อเป็นการตอบคำถามของผู้ที่สงสัยหลายๆ คนว่า วัดพุทไธศวรรย์ที่เห็นในละครมีสถานที่ซ้อมการต่อสู้ฟันดาบนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนักดาบพุทไธสวรรย์แต่อย่างใดเพียงแต่ชื่อมาพ้องจึงกลายเป็นแบรนด์ของสำนักดาบไป
ปริศนาพระปรางค์วัดไชย
หลังจากเดินเที่ยววัดพุทไธศวรรย์ พิสูจน์ม่านอาคมแล้วก็มาถึงเป้าหมายสุดท้าย สถานที่เหมาะแก่การเก็บภาพยามอาทิตย์อัสดงเป็นที่สุด
“วัดไชยวัฒนาราม” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยนำคติเขาพระสุเมรุกับแผนผังของปราสาทนครวัดมาเป็นต้นแบบ และดัดแปลงให้มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
“ที่นี่ถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอยุธยา ซึ่งจะสัมพันธ์กับตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 ครั้งนั้นพื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังหลัง’ ไปแล้ว คือฝั่งที่อยู่ในพระนครแต่อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นจุดที่พม่าต้องตีวังหลังให้ได้ และตีฝั่งตะวันออกคือวังหน้า ซึ่งถ้าจะตีวังหลังให้ได้ก็ต้องตั้งทัพที่ริมขอบพระนคร ฉะนั้นวัดริมน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดท่าการ้องลงมาจนถึงที่นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องรบกับพม่ามาตลอด วัดไชยวัฒนารามก็เป็นค่ายที่พม่าใช้ตั้งอาวุธยิงเข้าไปในกำแพงเมืองพระนคร” รศ.ดร.ปรีดีบอก
ต่อข้อสงสัยที่ว่า พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามที่ปรากฏในละครเรื่องดังนับตั้งแต่แวบแรกที่เกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกดมองเห็นเป็นสีทองอร่าม เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
รศ.ดร.ปรีดีบอกว่า ต้องยอมรับว่าผู้ประพันธ์เรื่องมีการค้นคว้าพอสมควร เพราะถ้าดูบนยอดปรางค์จะเห็นรูพรุนเต็มไปหมด
“รูพรุนเหล่านั้นเกิดจากการตรึงตะปูสังฆวานร โดยเอาแผ่นโลหะที่ปิดทองคำเปลวทาบบนผิวของพระปรางค์ก่อนจะตรึงด้วยตะปู ซึ่งแผ่นโลหะที่ว่านี้เรียกว่า ‘แผ่นทองจังโก’ ทำให้พระปรางค์วัดไชย ประหนึ่งปิดด้วยทองคำเปลว เราจึงเห็นร่องรอยที่เป็นรูพรุนทั่วพระปรางค์ ซึ่งพบเฉพาะปรางค์องค์ใหญ่ และปรางค์องค์เล็กที่อยู่สี่ทิศ โดยรอบเป็นปูนสีขาว”
วัดไชยวัฒนารามเป็นจุดสุดท้ายของทริปตามรอยบุพเพสันนิวาสที่อโยธยา
สำหรับออเจ้าที่พลาด ยังมีรอบ 2 จัดขึ้นเฉพาะกิจตามเสียงเรียกร้อง ในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561 ยังสามารถสำรองที่นั่งเข้ามาได้ที่ โทร 08-2993-9097, 08-2993-9105 บอกก่อนว่า ต้องด่วนจี๋ เพราะที่นั่งมีจำกัดเต็มที