ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน การใช้สินค้าแบรนด์เนมมือสอง เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีร้านค้าที่เป็นตัวกลางรับซื้อ-ขาย สินค้าแบรนด์เนมมือสองเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งเชนอินเตอร์แบรนด์และร้านค้าย่อยทั่วไป แต่แน่นอนว่า ร้านที่เป็นเชนขนาดใหญ่จะได้ความน่าเชื่อถือมากกว่า และเมื่อบวกกับเซอร์วิสต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา แม้ตลาดแบรนด์เนมมือสองจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีร้านที่เป็นเชนใหญ่ หรือแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด จึงเป็นโอกาสให้ “ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด เจ้าของโรงรับจำนำ “มันนี่ ปิ่นคู่” มองเห็นโอกาส โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ในการบริหารโรงรับจำนำที่เป็นทุนเดิมมาต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่
“ชูศักดิ์” ระบุว่า ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสอง เพราะความคุ้มค่า แม้สินค้าแต่ละแบรนด์จะมีมูลค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและสภาพ แต่อย่างน้อยราคามือสองจะถูกกว่ามือหนึ่งกว่า 30% ขึ้นไป ทำให้คนที่อยากใช้สินค้าแบรนด์เนมแต่มีกำลังทรัพย์ไม่พอ หรือคนที่มีสินค้าเยอะแล้วแต่อยากแลกเปลี่ยนเพื่อนำสินค้าใหม่ ๆ ไปใช้ หันมาจับจ่ายผ่านร้านซื้อขายมือสองมากขึ้น แต่ยังไม่มีช่องทางใดที่สามารถตอบโจทย์ในแง่ของการบริหาร ประเมินสินค้า ราคา และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลได้จึงได้เจรจาขอสิทธิร้าน “แบรนด์ ออฟ โตเกียว” ร้านซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าแบรนด์เนมท็อป 3 ของญี่ปุ่น มีสาขาในญี่ปุ่นกว่า 50 สาขา ฮ่องกง 8 สาขา และไต้หวัน 4 สาขา เข้ามาทำตลาดในไทย
โดยเตรียมจะเปิดร้านสาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 3 ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ภายใต้พื้นที่ 200 ตร.ม. ภายใต้งบฯลงทุน 100 ล้านบาท รวมทั้งหมด 4 ชั้น ในช่วงแรกจะเปิดให้บริการ 2 ชั้นก่อน ซึ่งชั้นแรกจะเป็นกระเป๋าแบรนด์หรู ชั้นที่ 2 เป็นจิวเวลรี่และนาฬิกา ส่วนชั้นที่ 3 และ 4 นั้นจะเป็นแบรนด์ที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย กับขายส่ง ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วงถัดไป
จุดเด่นของร้านคือความน่าเชื่อถือ ที่เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจนี้ โดยสินค้าจะถูกประเมินจากผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพนักงานที่จ้างมาประจำร้าน และมีระบบราคากลางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกที่ แม้จะไม่ได้ถูกที่สุดก็ตาม รวมถึงการให้คำแนะนำ เซอร์วิสจากพนักงานในร้าน ที่ผ่านการเทรนนิ่งด้วยสแตนดาร์ดจากญี่ปุ่นมาแล้ว
“ลูกค้าส่วนใหญ่ มีความกังวลเรื่องความคุ้มค่า ราคา และสภาพสินค้า แต่เราจะพยายามสื่อสารให้ลูกค้าได้รับทราบถึงข้อดีของการซื้อจากอินเตอร์ แบรนด์ ทั้งในแง่ของคุณภาพสินค้า บุคลากรที่เชี่ยวชาญ ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าจากแบรนด์ ออฟ โตเกียวเป็นของแท้ 100%”
โดยแหล่งที่มาของสินค้ามีทั้งการรับซื้อจากคนในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสามารถนำมาขายที่ร้านได้ทุกวัน และนำเข้ามาจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาได้จัดงานแบรนด์ ออฟ โตเกียว มาร์เกต เพลสขึ้น โดยรับซื้อสินค้าแบรนด์เนมทุกแบรนด์ ทั้งโค้ช ลองชอมป์ ไปจนถึงหลุยส์ วิตตอง และชาแนล ได้สินค้ารวมทั้งหมดกว่า 200 ชิ้น และคาดว่าจะจัดงานลักษณะนี้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อระดมสินค้าเข้าร้านยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ โดยจะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ในปีแรกคาดว่าจะมีรายได้ 80 ล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งเป้าเติบโต 15% พร้อมกับขยายสาขาอีก 2 แห่ง ในห้างสรรพสินค้า ใช้งบฯลงทุนสาขาละประมาณ 50 ล้านบาท
แม้จะไม่มีใครเก็บตัวเลขตลาดนี้อย่างเป็นทางการ แต่มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านบาท
งานนี้พี่ไม่ได้มาเล่น ๆ !
ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 เมษายน