อมาเดอุสชี้นักท่องเที่ยวยุคมิลเลนเนียลไทย และเอเชียแปซิฟิก ต้องการความแปลกใหม่ ความจริงใจ และความน่าเชื่อถือ

ประชาสัมพันธ์

ผลวิจัย Journey of Me เผยพฤติกรรมและความชื่นชอบของนักท่องเที่ยวยุคมิลเลนเนียลใน 14 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก

 

คนกลุ่มมิลเลนเนียลมีจำนวนกว่า 45% ของประชากรทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิก และภายในปี 2563[1] คาดว่าจะมีถึง 60% ของมิลเลนเนียลทั่วโลกอาศัยอยู่ในเอเชีย ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม อมาเดอุสได้เผยผลสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มคนอายุ 18 – 35 ปีในเอเชียแปซิฟิกว่าอะไรคือสิ่งที่จะโน้มน้าว เอาชนะใจ และพาพวกเขาออกไปท่องโลกกว้างได้

 

ผลวิจัย Journey of Me Insights: What Asia Pacific Millennial Travelers Want เป็นผลวิจัยล่าสุดในหัวข้อ Journey of Me ซึ่งอมาเดอุสได้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดยร่วมมือกับ YouGov ในการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว 6,870 คนใน 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก[2] โดย 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุอยู่ในช่วงกลุ่มมิลเลนเนียลระหว่างการเก็บข้อมูล

 

เปิดรับสิ่งใหม่ๆ

ผลวิจัยเผยว่านักท่องเที่ยวยุคมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะเปิดรับเทคโนโลยี ประสบการณ์ และเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ๆ มากกว่านักท่องเที่ยวรุ่นก่อนๆ 42% ของกลุ่มมิลเลนเนียลใช้แอพพลิเคชั่นให้บริการรถร่วมโดยสาร เช่น Grab และ Uber ขณะเดินทางท่องเที่ยว และ 35% ใช้บริการแบ่งปันที่พัก เช่น Airbnb เป็นประจำ นอกจากนี้ พวกเขายังเปิดรับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ช่วยเติมเต็มประสบการณ์อีกด้วย โดย 77% ของมิลเลนเนียลชาวไทยสนใจใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนผสานโลกจริง (Augmented Reality) ในการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมหรือประวัติของสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งสูงกว่ายอดเฉลี่ยของภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ 67%

 

การมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับเหล่ามิลเลนเนียลจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวเอาชนะใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ผลวิจัยพบว่า คำแนะนำที่ช่วยให้พวกเขาได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่มิลเลนเนียลให้ความสนใจสูงสุด (27%) รองลงมาจากคำแนะนำที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทาง (37%) นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยุคมิลเลนเนียลยังมีแนวโน้มที่จะเปิดรับคำแนะนำและข่าวสารจากผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวผ่านช่องทางใหม่ๆ โดยมิลเลนเนียลชาวไทยถึง 45% นิยมให้แบรนด์ติดต่อผ่านโซเชียลมีเดีย ในขณะที่มิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่เลือกอีเมล์เป็นช่องทางสื่อสารลำดับแรก

 

นายการุณ พุทธราชา ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร อมาเดอุส เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “มิลเลนเนียลเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความโดดเด่นมาก พวกเขาเติบโตขึ้นมากับอินเทอร์เน็ต มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี และพร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงกล้าที่จะออกจากกรอบการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ คนกลุ่มมิลเลนเนียลจึงมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ จึงต้องสรรหาวิธีที่ต่างออกไปในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวจึงต้องนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาปรับใช้ วางกลยุทธ์ที่แตกต่าง รวมทั้งปรับเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินธุรกิจ หากต้องการเจาะกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียลและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตน ความเข้าใจพฤติกรรมของมิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิก และสิ่งที่พวกเขามองหาจากการท่องเที่ยว จะช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้”

 

ค้นหาข้อมูลที่แท้จริง

ผลวิจัยยังได้เผยให้เห็นอีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจว่าในความเป็นจริงแล้ว เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้มีอิทธิพลต่อกลุ่มมิลเลนเนียลมากเท่าใดนัก เมื่อถามว่าใครมีอิทธิพลต่อพวกเขามากที่สุดในการวางแผนทริป และพวกเขาได้รับคำแนะนำที่น่าเชื่อถือจากแหล่งใด มิลเลนเนียลชาวไทยบอกว่าข้อมูลในโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ท่องเที่ยวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขามากที่สุด โดยคำแนะนำจากครอบครัวและเพื่อนมีอิทธิพลรองลงมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้พร้อมเปิดรับข้อมูลจากทั้งคนรู้จักและแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบ ในขณะที่บุคคลที่มีชื่อเสียงและอินฟลูเอนเซอร์ถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลเกือบจะต่ำที่สุดสำหรับมิลเลนเนียลทั้งในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสูงกว่าโบรชัวร์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเพียงนิดเดียวเท่านั้น

 

“คนกลุ่มมิลเลนเนียลยังคงติดตามอินฟลูเอนเซอร์เพื่ออัพเดทเทรนด์ หาไอเดียและแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความชาญฉลาดมากขึ้นในการเสพข้อมูล พวกเขารู้ว่าอินฟลูเอนเซอร์จำนวนไม่น้อยกำลังกลายสถานภาพเป็นแบรนด์ ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือที่เคยทำให้กลุ่มคนเหล่านี้แตกต่างค่อยๆ หายไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์ที่ จริงสำคัญกว่าคอนเทนต์ที่ สมบูรณ์แบบ’” นายการุณ กล่าวเสริม

 

ระมัดระวังหรือกล้าเสี่ยง?

มิลเลนเนียลมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กล้าเสี่ยงและชื่นชอบการผจญภัย อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยพบว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมในทุกด้าน เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ แล้ว มิลเลนเนียลชาวไทยมีความกังวลน้อยกว่าหากต้องเดินทางไปสถานที่ที่มีสภาพอากาศรุนแรง มีการก่อการร้าย หรือมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เช่น มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูง โดย 71% ของเบบี้บูมเมอร์ชาวไทยมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการเดินทางไปสถานที่ที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย ในขณะที่มีมิลเลนเนียลเพียง 61% ที่มีความรู้สึกกังวล

 

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยระบุว่าเมื่อต้องแบ่งปันข้อมูลส่วนตัว เพื่อให้ได้รับข้อเสนอด้านการท่องเที่ยวที่ตรงกับความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น คนกลุ่มมิลเลนเนียลกลับหวงแหนความเป็นส่วนตัวมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ โดย 73% ของเจนเอ็กซ์ชาวไทยบอกว่าพวกเขาค่อนข้างเปิดรับการแบ่งปันข้อมูลส่วนตัว เมื่อเทียบกับมิลเลนเนียลเพียง 65% ที่รู้สึกค่อนข้างเปิดรับ ความรู้สึกเช่นนี้ของกลุ่มมิลเลนเนียลอาจเป็นผลจากการที่พวกเขาเติบโตขึ้นมากับเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้มีความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากกว่า

 

“แม้ว่าผลวิจัยชิ้นนี้จะชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของมิลเลนเนียลในเอเชียแปซิฟิก แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่ยังคงคล้ายคลึงกับนักท่องเที่ยวรุ่นก่อนๆ ดังนั้น การสร้างสรรค์บริการที่เฉพาะบุคคล และการสื่อสารบนพื้นฐานของความจริงจึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการพูดคุยกับพวกเขาด้วยคอนเทนต์ ช่องทาง และช่วงเวลาที่เหมาะสม ธุรกิจท่องเที่ยวจะสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ หากแบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในทุกๆ ด้านของธุรกิจ” นายการุณ กล่าวทิ้งท้าย