ฟู้ดเดลิเวอรีหรือการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่เพียงเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นที่จับตามองคือรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันหรือการกีดกันทางการค้า ไม่เฉพาะแต่การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้วยกันเอง แต่ยังรวมถึงการปฏิบัติทางการค้าระหว่างผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่อาจถูกมองว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหันมาใช้แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดังกล่าวในการเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงชดเชยยอดขายที่หายไปจากลูกค้าหน้าร้านที่ลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาของผู้ประกอบการและการเติบโตของ
เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้จัดทำร่างประกาศ “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร” รวมถึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ นักวิชาการ รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
กฎเกณฑ์ควรต้องคำนึงถึงพื้นฐานและแนวปฏิบัติจริงในธุรกิจ
แทนรัฐ คุณเงิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเลขานุการประจำคณะกรรมการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา เจ้าของบทความวิชาการเรื่อง “บริการจัดส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย ทำความเข้าใจรูปแบบของอุตสาหกรรม ผลกระทบ และอนาคต” (https://law.kku.ac.th/wp/?p=12920) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเผยว่า “ในฐานะนักวิชาการนิติศาสตร์ย่อมคาดหวังถึงการสร้างสภาวะการแข่งขันที่เป็นธรรมอันเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพทางการค้า เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรูปแบบของเศรษฐกิจดิจิทัลอันถือเป็นช่องทางแห่งยุคสมัยที่มีศักยภาพอย่างสูงในการสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบ ทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที แต่เมื่อได้พิจารณาร่างประกาศฯ ดังกล่าวแล้วพบว่า มีหลายประเด็นที่อยากเสนอแนะให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า พิจารณาถึงความชัดเจนเหมาะสม รวมถึงพื้นฐานและแนวปฏิบัติจริงในธุรกิจด้วย”
โดย อาจารย์แทนรัฐ ได้สะท้อนมุมมองของนักกฎหมายที่มีต่อประเด็นต่างๆ ของร่างประกาศฯ ในงานวิจัยล่าสุด โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ :
- ร่างประกาศดังกล่าวยังคงมีหลายประเด็นที่คลุมเครือ จากการใช้คำกว้างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจทางกฎหมายที่มากจนเกินไปและทำให้ความเป็นมาตรฐานที่ชัดเจนไม่เกิดขึ้นจนอาจทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจผิดได้ง่าย ดังกรณีตัวอย่าง “การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราสูงเกินควร…” คำว่า “สูงเกินควร” ควรมีหลักเกณฑ์โดยคำนวณจากพื้นฐานต้นทุนทางธุรกิจหรือบริบทต่างๆ อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาด และควรมีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจนแก่ทุกฝ่ายและสะดวกต่อการนำไปปฏิบัติจริงทั้งในฐานะผู้ประกอบธุรกิจอาหาร ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน) ผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งคนขับผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร
- การห้ามไม่ให้มีการใช้ Exclusive Dealings ถือเป็นการจำกัดสิทธิในเรื่องที่เป็นประเพณีทางการค้า แนวคิดเช่นนี้ถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางการค้าและจะส่งผลกระทบต่อกลไกตลาดไปยังผู้บริโภค เรื่อง Exclusive Dealings เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติมาอย่างยาวนาน เช่น หากเคยเป็นคู่ค้ากันมายาวนาน ราคาที่ได้ก็ย่อมถูกกว่าคู่ค้ารายใหม่ หรือเมื่อมีการซื้อสินค้านั้นๆ ในจำนวนที่มาก ราคาก็ยิ่งถูกลง เป็นต้น นอกจากนี้ Exclusive Dealings ยังเป็นการตกลงหรือสัญญาของทั้งสองฝ่ายอันเกิดจากความสมัครใจที่จะก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของร่วมกัน และอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลดีจากต้นทุนที่ถูกลง หรือนำมาซึ่งการทำกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้เป็นเกิดสภาพคล่องและการหมุนเวียนของเม็ดเงินในตลาดนี้
- ร่างประกาศฉบับนี้ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจต่อบริบทอย่างแท้จริงต่อทุกภาคส่วนในตลาด โดยคำนึงถึงสภาพปัญหาของทุกฝ่ายที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดในอนาคต เพื่อสร้างกลไกการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและเสรีอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดการสั่งอาหารออนไลน์เติบโตได้ ดังนั้น การรักษาสมดุลนิเวศทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ ผลประโยชน์และความต้องการของแต่ละฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
“การสร้างกลไกการแข่งขันทางการค้าและเสรีอย่างแท้จริงนั้นควรนำกฎเกณฑ์มาใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยยังคงต้องคำนึงถึงพื้นฐานและแนวปฏิบัติจริงในทางธุรกิจและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ อย่างผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการย่อมคาดหวังการได้รับการบริการที่ดี ตรงเวลา และสินค้าที่ได้รับก็ถูกต้องตามปริมาณและคุณภาพ ในขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ย่อมคาดหวังรายได้หรือยอดสั่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือการเป็นที่รู้จักในกลุ่มของผู้บริโภค ในส่วนของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันย่อมคาดหวังรายได้จากการจับคู่ความต้องการ หรือ Demand ของผู้บริโภคและการตอบสนอง หรือ Supply ของผู้ประกอบธุรกิจอาหาร โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน เป็นต้น” อาจารย์แทนรัฐ กล่าวเสริม
“ค่าคอมมิชชั่น” ในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี “ตัวปัญหา” หรือ “ต้นทุนทางธุรกิจ” รูปแบบใหม่?
อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา และถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดร่างประกาศฯ ดังกล่าว คือการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ หรือที่เรียกกันว่า ค่าคอมมิชชั่น (Gross Profit: GP) โดยค่าคอมมิชชั่นนั้นเปรียบเสมือนส่วนแบ่งรายได้ที่ร้านอาหารจ่ายให้กับแพลตฟอร์มหรือบริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โดยแต่ละแพลตฟอร์มก็มีการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นในอัตราที่แตกต่างกันไป โดยปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์
อาจารย์แทนรัฐ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ถ้ามองกันอย่างผิวเผิน การมีแนวคิดในการกำหนดแนวทางหรือนโยบายเพื่อควบคุมค่าคอมมิชชั่นอาจส่งผลดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร แต่หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว การไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาดอย่างเสรีนั้นเป็นการจำกัดขีดความสามารถและศักยภาพของผู้ประกอบการจนทำให้ตลาดการสั่งอาหารออนไลน์นี้ไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น โดยทั่วไปแล้วในช่วงแรกของธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น การดึงดูดให้มีผู้ใช้บริการถือเป็นปัจจัยหลักที่ถูกคำนึงถึงเป็นอันดับแรก โดยการกำหนดค่าคอมมิชชันถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะสร้างความแตกต่างของโมเดลธุรกิจ ดังนั้น นโยบายควบคุมค่าคอมมิชชั่นอาจส่งผลให้เกิดการจำกัดโอกาสของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันรายใหม่ๆ ที่ต้องการเข้ามาทำตลาดได้
“หากมีการกำหนดเพดานค่าคอมมิชชั่นในตัวบทกฎหมายย่อมทำให้ราคาอาหารหรือค่าบริการของผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ได้ต่างกับรายเก่ามากนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่จูงใจให้ร้านอาหารต่างๆ หรือกลุ่มผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการในแพลตฟอร์มได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่เกิดการแข่งขันในธุรกิจนี้อย่างที่ควรจะเป็น จนทำให้มีเพียงรายใหญ่เท่านั้นที่อยู่รอดได้ กรณีเช่น หากมีกฎหมายควบคุมราคาการขายอาหารจานด่วนให้ไม่เกินจานละ 50 บาททั่วประเทศ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ระดับประเทศต้องหันมาขายแข่งกับผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็กโดยมาเบียดแย่งในกลุ่มตลาดเดียวกัน เช่นนี้ อาจจะสร้างปรากฎการณ์รวมบ่อปลาใหญ่ไว้ปลาเล็ก สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือปลาใหญ่ กำลังเยอะกว่า ศักยภาพดีกว่าอาจจะแย่งอาหารในบ่อจนหมด ทำให้ปลาเล็กไม่เติบโตหรือปลาเล็กอาจจะะตกเป็นอาหารปลาใหญ่แทน”
“การเลือกใช้แพลตฟอร์มของผู้ประกอบการร้านอาหารนั้นเปรียบเสมือนการเลือกใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อส่งเสริมธุรกิจของตนให้เติบโต เพราะช่องทางนี้ช่วยตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังสามารถทำให้ธุรกิจของตนเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจะต้องศึกษาเงื่อนไข ปัจจัยต่างๆ รวมถึงวิเคราะห์ศักยภาพของแพลตฟอร์มนั้นๆ ว่ามีประโยชน์กับธุรกิจของตนมากน้อยเพียงใด เหมาะสมและคุ้มค่าหรือไม่ที่จะยอมแบ่งค่าคอมมิชชั่นบางส่วนของสินค้าเพื่อให้ธุรกิจของตนเติบโต ในขณะเดียวกัน อาจจะต้องคิดทบทวนแผนธุรกิจว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อความอยู่รอด และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอาหารและผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน” อาจารย์แทนรัฐ กล่าวทิ้งท้าย