รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวี เลาหพันธ์ รางวัลมหิดลทยากร ประจำปี ๒๕๖๑

ประชาสัมพันธ์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวี เลาหพันธ์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญ สาขาพยาธิวิทยากายวิภาค ประกาศนียบัตรชั้นสูง (พยาธิวิทยา) M.S. (Education)  เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ประธานอนุกรรมการการจัดสอบแพทย์แผนไทยประยุกต์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาการรับรองสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ เลขาธิการสภาการแพทย์แผนไทย และประธานอนุกรรมการการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ๑๙ เรื่อง ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร วิชาการในประเทศ ๓๐ เรื่อง บทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสาร ๑๘ เรื่อง บทความวิชาการตีพิมพ์ในหนังสือ ๙ เรื่อง ผลงานวิชาการในลักษณะอื่น เช่น สิ่งประดิษฐ์วรรณกรรม ฯลฯ ๔ รายการ นอกจากนี้เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติต่าง ๆ มากมาย อาทิ รางวัลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (รางวัลอาจารย์ดีเด่น ปรีคลินิก) รางวัลอาจารย์ดีเด่นปรีคลินิกของสภาอาจารย์ศิริราช รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลสาขาความเป็นครู รางวัลอาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลอาจารย์ดีเด่นของแพทยสภา และรางวัลบุคคลคุณภาพของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวี เลาหพันธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ท้าทายและทำให้สนใจทำหน้าที่อาจารย์คือคำพังเพยที่ว่า ครูเปรียบเหมือนเรือจ้าง ภารกิจการสอนมีความสำคัญที่จะนำลูกศิษย์ทุกคนไปสู่ความสำเร็จ ทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่สอน มีความสุขเมื่อได้จัดการเรียนการสอน ไม่ใช่ทำเพราะเป็นหน้าที่หรือทำตามคำสั่ง ไม่หยุดนิ่ง ต้องปรับปรุงพัฒนางานอยู่เสมอเพื่อตอบโจทย์หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน

ในช่วง ๑๖ ปีหลังได้มีโอกาสทำหน้าที่บริหารงานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เนื่องจากมีการโอนย้ายโรงเรียนอายุรเวท ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ท่านอาจารย์อวย (ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์) ก่อตั้งขึ้น (เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๕) เข้ามาเป็นหน่วยงานใหม่ในสังกัด ท่านอาจารย์อวยมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูงานการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติให้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในระบบบริบาลสุขภาพของไทย โดยแพทย์แผนไทยรุ่นใหม่ต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย (ตามกฎหมายเรียกการแพทย์แผนไทยสาขานี้ว่าการแพทย์แผนไทยประยุกต์) ผู้บริหารของคณะฯ และมหาวิทยาลัยคงเห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำมีฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เข้มแข็ง อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบที่จะพัฒนาต้นแบบของงานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้เป็นวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาใหม่ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับระบบบริบาลสุขภาพได้

ตอนแรกที่ช่วยงานนี้เกิดคำถามว่า ทำไมผู้บริหารจึงโอนย้ายสาขานี้เข้ามาในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัส เข้าไปเรียนรู้ ก็เห็นความจำเป็นชัดเจนที่ต้องนำสาขานี้เข้ามาพัฒนาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นของท่านอาจารย์อวยที่อยากให้ภูมิปัญญาของชาติได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืนอยู่บนพื้นฐานวิชาการเหมือนวิชาชีพวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสามารถจัดการศึกษาในสาขานี้จนถึงระดับปริญญาเอกและมีผลงานทางวิชาการในด้านนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการพัฒนาการจัดการศึกษาและงานวิชาการแล้ว ยังต้องเร่งพัฒนาให้เกิดงานการให้บริการตรวจรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยซึ่งรวมถึงการผลิตยาจากสมุนไพรด้วย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา โชคดีที่งานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้รับการสนับสนุนให้สร้างโรงงาน ผลิตยาจากสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน GMP และมีโอกาสใช้พื้นที่ชั้นที่ ๗ ทั้งชั้นในอาคารปิยมหาราชการุณย์ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่เพื่อจัดเป็นงานบริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ในช่วงนั้นยังไม่มีรูปแบบงานบริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่ชัดเจน จากการเรียนรู้หลักการของศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่มองร่างกายและชีวิตของมนุษย์แบบองค์รวม อธิบายได้ทั้งในสภาวะที่มนุษย์มีสุขภาพดีหรือเมื่อเจ็บป่วยเป็นโรค บวกกระแสแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อลดภาระในการตรวจรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วย การออกแบบพื้นที่ของงานบริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์จึงมีสองส่วน ส่วนแรกเป็น คลินิกอายุรเวท แพทย์แผนไทยประยุกต์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยยาจากสมุนไพร การนวดไทยแบบราชสำนัก การประคบและการอบไอน้ำสมุนไพร พื้นที่ส่วนที่สองเรียกว่า ศิริราชสัปปายสถาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ จัดเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนางานการสร้างเสริมสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ชื่อ “สัปปายสถาน” มาจากคำว่า “สัปปายะ ๗” ในทางพระพุทธศาสนามีความหมายว่า สิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูลช่วยสนับสนุนการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ประกอบด้วย ที่อยู่ ที่หาอาหาร การพูดคุย บุคคล อาหาร ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อม และอิริยาบถ ทั้งนี้เพื่อสื่อว่าผู้รับบริการในพื้นที่จะได้พบกับบุคลากรแพทย์แผนไทยประยุกต์ และได้รับความสบาย ความรื่นรมย์จากประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่จะช่วยเกื้อกูลการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อเปิดใช้พื้นที่ให้บริการมีผู้มาศึกษาดูงานและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และนำต้นแบบที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้

ระบบบริบาลสุขภาพปัจจุบันให้ความสำคัญกับการบูรณาการงานบริการของการแพทย์แบบตะวันตกซึ่งเป็นกระแสหลักกับการบริการของวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งหมายรวมถึงการแพทย์แบบดั้งเดิมด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีและเหมาะสมที่สุด งานการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทย ต้องพัฒนาให้มีความชัดเจน ให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นในระบบบริบาลสุขภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติและเกียรติภูมิมายาวนาน คงต้องอาศัยบุคลากรรุ่นหลังทุกประเภทช่วยกันสานต่อ ในส่วนของอาจารย์ อยากให้แบ่งเวลาสำหรับการทำภารกิจด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสม ทั้งในเรื่องการเรียนการสอน การบริการ งานวิชาการ รวมทั้งงานอื่น ๆ ที่เป็นการชี้นำสังคม