ซีพีรวมพลังกลุ่มธุรกิจทั่วโลกมุ่งสู่ “องค์กรแห่งนวัตกรรม” มอบรางวัล “Chairman Awards มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน” หนุนสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศยุค 5.0

ประชาสัมพันธ์

วันที่ 7 ธันวาคม 2565  เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดงานมอบรางวัล Chairman Awards  มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรตามวิสัยทัศน์ของประธานอาวุโสเครือซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ในทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลกสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 5.0  ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จึงเป็นการมอบรางวัลผลงานด้านนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นในปี 2020 และ 2022 รวม 2 ปี จำนวน  120 ผลงานใน 4 ด้านหลักคือ นวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ  ด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม  และด้าน New Normal  โดยมี นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมด้วย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโสเครือฯ  และนายธานินทร์ บูรณมานิต  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแม็คโคร ในฐานะประธานคณะอำนวยการมหกรรมนวัตกรรมบัวบานกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ทั้งนี้ภายในงานมีผู้บริหารระดับสูงของเครือฯ ร่วมแสดงความยินดี อาทิ  นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจโลตัสส์เอเชีย-แปซิฟิก นางสาวเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการทั้งภายในเครือฯและภายนอกเครือฯ รวมทั้งผู้บริหารและพนักงานจากกลุ่มธุรกิจ เครือซีพีเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ กรุงเทพฯ

ดร. อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นงานที่มีความสำคัญควบคู่กับการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ที่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมที่ก้าวหน้าทันสมัยในการต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นการสะท้อนความสำคัญของการขับเคลื่อนเครือซีพีสู่ “องค์กรแห่งนวัตกรรม” อย่างแท้จริง โดยผลงานนวัตกรรมที่พนักงานเครือซีพีทำเกิดจากจิตสำนักที่ยึดมั่นในค่านิยม 6 ประการของเครือซีพี เริ่มต้นจากการยอมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นนำไปสู่การคิดและสร้างสรรค์ทำเรื่องใหม่ เกิดการปรับปรุงจนทำให้เกิดนวัตกรรมแบบใหม่ขึ้น สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเร็วและมีคุณภาพ โดยสิ่งสำคัญการดำเนินธุรกิจต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม ความซื่อสัตย์ จะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรตามปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือฯ การมอบรางวัลครั้งนี้ จึงถือเป็นการเชิดชูนักวิจัยและนวัตกรของเครือซีพีและผลงานที่ได้ทุ่มเทคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็น “แบบอย่าง” ให้กับคนอื่น ๆ ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับโฉมสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมในอนาคต

นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานคณะอำนวยการมหกรรมนวัตกรรมบัวบานกล่าวถึงภาพรวมของการจัดงาน ว่า มหกรรมนวัตกรรมบัวบานเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2011 และจัดต่อเนื่องทุก 2 ปี จนมาครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 5 โดยเป็นการรวมผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นในปี 2020 และ 2022 เข้าด้วยกันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  โดยมีผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นที่ได้รับรางวัล Chairman Award รวม 2 ปี จำนวน  120 ผลงาน จากผลงานที่ได้รับการคัดเลือก 902 ผลงาน ในกลุ่มธุรกิจในเครือทั่วโลกที่ส่งมาทั้งทั้งสิ้น 3,678 ผลงาน โดยแบ่งเป็นผลงานใน 4 ด้านหลักคือ  ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเติมด้าน New Normal ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจำนวนผลงานถือเป็นสถิติใหม่ที่น่าประทับใจทำให้เห็นการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมของเครือมีความก้าวหน้าที่ต่อเนื่อง โดยผลงานในครั้งนี้มาจากพนักงานเครือซีพีทั่วโลกกว่า 16 ประเทศ  และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คนซีพีมีผลงานนวัตกรรมที่มีคุณภาพจำนวนมาก และยังเป็นการส่งเสริมการนำผลงานนวัตกรรมไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์เป็นวงกว้าง สร้างเครือข่ายนวัตกรในด้านต่าง ๆ   ของเครือฯ ทั่วโลก เพื่อให้เกิดการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนองค์ความเรียนรู้ข้ามสายงาน ข้ามกลุ่มธุรกิจ และข้ามประเทศ  ตามยุทธศาสตร์ด้านการผนึกกำลัง (Synergy) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ออนไลน์อย่างไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญยังเป็นการเชิดชูและให้เกียรตินวัตกรภายในเครือฯ ที่เป็นผู้พัฒนาผลงานนวัตกรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเติบโต การขยายธุรกิจ และความสามารถเชิงแข่งขันให้แก่กลุ่มธุรกิจของเครือฯ พร้อมช่วยส่งเสริมศักยภาพของเครือฯ ให้เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ขณะที่ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน จากกลุ่มทรู  เปิดเผยว่า การสร้างนวัตกรรมถือเป็นค่านิยมที่สำคัญของเครือซีพีและบริษัทในเครือ ทั้งนี้องค์กรที่มีนวัตกรจำนวนมากนั้นจะสามารถช่วยในการคิดสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ  ในการมอบรางวัลนอกจากจะเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับนวัตกรแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของบุคลากรในเครือ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของทรูถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอล การโทรคมนาคม และมีเดีย ซึ่งนวัตกรรมที่ทรูได้สร้าง ถือว่าได้มีการตอบโจทย์สิ่งที่สังคมต้องการ ทั้งการเข้าไปช่วยการอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

สำหรับการมอบรางวัล Chairman Awards  มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน” ครั้งนี้ประกอบด้วยผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในปี 2020  รวม 76 ผลงาน แบ่งเป็น 4 ด้านหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจ รวม 27 ผลงาน ด้านเทคโนโลยี รวม 23 ผลงาน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวม 17 ผลงาน  และด้าน New Normal  รวม 9 ผลงาน และผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในปี 2022 รวม 44 ผลงาน แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ รวม 10 ผลงาน ด้านเทคโนโลยี รวม 25 ผลงาน และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวม 9 ผลงาน  โดยผลงานดังกล่าวประกอบด้วยด้านเศรษฐกิจ ครอบคลุมด้านการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และตอบโจทย์ธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  ผลงานด้านเทคโนโลยี ครอบคลุมการนำนวัตกรรมและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและการบริหารการขาย รวมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศของเทคสตาร์ทอัพ  นอกจากนี้ผลงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มคนที่หลากหลาย เพิ่มการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และสุดท้ายผลงานด้าน New normal เป็นการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยให้สามารถใช้ชีวิตในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับโควิด-19 ทั้งนวัตกรรมส่งเสริมการทำงานและการเรียน รวมทั้งนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะการใช้งานระบบดิจิทัล ซึ่งมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุควิถีใหม่