“โก โฮลเซลล์” ย้ำความมุ่งมั่น พัฒนาโซลูชั่นเพื่อธุรกิจอาหาร ร่วมมือพันธมิตรคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการ

“โก โฮลเซลล์ (GO Wholesale)” ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบอาหารเพื่อผู้ประกอบการ เดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นสำหรับธุรกิจอาหารครบวงจร ผนึกกำลังพันธมิตร สร้างการเติบโตร่วมกัน ผ่านการคิดค้นนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “The New Choice for All” พร้อมเตรียมเปิดสาขาใหม่อีกสองแห่งในภูเก็ตเร็วๆ นี้

นายริคาร์โด้ โบอารอตโต้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจเซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ ประเทศไทย ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบอาหาร จุดหมายใหม่เพื่อผู้ประกอบการ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ร่วมแชร์ประสบการณ์ทางธุรกิจ ณ บูทเบทาโกร ท่ามกลางความสนใจของผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่มาร่วมงาน THAIFEX- ANUGA ASIA 2024 โดยกล่าวว่า

“หัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ โก โฮลเซลล์ เติบโต และมีการขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว คือการเป็นมากกว่าศูนย์ค้าส่งอาหาร เรามุ่งมั่นพัฒนาโซลูชั่นอย่างครบวงจร เพื่อเป็นจุดหมายใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้แนวคิด The New Choice For All ด้วยทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี และการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิด ทำให้มีความเข้าใจและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าผู้ประกอบการเป็นอย่างดี”

ดังเช่นความร่วมมือกับ “เบทาโกร” หนึ่งในพันธมิตรสำคัญ ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายในแต่ละช่องทาง และประเภทของธุรกิจ เพื่อรับมือกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 2.6 ล้านล้านบาท และมีศักยภาพในการเติบโตสูงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

1211679
1211684

โดยการทำงานร่วมกับคู่ค้า ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรทางธุรกิจ ถือเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตอย่างรวดเร็วตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาของโก โฮลเซลล์ นับตั้งแต่การเปิดสาขาแรกที่ศรีนครินทร์ในเดือน ต.ค. 2566 และล่าสุดเตรียมเปิดสาขาใหม่อีกสองแห่งที่จังหวัดภูเก็ตในเร็วๆ นี้

“การทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างใกล้ชิดถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญมาก แม้ว่าธุรกิจของเราจะค่อนข้างใหม่ และคนอาจมองว่าการแข่งขันในธุรกิจค้าส่งมีความรุนแรง แต่เรายังมองเห็นโอกาสที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นได้ ด้วยการบริการและความเข้าใจลูกค้าให้ลึกซึ้งที่สุด เราตั้งเป้าจะเป็นจุดหมายใหม่ที่ลูกค้านึกถึง ดังนั้น การมุ่งเน้นไปที่การขายเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ เราต้องการเป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้า หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าตอบว่า โก โฮลเซลล์ แตกต่างและดีกว่า นั่นจะเป็น สิ่งที่เราภาคภูมิใจอย่างที่สุด” นายริคาร์โด้ กล่าว

ปัจจุบันโก โฮลเซลล์ เปิดให้บริการอยู่ 7 สาขา ได้แก่ ศรีนครินทร์, เชียงใหม่, อมตะ ชลบุรี, พัทยาใต้, พระราม 2, รังสิต และรามคำแหง โดยมีแผนการดำเนินงานที่จะขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 5 ปี

“ภาคภูมิ เรืองชัยศิวเวท” กรรมการผู้จัดการ ออล อิน ทราเวล ธุรกิจทัวร์ที่เปิดมานานกว่า 19 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากทุกโปรแกรมทัวร์ถูกยกเลิกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทริปที่เตรียมไว้หายวับไปกับตา ขณะที่พนักงาน 20 ชีวิต ยังต้องกินต้องใช้

ในฐานะเจ้าของกิจการ “ภาคภูมิ” จึงแสดงความเป็นผู้นำ พาทีมงานฝ่าวิกฤต ด้วยการหันไปขาย “หมูปิ้งนมสด หมูปิ้งรากผักชี” ชูจุดแข็งที่น้ำจิ้มรสเด็ด จนขายดีสูงสุดวันละ 800 ไม้

“ภาคภูมิ” เล่าว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทมีลูกค้าจองทัวร์ต่างประเทศมากมาย ทั้งในเอเชียและยุโรป ต่อคิวตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ตั้งเป้าว่า ปี 2563 บริษัทจะต้องเติบโตขึ้นกว่าปีก่อน พนักงานทุกคนรู้สึกมีความสุข และสนุกกับการทำงานมาก เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน

แต่ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี โควิด-19 ก็เข้ามา จนตั้งตัวไม่ทัน

“เดือนกุมภาพันธ์ จู่ๆ ทุกโปรแกรมทัวร์ถูกยกเลิกทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด ทริปที่เตรียมไว้หายวับไปกับตา”

หลังจากนั้น “ภาคภูมิ” จึงเริ่มคิดหาทางออก ซึ่งสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดในช่วงนี้คือ การขายของ โดยเฉพาะของกิน และต้องใช้ช่องทางออนไลน์

“ผมหาสินค้ามาให้พนักงานทุกคนช่วยกันขาย ดูว่าใครถนัดเรื่องอะไร สรุปแบ่งพนักงานได้ 3 กลุ่ม คือ 1. ขายอาหารแห้ง เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ 2.ถนัดทำอาหาร ขายหมูปิ้งน้ำนมสด หมูปิ้งรากผักชี น้ำจิ้มแจ่ว-ซีฟู้ด สูตรอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3. แมสเซนเจอร์ ไว้ส่งสินค้า”

“ภาคภูมิ” เล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่งเคยไปเดินเทศกาลอาหาร เห็นคนต่อแถวซื้อหมูปิ้งกันล้นหลาม รู้สึกว่า “หมูปิ้ง” คือ อาหารที่ใครๆ ก็กินกัน กินง่าย ขายง่าย ราคาไม่แพง ลงทุนไม่เยอะ อีกทั้งพนักงานคนหนึ่งมีสูตรหมูปิ้งอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลยลองทำ ปรากฏลองทำขาย ลูกค้าชอบ

กระทั่งเกิดร้าน “หมูปิ้งยุดยา” ขายที่ตลาดไทยสมบูรณ์ ย่านพระประแดง มีบริการดีลิเวอรี่ส่งถึงบ้าน จุดเด่นของหมูปิ้ง มี 2 แบบ คือ สูตรรากผักชี และสูตรนมสด น้ำจิ้มแจ่ว รสชาติออกอมเปรี้ยว อมหวาน ไม่เหมือนน้ำจิ้มแจ่วของอีสาน และ น้ำจิ้มซีฟู้ด ทานกับหมูปิ้งที่มีมันจะตัดเลี่ยนได้ดี เป็นความลงตัวที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก

หลังหันมาขายหมูปิ้งได้เดือนกว่า “ภาคภูมิ” บอกว่า ขายได้สูงสุดวันละ 800 ไม้ ขั้นต่ำประมาณ 300 ไม้ต่อวัน อนาคตหากหมูปิ้งยังขายดีจะต่อยอดขายแฟรนไชส์ ขายส่งให้คนรับไปขายต่อ นับว่าลูกค้าให้การตอบรับดีมาก ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้อาชีพใหม่ท่ามกลางวิกฤต

“ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ธุรกิจหมูปิ้งจะไปได้ไกลแค่ไหนก็ยังไม่รู้ มองว่าหากเกิดวิกฤตขึ้นมา ต้องมองหาโอกาสและช่องทางใหม่ตลอด ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะชีวิตยังไงก็ต้องดิ้นรนและสู้ต่อไป”

95754805_125743725761887_6595332057247776768_n

ปัจจุบัน “ภาคภูมิ” สามารถเลี้ยงพนักงานทั้ง 20 ชีวิตไว้ได้ และคิดว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้น จะกลับมาเปิดบริษัททัวร์อีกครั้ง และหากกิจการหมูปิ้งไปได้ดีก็จะขยายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจด้วย

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“เศรษฐกิจแบบนี้อย่าเอาเปรียบลูกค้า แล้วลูกค้าจะมาหาเราเอง”

คำแนะนำจาก อ.พรดารา เขตต์ทองคำ อาจารย์ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์สอนหลักสูตรหมูยอ ไก่ยอ และก๋วยจั๊บญวน ของมติชนอคาเดมี  ถึง พ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการ ธุรกิจอาหารในปัจจุบัน

อ.พรดารา บอกว่า ธุรกิจอาหารยังไปได้ เพียงแต่อาจไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน เพราะปัจจุบันคนเก็บสตางค์เอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็น แต่ธุรกิจอาหาร เป็น1ในปัจจัย4 ทำยังไงให้ร้านเราไม่เงียบเหงา ไม่ซบเซา เราต้องมีจุดขายของเรา คงคุณภาพ อย่าเพิ่งไปขึ้นราคา

 

 

“อย่างหมูยอไก่ยอที่สอนที่มติชนอคาเดมี จะไม่ใช้แป้ง ไม่ใส่สารกันบูด ทำโดยอุปกรณ์ในบ้าน ห่อมัดโดยมือของเราเอง ทำขายยังได้กำไร3เท่า ต้นทุน 200 บาท ขายได้ 600 บาท ขณะที่บางแห่งผสมแป้งเยอะ บางทีใช้สิ่งเทียมแทนเนื้อสัตว์ และแต่งกลิ่น ทำให้ขายราคาถูกมาก ถึงได้บอกว่าในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ เราอย่าไปเอาเปรียบลูกค้ามาก ลูกค้าจะเข้ามาหาเราเอง เพราะฉะนั้นเราใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีกว่า ราคาเราอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ มันจะดีกว่า”

สำหรับผู้สนใจเรียนหลักสูตรหมูยอ ไก่ยอ ก๋วยจั๊บญวน สอนโดย อ.พรดารา เขตต์ทองคำ ติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.matichonacademy.com และเพจเฟซบุ๊ก Matichon Academy – มติชนอคาเดมี

วุ้น ขนมหวานคลายร้อนที่หาทานได้ทั่วไป เมื่อก่อนมีอยู่ไม่กี่รสให้เลือกทาน เช่น วุ้นน้ำแดง วุ้นกะทิ และวุ้นมะพร้าวน้ำหอม แพ็กเกจของวุ้น จะเป็นถ้วยเล็กๆ ทรงเรขาคณิตบ้าง ทรงรูปสัตว์บ้าง ซึ่งเป็นแบบธรรมดาทั่วไป

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลายคน เกิดไอเดียนำส่วนผสมต่างๆ อาทิ ขนมไทย ผลไม้ไทย มาเป็นส่วนผสม เกิดเป็นรสชาติใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้ลอง อีกทั้งมีการคิดพัฒนาแพ็กเกจให้มีความโดดเด่น  เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าของสินค้า

ที่ตลาดนัดแถวศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หน้าร้านร้านหนึ่ง มีลังโฟมใส่กล่องลูกชิ้น แต่ที่แปลกคือ ทำไมถึงแช่ไว้บนน้ำแข็ง จึงเดินเข้าไปดูใกล้ๆ กลับไม่ใช่ลูกชิ้นอย่างที่คิด เป็นวุ้นเสียบไม้แทนเสียนี่

“วุ้น*ชิ้น*สด” คือชื่อของวุ้นหน้าตาแปลกใหม่นี้ มีสองสามีภรรยาเป็นเจ้าของแบรนด์ คือ คุณนุ่น-วิภาดา มินาลัย อายุ 43 ปี และ คุณก๊อก-เจษฎา โยธาปาน อายุ 44 ปี

คุณนุ่นเล่าให้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ฟังว่า เธอจบนิเทศศาสตร์ ส่วนสามีจบบริหารธุรกิจ เมื่อก่อนทำงานประจำ แต่ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ทั้งคู่ โดยคุณก๊อก สามีของคุณนุ่นเป็นคนชอบทำอาหาร ทำขนมจุกจิก จึงคิดอยากจะทำวุ้นขายเนื่องจากชอบทาน

คุณก๊อกได้ไปเรียนทำขนม และมาแกะสูตรเองว่า ส่วนผสมเท่านี้ รสชาติจะออกมาเป็นแบบไหน จนได้เป็นวุ้นสูตรของตัวเอง ในตอนแรกจะทำขายเป็นรูปแบบทั่วไป อย่าง ทรงสี่เหลี่ยม รูปหัวใจ หรือแบบถ้วย แต่คุณนุ่นมองต่าง เสนอให้ทำเป็นลูกกลมๆ แล้วนำมาเสียบไม้เหมือนลูกชิ้นแทน แต่เนื่องจากเป็นวุ้นรูปแบบใหม่ แรกๆที่ทำ วุ้นยังไม่เป็นลูกกลม เนื่องจากวุ้นเกิดการแยกตัวบ้าง ไส้กับวุ้นแยกกันบ้าง ใช้เวลาปรับสูตรพักใหญ่ จนออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่คิด

เมื่อทำเป็นรูปร่างได้แล้ว จึงลองให้คนรู้จักชิม ผลตอบรับค่อนข้างดี และเริ่มเปิดเป็นเพจขาย แต่ตอนนั้นไม่ได้ขายจริงจังนัก เพราะทำกันแค่สองคนสามีภรรยาเท่านั้น ทำให้วันหนึ่งผลิตสินค้าได้ประมาณ 150 กล่อง พอเริ่มมีคนสนใจ มาชวนไปออกบู๊ธ งานโคโค่นัท พาราไดซ์ ที่เดอะมอลล์บางกะปิ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงเป็นจุดที่ทำให้คิดต่อยอดอยากทำเป็นธุรกิจจริงจัง

 

คุณนุ่น-วิภาดา มินาลัย อายุ 43 ปี และ คุณก๊อก-เจษฎา โยธาปาน อายุ 44 ปี
F0CB80C7-7875-4AB6-BA73-AB3DB2CCE8CB
3C332BC7-A0EA-4559-B6B8-5ADD2954B766

“นุ่นได้ไอเดียมาจากความคิดที่ว่า อยากให้เป็นของทานสะดวกๆ เพราะเวลาเราซื้อวุ้นมาทาน มันจะต้องใช้ช้อน ซึ่งบางเจ้าก็มีช้อนให้ บางเจ้าก็ไม่มี ทำให้ทานลำบาก เลยคิดว่าลองนำมาเสียบไม้เหมือนลูกชิ้นดูไหม น่าจะสะดวกและทานง่าย ไม่เลอะมือด้วย แล้วก็ยังไม่เห็นใครทำวุ้นเสียบไม้แบบนี้ เลยคุยกันและลงมือทำกับสามี แบ่งทำ 4 รอบในหนึ่งวัน จะผลิตได้ประมาณวันละ 150 กล่อง ถ้าขายหมดทั้ง 150 กล่อง รายได้เฉลี่ยก็ได้ประมาณหกพันกว่าบาทต่อวัน”

วุ้น*ชิ้น*สด” มีอยู่ด้วยกัน 10 รสชาติ ได้แก่ รสกะทิมะพร้าวอ่อน, กะทิมันม่วง, กะทิเผือกหอม, กะทิข้าวโพดหวาน, กะทิกล้วยบวชชี, กะทิฟักทองแกงบวด, กะทิลูกเดือย, กะทิขนุน, กะทิลำไยลูกเกด และ กะทิทับทิมกรอบ รสที่นิยมซื้อทานกันเป็นรสกะทิมะพร้าวน้ำหอม

โดยขายเป็น 1 กล่อง ( 3 ไม้ ) 1 รสชาติ ราคากล่องละ 50 บาท ลูกค้าที่มาซื้อมีทุกเพศทุกวัย สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่เพจ วุ้นชิ้นสด, โทร. (081) 719-5129 และบู๊ธงานอาหารต่างๆ

“ในอนาคตก็อยากขยายตลาดเพิ่มนะ แต่ไม่คิดอยากจะขายเป็นแฟรนไชส์ อาจจะเอาไปวางขายตามร้านอาหาร หรือ สวนอาหาร แต่จะใช้วิธีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ สำหรับผู้ที่สนใจจะขาย วุ้น*ชิ้น*สด โดยลงทุนแค่ทำเลในการขาย ค่าไฟ และค่าเช่าตู้แช่วุ้นที่ทางเราจะซื้อไปวางที่ร้านให้เท่านั้น” คุณนุ่น กล่าว

“บะหมี่กล่อง” เสิร์ฟถึงที่ พร้อมทาน ขายดีกว่าพันกล่อง/เดือน

ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้ คุณเปรี้ยว-ปาริชาติ ภาสประเสริฐทรง วัย 43 ปี อดีตพนักงานออฟฟิศหันหลังให้งานประจำ มาเอาดีด้านธุรกิจอาหาร เปิดร้านซีฟู้ดควบคู่กับขายบะหมี่ ยาวนานกว่า 12 ปี

“เลิกทำงานออฟฟิศเพราะเงินเดือนน้อย ต้องแต่งตัว ต้องเดินทาง หลายอย่าง เปลี่ยนมาขายเสื้อผ้า พอดีพี่สาวของแฟนขายอาหารซีฟู้ดอยู่แล้ว เราพอได้ความรู้จากเขามาบ้างเลยมาขายซีฟู้ดแทน ขายนานมากเลยต่อยอด ขายซีฟู้ดคู่กับส้มตำ คู่กับติ่มซำ แต่ยังไม่เวิร์กเท่าไหร่ จนมาจบที่บะหมี่ ซึ่งได้สูตรมาจากพ่อสามีนำมาปรับนิดหน่อยให้รสชาติกลมกล่อม” คุณเปรี้ยว เล่าถึงที่มา

 

หลังนำบะหมี่มาขายคู่กับซีฟู้ด คุณเปรี้ยว บอกว่า ยอดขายดีขึ้น เพราะบะหมี่เป็นอาหารจานเดียว ทานง่าย ทานได้ทุกวัน คนจึงเลือกซื้อมากกว่า ส่วนซีฟู้ดลูกค้าจะมาทานในโอกาสพิเศษมากกว่า เช่น เงินเดือนออก วันสำคัญต่างๆ ฯลฯ

จากขายบะหมี่หน้าร้าน คุณเปรี้ยวได้เปลี่ยนรูปแบบ หันมาขายบะหมี่ใส่กล่อง

“เคยไปเปิดฟู้ดคอร์ตขายบะหมี่แถวสาทร ย่านออฟฟิศ มีแต่กลุ่มคนทำงาน มีเวลาน้อย และรีบเร่ง ถ้าจะซื้อไปทานบนออฟฟิศก็ไม่สะดวก ต้องเทใส่ชาม เลยเปลี่ยนมาใส่กล่องกระดาษแทนการใช้ถุงพลาสติก” คุณเปรี้ยว เล่าถึงเหตุที่ต้องเปลี่ยนแบบขาย

โดยกล่องกระดาษที่นำมาใส่บะหมี่ เธอบอกว่า เป็นกล่องกระดาษคุณภาพอย่างดี นำเข้าจากยุโรป และสั่งผลิตจากโรงงานมาตรฐาน ด้านในกล่องเคลือบด้วย PE อีกชั้น สามารถกันน้ำและอาหารไม่ให้สัมผัสกับกล่องได้ (กล่องผลิตมาเพื่อใส่อาหาร food grade)

“การใส่กล่องดีกว่าใส่ถุงพลาสติกมาก เปิดกล่อง เทน้ำซุปทานได้เลย ที่สำคัญ กล่องกระดาษย่อยสลายง่ายกว่า แม้ต้นทุนสูงแต่ช่วยลดความยุ่งยากของลูกค้าได้ดีกว่า”

แต่กว่าจะได้กล่องกระดาษคุณภาพจนสามารถใส่บะหมี่ได้ คุณเปรี้ยว เล่าว่า เปลี่ยนมาแล้วหลายแบบกว่าจะเจอ ช่วงแรกใช้กล่องกระดาษสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ทั่วไป เจอคำถามจากลูกค้ามากมายทั้งเรื่องความสะอาด คุณภาพ สามารถใส่อาหารหรือน้ำได้แน่หรือเปล่า ก็ไม่สามารถบอกที่มาที่ไปได้ เลยเปลี่ยนมาจ้างบริษัทผลิตเอง

หลังได้บรรจุภัณฑ์ คุณเปรี้ยวเริ่มขายบะหมี่กล่อง เธอบอกว่า ช่วงแรกยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไขชัดเจน ทำให้วุ่นวายอยู่เหมือนกัน เพราะต้องทำบะหมี่กล่องไปด้วย ขายลูกค้าหน้าร้านไปด้วย ทำให้คนที่มาซื้อหน้าร้านต้องรอคิวนาน ช่วงหลังจึงต้องจัดระบบใหม่ คือ รับออร์เดอร์ 09.00-18.00 น. สั่งบะหมี่ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน สั่งขั้นต่ำอย่างน้อย 30 กล่อง ชำระเงินก่อนวันจัดส่งภายใน 18.00 น. ค่าจัดส่งคิดตามระยะทาง เริ่มต้น 100 บาท

“ตอนนี้ขายบะหมี่กล่องมา 4 ปีแล้ว ออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่รับเป็นงานสัมมนา งานประชุม กีฬาสี มี 3 เมนูให้เลือก คือ บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง หมูแดง ไข่ยางมะตูม 80 บาท บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง หมูกรอบหมูแดง ไข่ยางมะตูม 100 บาท และบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง หมูกรอบหมูแดง กุนเชียง เนื้อปู ไข่ปู ไข่ยางมะตูม 120 บาท มีน้ำซุปให้ในกล่อง อัดแน่น จัดเต็มเครื่องทุกกล่อง”

โดยสูตรเด็ดและเคล็ดลับความอร่อย คุณเปรี้ยว ระบุว่า คือวัตถุดิบ ทางร้านทำเองหมดทุกอย่าง เช่น หมูแดงย่างเตาถ่าน เกี๊ยวกุ้งก็ทำเอง เหตุที่เป็นเกี๊ยวกุ้งเพราะเมื่อก่อนมีขายแค่เกี๊ยวหมู บะหมี่ผลิตจากร้านญาติที่รู้จัก สะอาดได้มาตรฐาน ส่งผลให้ออร์เดอร์แต่ละเดือนมากเป็นพันกล่อง

สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ ไลน์ : @noodlebox เฟซบุ๊ก บะหมี่กล่อง เจ๊เปรี้ยว ส่วนหน้าร้าน “เจ๊เปรี้ยว บะหมี่&ซีฟู้ด” ตั้งอยู่ที่ปากซอยประชาอุทิศ 91

มีประโยชน์มาก! หลักสำคัญของการเปิดร้าน “อาหารตามสั่ง” ขายแค่ไหนถึงจะไม่เจ๊ง

หลักสำคัญของคนจะเปิดร้าน “อาหารตามสั่ง” แล้วมีคนมาสั่งกินประจำไม่ว่าจะนั่งกินที่ร้าน หรือซื้อกลับบ้านมีอยู่ไม่กี่ข้อ

  1. ราคากับคุณภาพอาหารไปด้วยกันได้
  2. หน้าตาน่ากิน กินแล้วอร่อย
  3. ร้านอยู่ไม่ลึกลับเกินไป หาง่าย มีวิธีติดต่อง่าย อาศัยเบอร์โทร เบอร์ไลน์ ถึงร้านจะไปตั้งอยู่กลางซอยไกลหน่อย แต่ลูกค้าลองชิมแล้วติดใจก็จะสั่งอีก
  4. บริการรวดเร็วทันใจ ทำอาหารเร็ว รวมทั้งส่งเร็วด้วย

เรื่องสำคัญมาก คนขายอาหารต้องรู้จักการควบคุมต้นทุน และตั้งราคาขายให้เหมาะสม

ส่วนต้นทุนของร้านอาหารนั้น มีอยู๋สองอย่าง

อย่างที่หนึ่ง คือ ต้นทุนที่ต้องจ่ายประจำ ภาษาการเงินเขาเรียก ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าดอกเบี้ย ค่าแรงตัวเรา ค่าแรงพนักงาน  พ่อค้าแม่ค้า หลายคนไม่ยอมคิดเรื่องนี้ เอาแต่ทำขายไป กระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา ค่าแรงตัวเองก็ไม่คิด เพราะถือว่าขายได้เท่าไหร่เป็นของเราหมด

จริงๆ ตามหลักการควรจะคิด เพราะจะได้รู้ว่าไอ้ที่ขายๆ ไปทุกวันนั้นมันกำไรหรือไม่กำไร มีเงินเหลือเก็บบ้างหรือเปล่า แต่อย่างว่าล่ะครับสมัยนี้ ทำมาหากินอะไรก็ฝืดเคืองขึ้นเรื่อยๆ มีเงินเข้ากระเป๋าเอามาใช้จ่ายบ้างก็พอแล้ว ดีกว่าไม่มีเงินติดกระเป๋าเลย

เอาเถอะครับ ยังไงลองคิดดูไม่เสียหาย ได้-ไม่ได้ อีกเรื่องหนึ่ง

ลองดูตัวอย่าง ต้นทุนคงที่ร้านอาหารตามสั่ง “ลุงป๊อป”

ค่าเช่าร้านเดือนละ 3,000 บาท

ค่าแรงตัวเองเดือนละ   15,000 บาท

ค่าแรงพนักงาน 2 คน (เมียและลูก) เดือนละ          15,000 บาท

รวมค่าใช้จ่ายต้นทุนคงที่ต่อเดือน                          33,000 บาท

ต่อไปต้นทุน อย่างที่สอง เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามการขาย ขายน้อยจ่ายน้อย ขายมากจ่ายมาก ภาษาการเงินเรียก ต้นทุนผันแปร หรือ แปรผัน ตามใจพระเดชพระคุณ ส่วนใหญ่เป็นค่าวัตถุดิบ เช่น ข้าวผัดกะเพรา ต้นทุนจานละ 14 บาท ขาย 35 บาท ถ้าขายได้ 1 จาน ก็เสียค่าวัตถุดิบ 15 บาท ขายได้ 10 จาน ก็ต้องเสียค่าวัตถุดิบ 150 บาท นอกจากค่าวัตถุดิบที่เปลี่ยนตามการขายแล้ว ยังมีค่าแก๊ส ค่าน้ำ ไฟ ค่าซอสที่เรามักไม่ค่อยได้คิดรวมไปในต้นทุนวัตถุดิบ เพราะมันคิดยาก เล็กน้อย บางร้านให้ลูกค้ากินน้ำแข็ง น้ำเปล่าฟรี ก็ต้องใส่ต้นทุนไปตรงนี้

โดยทั่วไปต้นทุนผันแปรนี้จะอยู่ที่ประมาณ 40% ของราคาขาย อย่างผัดกะเพรา 35 บาท เป็นต้นทุนผันแปร 40% เท่ากับ 40/100 x 35 = 14 บาท แปลว่า เราอย่าใช้วัตถุดิบให้เกิน 12 บาท อีก 2 บาทเป็นค่าซอส ค่าแก๊ส น้ำไฟ หรือบวกไปอีก 10% ของต้นทุนวัตถุดิบ

ส่วนต้นทุนคงที่นั้น ก็คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยไปในอาหารแต่ละจานด้วย ตกประมาณ 30% ของราคาขาย แจงให้เห็นง่ายๆ ได้ดังนี้

ผัดกะเพรา 1 จาน ขายได้ = 35 บาท

ต้นทุนวัตถุดิบ 40% ของราคาขาย = 40/100 x 35 บาท

= 14 บาท

ต้นทุนคงที่ 30% ของราคาขาย = 30/100 x 35 บาท

= 10.50 บาท

รวมสองต้นทุนเป็นเงิน                             =                      14 + 10.50       บาท

=                      24.50               บาท

คงเหลือกำไรสุทธิ 30% ของราคาขาย         =                      30/100 x 35      บาท

=                      10.50               บาท

(หรือ 35-24.50                          =                      10.50               บาท)

 

ขายผัดซีอิ๊ว 35 บาท ได้กำไรจริงๆ 10.50 บาท ขายได้ 10 จาน ก็ได้กำไร 105 บาท

เพราะฉะนั้น ถ้ามีต้นทุนคงที่ต่อเดือน 33,000 บาท เราต้องขายผัดกะเพราสักกี่จานใน 1 เดือน ถึงจะพออยู่ได้

ต้นทุนคงที่ต่อเดือน 30% ของราคาขาย     =                      33,000             บาท

ต้นทุนผันแปร 40% ของราคาขาย             =                      33,000/30 x 40 บาท

=                      44,000             บาท

กำไรสุทธิ 30% ของราคาขาย                   =                      33,000/30 x 30 บาท

=                      33,000             บาท

รวมเป็นยอดขายที่ควรได้ต่อเดือน              =                      33,000 + 44,000 + 33,000

=                      110,000                       บาท

ผัดกะเพราจานละ                                   =                      35                    บาท

ต้องขายผัดกะเพราทั้งหมด                      =                      110,000/35      จาน

=                      3,143               จาน

หรือขายผัดกะเพราวันละ                         =                      3,143/30          จาน

=                      105                  จาน

ลองคิดดูครับ วันหนึ่งจะขายได้ 100 จานมั้ย ถ้าได้แค่ 50 จาน ก็ได้เงิน 50×35 = 1,750 บาท เดือนหนึ่ง 30 วัน ได้เงิน = 1,750 x 30 = 52,500 บาท เป็นต้นทุนผันแปร 40% = 21,000 บาท คงเหลือ 52,500 – 21,000 บาท = 31,500 บาท แต่มีต้นทุนคงที่ 33,000 บาท แปลว่าขาดทุน 1,500 บาทต่อเดือน ครับ

ว่ามาทั้งหมดนี้อ่านข้ามๆ ตัวเลขไปมั่ง เดี๋ยวหลับ เพียงแค่จะบอกว่าทำมาค้าขายอาหาร อย่าลืม คิดต้นทุน ทั้งค่าเช่า ค่าวัตถุดิบ ค่าแรง จิปาถะ

ร้านอาหารตามสั่ง ถึงจะอยู่รอดครับ

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์