ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้มาร่วมงานประกวดเยาวชนต้นแบบเก่งและดี TO BE NUMBER ONE IDOL 8 ประจำปี 2561 เป็นล้นพ้น ภายหลังได้เฝ้ารับเสด็จ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่เสด็จมาพระราชทานรางวัลการประกวดเยาวชนต้นแบบเก่งและดี ทูบีนัมเบอร์วัน ณ ห้องประชุม JJ Hall ชั้น 6 ศูนย์การค้า เจเจ มอลล์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โอกาสนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงขับร้องและทรงเต้นเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของวง BNK48 รวมไปถึงทรงขับร้องเพลงประกอบละครดัง บุพเพสันนิวาส ในเพลง “เพียงสบตา” และ “เธอหนอเธอ” ในการนี้ พระองค์ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยด้วย

สำหรับโครงการทูบีนัมเบอร์วัน มีเป้าหมายพัฒนาเยาวชน อายุระหว่าง 6-25 ปี ให้มีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ กิจกรรมในโครงการฯ เน้นการให้โอกาสแก่เยาวชน ในการพัฒนาความสามารถที่หลากหลาย ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีลักษณะ Play and Learn ให้เยาวชนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เช่น การประกวดเยาวชนต้นแบบเก่งและดี ทูบีนัมเบอร์วัน หรือ “ทูบีนัมเบอร์วัน ไอดอล”

โดยเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ จะได้เข้าเก็บตัวในบ้านเป็นเวลา 5 สัปดาห์ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาตนเองจากวิทยากรที่มีชื่อเสียง และมีความเชี่ยวชาญ เน้นการเรียนรู้ในแนวทางที่สร้างสรรค์ ใช้รูปแบบการแข่งกันทำความดี เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ ความภาคภูมิใจในตนเอง มีการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ค้นพบความสามารถที่แท้จริงที่เป็นข้อดี และจุดเด่นของตัวเอง ซึ่งจะได้พัฒนาต่อยอดให้มีความพร้อม เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเยาวชนคนอื่นได้

ทั้งนี้ จากการดำเนินงาน 7 รุ่นที่ผ่านมา พบว่า เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม มีพัฒนาการเด่นชัด คือ การเตรียมตัว, การมีความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจตลอดจน มีผลการเรียนดีขึ้น เนื่องจากมีการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องเกิดเป็นระบบพี่สอนน้อง และจากการวิจัยประเมินความสำเร็จของโครงการทูบีนัมเบอร์วันในโอกาสครบ 15 ปี พบว่า “ทูบีนัมเบอร์วัน ไอดอล” ประสบความสำเร็จในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงขับร้องเพลงตั้งแต่นาทีที่ 1.55.40 เป็นต้นไป

เทปบันทึกภาพ To Be Number One Idol

เทปบันทึกภาพ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จทรงร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับผู้เข้าประกวดรอบชิงชนะเลิศ To Be Number One Idol ณ ห้องประชุม JJ Hall ชั้น 6 ศูนย์การค้า เจเจ มอลล์ กทม.To Be Number ONE Fan Club #ทูบีนัมเบอร์วัน #tobenumberone #tobenumberoneidol

โพสต์โดย Live NBT2HD เมื่อ วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2018

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก To Be Number ONE  Fan Club

ขอบคุณวีดิโอจากเพจเฟซบุ๊ก Live NBT2HD

 

ที่มา มติชนออนไลน์

เวียร์ หรือ เฮีย นาทีนี้ เบลล่า ต้องเคลียร์

โพสต์โดย เดี่ยว เมื่อ วันอังคารที่ 17 เมษายน 2018

แม้ละครดัง “บุพเพสันนิวาส” จะลาจอด้วยความประทับใจของแฟนๆ พร้อมกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” กันทั่วบ้านทั่วเมือง นอกจากความโรแมนติกของพระนางที่ออกมาล้นจอ ละครยังปลุกกระแสอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้ตื่นตัวอย่างมาก

ล่าสุด เจ้าพ่อเดี่ยวไมโครโฟนของเมืองไทย “โน้ส อุดม” เคลื่อนไหวผ่านแฟนเพจ เดี่ยว ที่มีการอัพเดทข้อมูลบอกใบ้ว่า เดี่ยวครั้งที่ 12 กำลังจะมาเร็วๆ นี้ พร้อมปล่อยคลิปที่ไปลองเวทีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในพาร์ทที่พูดถึงกระแสละครดัง บุพเพสันนิวาส ว่าเจ้าตัวก็เป็นแฟนตัวยงเหมือนกัน

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 – 12 เมษายน 2561


 

ถึงยุคโบราณคดีเฟื่องฟู

เป็นดังนั้นจริงแท้ แม่หญิงการะเกด เมื่อไปทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสกับมติชนอคาเดมีไปยังอยุธยา ในวันที่ 31 มีนาคม ฉันก็เห็นแม่หญิงการะเกดอีกหลายร้อยคนยืนถ่ายรูปอยู่หน้าวัดไชยวัฒนาราม เมื่อยามพลบค่ำ 6 โมงเย็น
ก่อนหน้านั้นเมื่อฉันไปวัดพุทไธสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดที่เขามาถ่ายทำบุพเพสันนิวาส ฉันก็เห็นการะเกดเดินกันว่อน สไบปลิว จนฉันเกือบจะเหยียบชายสไบเข้าให้ครั้งหนึ่ง
คนขายน้ำที่วัดพุทไธสวรรค์หัวเราะทั้งวัน อารมณ์ดี เพราะขายน้ำได้วันละร้อยโหล ไม่รวมน้ำหวาน ฉันได้ฉวยโอกาสขอแถมนมสด เขาก็บอกยินดีครับ ผมงี้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้ทำละครย้อนยุคต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ เศรษฐกิจดีไม่รู้เรื่อง
ฉันทีแรกก็เอออวย มานึกอีกทีรัฐบาลเกี่ยวอะไร นี่มันผลงานช่องสาม ผู้กำกับฯ ผู้สร้าง ผู้แต่งเรื่อง และผู้เขียนบทไม่ใช่รึแม่การะเกด

มติชนอคาเดมีก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย จัดทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสสองครั้ง เต็มหมด อาจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ที่ฉันเป็นแฟนคลับ มาบรรยายด้วย จนฉันได้มีโอกาสมาในครั้งนี้ ได้รู้ว่ารายละเอียดในละครก็มีการเพี้ยน การแต่งเติมไปบ้าง แต่ก็เข้าใจกันได้เพราะนี่คือเรื่องแต่งสำหรับการบันเทิง
ถามอาจารย์ว่าใครเป็นคนแต่งบุพเพสันนิวาสคะ อาจารย์บอกว่า “รอมแพง” เขาจบโบราณคดี ฉันก็ถึงบางอ้อเลย มิน่ารีเสิร์ชเยี่ยม มีเกร็ดต่างๆ สอดแทรก ขนาดอาจารย์ยังชื่นชม เมื่อได้คุณศัลยา นักเขียนบทมือหนึ่งของไทยมาปรุงรส ด้วยเข้าใจรสนิยมคนดูไทยทะลุปรุโปร่ง ก็เลยยกระดับละครขึ้นไปอีก และเข้าใจว่าทางช่องสามเองก็มีส่วนมองการตลาดได้เด็ดขาดอีกด้วย
มันไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลตรงไหนเลยนะคะ โปรดทราบ

การที่คนทั้งประเทศเกิดกระแสการรับรู้และมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ชาติ ไทย ประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์อย่างกว้างขวางเช่นนี้มีผลมาถึงมติชนเป็นอย่าง มาก เพราะในแง่การเผยแพร่แล้วถือว่ามติชนคือเสาหลักประวัติศาสตร์และโบราณคดี
คอลัมน์คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กูรูโบราณคดีในมติชนสุดสัปดาห์มีคนแชร์คราวละเป็นพันๆ คนทุกครั้ง
หนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ ทั้งแบบสารคดีและวิชาการ ทั้งแบบตรงไปตรงมา และสอดแทรกการวิเคราะห์จากปราชญ์ลำดับต้นๆ ของประเทศ มติชนยืนหยัดพิมพ์ขายมาตลอด มีนักเขียน นักวิชาการประวัติศาสตร์ในมือมากกว่าสำนักพิมพ์ไหน รวมทั้งต้นฉบับดีๆ ลายมือผู้คนในยุคนั้นๆ ก็ถูกส่งมาที่นี่
มติชนอคาเดมีจัดทัวร์ประวัติศาสตร์มาหลายปีแล้ว มีแฟนเหนียวแน่น วิทยากรคุณภาพเพียบและหลากหลาย
มติชนจัดเสวนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีสม่ำเสมอ
ทั้งหนังสือ ทัวร์ ทอล์ก มติชนคือชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึง
เมื่อตลาดเป็นใจมติชนย่อมได้รับลมใต้ปีกหอบเอาคุณค่าต่างๆ ที่มีบินสูงขึ้นไป ยุคนี้เป็นยุคของ content ใครมี content ดีกว่าย่อมได้เปรียบ

สําหรับทัวร์ตามรอยครั้งนี้อาจารย์ปรีดีสร้างความสนุกสนานด้วยการเอาสิ่ง ที่เห็นจากละครมาอธิบายเพิ่มเติม เช่นคำว่าออเจ้าใช้เรียกคนที่เราไม่รู้จักไม่รู้ชื่อเหมือนคำว่าเธอ เมื่อรู้ชื่อแล้วก็เรียก ออ ตามด้วยชื่อ เช่น ออฉิม ออเรียม แล้วแซวพี่หมื่นว่าเรียกออเจ้าอยู่นั่น ไม่รู้ซะทีว่าเธอชื่อการะเกด
การะเกดเป็นชื่อของผู้ชายนะคะ หลักฐานปรากฏจากเพลง “เจ้าการะเกด เจ้าขี่ม้าเทศจะไปไหนเอย”
ส่วนทองหยิบ ฝอยทอง ก็มาจากโปรตุเกสร้อยปีมาแล้ว ก่อนมารี เดอ กีมา จะมาอยู่อยุธยา
ทัวร์กับอาจารย์ปรีดี เริ่มต้นขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา ได้ความรู้ว่าที่ใช้ชื่อนี้เพราะเจ้าสามพระยา หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยาผู้ทรงพระปรีชาสามารถ กษัตริย์พระองค์นี้เป็นผู้สร้างวัดราชบูรณะให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่ผู้เป็นพี่ ซึ่งรบพุ่งกันจนเสียชีวิตด้วยกันทั้งคู่
ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กรุวัดราชบูรณะแตก อย่างที่เคยเป็นข่าวครึกโครม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ เครื่องทองต่างๆ ทั้งที่เป็นของสูง และที่เกี่ยวกับศาสนา ถูกลอบขนออกมา ทางการไปพบเข้าจึงเอาคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสนับสนุนให้สร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาจากเงิน 3 บาทที่ขายพระเครื่องจากกรุได้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย จากนั้นก็มีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ตามมา
สถานที่ต่อมาที่อาจารย์พาไปคือวัดบรมพุทธาราม ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา กษัตริย์สมัยอยุธยาผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ละครยังเดินเรื่องไปไม่ถึงตอนสิ้นสมัยพระนารายณ์และ พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ วัดบรมพุทธารามนี้ยังมีร่องรอยของเจดีย์และพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปอยู่ ที่ยังเห็นโดดเด่นคือ สะพานบ้านดินสอ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ยังมีสายน้ำขนาดเล็กลอดใต้สะพาน มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ตัวสะพานเองก็มีรูปทรงน่าชมมาก บริเวณนี้เมื่อวัดทรุดโทรมลงกลายเป็นย่านการค้าเครื่องเขียนประเภทดินสอ ปัจจุบันเป็นเขตอนุรักษ์อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
สิ่งที่ฉันรู้สึกก็คือน่าเสียดายที่เทคโนโลยีการก่อสร้างของไทยในสมัยอยุธยา ยังไม่ก้าวหน้า ใช้ดินเป็นฐานแล้วใช้อิฐก่อซ้อนกันขึ้นไป อาคารต่างๆ จึงทรุดโทรมลงได้ง่าย ก็ยังดีที่ยังเหลือซากอิฐไว้ให้ชม

ที่ฉันชอบเป็นพิเศษคือภูมิทัศน์บริเวณป้อมเพชร
ได้ความรู้จากอาจารย์ว่าที่นี่สายน้ำ 3 สายมาบรรจบกันคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี มองไปเห็นผืนน้ำกว้างเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสักมาบรรจบกัน ชัดเจน ที่นี่ยังหลงเหลือป้อมที่เคยสร้างไว้ป้องกันพระนคร เป็นที่ไว้ปืนใหญ่คอยยิงข้าศึกหากรุกล้ำเข้ามา เป็นชัยภูมิที่มีความเหมาะสมอย่างเห็นได้ชัด
บริเวณนี้เป็นหนึ่งในฉากในละครบุพเพสันนิวาส
ฉันมาอยุธยาเป็นสิบครั้งก็ไม่เคยมาที่ป้อมเพชรนี่ คราวนี้โชคดีมากับมติชนเลยได้มา
วัดธรรมาราม คือสถานที่ถ่ายทำฉากก่อกองทรายในละคร มติชนพาไปดูด้านหลังวัด ยังเห็นทรายที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณหลังโบสถ์ วัดนี้อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา และเคยเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพพม่าก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถควบคุมการสัญจรทางน้ำได้
อาจารย์พาเราลงเรือที่ท่าน้ำวัดกษัตราธิราช ชมโบราณสถานไปเรื่อยๆ อาจารย์บอกว่าในละคร พี่หมื่นพายเรือไกลมากอย่างไม่น่าเชื่อ ก็แซวกันไป ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะมันคือละคร

เราขึ้นเรือที่วัดพุทไธสวรรค์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ฉันเคยมาที่วัดนี้แล้ว มาคราวนี้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ที่นี่เป็นฉากถ่ายทำบุพเพสันนิวาสหลายฉาก ถ้าย้อนกลับไปดูจะได้เห็นประตูที่แม่หญิงการะเกดก้าวออกมา เห็นพระพุทธรูปเรียงราย
ที่นี่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของพระเจ้าอู่ทองก่อนสร้างกรุง ศรีอยุธยา เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกดได้เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าแท้จริงเธอคือใคร
ถ้าไม่ได้ไปที่วัดไชยวัฒนารามเป็นช็อตสุดท้าย เราก็คงไม่ได้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างฟีเวอร์ของละครกับประวัติศาสตร์เป็นแน่แท้
ทำให้ฉันได้ประจักษ์แน่แก่ใจว่าดราม่านั้นมีพลังมหาศาลขับเคลื่อนการกระทำ ของคนในสังคมได้ รถบัสของเราต้องจอดชั่วคราวให้เรารีบลงตรงหน้าวัดซึ่งแต่ก่อนเคยมีฝรั่งเดิน ประปราย มีเพิงขายน้ำเงียบเหงา เท่านั้นจริงๆ แต่มาคราวนี้ อะไรกันนั่น
บู๊ธให้เช่าชุดไทย สไบ ผ้านุ่ง ผ้าโจงกระเบนแน่นขนัดสองข้างทาง สลับกับร้านขายน้ำ เครื่องดื่ม ของฝาก มีอาสาสมัครคอยโบกรถให้ เราเดินฝ่าแม่นางการะเกดและพี่หมื่นไปยังที่วัดไชยวัฒนารามจำลองที่อยู่ด้าน หน้าวัด
วัดไชยวัฒนารามสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของวัดไชยวัฒนารามเป็นเหตุผลทางการเมืองกลายๆ เป็นที่เล่าลือกันว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นคือโอรสลับๆ ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่เกิดแต่หญิงชาวบ้าน แต่ในทางการแล้วคือบุตรชายของออกญาศรีธารมาธิราชพี่ชายคนใหญ่ของพระมารดา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งก็ถือว่ามาจากคนธรรมดา
อาจารย์อธิบายสืบเนื่องจากละครว่า เนื่องจากไม่ได้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์มาก่อน จึงต้องสร้างวัดที่ใหญ่โตอลังการเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ ที่เราเห็นในละครว่ายอดพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเปล่งประกายเป็นสีทองอร่าม งดงามนั้น เป็นเรื่องจริง และไม่ใช่เฉพาะยอดพระปรางค์อย่างในละครเท่านั้น แต่เป็นทองคำทั้งองค์ เรื่องนี้แสดงว่าคนทำละครทำได้ดีมาก มีการค้นคว้าที่ดี เพราะเมื่อครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ก็พบว่าตัวพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ผิวขององค์พระปรางค์มีรูพรุนเต็มไปหมด
ซึ่งการที่มีรูพรุนนั้นเกิดจากการที่เขาเอาตะปูสังควานร เป็นตะปูเหล็กยาวๆ ตรึงเข้าไปที่องค์พระปรางค์…

ฉันกลับมาพร้อมด้วยความรู้สึกถึงอาณุภาพของสื่อและอยากที่จะตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างต่อจากนี้
อยากจะคิดว่ากระแสบุพเพสันนิวาสจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประวัติศาสตร์และ โบราณคดีมากขึ้น และเยาวชนที่สนใจอยู่แล้วแต่ถูกผู้ใหญ่ห้ามปรามร้องยี้ว่าเรียนไปทำอะไร ก็จะเลิกร้องยี้เสียที
หนังสือประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะขายดี
นักโบราณคดีที่มีฝีมือในการเขียนนิยายจะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จะเฟื่องฟู หวังว่าการใฝ่รู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีในหมู่คนทั่วไปจะเติบโตขึ้นอีกด้วย
มติชนจะจัดตามรอยบุพเพสันนิวาสไปยังลพบุรีอีกในวันที่ 29 เมษายน ยิ่งไม่น่าพลาด เพราะอย่างที่รู้กันว่าแม้อยุธยาจะเป็นเมืองหลวง แต่ลพบุรีเป็นเมืองของพระนารายณ์ ที่นั่นมีนารายณ์ราชนิเวศน์ หอดูดาว และคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็จบชีวิตลงที่นั่น
การเมืองอันเข้มข้นเกิดขึ้นที่นั่นด้วย

สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ 2561

ณ เพลานี้ หลายๆท่านคงเล่นน้ำกันอยู่อย่างเพลินใจโดยใช้อุปกรณ์หลากหลายเป็นตัวช่วยในการสาดวัดความสุขสนุกสนาน

ย้อน เวลากลับไปเนิ่นนานกว่า 100 ปี มีการบันทึกภาพเก่าของอุปกรณ์ประกอบประเพณีสงกรานต์ ที่ไม่ได้มีแต่ในสยามประเทศ หากแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมในแดนอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า และอื่นๆอีกหลายแห่งด้วยเหตุนี้ จึงมีการบันทึกถึงเรื่องราวของประเพณีดังกล่าวที่มีมานานนมเน

หนึ่งใน นั้น คือ สงกรานต์ในพม่า ผู้เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีผู้วาดภาพเทศกาลสงกรานต์ในกรุงมัณฑะเลย์ ตีพิมพ์ ในหน้า 13 ของ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของอังกฤษ ชื่อว่า THE GRAPHIC ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 หน้า 13 เมื่อ ค.ศ.1888 หรือ พ.ศ. 2431 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย

มีขนาด 14 X 10 นิ้ว แสดงภาพชาวต่างชาติขี่ม้า สันนิษฐานว่าเป็นทหารอังกฤษ ทำท่าปัดป้องสายน้ำจาก “กระบอกฉีด” ของเด็กและสตรีสวมชุดพื้นเมือง

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือมติชน เห็นภาพนี้แล้วบอกว่า “ท่าทางฝรั่งขี่ม้าไม่สนุก แต่ผู้หญิงและเด็กสนุกมาก (ฮา)”

แล้วยังวิเคราะห์ต่อไปว่า กระบอกฉีดน้ำที่เห็นในรูปลายเส้นมี 2 แบบ

แบบหนึ่งเป็นกระบอกไผ่ทั่วไป

อีกแบบหนึ่งเป็นกระบอกน้ำเต้าสลักเป็นรูปนกหรือไก่

กระบอก ไผ่ฉีดน้ำสงกรานต์มีลูกสูบดูดน้ำเข้ากระบอก (ใช้วิธีเดียวกับหลอดเข็มฉีดยา) แล้วอัดฉีดน้ำพุ่งไปที่เป้าหมาย จากนั้น รำลึกถึงวัยเยาว์ครั้งยังเป็นเด็กชายสุจิตต์ วิ่งเล่นอยู่ที่หมู่บ้านลาวพวน ในจังหวัดปราจีนบุรี

“พ่อ เป็นลาวพวน เคยทำกระบอกฉีดน้ำอย่างนี้ ให้เล่นสงกรานต์ในดงศรีมหาโพธิ์ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี แล้วเชื่อมาตลอดว่าเป็นงานประดิษฐ์ของคนดงคนดอนบ้านนอกคอกนาเท่านั้น คนที่อื่นเจริญกว่าเขาไม่เล่นอย่างนี้หรอก เพิ่งรู้เมื่อเห็นรูปนี้ ว่ากระบอกฉีดน้ำจากไม้ไผ่แท้จริงเป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกันของคนสุวรรณภูมิใน อุษาคเนย์นับร้อยๆปีมาแล้ว” สุจิตต์กล่าว พร้อมตบท้ายว่า ภาพนี้ ยังทำให้คิดถึงคำอธิบายของครูบาอาจารย์ที่ว่า พฤติกรรมสาดน้ำอย่างก้าวร้าวรุนแรงเริ่มก่อนจากพม่า เพื่อแสดงออกทางการเมืองต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม

“ไม่มั่นใจว่าความเข้าใจอย่างนี้จะเป็นไปได้ แต่คิดอย่างอื่นก็คิดไม่ออก จึงเอามาบอกเล่าสู่กัน” สุจิตต์กล่าว

สำหรับ นสพ. THE GRAPHIC ออกทุกวันเสาร์ พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412 ตรงกับสมัยต้น รัชกาลที่ 5) พิมพ์ต่อเนื่องมาจนปี 1932 (พ.ศ. 2475) รวม 3,266 ฉบับ ก่อตั้งโดย William Luson Thomas ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในด้านภาพพิมพ์ (ที่มาภาพ : www.old-print.com)


ที่มา มติชนออนไลน์

ป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์จริง และในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ตัวตนจริงของออกญาโหราธิบดีในประวัติศาสตร์นั้น รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นคนแต่งแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกชื่อ “จินดามณี” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดและแพร่หลายที่สุด

จินดามณีเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่เป็นมาตรฐานสำหรับการเล่าเรียนเขียนอ่านของลูกหลานคนไทยมาอย่างยาวนาน มากกว่าแบบเรียนภาษาไทยเล่มใด คือตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้ค่อยๆเสื่อมความนิยมลง

 

ที่จริงแล้วคำว่า “พระโหราธิบดี” มิใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ กล่าวคือเป็นตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือ โหรหลวงประจำราชสำนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นหัวหน้าการประกอบพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่รู้หนังสือรวมถึงรอบรู้สรรพวิทยาต่าง ๆ

วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน มิถุนายน 2546 กล่าวถึงออกญาโหราธิบดีว่าเป็นปราชญ์เมืองเหนือและปราชญ์ทางภาษาไทยสมัยนั้น ประวัติของท่านมีกล่าวไว้ในหนังสือจินดามณีเกือบทุกฉบับว่า “จินดามณีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุโขทัย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าลพบุรี” และอีกตอนหนึ่งว่า “ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ เปนโหรประเสริฐ ปัญญาชำนาญ ชาวโอฆบุรี สวัสดีพิศาล ข้าพระภูบาล เจ้ากรุงพระนคร”

จากข้อความข้างต้นพอสรุปได้ว่า “พระโหราธิบดีนี้ บ้านเดิมท่านน่าจะอยู่สุโขทัย ต่อมาได้ย้ายมาอยู่โอฆบุรีหรือพิษณุโลก แล้วค่อยย้ายมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระโหราธิบดีผู้นี้ ว่า

“น่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกันกับพระโหราที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึง ว่าเป็นโหราที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือว่าทายได้แม่นยำนั่นเอง” ซึ่งถ้าข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถูกต้อง ก็นับว่าเส้นทางชีวิตของพระโหราธิบดีผู้นี้ยาวไกลมาก คือจากสุโขทัย จากโอฆบุรี ลงไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา และได้ดิบได้ดีจนกระทั่งได้แต่งจินดามณี รวบรวมพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และถึงแก่มรณกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นที่สุดของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ว่า พระโหราธิบดีผู้นี้เป็นบุคคลคนเดียวกันกับมหาราชครู กวีผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแต่งเสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ หรือไม่ และพระโหราธิบดีผู้นี้คือพ่อของศรีปราชญ์ กวีผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของสมัยนั้นด้วยหรือไม่ เพราะมีแนวคิดของนักประวัติศาสตร์อีกแนวว่า “ศรีปราชญ์” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

พระโหราธิบดีจะเป็นพ่อของศรีปราชญ์และเป็นคนคนเดียวกับมหาราชครูหรือไม่ต้องรอข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องรอข้อพิสูจน์เพราะหลักฐานชัดเจนก็คือ พระโหราธิบดีท่านเป็นคนจากดินแดนซึ่งเคยเป็นแว่นแคว้นสุโขทัย หรือที่คนกรุงศรีอยุธยาเรียกขานกันว่า “เมืองเหนือ” เมื่อท่านเกิดที่แคว้นสุโขทัย ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการศึกษาเล่าเรียนของท่านก็ต้องศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตและสำนักวัดต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย โดยเฉพาะจากเมืองสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก เป็นเบื้องต้น

ทราบกันดีว่าแคว้นสุโขทัยนั้นเคยเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองศิลปวัฒนธรรมด้านภาษาศาสตร์และอักษรศาสตร์มาก่อน อีกทั้งมีแนวทางด้านภาษาและอักษรเป็นของตนเอง เมื่อพระโหราธิบดีท่านมีฐานทางภูมิปัญญาจากถิ่นนี้ ท่านก็ย่อมซึมซับเอาภูมิรู้ด้านภาษาและอักษรศาสตร์แบบสุโขทัย ซึ่งอย่างน้อยในสมัยของท่านจักต้องคงความรุ่งเรืองอยู่บ้าง เอาไว้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ในเรื่องการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ของท่านโหราธิบดีผู้นี้ โจษขานกันว่าแม่นยำยังกะตาเห็น ที่เล่าลือกันอย่างมากจนกลายมาเป็นฉายา “พระโหราธิบดีทายหนู” นั้น เรื่องมีอยู่ว่า

ในคราวที่รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์) วันหนึ่งขณะประทับในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทกับเหล่าข้าราชการทั้งหลาย ได้มีมุสิก (หนู) ตกลงมาแล้ววิ่งเข้าหาที่ประทับ พระองค์ทรงใช้ขันทองครอบไว้แล้วให้มหาดเล็กไปตามพระโหราธิบดีมาทายว่าสิ่งใดอยู่ในขันทองนี้ พระโหราธิบดีมาตามรับสั่ง เมื่อคำนวณดูแล้ว จึงกราบบังคมทูล ว่า

“เป็นสัตว์สี่เท้า” พระเจ้าปราสาททองตรัสว่า “ชนิดใด” พระโหรากราบบังคมทูลว่า “มุสิก” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสต่อว่าแล้วมีกี่ตัว พระโหราคำนวณแล้วกราบบังคมทูลว่า “มี 4 ตัว พระเจ้าข้า ” พระเจ้าปราสาททองทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า “มุสิกนั้นถูกต้องแล้ว แต่มีแค่ตัวเดียว มิใช่ 4 ตัว คราวนี้เห็นทีท่านจะผิดกระมังท่านโหรา” เมื่อทรงเปิดขันทองที่ครอบหนูไว้ ก็ปรากฏว่ามีหนูอยู่ 4 ตัวจริง

เพราะหนูที่ตกลงมานั้นเป็นหนูตัวเมียท้องแก่ เมื่อตกลงมาก็ตกลูก 3 ตัวในขันทองพอดี การพยากรณ์ครั้งนั้นจึงสร้างชื่อเสียงให้แก่พระโหราธิบดีเป็นอันมากจนได้รับสมญานาม ว่า “พระโหราธิบดีทายหนู” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้พระโหราธิบดีเป็นพระราชครูถวายพระอักษรสมเด็จพระนารายณ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นต้นมา

คืนนี้ ตัวละครอย่าง ‘ศรีปราชญ์’ ในบุพเพสันนิวาสจะออกโรงโลดแล่นให้เห็นเต็มๆตา

ทว่า ในประวัติศาสตร์ ศรีปราชญ์ มีตัวตนจริงหรือไม่ เป็นที่ถกเถียงกันมานาน ด้วย ‘ความเชื่อ’ ที่ฝังรากจากการจดจำตามตำรา คนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าศรีปราชญ์ เป็นบุคคลทีมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยท่องจำต่อๆกันมาว่า เป็นกวีผู้แต่งโคลงกำสรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์

มี ‘สระล้างดาบ’ ตามที่เล่ากันเกี่ยวกับวาระสุดท้ายอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังและบรรณาธิการหนังสือแนวสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เคยเขียนเล่าหลายครั้งในประเด็นดังกล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสื่อชื่อ กำศรวญศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ โดย พ. ณ ประมวญมารค พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2502 เกือบ 50 ปีแล้ว จนได้เฝ้า หม่อมเจ้าจันทร์

จิรายุ รัชนี “ท่านจันทร์” ถึงได้รู้ว่าเป็นนามปากกาของท่าน แล้วทรงเมตตาให้ถกถามรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว

บรรดานักปราชญ์กับนักค้นคว้า รวมถึงนักวิชาการเกือบหมดประเทศ ต่างเชื่อถือ แล้วแต่ง “ตำรา” ใช้สอนในสถาบันทุกระดับว่า ศรีปราชญ์แต่งกำสรวลศรีปราชญ์

แต่ พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) คัดค้านเรื่องนี้ไว้นานแล้วว่าศรีปราชญ์ไม่ได้แต่งกำสรวลศรีปราชญ์ ทรงมีพระนิพนธ์เป็นหนังสือเล่มโต พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 มีความตอนหนึ่งโดยสรุปว่า
“ข้าพเจ้าจะแสดงจากตัวบทกำสรวญว่าปฏิภาณกวีในสมัยพระนารายณ์ ที่เรารู้จักกันว่าศรีปราชญ์ มิได้แต่งนิราศที่เรารู้จักกันว่ากำสรวญศรีปราชญ์”

พ. ณ ประมวญมารค เรียกชื่อวรรณคดีนี้ว่า กำสรวลสมุทร (ตามชื่อในจินดามณี) แทนชื่อเรียกผิดๆ ว่า กำสรวลศรีปราชญ์ โดยมีพยานหลักฐาน และลักษณะกวีวรโวหาร ฉันทลักษณ์ รวมถึงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่กรุงศรีอยุธยา สอดคล้องกันว่า กำสรวล เป็นพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระบรมราชาธิราช (โอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)

ต่อมา สุจิตต์ ได้เชิญให้ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร และคณะ ช่วยเอาเวลาว่างๆ ชำระกำสรวลสมุทรขึ้นใหม่อีกครั้ง เสร็จแล้วได้พิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อ กำสรวลสมุทร หรือ กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา โดยสรุปว่า “ศรีปราชญ์” ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้แต่ง “กำสรวลศรีปราชญ์” โดยรวบรวมเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวข้องมาพิมพ์รวมไว้หมด

ความทรงจำเรื่องศรีปราชญ์มีขึ้นจากความพยายามยกย่องของ พระยาตรัง กวีสมัยต้นกรุงเทพฯ แผ่นดินรัชกาลที่ 1-3 ที่ประวัติส่วนตัวใกล้เคียงกับ “ตำนานศรีปราชญ์” ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) แต่งขึ้นใหม่เมื่อเรือน พ.ศ.2462 แผ่นดินรัชกาลที่ 6 นี้เอง แต่ถูกเอามายึดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แล้วบรรจุเป็นตำราว่าถูกต้องทุกอย่างจนปัจจุบัน

 

ที่มา มติชนออนไลน์

เสน่ห์ของแม่หญิงการะเกด แม่หญิงจันทร์วาด กับคุณหญิงจำปา แม่ของขุนศรีวิสารวาจา ตัวเอกในละครบุพเพสันนิวาส นอกจากหน้าตาสวยงาม บุคลิกท่วงท่าที่ถ่ายทอดผ่านการแสดงจะตีบทแตกแล้ว ยังรวมถึงชุดไทยและเครื่องประดับที่ขับให้ผิวเนียนผ่องมีออร่าทะลุจอ ทำเอาบรรดาออเจ้ายุคดิจิตอลพากันถอดแบบ ย้อนยุค นุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ ตามรอยไปอโยธยากับละโว้

นายภูธร ภูมะธน สถาบันราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี บันทึกไว้ในหนังสือ สาระน่าสนใจของประวัติศาสตร์ไทย ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกี่ยวกับการแต่งกายและเครื่องประดับ ว่า การแต่งกายของหญิงมีบรรดาศักดิ์และขุนนางมีเครื่องแต่งกายที่วิจิตร  เช่น หญิงนุ่งผ้าไหมยกดอกไหมพื้นหรือผ้าพิมพ์ลายเนื้อดี ห่มสไบ

ส่วนเครื่องประดับจากที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมเช่นสมุดข่อย ภาพวาดฝาผนังและในบันทึกเอกสารต่างชาติดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงและเด็ก

โดยม.เดอ ลาลูแบร์ บันทึกไว้ว่า ชาวสยามสวมแหวนที่นิ้วท้ายๆ(คือนิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย)ของมือทั้งสองข้าง ผู้หญิงรวมทั้งเด็กสวมต่างหูทำด้วยทองคำ เงิน กาไหล่ทอง เด็กหนุ่มเด็กสาวลูกผู้ดีสวมกำไลข้อมือ สวมกำไล แขน และกำไลข้อเท้า ลักษณะเป็นกำไลวงก้านแข็งทำด้วยทองคำหรือกาไหล่ทองคำ

มีเครื่องประดับค้นพบที่เมืองลพบุรี มีอายุครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวคือ ปิ่นทองคำฝังทับทิม พบที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย แหวนสัมฤทธิ์ พบจากการขุดค้นที่บ้านออกญาวิไชเยนทร์ กำไลข้อเท้า แหวนทอง สังวาลย์เงินถัก พบพร้อมกับตลับเงินกาไหล่ทองดุนลายราชสีห์ในศูนย์สงครามพิเศษ

กระแสละครบุพเพสันนิวาส ฮิตไม่เลิก พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์คนล้น เล็งขยายเวลาเปิดถึง 19.30 น. ให้บริการแต่งชุดไทยฟรี ผอ.พิพิธภัณฑ์ ถือโอกาสทองเร่งบูรณะ จัดโครงการต่อเนื่องสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำหนังสือรวบรวมพันธุ์ไม้ในวังที่ปลูกสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นางนิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ให้สัมภาษณ์ “มติชนอคาเดมี” ว่า จากกระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ มีผลต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์อย่างมากในขณะนี้

โดยเฉพาะชาวไทย สิ่งหนึ่งที่ สังเกตเห็นและเป็นความภาคภูมิใจ คือนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยนิสิต นักศึกษา นักเรียน วัยหนุ่มสาว ต่างให้ความสนใจค่อนข้างมากกว่าเดิม ผิดกว่าแต่ก่อนที่มักมากับทางโรงเรียนหรืออาจารย์พามา และยังแต่งชุดไทยมาเที่ยวกันแบบไม่เคอะเขิน

นิภา สังคนาคินทร์

นางนิภากล่าวว่า ใครที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ตอนนี้ มีกิจกรรมให้บริการชุดไทยสวมใส่ฟรี พร้อมเครื่องประดับครบครัน โดยมีไว้บริการถึง 200 ชุด ซักรีดไว้เรียบร้อย จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการ ทั้งจากจังหวัดและบุคลากรของพิพิธภัณฑ์มาช่วยแต่งตัวให้กับนักท่องเที่ยว สอนวิธีนุ่งห่มแบบไทย อีกทั้งยังจัดวิทยากรบรรยายให้ความรู้เพิ่มมากขึ้นให้พอเพียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย

บริการชุดไทยฟรี

“ตอนนี้นักท่องเที่ยวมากันทุกกลุ่ม เป็นอิทธิพลของละคร พอมีละครขึ้นมาคนก็อยากเข้าไปติดตามหาดูพื้นที่จริง อยากรู้ข้อเท็จจริง เมื่อก่อนนี้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1,000 คนเศษๆ แต่ตอนนี้ตัวเลขเพิ่ม 4-5 เท่าตัว เป็นมากกว่า 10,000 คน ถือว่าเยอะมาก ดังนั้น ทางเราจึงขยายเวลาเข้าชมวังนารายณ์ออกไป จากเดิมปิด 16.00 น. เป็น 18.30 น.  และถ้ายังมีความสนใจอย่างต่อเนื่อง หรือจำนวนนักท่องเที่ยวยังมากขึ้น ก็อาจจะขยายเวลาออกไปถึง 19.30 น.” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว และว่า คนที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ นอกจากมาดูนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติและเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่พระที่นั่งจันทรพิศาลแล้ว ยังได้รับความสนใจจากผู้คนมาตามหาดูสิ่งที่กล่าวในละคร เช่น ตึกพระเจ้าเหา ท้องพระโรงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญปราสาท พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นต้น

พระที่นั่งจันทรพิศาล

นางนิภากล่าวต่อว่า ไม่อยากเห็นว่าพอละครจบ กิจกรรมต่างๆ ก็จบ แต่อยากให้มีกิจกรรมมาต่อยอด เพื่อความต่อเนื่องของผู้คนให้รักวัฒนธรรมไทย จึงมีโครงการแบ่งปันความรู้สู่ประชาชน เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในรูปแบบของการเสวนา ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดเสวนาเรื่อง “ใครเป็นใครในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” ซึ่งมี อาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ เป็นวิทยากร  และในเดือนเมษายนนี้จะมีกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในเมืองลพบุรี”

อีกกิจกรรมหนึ่งที่เห็นว่าดีมากและอยากทำให้เป็นจริงและได้ผล ซึ่งถือโอกาสนี้ทำต่อเนื่อง คือการให้ความรู้สำหรับประชาชนในการเข้าชมโบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ว่าเข้าชมอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม เป็นระเบียบและไม่ทำลายโบราณ หรือทำให้ชำรุดทรุดโทรม เช่น อย่าปืนป่าย ห้ามขูดขีดโบราณสถาน หรือการแต่งกายไม่เหมาะไม่ควร เพราะที่นี่เป็นพระราชวัง ต้องเป็นไปแบบเหมาะสมหรือถูกต้อง

ตึกพระประเทียบ

นางนิภากล่าวว่า โครงการหนึ่งที่กำลังดำเนินการในปีนี้ เป็นโครงการบูรณะหมู่ตึกพระประเทียบ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอยู่ทั้งหมด 8 หลัง เมื่อบูรณะเสร็จแล้วจะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในแง่ของงานพิพิธภัณฑ์ เช่น เป็นคลังเก็บโบราณวัตถุ ปรับปรุงเป็นห้องศูนย์สารสนเทศ ห้องสมุด ศูนย์ศึกษาเรื่องเมืองลพบุรี หรือเป็นอาคารจัดแสดงพิเศษของพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพราะในบริเวณวังนารายณ์ไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่โบราณสถานและเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่เราต้องพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้สอยพิพิธภัณฑ์

“ตอนนี้ได้เริ่มบ้างแล้ว โดยใช้บางอาคารจัดนิทรรศการผลการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะว่าในเมืองลพบุรีมีความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เราเจอข้าวของในไซต์งานโบราณคดีเยอะมาก ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ศึกษาร่วมกับชาวต่างชาติและนักวิชาการจากกรมศิลปากร เช่น ศึกษาร่วมกับอิตาลี มีข้อมูลข้าวของที่ยังไม่ได้นำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็ถือโอกาสนี้ทำเสียเลย”

สำหรับในปี 2562 จะมีโครงการบูรณะอิฐเก่าตามโบราณสถานในวังนารายณ์ให้แข็งแรงคงทน และบูรณะอาคารต่างๆ ที่อยู่ในพระราชวัง ไม่ว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตึกเลี้ยงรับรองคณะราชทูต และอาคารทิมดาบซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เวลานี้ทรุดโทรมมาก นอกจากนี้ เรื่องของพื้นที่โดยรอบพระราชวังก็ต้องพัฒนาคู่กันไป เพราะคนมาเที่ยวไม่ได้มาดูแแค่โบราณสถาน แต่ยังดูภูมิทัศน์ สิ่งแวลด้อม สนามหญ้าเขียวๆ ต้นไม้ใหญ่ ถือว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับวังมาอย่างยาวนาน เช่น ต้นจัน ถือเป็น 1 ใน 65 ต้น ไม้ในโครงการ “รุกขมรดกของแผ่นดิน” ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งปีนี้ได้รับงบประมาณจากจังหวัดให้มีการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ต้นจันจำนวน 1,000 ต้น เพื่อแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ต้องการอนุรักษ์ต้นไม้สำคัญ

ต้นจันอายุเกือบ 400 ปี

“ต้นจันที่เห็นในวังนารายณ์มีอายุเกือบ 400 ปีแล้ว เชื่อกันว่าปลูกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตอนนี้กำลังให้นักวิชการของกรมทรัพย์มาศึกษาให้ชัดเจนว่ามีอายุเท่าไหร่กันแน่ แต่เท่าที่พบหลักฐานอาศัยจากการเทียบเคียงภาพถ่ายต้นจันต้นนี้มาหลายยุคสมัย และศึกษาเปลือกของต้นไม้ พอจะเทียบเคียงได้ว่าอายุมากกว่า 300 ปี

และไม่ใช่เฉพาะต้นจัน ยังมีต้นไม้อื่นๆ อีกหลายต้น เช่น ต้นพิกุล จามจุรี ปีป มะเกลือ ฯลฯ ที่เกิดในวังนารายณ์และต้นใหญ่มาก จึงอยากเก็บองค์ความรู้เพื่อรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือร่วมกับโบราณสถานที่อยู่ในจ.ลพบุรี ให้ความรู้และทำเป็นผังเส้นทางเดินสำหรับคนชื่นชอบต้นไม้ ให้เห็นว่าถ้าท่านอยู่ ณ จุดนี้ ถ้าเดินไปทางซ้าย ไปทางขวาจะเจอกับต้นไม้อะไรบ้าง และมีคำอธิบายของต้นไม้เหล่านั้น ซึ่งที่นี่มีความโดดเด่นเรื่องของต้นไม้ใหญ่ ไม่เฉพาะช่วยให้ความร่มรื่น หากแต่เป็นเสน่ห์ของวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์”นางนิภากล่าว

ทั้งนี้ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2208-2209 มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก โดยมีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงพระราชวังนี้ว่า “….นอกจากที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่มีที่ใดงดงามเท่าที่นี่” ในการก่อสร้างพระราชวัง และ พระตำหนักที่ลพบุรีในครั้งนั้น พิจารณาจากฝีมือการออกแบบและก่อสร้าง น่าจะเกิดจากการผสมผสานทั้งช่างชาวตะวันตก ช่างหลวงไทย และช่างจากเปอร์เซีย ที่ทำให้สถาปัตยกรรมช่วงนี้มีความพิเศษและน่าอัศจรรย์

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีถึง 8-9 เดือน ในหนึ่งปี เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญด้านการปกครอง การค้า รวมทั้งด้านภาษา วรรณกรรม และสถาปัตยกรรม สมเด็จพระนารายณ์ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศตลอดรัชสมัย

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2399 โปรดให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น และพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

นอกจากพระที่นั่งและตึกต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์จะสวยงามและคงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ที่เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่คนไทยทั้งประเทศจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติตัวเอง

ถือเป็นฉากสำคัญของละครบุพเพสันนิวาส เมื่อ ‘พี่หมื่นเดช’ และ ‘แม่หญิงการะเกด’ เข้าพิธีแต่งงานแบบโบราณในละคร ก่อนมี ‘พิธีซัดน้ำ’ ที่เป็นต้นแบบของพิธีรดน้ำสังข์ เพื่อความเป็นสิริมงคลของคู่บ่าวสาว แต่ในปัจจุบันพิธีซัดน้ำได้เลือนหายไปตามกาลเวลา

สำหรับ ‘พิธีซัดน้ำ’ ถือเป็นประเพณีแต่งงานในสมัยโบราณ เป็นต้นแบบของพิธีรดน้ำสังข์ และอวยพรให้บ่าวสาวครองชีวิตถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร โดยพิธีนี้มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี จะเริ่มช่วงบ่ายของวันก่อนแต่งงาน ซึ่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะนั่งเว้นระยะห่างกัน โดยมีพระให้ศีลและสวดมนต์ จากนั้นพระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาว รวมถึงกลุ่มญาติและเพื่อนที่นั่งล้อมอยู่ ก่อนให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือรถน้ำเป็นคนสุดท้ายแล้วนำบาตรครอบศีรษะเจ้า บ่าวเจ้าสาว ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทยบำรุงกำลัง ช่วยท่านชาย “โล้สำเภา”ให้ได้เหมือน “พี่หมื่น”ของน้อง”การะเกด” เปิดเผยจาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย ว่าสมัยโบราณยุคปู่ย่าตาทวด เป็นสังคมเกษตรกรรม ต้องใช้เรี่ยวแรงในการทำไร่ไถนา และที่สำคัญต้องมีเรี่ยวมีแรงในการให้กำเนิดลูกหลานเพื่อมาช่วยกิจการ และกิจกรรมในครัวเรือนด้วย ดังนั้นเมื่อศึกษาตำรายาไทยสมัยก่อน จะพบกลุ่มยาที่ช่วยในด้านบำรุงกำลังวังชา ระบุสรรพคุณในด้านเสริมสมรรถภาพท่านชายไว้มากมาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมิติด้านของความสัมพันธ์ทางเพศกำลังถูกคุกคามจากปัญหาด้านสุขภาพของผู้ชาย 2 ประการ คือ การมีบุตรยากเนื่องจากจำนวนอสุจิลดลง และการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คู่สมรสประมาณร้อยละ 10 ถึง 15 ทั่วโลกประสบปัญหามีบุตรยาก และมีหลักฐานหลายประการ บ่งชี้ว่าปัญหาการมีจำนวนอสุจิลดลงกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะเดียวกันอุบัติการณ์ของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(erectile dysfunction) หรือโรคอีดี ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปสภาพการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด สารมลพิษที่หลากหลาย ยาบางชนิด สารพิษในอาหาร และการขาดสารอาหารบางชนิด

ดังนั้นแนวคิดของหมอพื้นบ้านไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้ จะเน้นการดูแลธาตุในร่างกายให้เป็นปกติอย่างเป็นองค์รวม โดยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม เน้นการรับประทานอาหารที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบกับการใช้ตำรับยาสมุนไพรเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ สรรพคุณบำรุงเลือดลม ทำให้การไหลเวียนของเลือดและระบบย่อยอาหารดีขึ้น เมื่อสุขภาพโดยรวมดีขึ้น สมรรถภาพทางเพศก็จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ พืชผักที่ใช้เป็นอาหารบำรุงสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายนั้น มีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่

พืชผักที่มีกลิ่นฉุนรสร้อน เช่น หัวหอมแดง กระเทียม พริกไทย ขิง หน่อหรือดอกตระกูลขิง ข่า ใบแมงลัก สะตอ ขนุน ทุเรียน กุยฉ่าย กระถิน กระเฉด พืชตระกูลมะเขือทุกชนิด เช่น มะเขือพวง มะแว้ง มะเขือเปราะพืชที่มีความมันชุ่มชื้น เช่น ผักปลัง งา แห้วหมู กระจับ แห้ว รากสามสิบ เนื้อผลตาล เมล็ดหมามุ่ย เมล็ดมะขาม กล้วยหอม ผักบุ้ง เนื้อในของเมล็ดมะเดื่อ สมอพิเภก พืชที่บำรุงทางเดินปัสสาวะ เช่น หนามกระสุน หญ้าขัด รางแดง โด่ไม่รู้ล้ม

สำหรับตัวอย่างตำรับยาบำรุงกำลัง มีตัวอย่างดังนี้

  • พริกไทย 7 เม็ด กระเทียม 3 กลีบกินดิบๆ พร้อมๆ กันทั้งสองอย่าง ทั้งพริกไทยและกระเทียม ไม่ต้องบดแต่ให้ใช้ปากเคี้ยวแต่ถ้าระคายปากนัก ท่านให้แกล้มด้วยกุ้งแห้งสัก 2-3 ตัว สรรพคุณท่านว่าเหลือจะครนา ท่านให้กินเป็นประจำทุกเช้าและเย็น สัก 7 วัน แล้วจะเห็นผลทันตา
  • เมล็ดหมามุ่ยแก่จัด คั่วไฟอ่อนจนสุกดี ดูจากขั้วของเมล็ดจากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เสมอกันทั้งเมล็ด จากนั้นนำมาบด หรือแช่น้ำก่อนจนเมล็ดนุ่ม แล้วค่อยเคี้ยวกิน ครั้งละ 3 เมล็ด เช้า เย็น

[หมามุ่ย : มีฤทธิ์กระตุ้นความต้องการทางเพศ เรียกว่าเป็นยากามะ ช่วยแก้ปัญหามีบุตรยาก ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย คุณภาพของอสุจิและช่วยให้น้ำเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ใช้บรรเทาอาการพาร์กินสัน)

  • หมากลิ้นช้าง(เพกา) ใช้เปลือกต้น หรือฝักอ่อนที่พับงอได้ ตากแก้งทำเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร [ งานวิจัยของเพกา พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการแพ้ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลล์มะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล พื้นบ้านกินเป็นบำรุงกำลัง เพิ่มน้ำอสุจิ)

หมายเหตุ : กลุ่มยาบำรุงกำลังส่วนใหญ่มีฤทธิ์ในการเพิ่มการไหลเวียนเลือด ต้านการแจ็งตัวของเลือด ดังนั้ผู้ที่ทานยาในกลุ่มนี้ควรระวังในการรับประทาน


ที่มา เส้นทางเศรษฐี