ไม่มีใครปฏิเสธการมาถึงของเทคโนโลยีที่จะมาทำงานแทน “คน” ในอนาคตอันใกล้ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามแต่ธุรกิจ การวางแผนพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ จึงมีความสำคัญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “แมคคินซี่ ดิจิทัล เอเชีย” ได้เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “ดิจิไทเซชั่น : ขับเคลื่อนดิจิทัลอีโคโนมีด้วยระบบอัตโนมัติ และทักษะการทำงานแห่งอนาคต”

“เกรเกอร์ ธีเสน” ประธานอาวุโสกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและดิจิทัลของแมคคินซี่ ดิจิทัล เอเชีย เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของบริษัทที่ได้ศึกษากว่า 2,000 กิจกรรมธุรกิจที่บุคลากรใน 800 อาชีพ ทำอยู่ทั่วโลก พบว่ากว่า 50% ของกิจกรรมทั้งหมด สามารถใช้เทคโนโลยีแทนที่ได้ คิดเป็นจำนวนบุคลากรที่จะได้รับผลกระทบ 75-135 ล้านราย โดยส่วนใหญ่เป็นงานลักษณะที่ต้องทำซ้ำ ๆ แบบเดิมทุกวัน อาทิ แรงงานทั่วไป, พนักงานธุรการประจำสำนักงาน เป็นต้น แต่คาดว่าจะยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนในอัตราส่วนไม่มากนัก

และประเมินว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ราว 15%

ขณะที่ในประเทศไทยมีการประเมินว่า มีราว 55% ของกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดที่ใช้เทคโนโลยีทดแทนได้ และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเริ่มนำมาทดแทนจริง ๆ ราว 17% หรือ 6 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา อาทิ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยี, อัตราค่าแรง และปัจจัยด้านกฎระเบียบและสังค

สำหรับอาชีพที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ แรงงานภาคการผลิต, พนักงานต้อนรับทั้งในธุรกิจที่พักโรงแรมและร้านอาหาร, พนักงานในธุรกิจขนส่ง และการจัดเก็บคลังสินค้า, พนักงานขายทั้งขายปลีก และขายส่ง, คนงานเหมืองแร่, คนงานในภาคการเกษตร รวมถึงการก่อสร้าง

กลุ่มแรงงานข้างต้นมีกิจกรรม 50-68% ที่ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานได้

“จากผลการวิจัยมีความสอดคล้องกันทั้งในระดับโลกและในระดับท้อง ถิ่นว่า ระบบอัตโนมัติจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก แม้ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีแรงงานเพียง 15% ที่โดนทดแทนด้วยเทคโนโลยี แต่ประเมินแล้วมีแรงงานทั่วโลกราว 75-375 ล้านคน อาจต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ และเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น”

ดังนั้น ผู้นำในองค์กรจึงจำเป็นต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยต้องให้มั่นใจว่าพนักงานมีทักษะที่เกี่ยวข้องในการแข่งขันในสภาพแวดล้อม แบบดิจิทัล โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัล และการนำเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้งาน รวมถึงพิจารณาถึงการสร้างความร่วมมือในการอบรมหรือพัฒนาทักษะกับสถาบันการ ศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรที่เหมาะสมสำหรับอนาคต

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า บริษัทด้านโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มโครงการ Workforce 2020 เพื่อฝึกทักษะบุคลากร 100,000 คนสำหรับยุคหน้า เช่นกันกับบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลกที่มีระบบเครดิตให้พนักงานราย ชั่วโมงยืมเงินจ่ายค่าเล่าเรียนล่วงหน้าได้ถึง 95% โดยไม่คำนึงถึงว่าบุคคลนั้นมีเจตนาที่จะทำงานต่อไปให้กับบริษัทหรือไม่

“นพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล” ประธานกลุ่มธุรกิจดิจิทัล บริษัท แมคคินซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า สำหรับประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่ดิจิทัลอีโคโนมี แต่กลับพบว่ามีปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และมีความล่าช้าในการฝึกทักษะคนให้มีความพร้อม

โดยหลักการสำคัญในการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับออโตเมชั่น คือ 1.ต้องมีการวางแผนไว้ว่าอาชีพไหนจะมีทักษะด้านใดบ้าง 2.ทักษะของอาชีพใดตอบสนองต่อความต้องการ 3.มีโอกาสฝึกอบรมทักษะในระดับกลาง และ 4.มาตรการเพิ่มกำลังแรงงานข้ามชาติ

“data scientist ทั่วโลกยังขาดแคลนอยู่อีก 30 ล้านตำแหน่ง ส่วนงานที่ต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น งานขาย, งานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์, งานที่เกี่ยวกับการบริหารองค์กร ยังคงต้องอาศัยคนทำต่อไป และยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาแทนได้ในอนาคตอันใกล้นี้”

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ