สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่ค่อนข้างไดนามิค และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาของทีเอ็มบีก็คือ การนำแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อที่ว่า “พนักงาน” ในองค์กร คือพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับทั้งลูกค้า สังคม ตลอดจน ทีเอ็มบีเอง
ล่าสุดกับการจัดงาน “TMB HACKATHON 2018” ซึ่งถือเป็นอีกครั้งที่ทีเอ็มบี นำแนวคิดในการทำงานรูปแบบใหม่ๆ มาปรับและเปลี่ยน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างพนักงานจากหลากหลายแผนก ในการตั้งโจทย์และช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า ภายในเวลาจำกัดเพียง 48 ชั่วโมง
คุณกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี พูดถึงแนวคิดและที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ว่า แนวคิดของ HACKATHON ดั้งเดิมนั้นเกิดขึ้นในวงการดิจิทัลที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพมารวมตัวกันเป็นทีม เพื่อระดมสมองและช่วยกันแก้ปัญหาในเวลาที่จำกัด ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่องได้เป็นอย่างดี
“ทีเอ็มบีเห็นว่าแนวคิดบางส่วนของ HACKATHON น่าจะสามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรได้ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน TMB HACKATHON 2018 ที่เริ่มจากพนักงานภายในองค์กร โดยมุ่งไปที่ 9 แวลูเชน หาผู้ร่วมทีมไม่เกินทีมละ 10 คน ซึ่งจะมีการรวมทีมกันของพนักงานจากหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นทีมดูแลผลิตภัณฑ์ มาร์เก็ตติ้ง สาขา ไอที หรือโอเปอเรชั่น โดยคนในทีมถึงแม้จะเป็นระดับบริหาร ก็ต้องถอดหัวโขนของตัวเองออก เพื่อช่วยกันตั้งโจทย์และแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ดีที่สุด โดยผู้ชนะทั้ง 3 ทีมจะได้รับรางวัลเป็น Tech Trip เพื่อไปดูงานที่ บริษัทอาลีบาบา สำนักงานใหญ่ ประเทศจีน”
“เราเชื่อว่าการตั้งโจทย์หรือขั้นตอนหา Problem Statement สำคัญกว่าการหาคำตอบ ทั้ง 9 ทีมจึงต้องเริ่มต้นจากการตั้งโจทย์เพื่อเข้าใจปัญหาของลูกค้าได้อย่างแท้จริง โดยจะมีการ Pitching ด้วยว่า แต่ละทีมตั้งโจทย์ได้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมีผู้บริหารสูงสุดของแต่ละสายงาน รวมถึงซีอีโอทั้งหมด 10 ท่านเป็นคณะกรรมการ พร้อมกับมีการ Pitching ว่ากรรมการท่านใดจะเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมไหน ถ้าทีมใดไม่ถูกเลือก ก็ต้องกลับไปตั้ง Problem Statement กันใหม่ เพราะเราเชื่อว่า การตั้งคำถามที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้การแก้ปัญหาให้ลูกค้าผิด ทำให้ TMB HACKATHON ใช้เวลาและให้ความสำคัญกับการตั้งโจทย์มาก”
คุณกาญจนาพูดถึงผลจากการจัด “TMB HACKATHON” ว่า ผลที่ได้รับออกมาค่อนข้างจะน่าพอใจ แม้จะมีรางวัลให้กับ 3 ทีมที่ทำออกมาได้ดีที่สุด แต่ผลงานโดยรวมของอีก 6 ทีมก็ออกมาดีไม่แพ้กัน โดยนอกจากเรื่องของเทคนิคในการหาไอเดียใหม่ๆ ไปจนถึงวิธีการตั้งคำถามเพื่อให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า สิ่งที่ผู้เข้าร่วมงานได้เจอก็คือ ในเรื่องของความร่วมมือกันทำงานระหว่างแผนก ที่ในเวลาทำงานปกติ ต่างคนต่างทำงานตามหน้าที่ของตนในแต่ละแผนก ครั้งนี้จึงได้ในเรื่องของ “Team Spirit” ที่ทุกคนมารวมตัวกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้าอย่างแท้จริง
ด้าน คุณศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจตลาดเงิน ทีเอ็มบี ผู้ร่วมงาน “TMB HACKATHON” ในฐานะทีมที่ชนะเลิศ แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นจากการนำแนวคิด HACKATHON มาใช้ก็คือ ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นมาก จากการที่ทีมมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งจะทำอย่างไรให้วิธีการตรงนี้ สามารถนำมาปลูกฝังในการทำงานทุกวันของพวกเราได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นโจทย์สำคัญ มันต้องเริ่มจาก การคุยกัน แล้วย้อนถามกันว่ามีอะไรที่เป็นโจทย์สำหรับลูกค้า หรือโจทย์สำหรับพนักงานเอง ซึ่งเมื่อเราหาขึ้นมาแล้ว ทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามันมีความหมาย และอยากจะร่วมมือกัน เพื่อมุ่งไปที่การช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า
คุณศรัณย์ มีประสบการณ์ในการทำงานกับองค์กรอย่างทีเอ็มบีมาร่วม 1 ทศวรรษ สิ่งที่ได้เห็นมาตลอดก็คือ การไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาของคนในองค์กร ที่ช่วยกันขับเคลื่อนการทำงานให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สิ่งที่คุณศรัณย์มองเห็นตลอดการทำงานกว่า 10 ปีที่ทีเอ็มบี ก็คือ การพยายามทำให้องค์กรมี Layer ให้น้อยที่สุด เพื่อให้องค์กรมันทำงานได้อย่างคล่องตัว การ Empower พนักงาน เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของเวลา
“TMB HACKATHON เป็นขบวนการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน ในการ Deliver Solution ในระยะเวลาอันสั้น มันเป็นวิธีการทำงานที่สามารถรวบรวมคนที่อยู่ในแต่ละแผนก ที่ก่อนหน้านั้นมองปัญหาออกไปในแต่ละมุมมองกัน เมื่อมุมมองต่างกัน อาจจะเกิดความขัดแย้งของแต่ละแผนก ดังนั้น TMB HACKATHON จะช่วยให้เรามองปัญหาแบบรอบด้านมากขึ้น แต่อยู่ภายใต้โจทย์เดียวกัน เพราะฉะนั้น โซลูชั่นที่เราจะแก้ปัญหามันจะดีขึ้น มันเป็นการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในแต่ละส่วนของแวลูเชนให้สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้”
เช่นเดียวกับคุณพรรณวลัย อินทราพิเชฐ Product Owner – E-Payment Disruptive Agile ที่มองว่า การจัดงาน TMB HACKATHON ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึง การเป็นแบงก์ที่ไม่หยุดนิ่งในการนำแนวคิดใหม่ๆ มาปรับใช้กับการทำงาน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า ซึ่งด้วยการที่ทีเอ็มบี เป็นองค์กรที่ Lean ทำให้การทำงานทุกอย่างค่อนข้างเร็ว เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้า การนำแนวคิดจาก HACKATHON มาปรับใช้จึงเป็นอะไรที่ลงตัวกับการทำงานจริงในชีวิตประจำวัน
คุณพรรณวลัย ยังกล่าวอีกว่า ความรู้สึกในตอนแรกที่ถูกเลือกเข้ามาร่วมในทีมก็ตกใจ เพราะ HACKATHON ที่เราได้ยินมามักได้ยินหรือเห็นจากองค์กรที่เป็นฟินเทค ไม่แน่ใจว่า TMB HACKATHON ครั้งนี้ จะแตกต่างจากที่ได้ยินมาหรือไม่ เพราะหน่วยงานที่อยู่เป็น Agile อยู่แล้ว และมีวิธีการทำงานที่คล้ายๆ กับ HACKATHON คือมีโจทย์ที่ชัดเจน และโฟกัส
“พอไปทำจริงๆ มันต่างจาก Agile ที่เคยทำ เพราะมันเป็นการรวมตัวกันแค่ 48 ชั่วโมง เพื่อวัตถุประสงค์อันใดอันหนึ่ง จุดที่ยากก็คือการตั้ง Problem Statement เพราะ Problem Statement ที่ชัดจะทำให้เรา Define กลุ่มลูกค้าที่ใช่ โซลูชั่นที่เราดีไซน์ออกมามันก็จะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงๆ”
เห็นได้ชัดเจนว่า การนำแนวคิดใหม่ๆ มาปรับใช้ เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำงานภายในองค์กรของทีเอ็มบีนั้น จะอยู่บนแนวทาง “ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” มุ่งเน้นที่จะเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ มีความหมายต่อชีวิตของลูกค้าอย่างแท้จริง ตอกย้ำเจตนารมณ์การเป็นธนาคารที่ให้ลูกค้าได้มากกว่า มุ่งเป้าเดินตามโรดแมพ 5 ปี ขึ้นชั้นเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุดในประเทศ ภายในปี 2565