เข้าพิธีซัดน้ำ แต่งงานตามฉบับชาวอยุธยาไปเรียบร้อย ก็ถึงคราวที่ ‘คุณพี่เดช’ และ ‘แม่หญิงการะเกด’ จะเข้าห้องหอกันเสียที กับฉากที่แฟนนิยายบุพเพสันนิวาสรอคอย เมื่อคุณพี่ถามออเจ้าว่า “โล้สำเภาเป็นหรือไม่” การะเกดผู้ไม่รู้ประสีประสาตอบว่าเคยเห็นแต่เรือสำเภา แต่ไม่เคยขึ้น คุณพี่เดชจึงออกปากจะสอนการะเกดโล้สำเภากันสองต่อสอง

สำหรับฉากนี้ แม้ว่า พระนางอย่าง โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เบลล่า-ราณี แคมเปน จะเข้าพระเข้านางกันมาหลายครั้งแล้ว แต่แค่ซ้อมพอต้องใกล้กันทีไรเป็นต้องหลุดขำก๊ากใส่กันทุกที งานนี้จึงต้องมีทำข้อสัญญาตกลงยุติการขำไว้ว่า

‘ถ้าหากถ่ายจริงใครหัวเราะก่อนคนนั้นแพ้’  ทั้งคู่จึงดูตั้งใจซ้อมสุดๆ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เยี่ยมชมบูธหนังสือกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และร่วมจำหน่ายหนังสือจินดามณี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนางสาวอรสรา สายบัว ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี และนายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม ให้การต้อนรับ ซึ่งมีผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือจินดามณีเป็นจำนวนมาก โดยอธิบดีกรมศิลปากรสั่งการให้จัดพิมพ์หนังสือจินดามณี เพิ่มอีก 10,000 เล่ม

 


ที่มา เฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ออกประกาศเรื่องการขยายเวลาเข้าชมโบราณสถาน โดยระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขยายเวลาเข้าชมโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามแล้วนะเจ้าคะ #จากเดิมเปิดให้บริการถึง 18.30 น. #เปลี่ยนเป็น 22.00 น. เริ่มวันที่ 4 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2561

ออเจ้าสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 19.30 น. และสามารถอยู่ภายในโบราณสถานไม่เกิน 22.00 น. เท่านั้นนะเจ้าคะ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

เป็นละครยอดฮิตที่ทำให้ “ช่อง 3” มีเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังเข้มข้น ซึ่งอีกไม่กี่ตอนก็จะรูดม่านปิดฉากถึงตอนอวสานแล้ว ซึ่งล่าสุด จากการตรวจสอบของ “TV Digital Watch” โดยแบ่งเรตติ้งออกเป็นกรุงเทพมหาคร และภาคต่างๆ เก็บข้อมูลเรตติ้ง 12 ตอน (21 กุมภาพันธ์ ถึง 29 มีนาคม) นั้นพบว่า

กรุงเทพฯ ครองแชมป์เรตติ้งสูงสุด เฉลี่ย 17.535 ขณะที่ อันดับสุดท้ายคือภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรตติ้งเฉลี่ยน้อยสุดที่ 9.418 ขณะที่เรตติ้งของภาคอื่นๆ โดยเฉลี่ย ได้แก่ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก 13.763, ภาคเหนือ 12.219 ภาคใต้ 10.855

น่าคิดว่า จากตัวเลขดังกล่าวนี้ เราเห็นปรากฏการณ์อะไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของเรตติ้งภาคอีสานที่น้อยกว่ากรุงเทพฯ ที่อาจเรียกได้ว่าเกือบเท่าตัว

กำพล จำปาพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เจ้าของผลงานอย่าง นาคยุดครุฑ “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย, อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก, ข่าเจือง: กบฏไพร่ ขบวนการผู้มีบุญฯหลังสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม-ล้านช้าง เป็นต้น ชวนคิดถึงเรื่องดังกล่าวใน 4 ประเด็นกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

1. บริบทองค์ความรู้ประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวได้ว่าอีสานเป็นดินแดนที่อยุธยาเข้าไม่ถึงหรือขยายอิทธิพลเข้าไปได้ไม่ครอบคลุม ไปได้อย่างมากเพียงนครราชสีมาหรือเขตที่ราบสูงโคราชและลุ่มน้ำเหืองในเขตจังหวัดเลย นอกนั้นเป็นดินแดนที่สัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กับล้านช้าง อีสานเป็นลาว ไม่ไทย รับรู้กันทั้งในหมู่คนอีสานและคนภายนอก แม้จะมีเรื่องตำนานความเป็นพี่เป็นน้องเกาะเกี่ยวผูกเสี่ยวกินดองกันระหว่างพระเจ้าอู่ทองกับพระเจ้าฟ้างุ้ม หรืออย่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกับพระมหาจักรพรรดิ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องมั่นคงสืบมาในรัชกาลอื่นๆ ความสัมพันธ์ไม่เสถียรคงที่ เปลี่ยนรัชกาลทีก็ต้องมาดีลมาปรับตัวจัดวางความสัมพันธ์กันใหม่ แล้วยิ่งเมื่อสัมพันธ์กับอีกฝั่งแม่น้ำโขงมากกว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่คนไทยคิดว่าลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ลาวก็มีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับเวียดนาม แนบแน่นกว่า ช่วยเหลือกันมา สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของด้วยกันมา ปกติพระราชพงศาวดารจะเป็นปราการที่มั่นสุดท้ายของประวัติศาสตร์ไทย แต่ในกรณีนี้แค่คุณพลิกเปิดดูคร่าวๆ ก็จะพบความไม่ลงรอยกับอีสาน มีเรื่องกบฏบุญกว้าง มีอะไรต่ออะไร คนอีสานไม่อินกับละครจึงไม่แปลก หรืออย่างโบราณสถาน ศิลปกรรมท้องถิ่น แค่ไปพิมาย ไปพนมรุ้ง ก็รู้แล้ว ไทยที่ไหนกัน เขมรชัดๆ ใครมันจะไปอิน อาจจะอินอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของตัวละคร พี่หมื่นหล่อ พระเจ้าเสือเท่ห์ ออการะเกด แม่หญิงจันทร์วาด สวยน่ารัก ตลก

2. ความสัมพันธ์กับศูนย์กลางที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บางช่วงบางตอนในประวัติศาสตร์มันไม่แฮปปี้เอ็นดิ้ง เหมือนเป็นดินแดนที่ถูกฟันแล้วทิ้ง อีสานแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักใหญ่ๆ คือ โซนที่ราบสูงโคราชหรืออีสานใต้ กับโซนเหนือที่ราบสูงอีสานใต้ขึ้นไป ไม่ได้มีแต่ลาว มีเขมรด้วย ทั้งที่จริงยุคพระนารายณ์เป็นยุคที่อยุธยาขยายอิทธิพลไปยังนครราชสีมามาก เพราะลพบุรีที่ทรงย้ายไปประทับอยู่มีเส้นทางติดต่อกับที่ราบสูงโคราช จนน่าเชื่อว่าการควบคุมนครราชสีมาและอีสาน อาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการย้ายไปประทับที่ลพบุรี นอกเหนือจากความขัดแย้งกับฮอลันดาและกลุ่มขุนนางเก่า แต่พอเปลี่ยนรัชกาลมาเป็นสมเด็จพระเพทราชา ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ จากดีเป็นร้าย เกิดกบฏนำโดยพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา โดยร่วมมือกับพระยาเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะต่างก็ไม่พอใจการกระทำของกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ กลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่อยุธยาต้องส่งกำลังทัพไปปราบปราม ตามมาด้วยการเกิดกบฏบุญกว้าง ชาวเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นกบฏไพร่ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยา ถึงแม้ว่าพระเพทราชาจะปราบปรามการกบฏได้สำเร็จ แต่ก็สูญเสียทรัพยากรและผู้คนไปมาก เกือบจะเท่าๆ กับสงครามกับพม่า แต่เพราะช่วงนั้นพระเพทราชาเข้าไปมีส่วนในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเวียงจันกับหลวงพะบาง ความสัมพันธ์กับอีสานเลยกลับมาเป็นปกติ คือพระเอกขี่ม้าขาวในเรื่อง กลับเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ของอีสาน หากมองจากฝั่งของอีสาน

3. เนื้อเรื่องของบุพเพสันนิวาส มุ่งเน้นเรื่องราวเหตุการณ์และภาพชีวิตของคนกรุงศรีและลพบุรี ไม่มีภาพของอีสานและที่อื่นๆ เป็นภาพเฉพาะของส่วนกลาง มีเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างชาติต่างภาษา แต่ไม่มีลาว ไม่มีเขมร ทั้งๆ ที่ในสมัยอยุธยา ลาว เขมร เป็นกลุ่มที่มีบทบาท มีฝรั่งคือฟอลคอน แต่ฟอลคอนกลับถูกทำให้เป็นผู้ร้าย สวนทางกับกระแสความนิยมอีกอันหนึ่งของคนอีสาน มันเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ (กระแสหลัก) แต่ไม่มีมุมเรื่องความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ไม่ได้มองคนเท่ากัน อันนี้ไม่ได้โทษละคร แต่เพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ละครเรื่องนี้ไปหยิบมาอิงนั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่มีแต่ส่วนกลาง เมื่อรัฐเข้ามาซับพลอตก็กลายเป็น “ประวัติศาสตร์แฟนซี” ที่มีอยู่จริงก็เพียงในจินตนาการ ไม่ใช่การหมุนย้อนกลับของประวัติศาสตร์ด้วย เป็นเพียงการโหยหาอดีตของยุครัฐล้มเหลวในการนำพาไปสู่อนาคต ประวัติศาสตร์แฟนซีไม่มีทางพาคนย้อนกลับไปหาความรุ่งเรืองอย่างในอดีต ไม่อาจนำเอาอดีตกลับมาได้จริง มันเป็นแต่เพียงการประดิษฐ์ใหม่โดยอ้างความเป็นของเก่าแท้ดั้งเดิม ฟินเว่อร์กันไป แล้วก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ อยู่ๆ หนุกหนาน แต่งชุดไทยกันไป

4.ในเฟซบุ๊ก มีคนตั้งคำถามกันมากว่า ตกลงแล้วชอบละครหรือแค่บ้าผู้ชาย ถึงได้มีกรี๊ดกร๊าดจนแทบห้างถล่ม โอเคจะบ้าผู้ชายมันก็ไม่แปลกสำหรับสังคมที่อุดมด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ แต่พูดอย่างเป็นวิชาการ ในแง่มุมทางสังคมวิทยา ก็อย่างที่อาจารย์พัฒนา กิติอาษา สะท้อนไว้ในงาน คนอีสานปัจจุบันไม่เพียงไม่โง่ จน เจ็บ หากแต่ยังมีมุมมองต่อโลกและสังคมแบบข้ามรัฐข้ามชาติ เป็นสากลนิยมไปมากแล้ว จากกระบวนการเดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นอะไรต่อมิอะไร เมื่อก่อนการเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อาจเป็นทางเลือกของการกลับไปมีเงินทองจับจ่ายในบ้านเกิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เขาเดินทางไกลกว่านั้น กรุงเทพฯ ไม่ใช่คำตอบของชีวิต ชีวิตที่ดีไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยู่ที่ต่างประเทศ ตัวแบบผู้ชายในอุดมคติ ก็ไม่ใช่ “ผัวไทย” หากแต่คือ “ผัวฝรั่ง” ผัวฝรั่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ดังนั้นอาจจะอินกับมะลิ (มารี กีมาร์) มากกว่าออเจ้าการะเกดหรือแม่หญิงจันทร์วาดเสียด้วยซ้ำ

อีสานไม่ได้เหยียดฝรั่ง ฝรั่งที่อ่อนน้อมเข้ากับวัฒนธรรมอีสาน เป็นเขยที่ดีกว่าเขยไทยที่เย่อหยิ่งจองหอง คิดว่าตนเหนือกว่าใคร ผัวฝรั่งคือตัวแปรทางวัฒนธรรมสำหรับการเปลี่ยนสถานภาพจากยากจนเป็นร่ำรวยมีหน้ามีตาของสาวอีสานไปนานแล้ว ในแง่นี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอีสานจะไม่อินกับการดูถูกฝรั่ง ทำฝรั่งเป็นผู้ร้ายของบ้านเมืองเหมือนอย่างละคร ซึ่ง เมื่อเทียบกับ “นาคี” ถึงแม้ว่าบุพเพสันนิวาสจะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ก็ไปไม่ได้ไกลเหมือน “นาคี” ที่ไปฮิตข้ามชาติที่สปป.ลาว ไปที่กัมพูชาด้วย การผูกติดกับการเสนอภาพความเป็นไทยเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของละครบุพเพสันนิวาส ที่พาคนไปได้แค่วัดไชยวัฒนารามกับพระราชวังนารายณ์ที่ลพบุรี

 


ที่มา มติชนออนไลน์

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ หลายคนอาจจะวางแผนท่องเที่ยวกันแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะไปไหนดี เที่ยวฝยกรุงเทพฯก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย

โดยเพจเฟซบุ๊ก หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์เชิญชวนร่วมงาน “สงกรานต์หน้าวัง” ซึ่งจะได้พบกับภาพวาด 3 มิติ ที่เป็นภาพของตัวละครในเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ไม่ว่าจะเป็น แม่การะเกด พี่หมื่น พี่ผิน พี่แย้ม อ้ายจ้อย และภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจจากคณะจิตรกรรมฯ พร้อมกิจกรรมภายในงานอีกมากมาย โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6-8 เมษายน นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ที่ ม.ศิลปากร วังท่าพระ

ทั้งนี้ สงกรานต์หน้าวัง เป็นกิจกรรมพื้นที่ทางวัฒนธรรมกลุ่มเศรษฐกิจวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เส้นทางถนนหน้าพระลาน – มหาราช – พระจันทร์ – พระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร โครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนผ่านกลไกความร่วมมือของภาคประชาสังคม ศิลปินหรือชุมชนและสถาบันการศึกษา (ทุนวิจัยฯ สกว)

ขอเชิญทุกท่านร่วมงาน "สงกรานต์หน้าวัง" .พบกับภาพวาด 3 มิติ กับแม่การะเกด พี่หมื่น พี่ผิน พี่แย้ม อ้ายจ้อย และภาพอื่น ๆ…

โพสต์โดย หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ วันอังคารที่ 3 เมษายน 2018

 

ที่มา เฟซบุ๊กเพจ หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หน้าที่ 58 ของเอกสารที่เรียกว่า “บันทึกรายวันของออกพระวิสุทธสุนธร (โกษาปาน) ระบุถึงผลไม้ ของหวาน ผักและนมโคที่ถูกยกมาเสริ์ฟ

เมื่อคณะทูตสยามเดินทางไปยังฝรั่งเศส นำโดยโกษาปาน พร้อมด้วยอุปทูตและตรีทูต ซึ่งก็คือ ขุนศรีวิสารวาจา ยอดดวงใจของแม่หญิงการะเกดใน ‘บุพเพสันนิวาส’

ในละครนั้น แม่การะเกดสร้างสรรค์หลากเมนู ควบคู่มื้ออาหารจากครัวคุณหญิงจำปา ไม่ว่าจะเป็นกุ้งเผา มะม่วงน้ำปลาหวาน และอื่นๆ ที่ล้วนชวนน้ำลายสอ แล้วเมื่อคณะทูตไปถึงฝรั่งเศส โดยขึ้นฝั่งที่เมืองแบรสต์ ทราบหรือไม่ว่าคณะทูตรับประทานอะไร ?

รายละเอียดเหล่านี้ จดหมายเหตุเมืองแบรสต์ บันทึกไว้ว่า ประกอบด้วยซุปข้น ไก่ตอน นกพิราบ ลูกกระต่าย เป็ด แม่ไก่อ่อนที่เลี้ยงให้อ้วน เนื้อลูกวัว หมู เนื้อวัว แตงโม ผัก ไอศกรีม ผลไม้สด ผลไม้เชื่อม ไวน์ และเหล้า

นอกจากนี้ โกษาปานยังจดบันทึกไว้อย่างละเอียด เล่าถึงมื้ออาหารสุดหรู อย่างมื้อค่ำมื้อหนึ่ง ดังนี้

“เอาเครื่องต้มเข้ามาตั้ง ณ เตียงนั้นห้าถาดใหญ่ เนื้อสุกรถาดหนึ่ง เนื้อชุมพาถาดหนึ่ง เนื้อโคถาดหนึ่ง ไก่กับเป็ดสองถาด กินกับปัง แล้วผ่อนออกไป แล้วจึงเอาเครื่องปิ้งแลเครื่องคั่วแลผักทอดมันแลผักกินสด แลถั่วต้มแลถั่วคั่วเข้ามาตั้ง 17 ถาดในนี้ไก่แลเป็ดตายสองถาด ชุมพาปิ้งถาดหนึ่ง (ชุมพา คือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายแกะ ในที่นี้น่าจะหมายถึงเนื้อแกะ) ลูกสุกรทั้งตัวฉาบเนยปิ้งถาดหนึ่ง แพะปิ้งถาดหนึ่ง ไก่แลนกแซมหมูปิ้งถาดหนึ่ง แลถาดซึ่งใส่เครื่องปิ้ง ทั้งนี้ย่อมเอาผักชีโรยรอบริมถาดนั้น เนื้อชุมพาคั่วถาดหนึ่ง ไก่คั่วใส่แป้งข้าวโพดถาดหนึ่ง ใบผักกาดแลใบหอมใส่น้ำส้มองุ่นแลน้ำมันลูกไม้ถาดหนึ่ง ผักเบี้ยใหญ่ใส่น้ำส้มองุ่นแลน้ำมันลูกไม้ถาดหนึ่ง ผักสิ่งหนึ่ง ช่ออาระตีโชประดุจหนึ่งโตนดบัวขมต้มถาดหนึ่ง”

อ่านเอกสารบันทึกรายวันของออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ทั้งหมดได้ที่ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) คลิกที่นี่


ที่มา มติชนออนไลน์

ฉากหวานชวนฟินระดับขั้นสุดอีกฉากหนึ่งจากละครบุพเพสันนิวาส ที่ออกอากาศวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา คือ ฉากมอบของแทนใจ ตามที่คุณพี่เดชได้ร้องขอของแทนตนที่แสดงถึงความใกล้ชิดก่อนจะเดินทางไปฝรั่งเศส ซึ่งแม่หญิงการะเกดก็จัดให้ มอบหมอนหนุนศีรษะที่ใช้นอนทุกค่ำคืนให้คุณพี่เดช ฉากนี้ระดับความหวานหยดมดขึ้นจอสุดๆ

 

และแน่นอนว่าหลายคนสังเกตเห็นว่าหมอนที่มีปลอกสีขาวสวยสะอาดนั้น มุมหนึ่งของปลอกหมอนมีการปักลวดลายเถาวัลย์สวยเบาๆแบบงานคราฟท์ หลายคนคงอยากลองนำปลอกหมอนที่บ้านมาปักลวดลายที่ชอบแทนใจให้เพื่อนๆ คนที่เรารักกันบ้าง

แต่หากยังไม่มีพื้นฐาน มติชนอคาเดมีแนะนำให้มาลองเข้าคอร์สเรียน [Training class] ดีไซน์ลายผ้าปัก หรือ BasicStitch ขั้นพื้นฐานกับมติชนอคาเดมีกันได้

สำหรับสาวๆหรือหนุ่มที่อยากทำทำโปรเจกต์ DIY โดย “ครูทราย” ศิริมาศ พรหมโมปกรณ์ จะเริ่มการสอนจากขั้นพื้นฐานทุกขั้นตอน ในระดับที่เมื่องานจบต้องทึ่งกับฝีมือตัวเอง โดยในวันเรียน ผู้เรียนจะได้ชิ้นงานกลับบ้านกันด้วย อาจารย์สอนสนุก เข้าใจง่าย สามารถนำไปเป็นของที่ระลึกหรือนำไปต่อยอดธุรกิจได้

“ทำงานปักมันเป็นความรื่นรมย์ในใจนะ ทำเสร็จหนึ่งผืน เราจะรู้สึกว่ามีคุณค่ากับเรา ยิ่งคนมาชื่นชมก็ยิ่งภูมิใจ… งานฝีมืออย่างงานปักบางคนไม่กล้าทำ กลัวปักไม่สวย เรื่องนี้ไม่อยากให้กังวล เพราะเมื่อเราทำเสร็จเป็นผืน ภาพรวมที่ออกมาไม่ต้องกลัวว่าไม่สวย เพราะมันจะมีเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์ของงานแต่ละชิ้น”ครูทรายให้มุมมอง

คอร์สนี้เปิดเรียนวันที่12 พฤษภาคม 2561(รับจำนวนจำกัด)
สนใจเรียนหรือจอง ติดต่อได้ที่ ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน
โทรสอบถาม : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
หรือทางมือถือ 08-2993-9097, 08-2993-9105
http://line.me/ti/p/[email protected]
Id line :@m.academy

เปิดฉากแรกขึ้นมาของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส คงจำกันได้ภาพแม่หญิงการะเกดตัวร้ายต้องมนต์กฤษณะกาลี นอนตายในท่าพนมมือ โดยที่ตามองจ้องไปยังยอดพระปรางค์องค์ใหญ่เปล่งประกายสีทองอร่าม ซึ่งคือ พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ที่ตามท้องเรื่องอยู่ใกล้บ้าน “พี่หมื่น-จหมื่นศรี” คู่หมั้นคู่หมายของแม่หญิงการะเกด จากนั้นฉากพระปรางค์ที่มียอดเป็นทองคำก็ปรากฏให้เห็นมาเรื่อยหลายๆ ฉาก

ความสงสัยข้องใจจึงเกิดขึ้นจากคนดูละครทั้งหลาย ว่า “ยอดพระปรางค์องค์ใหญ่วัดไชยวัฒนาราม” ที่เห็นในละครนั้น มียอดเป็นทองคำจริงหรือ? หรือว่าเป็นเพียงจินตนาการของคนเขียนนิยาย และจินตนาการของคนเขียนบทโทรทัศน์

เรื่องนี้มีคำตอบ!

ระหว่างการท่องเที่ยวของบรรดาลูกทัวร์ “มติชนอคาเดมี ” ในชื่อ “ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาตร์อยุธยา” ซึ่งมีกูรูผู้เชี่ยวชาญเรื่องของกรุงศรีอยุธยาระดับแถวหน้าของประเทศไทย “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือในละครเรียก “ขุนหลวงนารายณ์” ได้บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า…

“ที่เราเห็นในละครว่ายอดพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเปล่งประกายเป็นสีทองอร่ามงดงามนั้น ขอบอกว่าเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเป็นทองคำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะยอดพระปรางค์อย่างในละครเท่านั้น แต่เป็นทองคำทั้งองค์ เรื่องนี้แสดงว่าคนทำละครทำได้ดีมาก มีการค้นคว้าทำการบ้านพอสมควร เพราะเมื่อครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ก็พบว่าตัวพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ผิวขององค์พระปรางค์มีรูพรุนเต็มไปหมด ซึ่งการที่มีรูพรุนนั้นเกิดจากการที่เขาเอาตะปูสังควานร เป็นตะปูเหล็กยาวๆ ตรึงเข้าไปที่องค์พระปรางค์…”

“..เป็นการตรึงแผ่นโลหะที่ปิดทองเสร็จเรียบร้อยแล้วเข้ากับองค์พระปรางค์ อธิบายง่ายๆ ให้เข้าใจ คือเขาไม่ได้ใช้ทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ไปปิดพระปรางค์ แต่ใช้วิธีนำแผ่นทองคำเปลวเล็กๆ นั้นไปติดบนแผ่นโลหะขนาดใหญ่เสียก่อน แล้วค่อยนำแผ่นโลหะสีทองนั้นไปวางลงไปบนผิวขององค์พระปรางค์ แล้วเอาตะปูตอกตรึงเข้าไป แผ่นทองที่ตรึงเข้าไปกับองค์พระปรางค์เขาเรียกว่า แผ่นทองจังโก จึงทำให้พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเป็นสีทองไปทั้งองค์..”

นับเป็นความฉลาดของคนโบราณ เพราะแทนที่จะนำแผ่นทองคำอันเล็กจิ๋วไปนั่งปิดองค์พระปรางค์ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาอย่างมาก ก็เอาแผ่นทองคำเปลวนั้นปิดลงบนแผ่นโลหะขนาดใหญ่เสียก่อนแล้วค่อยนำขึ้นไปตรึงไว้ จึงเกิดเป็นร่องรอยรูพรุนทั่วองค์พระปรางค์

สำหรับวัดไชยวัฒนาราม บางครั้งเรียก “วัดไชยยาราม” หรือ “วัดไชยชนะทาราม” เป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นวัดอรัญวาสี ณ บริเวณที่ดินซึ่งเป็นนิวาสสถานของพระราชชนนี ในปีมะเมีย พ.ศ. 2173 ซึ่งตรงกับปีที่ขึ้นครองราชย์พอดี สันนิษฐานว่าเป็นวัดประจำรัชกาลด้วย

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ใช้วัดนี้ในฐานะเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี สำหรับพระราชทานเพลิงศพของพระราชวงศ์และขุนนางผู้สูงศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2299 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลาย ถูกกล่าวโทษว่าเสด็จเข้ามาทำชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ในพระราชวังหลายครั้ง สืบสวนได้ความเป็นสัตย์จริง จึงลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้งสองพระองค์จนดับสูญ แล้วนำศพไปฝังไว้ ณ วัดไชยวัฒนารามทั้งสองพระองค์

สิ่งสำคัญในวัดแห่งนี้ คือพระปรางค์องค์ประธาน ตามเรื่องในละครบุพเพสันนิวาสที่เห็นเป็นสีทอง มีลักษณะเป็นปรางค์จัตุรมุข กล่าวคือมีมุขยื่นออกมาทั้ง 4ด้าน มุขด้านตะวันออก จะเจาะมุขทะลุเข้าสู่เรือนธาตุ ซึ่งภายในจะประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง (ปัจจุบันไม่พบแล้ว) ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนารามจึงถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111

ถ้าอยากให้นวนิยายหรือละครสักเรื่องสนุกครบรส นอกจากตัวละครเอกอย่างคู่พระนาง ที่เห็นจะขาดเสียมิได้คงเป็น “ตัวร้าย” ดังเช่นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างกระแสไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ทำไมขุนนางฝรั่งนามว่า “คอนสแตนติน ฟอลคอน” บุรุษรูปงามที่รับบทโดย “หลุยส์ สก๊อต” ถึงได้ถูกมองว่าร้ายกาจนัก

ถือเป็นโชคชะตาหรือบุพเพสันนิวาสก็มิทราบได้ ที่ทำให้นักเขียนชาวฝรั่งเศส “แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์” ผู้เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “ฟอลคอนแห่งอยุธยา” ได้รับเชิญจากสถานีโทรทัศน์ช่อง arte ของฝรั่งเศส ให้มาถ่ายทำสารคดีแนะนำจังหวัดลพบุรี บ้านเกิดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงบ้านพักของพระยาวิไชเยนทร์หรือฟอลคอนถึงสถานที่จริง

นานมีบุ๊คส์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 3 เล่มของแคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ คือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา ตากสิน มหาราชชาตินักรบ และ หยดน้ำตาสยาม จึงไม่พลาดที่จะไปสัมภาษณ์เธอถึงกระแสละครที่กำลังโด่งดัง ซึ่งเชื่อมโยงกับหนังสือฟอลคอนที่เธอเขียน เธอได้เปิดเผยถึงละครบุพเพสันนิวาสนี้ว่า


“ฉันไม่เคยดูละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากดู ฉันพอรู้มาว่าฟอลคอนในละครนั้นถูกมองว่าเป็นตัวร้าย ซึ่งความจริงแล้วคนไทยในสมัยนั้นก็มองฟอลคอนเป็นตัวร้ายจริงๆ ด้วยความที่เป็นคนโปรดของพระนารายณ์ การเป็นคนโปรดของกษัตริย์ทำให้มีผู้คนอิจฉาริษยา อีกทั้งตัวฟอลคอนยังมีนิสัยหยิ่งยโส แต่ฉันเชื่อว่าแท้จริงแล้วฟอลคอนรักแผ่นดินสยามด้วยใจจริง เขาพยายามเปิดประตูให้สยามติดต่อสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก เพื่อให้สยามปกป้องตัวเองและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพียงแต่ท่าทีการแสดงออกอาจไม่ถูกต้องนัก ด้วยความหยิ่งยโส ไม่ฟังความเห็นต่าง และฉันเชื่อว่าฟอลคอนผูกพันอย่างลึกซึ้งและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ส่วนในละครที่ฟอลคอนบังคับให้มารีแต่งงานด้วยนั้น ฉันมองว่าความจริงแล้วตรงกันข้าม ฟอลคอนต่างหากที่ถูกพระนารายณ์บังคับให้แต่งงานกับมารี เพราะทรงเป็นหนี้ชาวญี่ปุ่นเป็นเงินจำนวนมาก จึงใช้การแต่งงานนี้ผ่อนผันจ่ายหนี้ ความจริงฟอลคอนไม่ได้สนใจในตัวมารีเลย แถมยังคิดว่ามารีค่อนข้างซื่อบื้อด้วยซ้ำ แต่มารีเป็นหลานสาวของยามาดะ เศรษฐีชาวญี่ปุ่น ฐานะร่ำรวย นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฟอลคอนยอมแต่งงานกับมารี เพราะขณะนั้นฟอลคอนเองก็ไม่ได้มีฐานะอะไร นอกจากเป็นพระประสงค์ของพระนารายณ์แล้ว เขาอาจแต่งงานเพื่อยกฐานะตนเองด้วย”


หากย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา เธอกล่าวว่า “ฉันค้นพบเรื่องราวเกี่ยวกับฟอลคอนด้วยความบังเอิญ ฉันไปเยี่ยมชมพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์เคยประทับ แต่บังเอิญไปพบบ้านพระยาวิไชเยนทร์เข้าก่อน พอได้เห็นบ้านพักทูตฝรั่งเศสเลยรู้สึกแปลกใจและสนใจ จากนั้นฉันจึงซื้อหนังสือมาจากพิพิธภัณฑ์และอ่านเจอว่าฟอลคอนทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่กษัตริย์ในสมัยนั้น คล้ายคลึงกับตัวฉันที่ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ประธานาธิบดี ฉันรู้สึกว่าน่าสนใจเลยศึกษาเพิ่มเติม โดยตั้งใจจะนำมาเขียนบทความเกี่ยวกับเพื่อนร่วมอาชีพในประวัติศาสตร์ แต่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น และพบว่าเรื่องราวซับซ้อนเกินกว่าจะเขียนเป็นบทความ จากบทความก็เลยกลายเป็นหนังสือเล่มหนาอย่างที่เห็น

“สิ่งที่ฉันพยายามทำให้ดีที่สุดในการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือ ถ่ายทอดเหตุการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ใช้เวลาค้นคว้าอยู่เป็นปีก่อนเริ่มต้นเขียน และใช้เวลาเขียนอยู่ 5 ปี ระหว่างเขียน ฉันจะกลับไปตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องที่สุด เพราะฉันเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ฉันจึงต้องทำให้มั่นใจว่าคำเรียกขานหรือคำศัพท์ต่างๆถูกต้องตามจริง โดยหลักฐานสำคัญที่ฉันศึกษา คือ จดหมายเหตุซึ่งเขียนโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ หลักฐานส่วนใหญ่ในสมัยอยุธยาถูกทำลายไปพร้อมกับการเสียกรุง แต่โชคดีที่จดหมายเหตุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศสและอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน ฉันก็พยายามมองประวัติศาสตร์สยามในสายตาของ ‘คนนอก’ ซึ่งน่าจะเป็นมุมมองอันแตกต่างที่ไม่ได้มองประวัติศาสตร์จากมุมมอง ‘ความเป็นไทย’ ตอนที่เขียนฉันพยายามเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ดังนั้นเรื่องราวจึงเล่าผ่านสายตาของคนนอกที่ไม่ลำเอียงและปราศจากอคติ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ฟอลคอนแห่งอยุธยา

เรื่องราวของฟอลคอนที่เกิดมาอาภัพ เป็นลูกผสมที่ผู้คนรังเกียจ ชีวิตของเขาต้องต่อสู้อย่างทรหด เขาออกทะเลร่อนเร่ไปกับเรือสินค้า ห่างบ้านเกิดเมืองนอนมาไกลโพ้น สู่ทวีปเอเชียที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจ จากเสมียนสู่พ่อค้า และจากพ่อค้าสู่ขุนนางแห่งอยุธยา ฟอลคอนกลายเป็นขุนนางคนโปรด ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ รับใช้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างใกล้ชิด เรืองอำนาจจนหาใครอื่นในอยุธยาทัดเทียมได้ยากยิ่ง หากแต่อำนาจมักมาพร้อมความรับผิดชอบมากล้น ฟอลคอนต้องเจรจากับผู้คนหลากหลายอย่างมีชั้นเชิง ด้วยคำพูดที่ทั้งอ่อนโยนและแข็งกร้าว ทั้งอ่อนน้อมและเหยียดหยาม ทั้งปลอบโยนและข่มขู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ แต่เพื่อยังประโยชน์แก่อยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ หรือตัวเขาเองกันแน่

‘บุพเพสันนิวาส’ เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นกระแสโด่งดังอยู่ในตอนนี้ ซึ่งละครกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ตัวละครหลากหลายตัวเริ่มมีบทบาทมากขึ้น หรือบางตัวก็ถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต อย่างล่าสุดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถูกลงอาญาเฆี่ยนเนื่องจากรับเงินห้าสิบชั่งจากไพร่ที่ไม่อยากถูกเกณฑ์ไปสร้างป้อมปราการประจำหัวเมืองต่างๆ ตามนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์กับฟอลคอน ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาหลังจากนั้น

ซึ่งหากคนที่ติดตามละครย้อนยุค หรืออิงประวัติศาสตร์ เราจะได้เห็นฉากที่เกิดขึ้นหลังจากเจ้านาย หรือบ่าว ถูกเฆี่ยนตีหรือทำโทษ จนเป็นแผลฟกช้ำ หรือแผลสดเกิดขึ้น ก็มักจะมีการนำยาประคบมาใช้ อย่างที่จันทร์วาดลูกสาวของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้ทำให้กับพ่อของเขาก่อนจะเสียชีวิต เราลองมาทำความรู้จักกับสมุนไพรที่จันทร์วาดใช้ประคบให้กับพ่อของเขา

จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ตามเว็บไซด์ต่างๆ พบว่า ยาประคบส่วนใหญ่ที่ใช้จะมีส่วนผสมของ ไพล, ผิวมะกรูด, ตะไคร้บ้าน, ใบมะขาม, ขมิ้นชัน, เกลือ, การบูร, และใบส้มป่อย ส่วนสมุนไพรที่จันทร์วาดใช้รักษาเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) นั้น ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวของทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ว่า ในภาชนะที่จัดวางยาจะมีอยู่ 3 ถ้วย ประกอบไปด้วย เหง้าไพล หรือไพล, เหง้าขมิ้นชัน และกำมะถันเหลือง

หากมาดูถึงสรรพคุณจะพบว่า เหง้าไพล จะช่วยในเรื่องของการขับโลหิตร้ายให้ตกเสีย แก้ฟกช้ำ เคล็ดบวม หรือช่วยสมานแผล เป็นต้น ส่วนเหง้าขมิ้นชัน ช่วยรักษาอาการแพ้ ผื่นคัน ผิวหนังเกิดอาการอักเสียบ หรือแมลงกัดต่อย สำหรับกำมะถันเหลือง จะมีสรรพคุณช่วยในการฆ่าเชื้อจากบาดแผลที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลสูตรยาอังคบพระเส้นในตำรับพระโอสถพระนารายณ์ โดยพระอังคบ พระเส้นตึงให้หย่อน เอาเทียนดำ เกลือ 1 ส่วน อบเชย 2 ส่วน ไพล 4 ส่วน ใบพลับพลึง 8 ส่วน ใบมะขาม 16 ส่วน จากนั้นจึงนำไปตำคุลิการห่อผ้านึ่งให้ร้อน ก่อนใช้อังคบพระเส้นอันพิรุธให้หย่อนแลฯ

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์