ถึงยุคเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร จากการตั้งเป้าความสำเร็จบนผลกำไร สู่หลักคิดสร้างความสุขให้กับผู้เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืนมีผลกำไร โดยหลักคิดนี้กำลังเป็นที่สนใจและขยายไปในวงกว้าง หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดงานสัมมนา “เติมหัวใจให้ธุรกิจ Heartful Business” โดยเชิญ ศาสตราจารย์ โคจิ ซากาโมโต้ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซ โตเกียว ผู้แต่งหนังสือ “บริษัทนี้ที่ควรรัก” ที่มียอดขายกว่า 7 แสนเล่มในญี่ปุ่น ที่สนับสนุนแนวคิดสร้างความสุข มาเสวนาเผยเคล็ดลับ 20 ประการของบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่น ที่มีผลประกอบการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 20 ปีติดต่อกันท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน
ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ รองประธานบริหารหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า “หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะบัญชีฯ จุฬาฯ จัดงานสัมมนาเติมหัวใจให้ธุรกิจ Heartful Business ขึ้นมาเพื่อต้องการเผยแพร่แนวคิดเรื่องการทำธุรกิจดีๆ โดยผู้ประกอบการใส่หัวใจลงในธุรกิจ สร้างความสุขให้แก่พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า คนในชุมชน และผู้ลงทุน ซึ่งสามารถทำได้และยังส่งผลให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน โดยกรณีศึกษาของบริษัทญี่ปุ่นที่ใส่หัวใจลงในธุรกิจ พบว่าพนักงานมีความสุขมาก และอัตราการลาออกจากงานต่ำ ไม่เกินร้อยละ 3 แสดงให้เห็นว่าพนักงานภูมิใจและมีความสุขที่ได้ทำงานกับองค์กรนี้ ทำให้องค์กรสามารถพัฒนาทักษะความรู้เกี่ยวกับสินค้าเพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้บริษัทมีผลประกอบการสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงอยากกระตุ้นองค์กรไทยให้หันมาใส่ใจนำหลักคิดเน้นสร้างความสุขมาบริหารจัดการองค์กร”
ด้าน ศาสตราจารย์โคจิ ซากาโมโต้ เผยถึงบริษัทชั้นเลิศที่ใส่หัวใจในธุรกิจว่า “บริษัทคือโรงเรียนแห่งสุดท้ายของพนักงาน ต้องให้โอกาส ให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพ สร้างความสุขให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแนวคิด บริษัทต้องทำประโยชน์เพื่อชุมชน สังคม เพราะแท้จริงแล้วบริษัทเป็นของคนในสังคม มิใช่เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยมีหน้าที่และเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความสุขให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มคน 5 ฝ่าย ได้แก่ 1) พนักงานและครอบครัว โดยดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานและครอบครัว ไม่ลดพนักงาน ไม่ทำงาน OT เป็นเวลานาน 2) คู่ค้าและครอบครัวของคู่ค้า เช่น สั่งของในราคาที่เหมาะสม 3) ลูกค้าปัจจุบันและในอนาคต ด้วยการตอบสนองความต้องการและสร้างความประทับใจให้ลูกค้า เช่น บริษัทผลิตรองเท้าผู้สูงอายุ Tokutake Sangyo ที่ใส่หัวใจดูแลลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุ ด้วยการออกแบบรองเท้าที่สวย มีน้ำหนักเบา เดินไม่ลื่น ราคาไม่สูง แต่สิ่งที่สำคัญคือฟังเสียงลูกค้า โดยบริษัทนี้ยินดีขายรองเท้าเพียงข้างเดียวในราคาครึ่งเดียว เพราะผู้สูงอายุจะมีปัญหาเท้าบวมไม่เท่ากัน ข้างซ้ายและขวาใส่คนละเบอร์ โดยยังไม่เคยมีบริษัทรองเท้าใดทำเช่นนี้ 4) คนในชุมชนและสังคม อย่างผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ต้องการการจ้างงาน ซึ่งมีบริษัทหนึ่งใน ฮอกไกโดมีพนักงาน 1,000 คน เป็นผู้พิการถึง 500 คน เท่ากับครึ่งหนึ่ง ซึ่งปกติจะสร้างภาระให้กับบริษัทเป็น 2 เท่าจากคนปกติ หรือบริษัทแห่งหนึ่งในชิบะ ว่าจ้างผู้พิการแปะฉลากถึง 30 เยนต่อฉลาก ซึ่งปกติการว่าจ้างแปะฉลากเพียงแค่ 1-2 เยนเท่านั้น โดยผู้บริหารบริษัทเล็งเห็นว่า เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ผู้พิการ 5) ผู้ถือหุ้น เมื่ออีก 4 กลุ่มมีความสุข จะนำมาซึ่งผลตอบแทนในที่สุด ทำให้คนกลุ่มนี้มีความสุขอย่างแท้จริง
จากผลการวิจัยร่วม 50 ปี กับ 8,000 กว่าองค์กรในญี่ปุ่น พบว่ามีประมาณ 10% ที่ขึ้นชื่อเป็นบริษัทชั้นเลิศ ที่มีจุดเด่น 20 ประการในการบริหารองค์กรที่เหมือนกัน โดยใน 20 ประการ ที่มีความสำคัญ ได้แก่ การไม่ใช้ราคาเป็นตัวแข่งขัน เพราะต้องมีใครเสียเปรียบ อาจเกิดการลดการจ้างงานเพื่อลดต้นทุน หรือกดราคาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ ฉะนั้นบริษัทชั้นเลิศได้ใช้แนวการสร้างมูลค่าเพิ่มที่แตกต่าง ต้องทำงานกันเป็นทีม ในด้าน การบริหารต้องมองระยะยาว หากมีพนักงานเป็นเด็กจบใหม่ เราต้องมองให้ไกลไปจนถึงเมื่อเขาจะเกษียณ สิ่งที่เขาควรจะทำมีอะไร เพื่อให้เขารู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้ทำงานกับบริษัทนี้ ที่สำคัญบริษัทต้อง บริหารแบบครอบครัวใหญ่ เพื่อสร้างความอบอุ่น”
สำหรับบริษัทธุรกิจในไทย มีหลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจยั่งยืน โดยเน้นความสุขของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาเติมหัวใจให้ธุรกิจ Heartful Business ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ที่ธุรกิจมีผลกำไรโต 128% ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เผยถึงแนวคิดในการบริหารจัดการองค์กรว่า “บาร์บีคิวพลาซ่ามีปรัชญาดำเนินธุรกิจสร้างความสุขโดยใช้มื้ออาหารเป็นสื่อกลาง จึงต้องดูแลใจและกายของพนักงานให้มีความสุขก่อน และพนักงานจะช่วยดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นองค์กรต้องใส่ใจในรายละเอียดและจริงใจที่จะดูแลพนักงาน เมื่อพนักงานมีความสุข มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีจิตวิญญาณในการสร้างความสุขให้แก่ลูกค้ามากกว่าที่เราคิด ดังนั้นการจะสร้างให้ธุรกิจยั่งยืน แข็งแรง ในช่วงต้นไม่ควรมุ่งเน้นผลกำไร เพราะธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา”
และ วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร แห่ง เบทาโกร กรุ๊ป เผยถึงประสบการณ์การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจว่า “สิ่งที่เบทาโกรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือการใส่ใจลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย โดยเข้าไปช่วยร้านอาหารดูแลเรื่องของการปรุง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และการเข้าช่วยเหลือชุมชน โดยเข้าใจถึงความต้องการ และแก้ไขปัญหาทั้งระบบแบบองค์รวม เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว และการช่วยเหลือชุมชนนี้เอง ทำให้เข้าใจถึงสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งเป็นคนในชุมชน เพื่อนำมาปรับปรุงแนวปฏิบัติในการดูแลพนักงาน การลงพื้นที่ไปช่วยเหลือลูกค้า หรือชุมชน ทำให้มีมุมมองในการบริหารที่กว้างมากขึ้น เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า และช่วยให้ต่อยอดธุรกิจไปได้อีก”
ดร.กฤตินี กล่าวปิดท้ายว่า “การพลิกแนวคิด จากเป้าหมายที่เน้นผลกำไร เป็นการสร้างความสุขแก่ผู้เกี่ยวข้อง จะเป็นการสร้างความยั่งยืนและผลกำไรให้แก่บริษัทในท้ายที่สุด เพราะบริษัทไม่ต้องเน้นการลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิต ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน หรือมองหาคู่ค้าที่เสนอราคาถูกกว่า ซึ่งการลดภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็น “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้น คือ ต้นทุนด้านการตลาด เพื่อที่จะโปรโมทสินค้าที่มีคุณภาพที่ไม่ดีเท่าเดิม switching cost หรือต้นทุนในการเปลี่ยนซัพพลายเออร์ เพราะถึงแม้จะได้ลดราคาจากผู้ให้บริการรายเดิม แต่การปรับเปลี่ยนทำให้มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ การพลิกแนวคิด “เน้นความสุข” โดยมอบความสุขให้พนักงานจะสร้างแรงขับเคลื่อน ในขณะเดียวกันจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า มอบบริการที่ดีแก่ลูกค้า ลูกค้ามีความสุข มีความภักดีต่อแบรนด์ จนมีการบอกต่อ เมื่อทุกคนมีความสุข “ความยั่งยืน” ก็จะเกิดขึ้น”
เคล็ดลับ 20 ประการ ของบริษัทชั้นเลิศในญี่ปุ่น เพื่อสร้างธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
- การบริหารจัดการที่เน้นความสุข
- การบริหารที่ดีกับทั้ง 5 ฝ่าย คือ 1) พนักงาน 2) คู่ค้า 3) ลูกค้า 4) สังคม / ชุมชน 5) ผู้ถือหุ้น
- การบริหารจัดการที่คิดถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น
- การบริหารแบบวงปีต้นไม้แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
- การบริหารที่ช่วยให้เศรษฐกิจดี มิใช่พึ่งสภาวะเศรษฐกิจ
- การบริหารที่สมดุล
- การไม่ใช้ราคาเป็นตัวแข่งขัน
- การบริหารจัดการร่วมกัน ไม่ผูกขาดคนเดียว
- การบริหารแบบ Bottom – Up
- การบริหารจัดการแบบเปิดกว้าง
- การทำงานเป็นทีม
- การจ้างงานตลอดชีพ ไม่ใช่ตัดสินที่ผลงานเป็นหลัก
- การบริหารที่แบ่งเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน
- การบริหารแบบพีระมิดทรงคว่ำ
- การบริหารที่เน้นความเป็นบริษัท
- การบริหารที่มองระยะยาว
- การบริหารที่ลดระยะเวลาทำงานของพนักงาน
- การบริหารแบบครอบครัวใหญ่ และร่วมมือร่วมใจกัน
- การบริหารที่เน้นคนและด้านนามธรรม
- การบริหารจัดการที่พึ่งพิงตนเอง อยู่ได้ด้วยตนเอง