สถาบันฯ สิ่งทอ หนุนผู้ประกอบการไทย ซื้อขายผ่าน Textiles Square ตลอด 24 ชั่วโมง

ประชาสัมพันธ์

เปิดตัวแพลตฟอร์ม Textiles Square ครั้งแรกในไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมสร้างโอกาสใหม่ช่วย SMEs สิ่งทอไทยปี 2565 โดยอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เร่งช่วย SMEs สิ่งทอไทย ปี 2565 ภายใต้แนวคิด Connectivity I Standard I Sustainability พร้อมเปิดตัว “Textiles Square” ดิจิทัลแพลตฟอร์มสิ่งทอ ศูนย์รวมผู้ผลิตสิ่งทอคุณภาพตั้งแต่ต้นทางการผลิต จนถึงปลายทางบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หวังเชื่อมโยงทุกโอกาสในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด19 เผยผู้ประกอบการเข้าร่วมแพลตฟอร์มแล้ว กว่า 500 ราย พร้อมยังเปิดรับสมัครอย่างต่อเนื่อง

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  เปิดเผยว่า อุตสาหกรรรมพัฒนามูลนิธิ มีนโยบายในการดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งให้คำปรึกษา วิจัย พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ การรับรอง และการดำเนินการอื่นๆ รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ จึงได้มอบนโยบายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสถาบันในสังกัดมูลนิธิ และสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศทั้งระบบให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจการค้าทั่วโลกและภายในประเทศเกิดวิกฤต แม้การค้าสิ่งทอเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะในปี 2565 ที่การแข่งขันแบบไร้พรมแดนทวีคูณมากขึ้น เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็นในการค้า อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงต้องเร่งสร้างช่องทางเพื่อช่วยเหลือ โดยมีแนวคิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและมุ่งผลักดันธุรกิจสู่ความเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ เร่งเชื่อมโยงในทุกมิติ (Connectivity) เชื่อมโยงทุกโอกาสในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย Textiles Square : Digital Platform จัดทำแพลตฟอร์มทางออนไลน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของประเทศในการเชื่อมต่อสิ่งทอของประเทศ มุ่งเน้นด้านคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค (Standard) และคำนึงถึงความเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างอุตสาหกรรมให้ยั่งยืน (Sustainability)

ด้าน ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าว สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ภายใต้งบกองทุนสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยการเร่งสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รวมทั้ง เอสเอ็มอี เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางการค้า ด้วยการขับเคลื่อนนำพาผู้ประกอบการเข้าสู่ยุคดิจิทัลให้ทันท่วงที และนำเทคโนโลยีดิจิตอล มาตรฐาน และความยั่งยืนของอุตสาหกรรม มาใช้ภายใต้แนวคิด Connectivity I  Standard  I  Sustainability พร้อมนำเสนอ 3 เครื่องมือเพื่อ “สร้างโอกาสใหม่ช่วยเอสเอ็มอีสิ่งทอไทยปี 2565” สอดรับกับนโยบายของอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ ประกอบไปด้วย

1. Connectivity : เชื่อมโยงทุกโอกาสในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย Textiles Square : Digital Platform ศูนย์รวมผู้ผลิตสิ่งทอตั้งแต่ต้นทางการผลิต จนถึงปลายทางบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถค้นหาวัตถุดิบ เส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีนวัตกรรม จากผู้ประกอบการ และโรงงานที่ได้มาตรฐานของประเทศ ผู้ซื้อผู้ขาย รวมทั้งนักออกแบบในเครือข่าย

2. Standard : ส่งเสริมศักยภาพด้วยมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน มอก. ผ้า:ความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย, มอก. สิ่งทอสำหรับสถานพยาบาล และ มอก. หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว รวมทั้ง ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ต่าง ๆ อาทิ Thailand Textiles Tag , Smart Fabric , Cool Mode ฉลากเสื้อผ้าเบอร์ 5 เป็นต้น พร้อมสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ครอบคลุมทุกมาตรฐานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้วยระบบ Business Development Service (BDS) จากภาครัฐ

3. Sustainability : สนับสนุนการเตรียมความพร้อมกับมาตรการคาร์บอนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในประเทศไทย ตามนโยบายของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 แนวทางการดำเนินงาน นับเป็นโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2565 ประกอบกับภาพรวมการค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยปี 2564 ที่มีทิศทางดีขึ้น โดยตัวเลขการส่งออกมีมูลค่า 6,526.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 และนำเข้า 5,058.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.1 เมื่อเทียบกับปี 2563 เกินดุลการค้า 1,468.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตลาดหลักที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ส่งผลดีทำให้ทิศทางแนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเติบโตได้อย่างแน่นอน ดร.ชาญชัย กล่าว