— ภายในปี 2030 การขาดแรงงานที่จำเป็นอาจทำให้บริษัทในเอเชียแปซิฟิกใช้เงินนับพันล้านดอลลาร์
— ภายในปี 2030 ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างพิเศษสำหรับแรงงานผู้มีทักษะในเอเชียแปซิฟิก
อาจสูงกว่า 14,500 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 470,000 บาท) ต่อคนต่อปี —
—คาดว่าประเทศไทย ตัวเลขจะสูงถึง 34 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1,122,000 ล้านบาท) —
ข้อมูลจากรายงานการศึกษาของ คอร์น เฟอร์รี่ (รหัสในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: KFY) ระบุว่า อัตราเงินเดือนของแรงงานผู้มีทักษะสูงอาจพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทั่วเอเชียแปซิฟิก โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนในภูมิภาคอาจมีมูลค่ารวมสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีภายในปี 2030 ซึ่งทำให้การสร้างผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง และส่งผลเสียต่อโมเดลธุรกิจ สำหรับประเทศไทย ภาวะขาดแคลนแรงงานจะทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (704,000 ล้านบาท) ในปี 2020 เพิ่มเป็น 27 พันล้านดอลลาร์ (864,000 ล้านบาท) ในปี 2025 และสูงถึง 34 พันล้านดอลลาร์ (1,122,000 ล้านบาท) ในปี 2030
“ยุคใหม่ของการทำงานจะเกิดภาวะการมีพนักงานจำนวนมากแต่ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งหมายถึง แม้ว่าจะมีพนักงานจำนวนมากมาย แต่กลับไม่มีทักษะที่จำเป็นที่ทำให้องค์กรอยู่รอด” Dhritiman Chakrabarti, Korn Ferry Head of Rewards and Benefits for the APAC region กล่าว “ในขณะที่การขึ้นอัตราค่าจ้างโดยรวมจะสอดคล้องกับอัตราค่าเงินเฟ้อ แต่เงินเดือนของพนักงานซึ่งเป็นที่ต้องการจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมาก หากบริษัทเลือกแข่งขันเพียงแค่เงินเดือนเพื่อให้ได้พนักงานที่ดีและยอดเยี่ยมที่สุดจริงๆ”
การศึกษาเรื่องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเดือน (Salary Surge) ของคอร์น เฟอร์รี่ ได้ประเมินผลกระทบของภาวะขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะทั่วโลก (ดังรายละเอียดในการศึกษาเรื่อง Global Talent Crunch ของคอร์น เฟอร์รี่ เมื่อเร็ว ๆ นี้) ที่มีผลต่ออัตราค่าจ้างใน 20 เขตเศรษฐกิจหลักทั่วโลกใน 3 จุดเวลา คือปี ค.ศ. 2020, 2025 และ 2030 โดยครอบคลุม 3 ภาคธุรกิจ ได้แก่ บริการทางการเงินและธุรกิจ, เทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม (TMT) และอุตสาหกรรมการผลิต โดยทำการวัดผลว่าองค์กรต่าง ๆ จะต้องจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานเกินกว่าการเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าเงินเฟ้อมากเท่าใด
จากผลการศึกษา พบว่าอุปสงค์แรงงานระดับปริญญาตรีและสูงกว่าในประเทศไทยในปี 2020, 2025 และ 2030 คือ 5,737,900 คน, 5,857,280 คนและ 6,016,130 คน ตามลำดับ ในขณะที่อุปทานแรงงานในระดับปริญญาตรีของปี 2020 คือ 5,164,160 คน ปี 2025 คือ 5,137,790 คน และปี 2030 คือ 5,054,850 คน หรือคิดเป็นภาวะขาดแคลนแรงงานที่ 10%, 12% และ 16% ในแต่ละปีตามลำดับ
รายงานของคอร์น เฟอร์รี่ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบครั้งใหญ่ในเรื่องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเดือนในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค ดังนี้
- บริษัทในญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายค่าจ้างสูงสุด โดยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นราว 468 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030
- บริษัทในไทยอาจต้องจ่ายค่าแรงกว่า 34 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1,113,000 ล้านบาท) ในปี 2030
- ในขณะเดียวกัน ตลาดขนาดเล็กที่มีจำนวนแรงงานจำกัดอาจจะต้องพบแรงกดดันมากที่สุด โดยในปี 2030 สิงคโปร์และฮ่องกง คาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษจากเงินเดือนคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2017*
- และในปี 2030 จีนต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มมากกว่า 342 พันล้านดอลลาร์
- อินเดียเป็นประเทศเดียวที่สามารถหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราค่าจ้าง ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในการศึกษาครั้งนี้ โดยอินเดียจะมีแรงงานผู้มีทักษะสูงล้นตลาดในทุกจุดเวลา
- ในปี 2030 เงินเพิ่มพิเศษจากเงินเดือนโดยเฉลี่ย (จำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายมากกว่าอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อตามปกติ) ทั่วภูมิภาคต่อแรงงานผู้มีทักษะ 1 คนจะอยู่ที่ 14,710 ดอลลาร์ต่อปี แต่ฮ่องกงอาจพบอัตราที่สูงกว่าถึง 40,539 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่สิงคโปร์จะอยู่ที่ 29,065 ดอลลาร์ต่อปี และออสเตรเลีย 28,625 ดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030
- เมื่อพิจารณาในภาคธุรกิจ พบว่าภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจเกิดการหยุดชะงัด จากผลกระทบของการเพิ่มค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในจีน ภาวะการขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะสูงคาดว่าจะมากกว่า 1 ล้านคนในปี 2030 ซึ่งหมายความว่า เงินเพิ่มพิเศษอาจต้องสูงถึง 51 พันล้านดอลลาร์ในช่วงนั้น ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในการศึกษาครั้งนี้
ดร. มานะ โลหเตปานนท์ กรรมการผู้จัดการ คอร์น เฟอร์รี่ ประเทศไทยและเวียดนาม เปิดเผยว่า “สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย การจ่ายค่าจ้างพิเศษเพิ่มโดยเฉลี่ยอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค โดยเฉพาะในปี 2030 การจ่ายค่าจ้างพิเศษโดยเฉลี่ยจะสูงถึง 1,122,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทยในปี 2017 ในส่วนของภาคธุรกิจ องค์กรจะมีต้นทุนด้านบุคคลากรสูงขึ้นจากการจ่ายค่าจ้างพิเศษกว่า 15% เมื่อเทียบกับการขึ้นเงินเดือนปกติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลกำไรของการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นถ้าองค์กรใดสามารถระบุและพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงานให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคตได้ ก็จะส่งผลในด้านบวกกับประสิทธิภาพทางการเงินขององค์กรเช่นกัน”
การขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะทั่วโลกอาจทำให้นายจ้างต้องเพิ่มค่าจ้างพิเศษในแต่ละปีกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งการพุ่งสูงขึ้นของเงินเดือนนี้สงผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประเทศต่าง ๆ อาทิ
- บริษัทในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายมากที่สุดในโลก โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษมากกว่า 531 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030
- เยอรมนีเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษราว 176 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030
- สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสอาจมีสภาวะที่ดีกว่าในระยะสั้น โดยในปี 2030 เงินเพิ่มพิเศษของสหราชอาณาจักรอาจเท่ากับ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2017* และฝรั่งเศสเท่ากับ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2017*
- เงินเพิ่มพิเศษเฉลี่ยต่อแรงงาน 1 คนใน 20 เขตเศรษฐกิจอยู่ที่ 11,164 ดอลลาร์ต่อปี
“การซื้อตัวผู้มีทักษะจากตลาดอื่นนับเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน แทนที่จะทำเช่นนั้น บริษัทในเอเชียแปซิฟิกจะต้องสร้างความผูกพันของพนักงานและทบทวนทักษะของพนักงานในปัจจุบันเสียใหม่” Dhritiman Chakrabarti กล่าว “ผู้นำองค์กรต้องพิจารณาว่าจะรักษาแรงงานผู้มีทักษะสูงในปัจจุบันไว้ได้อย่างไร เราต่างทราบว่า ลูกจ้างที่ได้รับโอกาสในการพัฒนาสายอาชีพ และได้รับแรงผลักดันจากภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ และความรู้สึกว่างานของตนเองมีความหมาย มีแนวโน้มที่จะทำงานในองค์กรนั้น ๆ ต่อไป และที่สำคัญ จะมีความผูกพันต่อองค์กรและมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
“ในโลกของการทำงานในอนาคต ลูกจ้างที่ประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสถาบันการศึกษา แต่จะเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้ และมีความยืดหยุ่นมากพอในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างรวดเร็วและมีโครงสร้างลำดับชั้นงานน้อยลง บริษัทจำเป็นต้องระบุตัวผู้ที่มีทักษะจำเป็นในอนาคตได้ และช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่” Dhritiman Chakrabarti กล่าวเสริม
* ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ นำมาจากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2017