‘สมิติเวช – ดับบลิวเอชเอ ’ ปั้นดิจิทัลเฮลธ์แคร์ สร้างแอปฯ WHAbit ดูแลสุขภาพพนักงาน กว่า 3 แสนคน ผ่านTelemedicine รักษาทางไกลลดต้นทุนค่ารักษา

Technology

โรงพยาบาลสมิติเวช นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวชและรพ.บีเอ็นเอช  และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกความร่วมมือ(MoU)ในการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเฮลธ์แคร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการและโซลูชันการดูแลสุขภาพสำหรับพนักงานและลูกค้าทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์เซ็นเตอร์ และอาคารสำนักงานของดับบลิวเอชเอ ผ่านแพลตฟอร์ม WHAbit ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันใหม่ของบริษัทฯ ร่วมกับบริการ Samitivej Virtual Hospital ของโรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 7 โรงพยาบาลสมิติเวชศรี นครินทร์

โดยในบันทึกความร่วมมือ (MoU) ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสำรวจ ศึกษาขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่จำเป็นตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น เพื่อส่งมอบโซลูชัน การบริการดูแลสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่เชื่อมต่อกับช่องทางออฟไลน์ ทั้งนี้ รวมถึงการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การตรวจสุขภาพ (Health Check-up) คลินิกกลุ่มโรค NCD (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) สมาร์ทคลินิก การจ่ายยา การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม WHAbit ที่เตรียมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในต้นไตรมาสที่ 3 ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด ความต้องการของลูกค้า การแก้ไขปัญหา และจุดบกพร่องต่างๆ เพื่อใช้ในการออกแบบ และยกระดับโซลูชันบริการด้านการดูแลสุขภาพร่วมกับบริการของโรงพยาบาลสมิติเวช และ Samitivej Virtual Hospital โดยโรงพยาบาลสมิติเวชจะเชื่อมโยงและสนับสนุนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้แอปพลิเคชัน WHAbit ทำงานได้อย่างสมบูรณ์  รวมถึงเพื่อให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน WHAbit ได้รับบริการครอบคลุมรอบด้าน นอกจากนี้ โรงพยาบาลสมิติเวชจะแบ่งปันทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานในส่วนที่จำเป็นเพื่อเชื่อมโซลูชันและบริการของโรงพยาบาลเข้ากับแอปพลิเคชัน WHAbit ด้วย 

นพ. ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กล่าวว่า บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ คือ การจับมือเป็นพันธมิตรในเชิงนวัตกรรมระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการสุขภาพ เรารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมที่นำความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือกันระหว่างดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และสมิติเวช จะสามารถทลายอุปสรรคด้านการดูแลสุขภาพ ทำให้คนจำนวนมากมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยจุดแข็งของสมิติเวชที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์และประสบการณ์ในการให้บริการ Virtual Hospital (telemedicine) ทำให้มั่นใจว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและก่อให้เกิดนวัตกรรมหลายอย่าง ด้วยการร่วมมือกับกลุ่มดับบลิวเอชเอ เราจะร่วมมือกันให้บริการสุขภาพทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงการสร้างเสริมป้องกัน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุด  เพื่อสร้างคุณค่า สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Organization of Value ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ EEC สร้างความมั่งคั่ง มั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป

“เรามีแนวคิดว่าทำยังไงให้สมิติเวชเป็นองค์กรที่มีคุณค่า คนไข้ที่มาแอดมิด ผ่าตัดมีประมาณ 10% แต่อีก 90%เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ โดยเราพลิกกลับไปว่าอย่าเข้ามาโรงพยาบาล ทำยังไงให้เขาพึ่งพาตัวเองมากกว่าพึ่งพาแพทย์ สโลแกนของสมิติเวช คือ เราไม่อยากให้ใครป่วย เพื่อให้ทุกคนสุขภาพดี ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเงินเยอะ จะทำให้ GDP ของประเทศดีขึ้น”นพ.ชัยรัตน์กล่าว

นพ.ชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า telemedicine เราทำตั้งแต่ก่อนมีโควิด เราคิดว่าคนไม่ค่อยชอบมาโรงพยาบาล จึงเริ่มต้น Virtual Hospital สมิติเวชทำเป็นแห่งแรก จากนั้นมีหลายแห่งทำกันเยอะ ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โรคง่ายๆมีประมาณ 30%เราใช้ telemedicine อาทิ ตรวจเลือดที่บ้าน ส่งยาไปให้ที่บ้าน รวมถึงเรามีTytoCare(ชุดตรวจสุขภาพเบื้องต้น)ที่สามารถวินิจฉัยเบื้องต้น เช็กปอด หัวใจ วัดไข้ ตลอด7 วัน 24 ชม. โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็น 1,000 คนให้คำปรึกษา นอกจากโรคที่มีความจำเป็นและร้ายแรง เราจะแนะนำให้มาโรงพยาบาล ทางหนึ่ง Virtual Hospital เป็นตัวแก้เรื่องการขาดแคลนหมอได้ด้วย พอโควิดมาทำให้ได้รับความสนใจ มีอัตราการเติบโต 143%

“ยกตัวอย่างสมิติเวช Engage Care แอปพลิเคชันที่ให้บริการติดตามข้อมูลจากการวัดค่าต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งคนที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมถ้าไม่อยากเจ็บป่วย สามารถใช้อุปกรณ์ตรวจวัดค่าเบื้องต้น อาทิ  ความดัน เบาหวาน   Engage Care เป็นแอปพลิเคชันที่เข้าไปตรวจเจาะเลือดใส่ในเครื่องส่งลิงก์มาที่โรงพยาบาล ถ้าเมื่อไหร่ขึ้นสีแดง ก็จะแจ้งเตือน รวมถึงในส่วนออฟฟิศซินโดรม เราสามารถใช้ telemedicine สัมภาษณ์ โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล”นพ.ชัยรัตน์กล่าว

นพ.ชัยรัตน์ กล่าวด้วยว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือ(MoU)ในการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเฮลธ์แคร์ ระหว่างบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ โรงพยาบาลสมิติเวชครั้งนี้  เชื่อว่านักลงทุนสนใจ เป็นความร่วมมือในส่วนเชิงธุรกิจกับเชิงสุขภาพ อยากให้มองเป็นเรื่องราวของประเทศชาติ ตอนนี้เศรษฐกิจของเราไม่ค่อยดี รัฐบาลต้องการนักลงทุน รัฐบาลมีนโยบายเรื่องของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งสอดรับกันพอดี อย่าลืมว่านักลงทุนเข้ามาไม่ใช่เรื่องธุรกิจอย่างเดียว แต่เขาต้องการความปลอดภัยด้วย สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดทำยังไงให้สุขภาพเขาปลอดภัย เขาไม่อยากป่วย

“นอกจากนี้ในอนาคตถ้าโควิดหายไป อยากให้เอาจุดแข็งมารวมกันแล้วเปลี่ยนเป็นจุดขาย อาทิ สุขภาพ ร้านอาหาร โรงแรม ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ฟิตเนส เรียกว่าครบเครื่องเรื่องการลงทุน ผมมองว่าตรงนี้ปังแน่นอน เป็นการเพิ่มจุดแข็งให้กับประเทศไทยด้วย”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวชและรพ.บีเอ็นเอช กล่าว

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวชครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป  เกิดจากเมื่อหลายปีก่อน ในธุรกิจโลจิสติกส์  E-Commerce แรงมาก เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก เรามาคิดว่าบริษัทคนไทยมีอะไรไปสู้กับเขาได้ เคยพูดคุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงจุดหนึ่งมามองภาพต่อว่า ถ้าเรามอง E-Commerce แต่เป็นแพลตฟอร์มเฮลท์แคร์ มันน่าจะเกิดได้ นี่คือโอกาสของคนไทย รวมถึงเราทำเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่อง EEC เราเริ่มมองว่าจะทำยังไงให้เทคโนโลยีมาประยุกต์รวมกับสิ่งที่เรามีอยู่ เพราะประเทศไทยมีฐานรากที่แข็งแรงมากๆติดระดับโลก พิสูจน์ได้จากตอนที่เราเจอโควิดแรกๆ เรารับมือได้ดีมาก

“จากนั้นได้ไปดูงานที่ประเทศจีน ก็กลับมาคิดต่อว่าเราจะทำยังไงให้คนไทยได้รับการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ และมีต้นทุนการรักษาที่ถูกลง ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จากนั้นมามองว่าเรามีอะไรบ้าง เรามีโลจิสติกส์  มีนิคมอุตสาหกรรม มีลูกค้าระดับโลก มีพนักงานของเขาหลายแสนคน แล้วมาดูต่อว่าเรามีจุดที่ต้องแก้ไขอะไรบ้าง อย่างในนิคมอุตสาหกรรม มีกฎหมาย มีแพทย์พยาบาลประจำ เรามองว่าถ้าเรามีเซ็นเตอร์ตรงกลางให้ มีแพลตฟอร์มให้คนงานที่ปวดหัวตัวร้อนไม่ต้องเดินทางไปหาหมอ ไม่ต้องเข้าคิว ไม่ต้องรอนาน เราจึงคิดว่าเราน่าจะใช้ตรงนี้ให้เป็นแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งถ้าเราทำสำเร็จมันจะไม่ใช่แค่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ มันจะสามารถลิงก์ไปในกลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ออกไปได้ทั้งหมด ซึ่งการทำแซนด์บ็อกซ์ เราต้องหาพันธมิตรที่ดี จึงปรึกษานพ.ชัยรัตน์ จนมาสู่การลงนาม MoUร่วมกันกับสมิติเวช

“ด้วยเหตุนี้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน WHAbit ขึ้นมา ภายใต้คอนเซ็ปต์ Corporate Wellness เพื่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ง่ายขึ้น โดยแอปพลิเคชัน WHAbit เป็นเครื่องมือด้านสุขภาพดิจิทัล ที่จะช่วยให้ผู้สมัครใช้บริการ สามารถจัดการสุขภาพได้ โดยปรึกษาแพทย์ผ่านทางวิดีโอคอลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรค การรักษา และการจ่ายยา ได้อย่างสะดวกสบาย  โดยดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปมีแผนที่จะนำแอปพลิเคชัน WHAbit นี้ มาให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า หรือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ภายในไตรมาส 3 ปี 2565 WHAbit จึงเป็นช่องทางการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวมผ่านสื่อดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ  ช่วยให้ลูกค้ามีสุขภาพ รวมถึงชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น

“เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจดิจิทัลเฮลธ์แคร์กลุ่มแรกๆ ให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพราะเป้าหมายของดับบลิวเอชเอ ไม่ใช่แค่การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เรายังต้องการส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้พนักงานในนิคมอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน และช่วยยกระดับความสามารถทางการแพทย์ และการให้บริการด้านสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของดิจิทัลเฮลธ์แคร์ นั่นคือการนำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มมาช่วยสนับสนุนบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว และลดต้นทุน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงลดความแออัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วย ”นางสาวจรีพรกล่าว และว่า

เราได้เริ่มนำแอปพลิเคชั่น WHAbit มาให้บริการกับพนักงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตั้งแต่ปี 2564 และได้ผลตอบรับการใช้งานจากพนักงานเป็นอย่างดี เราเทสต์ในส่วนของพนักงานเริ่มจากเก็บข้อมูลการตรวจสุขภาพร่างกายของพนักงาน เพื่อทำประกันสุขภาพให้กับพนักงาน สำหรับกลุ่มที่ต้องไปหาหมอบ่อยๆ เราจะแยกส่วนไปทำประกันสุขภาพเฉพาะให้ ส่วนคนที่ไม่ค่อยไปหาหมอก็ให้เขาดูแลสุขภาพด้านอื่น อาทิ ฟิตเนส และที่สำคัญคือโรคที่เกิดจากการทำงาน ตรงนี้คือจุดที่ต้องแก้ไขให้กับคนที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ถ้าเรามีการวางแผนป้องกันก็จะไม่เกิดโรคเรื้อรัง สุดท้ายแอปพลิเคชัน WHAbit สามารถออกแบบได้ว่าคุณต้องการแบบไหน ตอนนี้เราเริ่มต้นจากการเชื่อมต่อกับเรื่องประกันสุขภาพก่อน และในสเต็ปต่อไปเราต้องการเชื่อมต่อกับระบบประกันสังคมได้ด้วย

นางสาวจรีพร กล่าวด้วยว่า นอกจากการดูแลสุขภาพพนักงาน ลูกค้าทั้งในนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์เซ็นเตอร์ แล้ว เรามองถึงชาวบ้านชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมด้วย ในการลงทุนแต่ละที่เราต้องพบกับครอบครัวประมาณ 100,000 ครอบครัว เราจะดูแลทั้งหมดตั้งแต่สุขภาพพื้นฐาน การศึกษา โดยจะเอาแอปพลิเคชั่น WHAbit เข้าไปดูแลชาวบ้านด้วย

“ตั้งใจเอาไว้ว่าถ้าทุกอย่างเรียบร้อยจะมีการประชุมที่นิคมอุตสาหกรรม ว่า สิ่งนี้ดีกับบริษัทองค์กรยังไง ต้นทุนลดลงยังไง พนักงานจะได้การบริการอะไรที่ดีขึ้น ต้องวินวิน พนักงานที่เป็นลูกจ้างรายวันไม่ต้องไปหาหมอ เขาไปหาหมอแต่ละทีเขาต้องหยุดงาน บางครั้งโรงพยาบาลไกล สุดท้ายแล้วถ้าลูกค้าของเราที่เป็นองค์กรได้ใช้แอปพลิเคชันตัวนี้ จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพพนักงานลดลง โดยนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ มีประมาณ 900 โรงงาน มีพนักงานประมาณ 200,000 คน โลจิสติกส์อีกประมาณ 100,000 คน และถ้ามันใช่ มันเกิดขึ้นได้ มันก็ขยายไประดับประเทศได้ เป้าหมายในอนาคตจะมีหลายล้านคน ในกลุ่ม EEC”นางสาวจรีพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Samitivej Virtual Hospital เปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2562   มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ รวมทั้งช่วยให้ชีวิตของผู้รับบริการดีขึ้น สะดวก รวดเร็ว ในทุกมิติการดูแลสุขภาพ จนเป็นที่ยอมรับ ทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ด้วย 4 รางวัลการันตี

  • Prime Minister’s Export Award 2021: สาขา Best Service Enterprise Award (Health& Wellness) ความเป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ Samitivej Virtual Hospital, Samitivej Plus และ Precision Medicine
  • Product Innovation Awards 2021: สาขาความเป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ Samitivej Virtual Hospital
  • GlobalHealth Asia –Pacific Awards 2021: สาขา Smart Hospital of the Year in the Asia –Pacific
  • Thailand Digital Excellence Awards 2020: สาขา Thai Digital Champion for Business Innovation