เมื่อถึงวันประเพณีสงกรานต์ หรือเรียกกันติดปากเดี๋ยวนี้ว่า “วันปีใหม่ไทย” ตามความเชื่อและวัตรปฏิบัติของชาวพุทธทั้งหลาย คือการที่ต้องเข้าวัดไปทำบุญ อุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ฟังเทศน์ฟังธรรม เสร็จแล้วจึงให้ทานเป็นการสร้างกุศล ยามนี้ที่ใครต่อใครต้องอยู่บ้านเพราะสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19  “มติชนอคาเดมี” ได้นำเสนอสิ่งที่เสริมเพิ่มเติมความรู้ในยามว่าง เป็นเรื่องราวของ “วัดโบราณ” ในเกาะรัตนโกสินทร์  ที่ผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี แต่ก็ยังคงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของมวลหมู่ประชาชนทั้งหลาย ที่สำคัญวัดเหล่านี้ยังคงความงดงาม อลังการงานเชิงช่างศิลปะรัตนโกสินทร์  พร้อมทั้งซ่อนรอยเรื่องราวในอดีตให้แลเห็น ความน่าสนใจของวัดเหล่านี้จึงมิได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ตรงกันข้ามยิ่งกลับทำให้อยากศึกษาและอยากไปชมมากขึ้น

เริ่มกันที่บริเวณ “ป้อมมหากาฬ” ซึ่งถือเป็นวงนอกของพระนคร  ปัจจุบันนอกจาก “ลานพลับพลาเจษฏาบดินทร์” และ “โลหะปราสาท” ของ “วัดราชนัดดา” แล้ว  ความงามของศิลปะจีน-ไทยที่ “วัดเทพธิดาราม” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันถือว่าไม่เป็นสองรองใคร   สำหรับ “วัดเทพธิดารามวรวิหาร” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อพระราชทานแด่ “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส” พระราชธิดาที่ทรงรักอย่างยิ่ง ซึ่งต่อมาพระราชทานทรงกรม ที่ “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”  พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากมาแต่เดิม

ดังนั้น เมื่อทรงสร้างวัดที่ริมคูเมืองพระนคร ด้านทิศตะวันออก จึงพระราชทานชื่อวัดว่า “วัดเทพธิดาราม” ตามพระนามกรมของพระราชธิดาพระองค์นี้  ในการสถาปนาพระอารามแห่งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย โดยเมื่อแรกเริ่มสร้างนั้นยังมิได้มีการตั้งชื่อวัด จึงเรียกชื่อวัดพระยาไกรสวนหลวง ตามบริเวณที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรือกสวนไร่นาของพระยาไกร  กระทั่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” หมายถึง “อัปสรสุดาเทพ” และยังได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2382

เมื่อเข้าไปเที่ยวชมวัดแห่งนี้ ต้องไปชม “ของดี” ในพระอุโบสถ คือพระประธานและภาพจิตรกรรมฝาผนัง  ส่วนด้านนอกพระอุโบสถนั้นจะเห็นความงดงาม แปลกตาของศิลปะไทย-จีน ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว เช่น ตุ๊กตาหินแบบจีน แต่หน้าตาไทยๆ ห่มสไบนั่งแขนอ่อนคอยต้อนรับผู้คนที่เดินเข้าไปกราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถ  สำหรับพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระปางมารวิชัย จำหลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ ชาวบ้านจึงเรียก “หลวงพ่อขาว” หน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 20 นิ้ว  รัชกาลที่ 3 ทรงให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง นำมาประดิษฐานไว้เหนือเวชยันต์บุษบกอันประณีต  ต่อมาภายหลัง รัชกาลที่ 9 ทรงเฉลิมพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเทววิลาส” มีความหมายว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความงามดั่งเทวดาสร้าง

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

ด้านหน้าของพระประธาน มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอิริยาบถยืน ปางห้ามสมุทร 2 องค์ กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่ที่น่าสนใจสำหรับคนยุคปัจจุบันอย่างมาก เป็นปฏิมากรรมกลุ่มผู้หญิง ตั้งอยู่หน้าพระประธานที่ประดิษฐานอยู่เหนือบัลลังก์บุษบก เป็นรูปหล่อตะกั่วปิดทองที่เรียกกันว่ากลุ่ม “ภิกษุณี” มีจำนวน 52 รูป  เชื่อกันว่าเป็น “ภิกษุณี” เพราะโกนศีรษะและแต่งตัวแบบนักบวช เหล่าภิกษุณีอยู่ในท่านั่ง มีอยู่ด้วยกัน 4 แถว  ถึงแม้รูปปั้นเหล่านั้นจะโกนผม แต่ทั้งหมดล้วนกันไร  ซึ่งแสดงว่าเธอทั้งหลายเป็นสตรีชาววัง

เมื่อกราบพระประธานเสร็จ  ชม “บุษบกอันงดงาม” ดูเหล่าภิกษุณีแล้ว ก็มีเรื่องราวเกร็ดประวัติศาสตร์หนึ่ง ว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส”  นับได้ว่าเป็นพระราชธิดาที่มีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก จนเลื่องลือไปทั่ว บังเอิญว่าพระนามของพระองค์ไปพ้องกับชื่อเม็ดสาคูที่มีขายกันในบางกอกเวลานั้น ชาวบ้านจึงไม่กล้าเรียกชื่อ “สาคูวิลาส” กลับไปเรียก “สาคูเม็ดใหญ่” แทน  นอกจากนั้น เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษส่งคณะทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีในรัชกาลที่ 3 ก็เอ่ยพระนามของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษว่า “พระเจ้าวิลาส” ด้วย

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดํารงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2354 มีพระอนุชาร่วมพระชนนีคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  แม้ขณะนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถจะทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาหลายพระองค์แล้วก็ตาม แต่มีหลักฐานว่าเจ้าหญิงพระองค์น้อยนี้ทรงเป็นที่สนิทเสน่หาของสมเด็จพระราชบิดายิ่งกว่าพระราชโอรสพระราชธิดาพระองค์ใด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะทรงเป็นพระราชธิดารุ่นแรกประสูติ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 24 พรรษา หรืออาจเป็นเพราะพระราชธิดาพระองค์นี้ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาที่ทรงโปรดปรานก็อาจเป็นได้

แต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเจ้าหญิงทรงเป็นพระราชกุมารีที่มีพระสิริโฉมงดงาม และทวีความงามขึ้นตามพระชันษา จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดพระราชทานนามอันเป็นมงคล และมีความหมายแสดงแจ้งชัดถึงพระสิริโฉมว่า “พระองค์เจ้าหญิงวิลาส”  นอกจากพระสิริโฉมอันงดงามเป็นที่ลือเลื่องแล้ว พระองค์เจ้าหญิงวิลาสยังทรงมีพระปรีชาสามารถในพระภารกิจที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงมอบหมาย  ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ” นับเป็นการสถาปนาพระราชโอรสพระราชธิดาครั้งแรกในรัชกาล

จดหมายเหตุทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ บันทึกไว้ว่า “…ถึงปีจอ พ.ศ. 2381 ทรงตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอเป็นครั้งแรก 2 พระองค์คือ …ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสิริวงศ์ เป็น กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์…” พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2388  สิริพระชนมายุ 33  ปี  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด โปรดหนังสือ และการกวี ทรงชุบเลี้ยงกวี แม้แต่พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) ยามตกทุกข์ได้ยากก็ได้รับการอุปการะจากพระองค์หญิงพระองค์นี้  โปรดให้แต่งกลอนถวายและประทานรางวัลให้เลี้ยงชีพพักหนึ่ง จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์

เรื่องราวของสุนทรภู่และวัดเทพธิดาราม สามารถเรียนรู้ได้จากพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดแห่งนี้เช่นกัน โดยออกจากพรอุโบสถเดินไปด้านหลังไม่ไกลนัก มีกุฏิสุนทรภู่ตั้งอยู่ ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่ ขณะที่ยังบวชและจำพรรษาในวัดแห่งนี้ ระหว่าง พ.ศ.2382-2385  ที่พิพิธภัณฑ์มีวิทยากรคอยบรรยายให้ฟังด้วย

วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ออกจากวัดเทพธิดาราม มุ่งสู่ “วัดราชนัดดารามวรวิหาร” เป็นวัดสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกัน  ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ  ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพลับพลารับแขกบ้านแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นบนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ เพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัส วัฒนาวดี (ภายหลังเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 4) โดยทั้งสองพระองค์ (รัชกาลที่ 3 และ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัส) เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2389

สถานที่อันงดงามภายในวัดราชนัดดา ประชาชนมองเห็นได้และรู้จักกันดี คือ “โลหะปราสาท” ซึ่งสร้างโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2389  เนื่องจากทรงมีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงทราบว่าในสมัยโบราณมีการสร้างโลหะปราสาทเพียง 2 หลังในโลก คือ หลังแรก นางวิสาขาแห่งเมืองสาวัตถี สร้างยอดปราสาททำด้วยทองคำ  หลังที่สอง พระเจ้าทุฏฐคามณี แห่งกรุงอนุราธปุระ ประเทศลังกา ทรงสร้างเมื่อราว พ.ศ. 382 หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างโลหะปราสาท เพื่อเป็นเกียรติแก่พระนคร แทนการสร้างพระเจดีย์เช่นพระอารามอื่น นับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก โดยสร้างเป็นปราสาทสูง 3 ชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอด กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียนขึ้นที่ยอดปราสาท 67 ขั้น

เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้  พระอุโบสถเป็นแบบไทย คือ มีช่อฟ้า ใบระกา ต่างจากวัดเทพธิดารามซึ่งสร้างแบบจีน ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธเสฏฐตมมุนี”  ซึ่งโปรดให้หล่อด้วยทองแดง จากตำบลจันทึก เมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2389 ฝาผนังเขียนลายเทพชุมนุมกับดาวดาราศาสตร์

ความงามของวัดราชนัดดา เจ้าพระยายมราช (บุนนาค ยมนาค) เป็นผู้ออกแบบแผนผังการสร้างวัด  กำกับการสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโลหะปราสาท พระยามหาโยธา เป็นผู้สร้างกุฏิสงฆ์  พร้อมทั้งกำแพงและเขื่อนรอบๆ วัด

ก่อนการปฏิสังขรณ์วัดในปี พ.ศ. 2539 “พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น” ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรม ได้ออกแบบวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาโลหะปราสาทใหม่ให้ออกมาเป็นสีดำ ปี พ.ศ. 2555 กรมศิลปากรได้ร่วมกับทางวัดบูรณะมณฑปให้เป็นสีทอง  สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก นอกเหนือจากเรื่องของศิลปะไทย-จีนแล้ว โลหะปราสาท เป็นสถานที่สวยงามและมีคุณค่าทางจิตใจ ยิ่งเข้าไปชมภายใน นอกจากได้รับความรู้เรื่องพุทธศาสนาแล้ว ยังได้เห็น “ธรรม” ที่แฝงอยู่ในแต่ส่วนที่จัดแสดงอยู่ภายในด้วย

ต่อจากวัดราชนัดดา มุ่งตรงไปทางร้านนายเหมือน ซึ่งเป็นร้านขายข้าวของเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากหวาย จะเห็นซอยขวามือเป็นถนนทางลัดไปสู่บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดโบราณสำคัญอีกวัดหนึ่ง คือ “วัดสุทัศนเทพวรารามวรวิหาร” หรืออีกชื่อที่คนโบราณเรียกกันว่า “วัดพระโตกลางเมือง”  เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาพระนครขึ้นในปี พ.ศ.2325 มีพระราชดำริว่าควรสร้างพระอารามขึ้นกลางพระนคร  ให้เป็นหลักใจของคนในแผ่นดิน  เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ทรงคุ้นเคยมาแต่ก่อน  จึงโปรดให้สร้างพระวิหารขนาดใหญ่ขึ้น แล้วโปรดให้ชะลอพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ จากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย ลงมาประดิษฐาน เป็นพระพุทธรูปสำคัญของแผ่นดิน

เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวมาถึงท่าช้างวังหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระโตขึ้นประดิษฐานบนตะเฆ่ชักลาก แต่ประตูพระนครที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแคบเกินไป ไม่สามารถอัญเชิญพระโตเข้ามาได้  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงช่วงหนึ่งลงเสียเพื่อให้พระโตสามารถเข้ามาได้  ผู้คนทั้งปวงจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “ท่าพระ” แต่นั้นมา

ในพระราชพงศาวดารเล่าว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตามพระโต และเมื่อเชิญองค์พระขึ้นประดิษฐานเรียบร้อยแล้ว ถึงกับเอ่ยพระโอษฐ์ว่า “สิ้นธุระแล้ว”  หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้พระราชทานนามวัด ว่า “วัดมหาสุทธาวาส” แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จ รัชกาลที่ 1 ก็เสด็จสวรรคตก่อน จึงมิได้ประดิษฐานเป็นสังฆาราม  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อ และทรงแสดงฝีพระหัตถ์ไว้เป็นอนุสรณ์ โดยทรงสร้างบานประตูกลางจำหลักพระวิหาร ด้วยฝีพระหัตถ์ ร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นจิตรภักดี แต่ก็ยังมิทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2390 แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งสร้าง “สัตตมหาสถาน” และสร้างกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังได้ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญให้คล้องกันว่าพระศรีศากยมุนี พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ และ พระพุทธเสรฏฐมุนี  ภายในวัดสุทัศนฯ มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ประดิษฐานอยู่ และมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2493 และในวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี จะมีการจัดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ด้วย

หากดูจากตำแหน่งที่ตั้งของวัดสุทัศนฯ จะเห็นได้ว่าจุดนี้เป็นศูนย์รวมของชุมชน และศูนย์รวมของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ กลางกรุงเทพมหานคร โดยแผนผังของวัดมีการจำลองภูมิจักรวาลตามคติมณฑลแบบพุทธ ส่วนภายในวัด นอกจากพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 แล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจต้องไปชม ได้แก่ พระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีหรือหลวงพ่อโต

ที่ใต้ฐานชุกชีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 8 ถัดมาคือ พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังของพระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมไทยโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเช่นกัน ภายในประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ศาลาการเปรียญ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธเสรฏฐมุนี

ในเอกสารความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี (กุ) พระเจ้าน้องนางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงบันทึก ว่าที่หลังฐานชุกชีของพระศรีศากยมุนีหรือพระโตองค์นี้ มีศิลาจารึกติดอยู่และมีความว่า “ต่อไปภายหน้าลุงจะให้สัตย์ต่อหลาน..” ซึ่งเมื่อไปสำรวจดูตามที่ได้รับบอกเล่ามา กลับไม่พบอะไร แต่ก็ได้เห็นความงามของศิลาจำหลักรูปพระพุทธเจ้าและพระสาวกในศิลปะทวารวดีแผ่นหนึ่งติดอยู่ที่ฐานดังกล่าว เป็นภาพแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าทรงบันดาลท่อน้ำ ท่อไฟ ให้พวยพุ่งออกจากส่วนของพระกายเป็นคู่ๆ กัน โดยทรงกระทำที่ต้นมะม่วง เรียกว่า คัณฑามพพฤกษ์ นอกจากนี้ยังมีความงามของจิตรกรรมฝาผนังเรื่องต่างๆ เช่น ช้างมงคล เรื่องนางนกกระเรียน และภาพวิถีชีวิตของคนในต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ความสำคัญของวัดสุทัศนฯ อันหนึ่ง คือเคยเป็นสถานที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว)  จากความสำคัญของสถานที่ตั้ง ประกอบกับคติความเชื่อทางศาสนา วัดสุทัศนฯ จึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมือง โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10  ที่นี่จึงได้เป็นสถานที่เสกน้ำอภิเษกรวมจากทั้ง 76 จังหวัด พร้อมทั้งจากกรุงเทพฯ, น้ำจากเบญจสุทธิคงคา และน้ำจากสระ 4 สระของจังหวัดสุพรรณบุรี รวมคนโทน้ำอภิเษก 86 ใบ เมื่อวันที่ 18-19 เมษายน 2562

หลังเที่ยวชมวัดทางฝั่งพระนคร ก็ถึงคิวที่จะต้องนั่งเรือข้ามฟากมาฝั่งธนบุรี บริเวณเขตคลองสาน ริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งบริเวณนี้ต้องบอกว่ามีวัดโบราณหลายแห่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สำหรับคำว่า “คลองสาน” สันนิษฐาน ว่ามาจากการที่คลองเล็กคลองน้อย คลองซอยต่างๆ ขุดเชื่อมต่อกันตามเรือกสวนแต่ก่อน หรืออาจมาจากคลองที่จอดเรือขายข้าวสารก็เป็นได้  พื้นที่บริเวณฝั่งธนบุรี แถบเขตคลองสาน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของโรงแพขายสินค้า และบ้านขุนนางผู้ดีในอดีต  รวมทั้งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ “คณะผู้ทรงอำนาจแห่งยุค” นั่นคือ “สายสกุลบุนนาค” นั่นเอง

เริ่มต้นกันที่ “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” นอกจากจะเห็น พระเจดีย์สีขาว ตั้งสูงสง่าเมื่อข้ามสะพานพุทธแล้ว วัดนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจมากมาย ผู้ที่สร้างวัดนี้ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2371 ครั้งที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่าและสมุหพระกลาโหม ด้วยเหตุที่นิวาสถานของท่านอยู่บริเวณนี้ เรือกสวนไร่กาแฟของท่านก็อยู่บริเวณนี้เช่นกัน  จึงอุทิศที่ดินส่วนหนึ่งสร้างเป็นวัดขึ้น เพื่อถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 (ตามพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3)  ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดรั้วเหล็ก” เพราะรั้วของวัดแห่งนี้มีรูปหอก ดาบ และขวาน ประดับอยู่ ว่ากันว่าเป็นรั้วที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่เมื่อไม่โปรด จึงขอมาล้อมที่วัดแห่งนี้แทน

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ในพระอุโบสถขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย งดงาม ตั้งบนฐานชุกชีสูง มีพระอัครสาวก 2 ข้าง พระประธานองค์นี้นามว่า “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” หล่อขึ้นในปีเดียวกันกับที่สร้างวัด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ จ้างช่างไทยเป็นผู้หล่อ แล้วให้ช่างญี่ปุ่นที่จ้างมาเป็นผู้ลงรักปิดทอง ถ้าออกมาจากพระอุโบสถแล้ว ต้องไปดู “เขาเต่า” หรือ “เขามอ” วัดประยุร ความหมายของเขาเต่าหรือเขามอ คือ ภูเขาจำลองที่ใช้หินมาประกอบเป็นสวนขนาดเล็ก มักตั้งไว้ในอุทยาน สิ่งสำคัญบนนี้ คือ “อนุสาวรีย์กระบอกปืน 3 กระบอก” อันเป็นอนุสรณ์แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีเรื่องเกี่ยวกับปืนทั้งสามกระบอกนี้ กล่าวคือเป็นการสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปืนใหญ่ที่เอามาทำเป็นไฟพะเนียงแตก ในคราวงานฉลองสมโภชพระอารามเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 7 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้บันทึกไว้ว่าในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาส เมื่อพุทธศักราช 2379 ได้มีการทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ โดยฝังโคนกระบอกปืนใหญ่ลงในพื้นดิน เมื่อจุดชนวนขึ้น ปืนใหญ่เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สะเก็ดปืนใหญ่ได้กระเด็นไปไกลถึงฝั่งพระนคร ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บุตรชายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ความตอนหนึ่งว่า

“…ครั้นมาถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๒ ขึ้น ๗ ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยูรวงศ์ พระสงฆ์ในวัดได้ปืนเปรียมกระสุน ๕ นิ้ว ชำรุด หูพะเนียงหัก ทิ้งอยู่ในวัดบอก ๑ เอาทำไฟพะเนียงจุดในวันแรก พระเจ้าของผู้ทำเข้าไปจุดเอง ปืนแตกกระจายออกไป…” ขณะนั้นหมอบรัดเลย์ อาศัยอยู่ในบ้านเช่าที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง ให้สร้างขึ้นใกล้กับท่าน้ำวัดประยุรวงศาวาส (เดิมหมอบรัดเลย์พักกับพวกเชื้อสายโปรตุเกสที่โบสถ์ซางตาครูซ) ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 250 เมตร  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ให้คนตามตัวหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บ พระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์จำต้องตัด

แขนของพระรูปนั้นทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นานนัก การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ณ วัดประยุรวงศาวาส ในครั้งนั้น นับเป็นการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอวัยวะครั้งแรกในแผ่นดินสยาม

หลังเหตุการณ์ปืนแตกไม่นาน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ จึงสร้างอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอกขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2379 โดยทำเป็นเจดีย์ยอดปืนใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2428 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้สถาปนาพระอาราม ได้ย้ายอนุสาวรีย์นี้มาสร้างใหม่ภายในบริเวณเขามอ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก แท่นฐานทำเป็นสี่เหลี่ยมอย่างง่าย มีปืนใหญ่สามกระบอกปักลงไปในแท่น หัวท้ายศิลปะนูนต่ำมีรูปหัวสิงโตยื่นออกมา หน้าแท่นมีแผ่นจารึกข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างละแผ่นระบุว่า “อนุสาวรีย์นี้ได้สร้างขึ้นเมื่อปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ ให้เป็นที่ระลึกแห่งปืนใหญ่ระเบิด เป็นที่เสียชีวิตหลาย ในเวลามีงานมหกรรมการฉลองพระอารามนี้ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้สร้างพระอารามนี้ ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ ในปีระกา สัปตศักราช ๑๒๔๙ โดยปัจฉิมบุตรของท่าน พระยาภาสกรวงศ์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระเดชพระคุณท่านผู้สร้างสืบไป”

ส่วนที่พระเจดีย์ใหญ่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และมีพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ ที่พบในพระเจดีย์ ซึ่งจัดแสดงไว้ในหอพรินทรปริยัติธรรมศาลา พระเจดีย์องค์นี้สีขาวบริสุทธิ์ เป็นพระเจดีย์รูปทรงนิยมของรัชกาลที่ 4 คือทรงลังกา มีไพทีล้อมรอบด้านบน และมีพระเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานอยู่โดยรอบ สำหรับพื้นที่ของสกุลบุนนาคในบริเวณนี้ กินพื้นที่ต่อจากวัดกัลยาณมิตร ริมคลองบางกอกใหญ่เข้าไปถึงบริเวณวัดประดิษฐาราม บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โอบล้อมมาถึงบริเวณสะพานพุทธยอดฟ้า วัดพิชยญาติการาม คลองสาน ไปจรดที่ป้อมป้องปัจจามิตร เท่ากับว่าเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเขตคลองสานทั้งหมดเลยทีเดียว

ออกจากวัดประยุรวงศาวาส เพียงถนนคั่นก็ถึง “วัดทองธรรมชาติ” หรือชาวบ้านเรียก “วัดทองบน” วัดนี้สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาราวแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี และพระภัสดาคือ กรมหมื่นนรินทร์พิทักษ์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด อาคารพระอุโบสถ มีขนาดย่อมแต่ประดับอย่างงดงาม น่าประหลาดคือบริเวณบันไดด้านข้างทางขึ้นพระอุโบสถ ทำเรือนแหวนนพเก้าขนาดใหญ่คาดรัดไว้ ที่ช่องหน้าต่างงดงามไม่เหมือนวัดใดในกรุงเทพฯ เพียงเดินเข้าไปก็สัมผัสได้กับบรรยากาศแต่ครั้งอดีต ภาพจิตรกรมฝาผนังของวัดนี้เขียนแบบพระราชนิยมในต้นกรุงรัตนโกสินทร์  คือที่ด้านหลังพระประธานเป็นภาพเขียนเรื่องไตรภูมิ และภาพการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผนังสองข้างเขียนรูปเทพชุมนุม ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นชาดกเรื่องต่างๆ สีสันงดงามสดใส

ต้องบอกว่ามาย่านบุนนาคแล้วไม่ได้ลิ้มลองอาหารว่างแบบบุนนาค ก็คงไม่ครบถ้วนกระบวนความ บริเวณคลองสานปัจจุบันยังมีบ้าน “สกุลบุนนาค” ที่ยังคงพำนักอยู่หลายครัวเรือนสืบทอดต่อกันมา ความชำนาญพิเศษอย่างหนึ่งของสกุลบุนนาค คือ การทำขนมลิ้นแมวและขนมโคมนัส เป็นขนมรสชาติอร่อยเหลือหลาย ซึ่งปัจจุบันหากินได้ยาก  “ขนมลิ้นแมว” นั้น คือคุกกี้แผ่นบางมากๆ หนาเพียง 2 ม.ม.เท่านั้น แต่รสชาติหอมหวาน แค่ส่งเข้าปากก็ละลายทันที ส่วน “ขนมโคมนัส” คือเมอแรงก์มะพร้าวนั่นเอง เพี้ยนมาจากคำว่า โคโคนัท แปลว่า มะพร้าว  แต่คนไทยปัจจุบันกลับเรียกเพี้ยนเข้าไปอีกว่า “โสมนัส”  นัยว่ามีความสุขที่ได้กินขนมชนิดนี้ ขนมทั้งสองชนิดของสกุลบุนนาคสืบทอดกันมายาวนานนี้ ไม่มีวางจำหน่าย ใครอยากกินต้องสั่งทำเป็นพิเศษ เพราะทำยากมาก เนื่องจากส่วนผสมมากมายหลายอย่าง แต่ก็น่าดีใจที่รุ่นลูกหลานยังคงรักษาสืบทอดวิธีทำเอาไว้

วัดทองธรรมชาติวรวิหาร (ภาพจาก BlogGang.com)

ถัดมาอีก เป็นวัดเกี่ยวเนื่องกับตระกูลบุนนาคอีกวัดหนึ่ง คือ “วัดพิชยญาติการาม” หรือชาวบ้านเรียก “วัดพิชัยญาติ” วัดนี้เดิมเป็นวัดร้าง ไม่มีพระจำพรรษา และไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาเมื่อใด ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ (พระยาศรีพิพัฒน์รัตนศาธิบดี) ได้บูรณะขึ้นใหม่ทั้งวัด แล้วถวายให้เป็นพระอารามหลวงแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งพระราชทานนามว่า วัดพระยาญาติการาม จนสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดพิชยญาติการาม ดังปัจจุบัน

พระปรางค์วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

วัดนี้คงพระราชนิยมศิลปะปแบบจีนอย่างครบถ้วน ทั้งพระอุโบสถ วิหาร มีพาไลเก๋งจีนต่อยื่นออกมาทางมุขตะวันออก หน้าพระอุโบสถครอบซุ้มเสมาไว้ด้วย มีเสาจีนประดับและยังมีตุ๊กตาจีนยืนอยู่หน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถทั้งสองด้าน ที่พิเศษกว่าวัดอื่น คือรอบพระอุโบสถประดิษฐานภาพแกะสลักเรื่องสามก๊กไว้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งหมด 22 ภาพ ส่วนภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระสิทธารถ” พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัย รัชกาลที่ 1 อัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก ชาวบ้านนิยมเรียก “หลวงพ่อสมปรารถนา” ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานฉัตรขาว 5 ชั้น ถวายเป็นเครื่องราชสักการะ

ถัดจากพระอุโบสถ ด้านหลังมีพระปรางค์ 3 ยอด มองเห็นแต่ไกลถือเป็นไฮไลต์ของวัดนี้ จนทำให้บางคนเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระปรางค์เหลือง” ที่พระปรางค์องค์ใหญ่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะพุทธเจ้า, พระโกนาคมนะพุทธเจ้า, พระกัสสปะพุทธเจ้า, พระโคตมะพุทธเจ้า ประดิษฐานไว้ในลักษณะที่ทั้งสี่องค์นั่งหันหลังชนกัน หันหน้าออกไปด้านนอกทั้งสี่ทิศ และบริเวณผนังขององค์พระปรางค์นี้ยังเป็นที่เก็บอัฐิของคนในสายสกุล “บุนนาค” ด้วยส่วนพระปรางค์องค์เล็กทางซ้าย ประดิษฐาน “พระศรีอาริยเมตไตรย” ส่วนทางขวาประดิษฐาน “พระพุทธบาทจำลอง 4 รอย”

การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชมความงามทั้ง 6 วัด ไม่อาจดูได้ทั่วถึงในวันเดียว แต่สามารถเที่ยวชมอย่างละเอียดวันละหนึ่งวัด เพื่อความสุนทรีและถือเป็นการพักผ่อน อีกทั้งสร้างสมาธิอีกทางหนึ่งให้กับชีวิต

ป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์จริง และในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ตัวตนจริงของออกญาโหราธิบดีในประวัติศาสตร์นั้น รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นคนแต่งแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกชื่อ “จินดามณี” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดและแพร่หลายที่สุด

จินดามณีเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่เป็นมาตรฐานสำหรับการเล่าเรียนเขียนอ่านของลูกหลานคนไทยมาอย่างยาวนาน มากกว่าแบบเรียนภาษาไทยเล่มใด คือตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้ค่อยๆเสื่อมความนิยมลง

 

ที่จริงแล้วคำว่า “พระโหราธิบดี” มิใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ กล่าวคือเป็นตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือ โหรหลวงประจำราชสำนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นหัวหน้าการประกอบพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่รู้หนังสือรวมถึงรอบรู้สรรพวิทยาต่าง ๆ

วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน มิถุนายน 2546 กล่าวถึงออกญาโหราธิบดีว่าเป็นปราชญ์เมืองเหนือและปราชญ์ทางภาษาไทยสมัยนั้น ประวัติของท่านมีกล่าวไว้ในหนังสือจินดามณีเกือบทุกฉบับว่า “จินดามณีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุโขทัย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าลพบุรี” และอีกตอนหนึ่งว่า “ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ เปนโหรประเสริฐ ปัญญาชำนาญ ชาวโอฆบุรี สวัสดีพิศาล ข้าพระภูบาล เจ้ากรุงพระนคร”

จากข้อความข้างต้นพอสรุปได้ว่า “พระโหราธิบดีนี้ บ้านเดิมท่านน่าจะอยู่สุโขทัย ต่อมาได้ย้ายมาอยู่โอฆบุรีหรือพิษณุโลก แล้วค่อยย้ายมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระโหราธิบดีผู้นี้ ว่า

“น่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกันกับพระโหราที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึง ว่าเป็นโหราที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือว่าทายได้แม่นยำนั่นเอง” ซึ่งถ้าข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถูกต้อง ก็นับว่าเส้นทางชีวิตของพระโหราธิบดีผู้นี้ยาวไกลมาก คือจากสุโขทัย จากโอฆบุรี ลงไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา และได้ดิบได้ดีจนกระทั่งได้แต่งจินดามณี รวบรวมพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และถึงแก่มรณกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นที่สุดของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ว่า พระโหราธิบดีผู้นี้เป็นบุคคลคนเดียวกันกับมหาราชครู กวีผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแต่งเสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ หรือไม่ และพระโหราธิบดีผู้นี้คือพ่อของศรีปราชญ์ กวีผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของสมัยนั้นด้วยหรือไม่ เพราะมีแนวคิดของนักประวัติศาสตร์อีกแนวว่า “ศรีปราชญ์” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

พระโหราธิบดีจะเป็นพ่อของศรีปราชญ์และเป็นคนคนเดียวกับมหาราชครูหรือไม่ต้องรอข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องรอข้อพิสูจน์เพราะหลักฐานชัดเจนก็คือ พระโหราธิบดีท่านเป็นคนจากดินแดนซึ่งเคยเป็นแว่นแคว้นสุโขทัย หรือที่คนกรุงศรีอยุธยาเรียกขานกันว่า “เมืองเหนือ” เมื่อท่านเกิดที่แคว้นสุโขทัย ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการศึกษาเล่าเรียนของท่านก็ต้องศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตและสำนักวัดต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย โดยเฉพาะจากเมืองสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก เป็นเบื้องต้น

ทราบกันดีว่าแคว้นสุโขทัยนั้นเคยเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองศิลปวัฒนธรรมด้านภาษาศาสตร์และอักษรศาสตร์มาก่อน อีกทั้งมีแนวทางด้านภาษาและอักษรเป็นของตนเอง เมื่อพระโหราธิบดีท่านมีฐานทางภูมิปัญญาจากถิ่นนี้ ท่านก็ย่อมซึมซับเอาภูมิรู้ด้านภาษาและอักษรศาสตร์แบบสุโขทัย ซึ่งอย่างน้อยในสมัยของท่านจักต้องคงความรุ่งเรืองอยู่บ้าง เอาไว้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ในเรื่องการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ของท่านโหราธิบดีผู้นี้ โจษขานกันว่าแม่นยำยังกะตาเห็น ที่เล่าลือกันอย่างมากจนกลายมาเป็นฉายา “พระโหราธิบดีทายหนู” นั้น เรื่องมีอยู่ว่า

ในคราวที่รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์) วันหนึ่งขณะประทับในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทกับเหล่าข้าราชการทั้งหลาย ได้มีมุสิก (หนู) ตกลงมาแล้ววิ่งเข้าหาที่ประทับ พระองค์ทรงใช้ขันทองครอบไว้แล้วให้มหาดเล็กไปตามพระโหราธิบดีมาทายว่าสิ่งใดอยู่ในขันทองนี้ พระโหราธิบดีมาตามรับสั่ง เมื่อคำนวณดูแล้ว จึงกราบบังคมทูล ว่า

“เป็นสัตว์สี่เท้า” พระเจ้าปราสาททองตรัสว่า “ชนิดใด” พระโหรากราบบังคมทูลว่า “มุสิก” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสต่อว่าแล้วมีกี่ตัว พระโหราคำนวณแล้วกราบบังคมทูลว่า “มี 4 ตัว พระเจ้าข้า ” พระเจ้าปราสาททองทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า “มุสิกนั้นถูกต้องแล้ว แต่มีแค่ตัวเดียว มิใช่ 4 ตัว คราวนี้เห็นทีท่านจะผิดกระมังท่านโหรา” เมื่อทรงเปิดขันทองที่ครอบหนูไว้ ก็ปรากฏว่ามีหนูอยู่ 4 ตัวจริง

เพราะหนูที่ตกลงมานั้นเป็นหนูตัวเมียท้องแก่ เมื่อตกลงมาก็ตกลูก 3 ตัวในขันทองพอดี การพยากรณ์ครั้งนั้นจึงสร้างชื่อเสียงให้แก่พระโหราธิบดีเป็นอันมากจนได้รับสมญานาม ว่า “พระโหราธิบดีทายหนู” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้พระโหราธิบดีเป็นพระราชครูถวายพระอักษรสมเด็จพระนารายณ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นต้นมา

หน้าที่ 58 ของเอกสารที่เรียกว่า “บันทึกรายวันของออกพระวิสุทธสุนธร (โกษาปาน) ระบุถึงผลไม้ ของหวาน ผักและนมโคที่ถูกยกมาเสริ์ฟ

เมื่อคณะทูตสยามเดินทางไปยังฝรั่งเศส นำโดยโกษาปาน พร้อมด้วยอุปทูตและตรีทูต ซึ่งก็คือ ขุนศรีวิสารวาจา ยอดดวงใจของแม่หญิงการะเกดใน ‘บุพเพสันนิวาส’

ในละครนั้น แม่การะเกดสร้างสรรค์หลากเมนู ควบคู่มื้ออาหารจากครัวคุณหญิงจำปา ไม่ว่าจะเป็นกุ้งเผา มะม่วงน้ำปลาหวาน และอื่นๆ ที่ล้วนชวนน้ำลายสอ แล้วเมื่อคณะทูตไปถึงฝรั่งเศส โดยขึ้นฝั่งที่เมืองแบรสต์ ทราบหรือไม่ว่าคณะทูตรับประทานอะไร ?

รายละเอียดเหล่านี้ จดหมายเหตุเมืองแบรสต์ บันทึกไว้ว่า ประกอบด้วยซุปข้น ไก่ตอน นกพิราบ ลูกกระต่าย เป็ด แม่ไก่อ่อนที่เลี้ยงให้อ้วน เนื้อลูกวัว หมู เนื้อวัว แตงโม ผัก ไอศกรีม ผลไม้สด ผลไม้เชื่อม ไวน์ และเหล้า

นอกจากนี้ โกษาปานยังจดบันทึกไว้อย่างละเอียด เล่าถึงมื้ออาหารสุดหรู อย่างมื้อค่ำมื้อหนึ่ง ดังนี้

“เอาเครื่องต้มเข้ามาตั้ง ณ เตียงนั้นห้าถาดใหญ่ เนื้อสุกรถาดหนึ่ง เนื้อชุมพาถาดหนึ่ง เนื้อโคถาดหนึ่ง ไก่กับเป็ดสองถาด กินกับปัง แล้วผ่อนออกไป แล้วจึงเอาเครื่องปิ้งแลเครื่องคั่วแลผักทอดมันแลผักกินสด แลถั่วต้มแลถั่วคั่วเข้ามาตั้ง 17 ถาดในนี้ไก่แลเป็ดตายสองถาด ชุมพาปิ้งถาดหนึ่ง (ชุมพา คือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายแกะ ในที่นี้น่าจะหมายถึงเนื้อแกะ) ลูกสุกรทั้งตัวฉาบเนยปิ้งถาดหนึ่ง แพะปิ้งถาดหนึ่ง ไก่แลนกแซมหมูปิ้งถาดหนึ่ง แลถาดซึ่งใส่เครื่องปิ้ง ทั้งนี้ย่อมเอาผักชีโรยรอบริมถาดนั้น เนื้อชุมพาคั่วถาดหนึ่ง ไก่คั่วใส่แป้งข้าวโพดถาดหนึ่ง ใบผักกาดแลใบหอมใส่น้ำส้มองุ่นแลน้ำมันลูกไม้ถาดหนึ่ง ผักเบี้ยใหญ่ใส่น้ำส้มองุ่นแลน้ำมันลูกไม้ถาดหนึ่ง ผักสิ่งหนึ่ง ช่ออาระตีโชประดุจหนึ่งโตนดบัวขมต้มถาดหนึ่ง”

อ่านเอกสารบันทึกรายวันของออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ทั้งหมดได้ที่ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) คลิกที่นี่


ที่มา มติชนออนไลน์