วัดโพธิ์ประทับช้าง

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรกำหนดจัดโครงการสัมมนาวิจัยวิจักขณ์ เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการของกรมศิลปากร ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2562  เพื่อเผยแพร่ผลงานการศึกษา ค้นคว้า วิจัยความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติในด้านต่างๆของหน่วยงานในสังกัด ทั้งด้านพิพิธภัณฑ์ โบราณคดี โบราณสถาน ภาษา  วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม  จารีตประเพณี หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ นาฏดุริยางศิลป์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม  โดยจัดการบรรยายและนำเสนอผลงานมากกว่า 40 เรื่อง

อาทิ ธรรมเนียมโบราณราชประเพณี : พระราชทานศัสตราประจำเมืองในประวัติศาสตร์, แหล่งเตาเผาวัดนางเลิ้ง เตาเผาภาชนะพบใหม่ในจังหวัดพระนครศรีอยยุธยา, ถ้ำเขาอีโม่ จิตรกรรมพบใหม่ แต่เก่าสุดในนครศรีธรรมราช, วัดโพธิ์ประทับช้าง : แรงบันดาลใจจากอยุธยาถึงพิจิตร, ถอดรหัสอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่พบในประเทศไทย, การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการสำรวจปราสาทหินพิมาย, การจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย, โหมโรงคืออะไร ? ในดนตรีไทยและดนตรีสากล, อิศปปกรณัม : วรรณกรรมแปลจากตะวันตกยุคแรกของไทย

เตาวัดนางเลิ้ง
ถ้ำเขาอีโม่

นายอนันต์ กล่าวว่านอกจากจะเป็นการถ่ายทอดทักษะความรู้ให้กับนักวิชาการและประชาชนที่สนใจแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาผลงานทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ สืบทอด สร้างสรรค์และเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ กรมศิลปากรหวังว่าองค์ความรู้จากการสัมมนาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้

สำหรับการสัมมนาวิจัย วิจักขณ์ เป็นโครงการที่กรมศิลปากรจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยการสนับสนุนให้นักวิชาการของกรมศิลปากรได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิเคราะห์ วิจัย ทั้งวิทยาการใหม่ ๆ และวิทยาการที่ต่อเนื่องในเชิงลึก เพื่อนำไปพัฒนาการปฏิบัติงานและเผยแพร่ความรู้ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้แพร่กระจายสู่ทุกภาคส่วนของสังคม

อันจะส่งผลให้เยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปหันมาสนใจตระหนักในคุณค่าและเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น สำหรับปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2562  ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.  ที่หอสมุดแห่งชาติ

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง www.vijaivijuk.wordpress.com หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-4468038

ก้าวมาถึงปีที่ 108 ของการสถาปนากรมศิลปากรไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมขึ้นในวันดังกล่าว โดยมีนิทรรศการ “หนึ่งจังหวัด…หนึ่งสุดยอด มรดกศิลปวัฒนธรรม” เสวนาทางวิชาการ เรื่องคุณค่าอัน โดดเด่นของศรีเทพและพนมรุ้งกับการเข้าสู่มรดกโลก พร้อมเปิดตัวห้องจัดนิทรรศการใหม่ และงาน Creative Fine Arts ในสังกัดหน่วยงานกรมศิลปากรทั้ง 12 แห่ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานตามความเหมาะสม เพื่อรองรับภารกิจในการดูแล รักษาและอนุรักษ์งานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยขับเคลื่อนภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงมีนโยบายให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ เนื่องในโอกาส 108 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อนำเสนอผลงานสำคัญของกรมฯให้ประชาชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงการจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ผลงานและองค์ความรู้สู่ประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจ ตระหนัก รัก และหวงแหนมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ร่วมเป็นเครือข่ายในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป

ไฮไลต์สำคัญคือการเปิดตัวห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร 12 ห้อง ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หลังดำเนินการปรับปรุงห้องจัดแสดง ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาตั้งแต่ปี 2555 ถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบ 20-30 ปี ได้แก่ การจัดแสดงศิลปะงานช่างหลวงในส่วนอาคารหมู่พระวิมาน จำนวน 10 ห้อง และห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์อีก 2 ห้อง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวในการสื่อสาร ได้แก่ ทัชสกรีน วีดีทัศน์ และแอปพลิเคชั่น QR-Code AR-Code เข้ามาใช้ด้วย

ขณะที่นิทรรศการ “หนึ่งจังหวัด…หนึ่งสุดยอด มรดกศิลปวัฒนธรรม” จัดแสดงภาพสถานที่โบราณวัตถุในอดีต พร้อมกับบอกเล่าความเป็นมาของสถานที่แห่งนั้น โดยเผยแพร่ข้อมูลจากสังกัดกรมศิลปากรทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปราจีนบุรี สุโขทัย เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา สงขลา นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้มีแอปพลิเคชั่นเอาใจคนชอบเที่ยวโบราณสถาน ที่ชื่อแอปฯว่า “Smart Museam” สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผ่านแอปพลิเคชั่นด้วยรูปเสมือนจริง พร้อมมุม 360 องศา มีทั้งบรรยายความเป็นมารูปแบบเสียง และตัวหนังสือ เลือกเข้าชมทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตามความต้องการของผู้ใช้แอพพลิเคชั่นได้

ภายในงานครบรอบ 108 ปีการสถาปนากรมฯ ยังมีงานออกร้าน Creative Fine Arts ของหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรทั้ง 12 แห่ง ที่เป็นการนำผลิตภัณฑ์ในแต่ละท้องถิ่นมาเผยแพร่ให้ผู้คนในงานได้ชม เช่น กระเป๋า เครื่องสังฆภัณฑ์ เป็นต้น

กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จัดอบรมศิลปะภาคฤดูร้อน ครั้งที่ ๓๘ ประจำปี ๒๕๖๒ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๘ เมษายน ๒๕๖๒ (หยุดวันจันทร์, วันอังคาร) ผู้สนใจสมัคร และชำระค่าลงทะเบียนได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จัดอบรมศิลปะภาคฤดูร้อนแก่เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป จำนวน ๓ หลักสูตร ได้แก่ การวาดการ์ตูน การวาดสีน้ำ และการวาดลายเส้น ดังนี้

การวาดการ์ตูน เรียนพื้นฐานการวาดการ์ตูน โดยฝึกการสังเกตและนำเอาลักษณะเด่นของสิ่งต่าง ๆ มาถ่ายทอดลงในชิ้นงานศิลปะสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างและต่อยอดจินตนาการ แบ่งเป็นระดับ ป.๑ – ป.๓ จำนวน ๖๐ คน และระดับ ป.๔ – ป.๖ จำนวน ๔๐ คน

การวาดสีน้ำ เรียนพื้นฐานการวาดภาพสีน้ำ ตั้งแต่การผสมสี การวางโครงร่างของภาพ โดยสอดแทรกการลงสีด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การระบายสีเปียกบนเปียก เปียกบนแห้ง การระบายเคลือบ แบ่งเป็นระดับ ป.๔– ป.๖ จำนวน ๒๐ คน และระดับ ม.๑ ขึ้นไป – บุคคลทั่วไป จำนวน ๒๐ คน

การวาดลายเส้น  เรียนพื้นฐานการวาดภาพลายเส้นแบบต่างๆ การวาดเส้นจากหุ่นนิ่ง การให้น้ำหนักและแสงเงา ระดับ ม.๑ ขึ้นไป – บุคคลทั่วไป จำนวน ๒๐ คน

ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมศิลปะภาคฤดูร้อน ครั้งที่ ๓๘ ประจำปี ๒๕๖๒ สมัครด้วยตนเองได้ตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ค่าลงทะเบียนคนละ ๑,๗๐๐ บาท ต่อหลักสูตร (รวมอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรมแล้ว) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า (เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า) แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ โทร. ๐ ๒๒๘๑ ๒๒๒๔ (วันพุธ – วันอาทิตย์) หรือที่เฟสบุ๊ก : TheNationalGalleryThailand

กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มอบหมายให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดพิมพ์หนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของประเทศไทย ซึ่งนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุดเผยแพร่และทำลายหนังสือดังกล่าว โดยอ้างว่าบิดเบือนความเป็นจริงโดยตอนหนึ่งระบุถึงการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม ทำให้ได้คะแนนท่วมท้นจากชาวบ้านท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน และนายทักษิณ ชินวัตร มีปัญหาทั้งทุจริตเลือกตั้ง ฉ้อราษฎร์บังหลวงและผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำเนินนโยบายเน้นโปร่งใส แต่ใช้นโยบายประชานิยม แต่กลับพูดถึงการเข้ามาของพล.อ.ประยุทธ์ นั้น

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยตนได้พูดคุยกับผู้เขียนหนังสือดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่า เนื้อหาเขียนตามเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่มีใครรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร

“ในช่วงที่หนังสือออกมาแรกๆ เมื่อปี 2558 ก็เคยมีการวิจารณ์เรื่องนี้มาแล้ว ซึ่งผมเองในขณะที่จัดพิมพ์ ยังไม่ได้เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร แต่เมื่อมีการวิจารณ์ ก็ได้อธิบายเหตุผลไปแล้วว่าผู้เขียนเขียนไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ไม่ได้เกินเลย” นายอนันต์กล่าวและว่า ส่วนจะมีการปรับปรุงเนื้อหาหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ เพราะยังไม่มีแนวคิดจะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพิ่มเติม ส่วนที่ถามว่า มองว่าการนำเรื่องนี้กลับมาวิจารณ์อีกครั้ง จะเกี่ยวกับประเด็นการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวขอไม่ตอบเรื่องนี้ เพราะตนเป็นข้าราชการ ไม่ใช่นักการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามรายงานว่า ส่วนกรณีที่นายศรีสุวรรณ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุดเผยแพร่และทำลายหนังสือนั้น ได้มีการสอบถามไปที่กรมศิลปากร แต่ไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

 


ที่มา มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เยี่ยมชมบูธหนังสือกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และร่วมจำหน่ายหนังสือจินดามณี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนางสาวอรสรา สายบัว ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี และนายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม ให้การต้อนรับ ซึ่งมีผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือจินดามณีเป็นจำนวนมาก โดยอธิบดีกรมศิลปากรสั่งการให้จัดพิมพ์หนังสือจินดามณี เพิ่มอีก 10,000 เล่ม

 


ที่มา เฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร