สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ 2561

ณ เพลานี้ หลายๆท่านคงเล่นน้ำกันอยู่อย่างเพลินใจโดยใช้อุปกรณ์หลากหลายเป็นตัวช่วยในการสาดวัดความสุขสนุกสนาน

ย้อน เวลากลับไปเนิ่นนานกว่า 100 ปี มีการบันทึกภาพเก่าของอุปกรณ์ประกอบประเพณีสงกรานต์ ที่ไม่ได้มีแต่ในสยามประเทศ หากแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมในแดนอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า และอื่นๆอีกหลายแห่งด้วยเหตุนี้ จึงมีการบันทึกถึงเรื่องราวของประเพณีดังกล่าวที่มีมานานนมเน

หนึ่งใน นั้น คือ สงกรานต์ในพม่า ผู้เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีผู้วาดภาพเทศกาลสงกรานต์ในกรุงมัณฑะเลย์ ตีพิมพ์ ในหน้า 13 ของ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของอังกฤษ ชื่อว่า THE GRAPHIC ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 หน้า 13 เมื่อ ค.ศ.1888 หรือ พ.ศ. 2431 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย

มีขนาด 14 X 10 นิ้ว แสดงภาพชาวต่างชาติขี่ม้า สันนิษฐานว่าเป็นทหารอังกฤษ ทำท่าปัดป้องสายน้ำจาก “กระบอกฉีด” ของเด็กและสตรีสวมชุดพื้นเมือง

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือมติชน เห็นภาพนี้แล้วบอกว่า “ท่าทางฝรั่งขี่ม้าไม่สนุก แต่ผู้หญิงและเด็กสนุกมาก (ฮา)”

แล้วยังวิเคราะห์ต่อไปว่า กระบอกฉีดน้ำที่เห็นในรูปลายเส้นมี 2 แบบ

แบบหนึ่งเป็นกระบอกไผ่ทั่วไป

อีกแบบหนึ่งเป็นกระบอกน้ำเต้าสลักเป็นรูปนกหรือไก่

กระบอก ไผ่ฉีดน้ำสงกรานต์มีลูกสูบดูดน้ำเข้ากระบอก (ใช้วิธีเดียวกับหลอดเข็มฉีดยา) แล้วอัดฉีดน้ำพุ่งไปที่เป้าหมาย จากนั้น รำลึกถึงวัยเยาว์ครั้งยังเป็นเด็กชายสุจิตต์ วิ่งเล่นอยู่ที่หมู่บ้านลาวพวน ในจังหวัดปราจีนบุรี

“พ่อ เป็นลาวพวน เคยทำกระบอกฉีดน้ำอย่างนี้ ให้เล่นสงกรานต์ในดงศรีมหาโพธิ์ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี แล้วเชื่อมาตลอดว่าเป็นงานประดิษฐ์ของคนดงคนดอนบ้านนอกคอกนาเท่านั้น คนที่อื่นเจริญกว่าเขาไม่เล่นอย่างนี้หรอก เพิ่งรู้เมื่อเห็นรูปนี้ ว่ากระบอกฉีดน้ำจากไม้ไผ่แท้จริงเป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกันของคนสุวรรณภูมิใน อุษาคเนย์นับร้อยๆปีมาแล้ว” สุจิตต์กล่าว พร้อมตบท้ายว่า ภาพนี้ ยังทำให้คิดถึงคำอธิบายของครูบาอาจารย์ที่ว่า พฤติกรรมสาดน้ำอย่างก้าวร้าวรุนแรงเริ่มก่อนจากพม่า เพื่อแสดงออกทางการเมืองต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม

“ไม่มั่นใจว่าความเข้าใจอย่างนี้จะเป็นไปได้ แต่คิดอย่างอื่นก็คิดไม่ออก จึงเอามาบอกเล่าสู่กัน” สุจิตต์กล่าว

สำหรับ นสพ. THE GRAPHIC ออกทุกวันเสาร์ พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412 ตรงกับสมัยต้น รัชกาลที่ 5) พิมพ์ต่อเนื่องมาจนปี 1932 (พ.ศ. 2475) รวม 3,266 ฉบับ ก่อตั้งโดย William Luson Thomas ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในด้านภาพพิมพ์ (ที่มาภาพ : www.old-print.com)


ที่มา มติชนออนไลน์