โครงการดูแลรักษาเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิดแบบองค์รวม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโครงการ “ค่ายสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด ครั้งที่ 2” ภายใต้แนวคิด “Blooming the Blue Babies” หัวใจใสใส… ไม่สิ้นสุด เพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้คำแนะนำดูแลโรคหัวใจแต่กำเนิด เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ในวันพุธที่ 18 กันยายนนี้ ณ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร่วมทางฝัน ที่ก่อตั้งโดย บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
ภายในงาน ผศ. ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จะมาร่วมให้รายละเอียดการสนับสนุนของมูลนิธิร่วมทางฝันให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี และค่ายกิจกรรมฯ และ ศ. พญ. อลิสา ลิ้มสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จของค่ายกิจกรรมสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด และความก้าวหน้าในการรักษา พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ผศ. ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของมูลนิธิบ้านร่วมทางฝัน และการสนับสนุนการจัด “ค่ายสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด ครั้งที่ 2” ว่า “เป็นเวลา 14 ปี ที่มูลนิธิร่วมทางฝัน ได้วางรากฐาน “ธุรกิจเพื่อการกุศล” อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “อยู่ เพื่อ ให้” ซึ่งมีจุดริเริ่มมาจากผู้ก่อตั้งบริษัท คือคุณพ่อ ธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ต้องการคืนกำไรสู่สังคมอย่างแท้จริง โดยเริ่มโครงการที่อยู่อาศัย ภายใต้ชื่อโครงการ “บ้านร่วมทางฝัน” ที่มอบกำไรทั้งหมดจากการจำหน่ายโครงการดังกล่าว ให้แก่โรงพยาบาลภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลตํารวจ, โรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเริ่มโครงการแรกเมื่อปี 2548 และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเราพัฒนามาแล้ว 3 โครงการ และได้บริจาคเงินไปกว่า 130 ล้านบาท
“สำหรับกิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ที่เสนานำกำไรจากการขายโครงการบ้านร่วมทางฝัน 3 จำนวน 40 ล้านบาท มอบให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสนับสนุนโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดอย่างครอบคลุม ตั้งแต่โครงการสนับสนุนแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติที่จัดในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความรู้ความสามารถในการคัดกรอง การวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา การทำหัตถการรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดโดยการสวนหัวใจ เพื่อลดจำนวนการผ่าตัดหัวใจลง รวมไปถึง โครงการลิ้นหัวใจเทียม (Melody Value) และ โครงการขยายหลอดเลือดตีบ และการจัดค่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital Cardiac Care Camp ) ที่มุ่งหวังให้ความรู้พื้นฐานผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจที่เป็น และการปฏิบัติตัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ ไปโรงเรียน ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ได้ รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นด้วย”
ด้าน ศ. พญ. อลิสา ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หัวหน้าโครงการโรคหัวใจแต่กำเนิด โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการคลอดประมาณ 700,000 ทารกแรกเกิดต่อปี ทารกแรกคลอด 1% หรือประมาณ 7,000 รายต่อปี จะมีความผิดปกติที่โครงสร้างหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหัวใจแต่กำเนิด โดยหนึ่งในสี่ของกลุ่มที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดนั้นจะต้องการการผ่าตัดหรือการรักษาด้วยการสวนหัวใจ
โรคหัวใจแต่กำเนิด แบ่งอย่างง่ายๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีภาวะหัวใจเขียว กับ กลุ่มโรคหัวใจไม่เขียว ซึ่งกลุ่มโรคหัวใจชนิดเขียว มักจะเป็นโรคหัวใจที่สลับซับซ้อนกว่ากลุ่มที่ไม่เขียว มักต้องการการรักษาด้วยการให้ยาผ่าตัดหรือสวนหัวใจในวัยเด็กและคนไข้ส่วนหนึ่งต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจจะมีการผ่าตัดหลายครั้ง”
ศ. พญ. อลิสา ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงภารกิจของโรงพยาบาลรามาธิบดี ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด และวัตถุประสงค์ของการจัด “ค่ายสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด ครั้งที่ 2” ว่า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีทีมแพทย์ที่มีความพร้อมในการวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดของทารกในครรภ์มารดาและทีมการดูแลรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิด ตั้งแต่แรกคลอด จนถึงวัยเด็กและเจริญเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่ โดยมีทีมแพทย์ที่ทำงานร่วมกัน เช่น สูติแพทย์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก วิสัญญีแพทย์และทีมดูแลผู้ป่วยวิกฤติ รวมถึงอายุรแพทย์โรคหัวใจที่มีความชำนาญในการรักษาผ่านท่อสวนหัวใจ รวมทั้งมีทีมแพทย์ที่สามารถเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดผ่านท่อสายสวนหัวใจ ในตำแหน่งของหัวใจทั้ง 4 ลิ้น ซึ่งเป็นสถาบันแรก และสถาบันเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล
“สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดแบบใส่ลิ้นหัวใจโดยการสวนหัวใจ ต้องใช้ทีมแพทย์ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิร่วมทางฝัน โดย เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาการรักษาในรูปแบบนี้ ซึ่งช่วยลดจำนวนครั้งในการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด การรักษาแบบนี้ ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วและกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ นอกจากจะดูแลรักษาโรคหัวใจแล้ว ทีมแพทย์ยังเห็นความสำคัญในการที่ผู้ป่วยและครอบครัว จะมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง เข้าใจในการปฏิบัติตัวเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและเข้าใจขั้นตอนการรักษาการเตรียมตัวสำหรับการรักษาขั้นถัดไป โดยการจัดค่ายกิจกรรมสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมานั้น เรามีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง 30 ครอบครัว ในปีนี้ ทีมแพทย์จึงจัดค่ายกิจกรรมสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิดครั้งที่ 2 ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโรคหัวใจและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยทีมแพทย์เห็นความสำคัญของการที่ผู้ป่วยจะมีบันทึกประวัติผู้ป่วยส่วนตัว จึงได้ออกแบบสมุดบันทึกหรือเรียกว่า health passport สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดขึ้นมาอีกด้วย”
สำหรับ “ค่ายสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด ครั้งที่ 2” โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิร่วมทางฝัน ก่อตั้งโดย บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคมนี้ ที่ชั้น 9 อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการทางการแพทย์และโรงเรียนพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 02 201 1685, 02 201 1821
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ “อยู่ เพื่อ ให้” อย่างแท้จริง ผ่านโครงการบ้านร่วมทางฝัน โดย เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ruamtangfun.com และ www.facebook.com/ruamtangfun หรือสอบถามได้ที่ โทร. 1775