“ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ไทยแท้ ที่อยู่ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมคู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันนั้นได้กลายเป็น “สัตว์น้ำประจำชาติ”
นอกจากนี้ ปลากัดยังถือเป็นการค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล มีการส่งออกปลากัดไทยไปแล้วกว่า 95 ประเทศ ปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2556-2560 มีประมาณ 20.85 ล้านตัว/ปี มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 115.45 ล้านบาท/ปี หรือ 5.42 บาท/ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ในการผสมพันธุ์ปลากัด หลายคนคงคุ้นหูกับ “ปลากัดจ้องตากันแล้วท้อง” สรุปแล้วเรื่องนี้จริงหรือไม่?
คุณมนตรี สายศรี หรือคุณตั้ม เจ้าของ “ฟิน เบ็ตต้า” ฟาร์มปลากัดเล็กๆ แต่เป็นที่รู้จักกันดีของจังหวัดอ่างทอง บอกถึงประเด็นข้างต้นว่า “ไม่เป็นความจริง”
บางคนเชื่อว่า ปลากัดแค่มองตาก็ตั้งท้อง แท้ที่จริงแล้ว การเทียบปลาให้มองตากันเป็นวิธีลดความก้าวร้าวระหว่างปลาทั้งคู่ และเมื่อเห็นว่าความก้าวร้าวระหว่างคู่ลดลงแล้ว จึงจับใส่ภาชนะเดียวกัน เพื่อให้ปลาได้ผสมพันธุ์กัน ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าปลากัดแค่มองตาแล้วตั้งท้องจึงเป็นความเชื่อที่ผิด
วิธีสังเกตความพร้อมของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลากัด
อายุของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลากัด ต้องไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะผสมได้ ซึ่งการผสมพันธุ์มีหลายแบบ ขึ้นกับเทคนิคการผสมของแต่ละฟาร์มที่ไม่เหมือนกัน
สำหรับ คุณตั้ม จะให้ความสำคัญที่ความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยเลือกพ่อพันธุ์ที่มีหวอดสมบูรณ์ ส่วนแม่พันธุ์เลือกตัวที่มีไข่ สังเกตที่ท้องมีสีเหลืองๆ เต่งออกมา จากนั้นนำภาชนะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เทียบกัน 1-2 วัน เพื่อลดความก้าวร้าวระหว่างปลาทั้งคู่ลง แล้วจึงนำแม่พันธุ์ใส่ลงไปในภาชนะพ่อพันธุ์ ปล่อยให้อยู่ด้วยกันนาน 4 วัน จากนั้นตักแม่พันธุ์ออก ปล่อยให้พ่อพันธุ์ดูแลไข่
เหตุที่ปล่อยให้พ่อพันธุ์ดูแลไข่ เนื่องจากเมื่อไข่เก็บอยู่ในหวอดแล้ว พ่อพันธุ์จะพ่นหวอดออกมาอีกเรื่อยๆ เพื่อพยุงไข่ไม่ให้ตกลงพื้นภาชนะ ยกเว้นกรณีที่พบว่า พ่อพันธุ์กินไข่ให้ตักพ่อพันธุ์ออก ปล่อยให้แม่พันธุ์อยู่กับไข่และหวอดแทน ทั้งนี้ควรให้อาหารพ่อพันธุ์อย่างเต็มที่ เพราะหากปล่อยให้พ่อพันธุ์หิว พ่อพันธุ์อาจกินไข่ที่มีก็ได้
ระหว่างที่พ่อพันธุ์เฝ้าหวอดและไข่ ควรให้ใบสีเสียดแห้งหรือใบหูกวางแห้ง ใส่ลงไปในภาชนะนั้นด้วย เพื่อให้ลูกปลาที่กำลังเริ่มโตได้มีที่เกาะ พยุงตัวลูกปลาไว้ อีกทั้งใบสีเสียดแห้งหรือใบหูกวางแห้ง จะช่วยให้น้ำมีความเป็นธรรมชาติ
เมื่อระยะเวลาผ่านไป 4-5 วัน ควรเริ่มให้อาหาร เป็นไข่แดงต้ม, ไรทะเล หรือ ไรจืด ในปริมาณน้อยมาก
จากนั้น ลูกปลาเริ่มเจริญเติบโตขึ้น อายุ 2 สัปดาห์ ขนาดลูกปลากัดเกือบเท่าปลาหางนกยูง ซึ่งไซซ์นี้อัตราการรอดของลูกปลากัดจะสูง
หลังจากนั้น ควรให้อาหารเสริมเป็นเต้าหู้ไข่ เพราะในเต้าหู้ไข่ มีไข่ แป้ง และวิตามินอื่นๆ ให้วันละครั้ง ปลากัดก็อยู่ได้ทั้งวัน อย่างไรก็ตาม การให้อาหารเม็ดนั้นก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะเมื่อเปลี่ยน
ในการออกไข่แต่ละครั้งของปลากัด จะมีมากกว่า 1,000 ฟอง เมื่อเจริญเติบโตเป็นลูกปลา จะลดจำนวนลง เพราะเกิดความเสียหายระหว่างฟัก แต่อัตราการรอดของลูกปลากัดที่ทำได้มากที่สุดคือ 300-500 ตัว ต่อ ปลากัดจำนวน 1,000 ตัวที่ฟักออกมา และในจำนวนที่รอด สามารถคัดเป็นปลากัดเกรดสวยได้เพียง 20%
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์