บมจ.ซันสวีท รุกตลาดสินค้าพร้อมรับประทานเพื่อสุขภาพตอบโจทย์ผู้บริโภค ขยายตลาดในประเทศลดความเสี่ยงค่าเงิน พร้อมรับออเดอร์ต่างประเทศ สนับสนุนรายได้ปี 62 เติบโตไม่น้อยกว่า 10 % ย้ำภัยแล้งไม่กระทบเหตุควบคุมด้วยเทคโนโลยีสมาร์ท ฟาร์ม คงสัดส่วนการผลิตใกล้เคียงที่ผ่านมา
ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน ภายใต้ตราสินค้า KC เปิดเผยว่า บริษัทฯมีการเพิ่มสินค้าใหม่ในกลุ่ม Ready to eat อาทิ ถั่วลายเสือต้ม และต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวโพดพร้อมทาน ได้แก่ ข้าวโพดข้าวเหนียว วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงเพิ่มปริมาณการผลิตมันหวานญี่ปุ่นพร้อมรับประทานที่วางจำหน่ายก่อนหน้านี้ให้เพียงพอต่อการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่าการเพิ่มประเภทสินค้านอกเหนือจากข้าวโพดหวาน จะสนับสนุนให้บริษัทฯ สามารถขยายตลาดภายในประเทศเพื่อดำเนินธุรกิจตามแผนที่วางไว้
ในส่วนการตลาดต่างประเทศ บริษัทฯได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ฮ่องกง รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีความต้องการข้าวโพดหวานปริมาณมาก ขณะเดียวกัน ได้ขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านการนำผลิตภัณฑ์ออกงานแสดงสินค้าและอาหาร โดยมุ่งไปยังกลุ่มประเทศยุโรป และ ตะวันออกกลาง จากการได้เปรียบในด้าน คุณภาพที่ได้มาตรฐาน ทำให้ได้รับความสนใจและมีคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทฯได้เริ่มมีการปรับราคาขายสินค้ากับกลุ่มลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส3/2562 คาดว่ารายได้รวมจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2561 ที่มีรายได้รวมประมาณ 1,800 ล้านบาท
“บริษัทพยายามสร้างกำไรจากการขายภายในประเทศทั้งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในกลุ่มรีเทลและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบในด้านค่าเงินจากการส่งออก พร้อมกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ถั่วลายเสือต้ม และ ข้าวโพดข้าวเหนียวพร้อมรับประทานเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มปริมาณผลิตสินค้ามันหวานญี่ปุ่นเผาที่ได้รับความนิยมให้เพียงพอต่อการจำหน่าย ซึ่งทั้งหมดน่าจะผลักดันให้การดำเนินงานปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย”
ขณะที่บริษัทยังคงสัดส่วนการผลิตใกล้เคียงกับช่วงต้นปี เนื่องจากเครื่องจักรในสายการผลิตต่างๆ ที่ติดตั้งได้ดำเนินการเต็มกำลังการผลิต แต่มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น ลดการสูญเสียในขั้นตอนต่างๆได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยครึ่งปีหลังถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของการเพาะปลูกข้าวโพดหวาน แม้จะได้รับผลกระทบกับปัญหาภัยแล้ง และศัตรูพืชเข้ามาระบาดในพื้นที่บางส่วน ทำให้ปริมาณผลผลิตมีจำนวนที่ลดลง แต่บริษัทฯได้เพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการใช้ชีวภัณฑ์ตามหลักกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด จึงสามารถควบคุมผลผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมายและเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งคาดว่ายอดการผลิตทั้งปีจะไม่ต่ำกว่า 10% หรือประมาณ 150,000 ตัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็น ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแช่แข็ง 25% ข้าวโพดหวานแบบกระป๋อง 60% และ ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ 15%
“แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดปัญหาภัยแล้ง และ แมลงระบาด ทำให้ผลผลิตเสียหายไปบ้าง แต่บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขพร้อมติดตามผลอยู่เสมอ ประกอบกับการให้ความรู้ควบคู่การใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกรใน Contract Farming จากการเล็งเห็นถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติที่เป็นการลงทุนในระยะยาวในด้านการผลิต ที่แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้รับ”
สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 3/2562 บริษัทมีรายได้รวม 514.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.4 ล้านบาท คิดเป็น 6.9 % เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตลาดต่างประเทศและการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในประเทศ ขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 1 ล้านบาท ลดลง 27.9 ล้านบาท คิดเป็น 96.7 % เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณการผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้งและแมลงระบาด รวมถึงได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ในด้านผลประกอบการ 9 เดือนมีรายได้เท่ากับ 1,405.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีผลขาดทุนสุทธิ 32.7 ล้านบาทหรือ ลดลง 159.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน