บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรของกลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และคู่ค้าของ GC สร้างโมเดลต้นแบบโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ซึ่งเป็นโครงการที่จะเรียกคืนขยะพลาสติกที่ใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เป็นการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการนี้ ว่าบริษัทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 และการล็อคดาวน์ ส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชนที่จำเป็นต้องอยู่บ้านมากขึ้น ชีวิตประจำวันต้องสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้นด้วย ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกจากกล่องอาหารเดลิเวอรี่เพิ่ม
จำนวนมากขึ้นถึง 15% ต่อวัน หรือจาก 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน สิ่งที่ตามมาคือเกิดขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องจากพลาสติกถือเป็นนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของทุกคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดยิ่งทำให้พลาสติกมีบทบาทในหลายแง่มุม ดังนั้น GC จึงหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และคู่ค้าของ GC หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการจัดทำโครงการชื่อว่า “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เป็นการเรียกคืนขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปรีไซเคิลสร้างประโยชน์ใหม่ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการสร้างโมเดลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย และยังเป็นการนำร่องในการจัดการกับขยะพลาสติก สร้างประโยชน์ในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย
นายคงกระพัน กล่าวว่าการนำขยะมารีไซเคิลในลักษณะนี้ จะเริ่มด้วยการทำเป็นโครงการนำร่องก่อนในพื้นที่สุขุมวิท ทำให้เกิด Circular Hotspot บนถนนสุขุมวิท ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นต้นแบบให้กับประเทศอาเซียน ในระยะฟื้นฟูหลังภาวะวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นการสร้างประโยชน์ใหม่ตามหลักการบริหารจัดการของ GC นั่นคือ GC จะร่วมสร้างกลไกให้เกิดการคัดแยกที่ถูกต้อง ร่วมสร้างจุดบริการรับฝากขยะ (Drop point)กับพันธมิตร ซึ่งการจัดการขยะนั้นจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคน ด้วยการคัดแยกขยะพลาสติกและทำความสะอาดก่อนทิ้งอย่างถูกต้อง จากนั้นขยะพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะถูกนำเข้าโรงงานรีไซเคิล เพื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเส้นใยพลาสติก และเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ จากนั้นผ่านโรงงานแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และ อัพไซเคิล วนกลับไปสู่ผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง ขยะที่ถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ยกระดับสร้างสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับอาชีพคนรับจ้างเก็บขยะ และยังเป็นการสร้างธุรกิจรีไซเคิลคุณภาพสูงให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“ในฐานะที่ GC เป็นองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก และเป็นองค์กรเกียรติยศด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ จึงเห็นปัญหาของขยะพลาสติกที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นจากการสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ และเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขในช่วงภาวะวิกฤตนี้ และต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายจากทุกองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เชื่อว่าโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านนี้ จะประสบความสำเร็จในการเป็นต้นแบบ สามารถขยายผลต่อยอดในเชิงพื้นที่ และขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต” นายคงกระพันกล่าว