โครงการร่วม 2 หลักสูตร เพื่อสร้างนักฉุกเฉินการแพทย์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ – หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และ โครงการฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์การกีฬา/เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (จฉพ.) ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
การบาดเจ็บจากกีฬา (Sport injury) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ขณะฝึกซ้อมหรือแข่งขันกีฬาทุกประเภท ซึ่งอาจเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน หรือบาดเจ็บจากการใช้งานที่มากเกินไป ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บจากกีฬาเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินมากกว่า 2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้บาดเจ็บในกลุ่มวัยรุ่น การบาดเจ็บที่พบได้บ่อยจากกีฬา คือ การบาดเจ็บต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ ขณะที่การบาดเจ็บที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต (life-threatening injury) มักพบในการบาดเจ็บต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ การบาดเจ็บที่ศีรษะและกระดูกสันหลัง อวัยวะในช่องอก อวัยวะในช่องท้อง ซึ่งพบในกีฬาที่มีการสัมผัสหรือใช้กำลังเข้าปะทะคู่ต่อสู้ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น การรับรู้การบาดเจ็บ และการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ ความทุพพลภาพ และการเสียชีวิตที่ไม่พึงประสงค์ได้
วิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports science) เป็นศาสตร์ที่นำองค์ความรู้แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อม การแข่งขัน และการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากกีฬามาบูรณาการร่วมกัน เช่น เวชศาสตร์การกีฬา (Sports medicine) ชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) สรีรวิทยาการกีฬา (Physiology) โภชนาการ (Nutrition) เป็นต้น เวชศาสตร์การกีฬา เป็นศาสตร์หนึ่งทางการแพทย์ที่มีบทบาทในการประเมินและดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากกีฬา สำหรับบริบทในต่างประเทศ มีบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ผู้ฝึกสอนนักกีฬา (Athletic trainer) นักกายภาพบำบัด และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ดูแลผู้บาดเจ็บในสนามแข่งขันกีฬา และมีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน นักฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (Advanced emergency medical technician: AEMT) หรือ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (Emergency medical technician: EMT) เป็นผู้ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บระหว่างส่งต่อสถานพยาบาล
สำหรับบริบทประเทศไทยในปัจจุบัน บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทั้งในสนามแข่งขันกีฬาและระหว่างส่งต่อสถานพยาบาลร่วมกับบุคลากรด้านเวชศาสตร์การกีฬา รวมทั้งมีบทบาทในการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬา เช่น การตั้งหน่วยบริการทางการแพทย์ การรับมืออุบัติภัยหมู่ที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวของฝูงชน (mass gathering) เป็นต้น การที่บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินมีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จะทำให้การเตรียมความพร้อมและการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากกีฬาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกันสร้างหลักสูตรระหว่าง หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากกีฬานอกโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งปลูกฝังความเป็นนักวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้และบูรณาการร่วมกับศาสตร์ด้านฉุกเฉินการแพทย์
สำหรับโครงการร่วม 2 หลักสูตร จะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2565 โดยมีแผนรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ที่มีความสนใจเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จำนวน 5 คน เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ และต่อเนื่องในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มีระยะเวลาการศึกษารวมทั้ง 2 หลักสูตร จำนวน 5 ปี โดยในปีที่ 1-3 นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ด้านฉุกเฉินการแพทย์ เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและขั้นสูง การดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน การดูแลผู้บาดเจ็บในสถานการณ์สาธารณภัย และความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา เช่น เวชศาสตร์การกีฬา สรีรวิทยาการออกกำลังกาย ชีวกลศาสตร์ โภชนาการทางการกีฬา เป็นต้น ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 นักศึกษาจะได้ฝึกประสบการณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉินตามศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และโรงพยาบาลต่างๆ ร่วมกับทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การกีฬา
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ร่วมกันสร้างหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (จฉพ.) ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิฉุกเฉินการแพทย์แห่งชาติ สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา โดยนักศึกษาจะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทักษะหัตถการฉุกเฉินการแพทย์ การช่วยอำนวยการปฏิบัติการฉุกเฉิน การบริหารระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และงานวิชาการฉุกเฉินการแพทย์ ผู้สำเร็จการฝึกอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ มีอำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดในการปฏิบัติการแพทย์ของผู้ช่วยเวชกรรมในระดับเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น การใช้อุปกรณ์พยุงทางหายใจอย่างง่าย การให้ออกซิเจน การแทงเข้าและบริหารสารน้ำทางหลอดเลือดดำ การให้ยาระงับปวดและระงับความรู้สึกเฉพาะที่ การบันทึกและแปลผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การใส่ปลอกดามคอ การดามกระดูกสันหลัง การจัดกระดูกหัก/ข้อเคลื่อนเข้าที่ เป็นต้น