สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติระยะ 5 ปี โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ไปแล้วทั้ง 4 ภูมิภาคผ่านระบบออนไลน์ คาดจะเห็นร่างทิศทางการค้า ภายหลังระดมความเห็นจากส่วนกลางสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ ว่า จากการเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ตั้งแต่ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกระดับ Startup ไปจนถึงประชาชนผู้สนใจ ทั้ง 4 ภูมิภาค ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อระดมความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ Zoom นั้น ทำให้รับทราบข้อมูลตั้งแต่ปัญหา ข้อเสนอแนะ และอุปสรรคต่าง ๆ ด้านการค้า และมองหาจุดร่วมนำไปสู่การเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการค้าของไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ในส่วนของพื้นที่ส่วนกลาง จะเปิดระดมความคิดเห็นรับฟังปัญหาและอุปสรรคของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (ภาครัฐ เวลา 09.00-12.00 น. และภาคเอกชน เวลา 13.00-16.00น.) เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00-12.00 น. เพื่อนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติ
ผลจากการจัดประชุมทั้ง 4 ภูมิภาค นับว่าโครงการฯ รุดหน้าไปมาก เพราะสามารถกำหนดกลุ่มสินค้าและบริการเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร 2. กลุ่มสาขาบริการสุขภาพ Health & Wellness 3. กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และ 4. กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล
“สำหรับ 4 กลุ่มเป้าหมายที่ สนค. คัดเลือกมาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าไทย นับเป็นกลุ่มที่สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลก ทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก พฤติกรรมผู้บริโภคของโลกแบบชีวิตวิถีใหม่(New Normal) เทคโนโลยี ห่วงโซ่มูลค่าโลก การเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือแม้แต่ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และไทยยังมีจุดแข็ง มีโอกาส ตลอดจนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ อีกทั้งยังเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เช่น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve & new S-Curve) และ BCG Economy เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาด้านการค้าของประเทศ พร้อมด้วยแนวทางการขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายภูสิต กล่าวพร้อมกับเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารของไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นของไทย โดยไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ มีวัตถุดิบที่เพียบพร้อม เป็นครัวของโลก และยังเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถผลิตอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้ทุกกลุ่มผู้บริโภค โดยในการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าในเรื่องนี้ ก็ต้องมองว่า ไทยจะมีจุดยืนอย่างไร สินค้าไหนที่เป็นสินค้าดาวรุ่ง และควรจะมุ่งไปในทิศทางไหน
ด้านบริการสุขภาพ ปัจจุบันไทยมีบริการที่หลากหลาย ทั้งด้านการดูแลสุขภาพและความเจ็บป่วย
มีบริการด้านความงาม บริการด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องมาวางแผนล่วงหน้าว่า เมื่อสถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้นแล้ว จะผลักดันให้ไทยมีความโดดเด่นในเรื่องบริการสุขภาพอย่างไร เพราะกระแสโลกมีการเติบโตมาก
ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่มีแนวโน้มเติบโต และนโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economy และด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องวางแผนในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย เช่น e-Commerce , IoT , ดิจิทัลคอนเทนต์ และคลาวด์คอมพิวติ้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าของชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยผู้สนใจสามารถเข้าร่วมระดมความคิดเห็นในส่วนกลางได้ที่ https://forms.gle/S2WX8rVbTk9ALWHN8 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 089-7433743