ผมชอบเก็บลูกมะเดื่อดิบจากต้นมะเดื่อที่ขึ้นอยู่ตามริมห้วย ริมทางหลวงชนบท แม้แต่ตามตรอกซอกซอยหลายแห่งในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ มาแกงเขียวหวานกิน ตั้งแต่ก่อนจะมาเห็นว่า ใน ตำรับสายเยาวภาฯ (พ.ศ.2478) ตำรากับข้าวเก่าของ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท มีระบุวิธีกินมะเดื่อว่า “ผลมะเดื่อ ใช้ผลอ่อนกินดิบ” และในตำราอาหารชุดประจำวัน ของคุณ จิตต์สมาน โกมลฐิติ (พ.ศ.2516) ก็มีสูตร “แกงเนื้อมะเดื่ออ่อน” ด้วย แถมผมทั้งเขียน ทั้งพูดชักชวนผู้คนให้ทำกินบ้างมานานนับสิบปีเห็นจะได้ ก็ไม่รู้ว่ามีคนลองทำหรือไม่อย่างไรนะครับ แต่สถานการณ์ที่ต้นมะเดื่อริมทางถูกตัดโค่น ถูกฟันทิ้งง่ายๆ ต้นแล้วต้นเล่า ก็คงพอบ่งบอกความสำเร็จหรือล้มเหลวของภารกิจผมได้บ้างกระมัง

ภายในปีเศษๆ ที่ผ่านมา ต้นมะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa) แถบริมคลองภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี แถวบ้านของผมยังคงถูกตัดโค่นอย่างต่อเนื่องไปหลายต้น เมื่อวันก่อน ผมผ่านไปเห็นต้นหนึ่งออกลูกดิบสีเขียวสะพรั่งกำลังน่ากิน เลยเด็ดมาถุงหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ต้นนี้เองก็มีร่องรอยถูกตัดฟันกิ่งไปกว่าครึ่งต้นแล้วครับ จึงน่าสงสัยว่ามนุษย์ฝั่งธนฯ จะยอมปล่อยให้มันมีชีวิตต่อไปอีกนานเพียงใด

มะเดื่อนั้นมีหลายพันธุ์ ที่เห็นบ่อยๆ คือมะเดื่อปล้อง มะเดื่อฉิ่ง มะเดื่อน้ำ และก็มะเดื่ออุทุมพร ซึ่งผมคิดว่าเหมาะจะเอามาแกง มาผัดเผ็ดที่สุด เพราะเนื้อมันแน่น ไม่เละ รสมัน หวานอร่อย มีเมล็ดมากพอๆ กับเนื้อ จึงมีกากใย (fiber) ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก

ผมเคยแกงเขียวหวานมะเดื่อใส่เนื้อวัวติดมัน พริกขี้หนูสวนทั้งเม็ดทั้งก้านกินบ่อยๆ ครั้งนี้เลยคิดจะลองเปลี่ยนสูตรเป็นผัดเผ็ดดูบ้าง

ก่อนอื่น เราเอาลูกมะเดื่อมาล้างฝุ่น เด็ดขั้ว ให้ยางขาวๆ ไหลออกจนหมด แล้วเอาไปต้มจนสุกนุ่ม จะให้นุ่มมากนุ่มน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ชอบนะครับ แล้วอาจผ่าครึ่ง หรือถ้าลูกไม่ใหญ่นัก จะผัดไปทั้งลูกเลยก็ได้

กระทะนี้ผมจะผัดเผ็ดหมูย่าง ดังนั้น ใครชอบหมูย่างแบบไหน ก็หามาหั่นเตรียมไว้ ผมใช้ส่วนน่องหมู ถามหาได้ตามเขียงหมูที่คุ้นเคยกันนะครับ ผมเอาจี่ในกระทะจนผิวนอกแห้งเกรียม น่องหมูนี้นิ่มมากๆ ต่อให้ย่างให้จี่จนแห้งยังไงก็ไม่เหนียวแน่นอนครับ เสร็จแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ ไว้

เตรียมพริกแกงเผ็ดที่ชอบ กะทิ พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ และใบโหระพาสด

เครื่องปรุงรสใช้น้ำปลาและน้ำตาลปี๊บตามปกติ

เริ่มทำโดยคั่วหัวหรือหางกะทิในกระทะจนกระทั่งแตกมันเยิ้ม ใส่พริกแกงเผ็ดลงผัดจนหอม เติมกะทิพอให้เป็นน้ำแกงขลุกขลิกๆ

ใส่ลูกมะเดื่อต้มลงไป เพื่อให้ซึมซาบน้ำแกง เคี่ยวจนเริ่มงวด ใส่ชิ้นหมูย่าง พริกชี้ฟ้าหั่น ปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลา ตัดหวานนิดๆ ด้วยน้ำตาลปี๊บ แล้วก็เติมกะทิให้ได้ความข้นมันตามชอบ

สุดท้ายคือโรยใบโหระพาลงไปคลุกจนใบสลดก็ใช้ได้ครับ ปิดไฟ ตักใส่จาน

อนึ่ง มะเดื่ออุทุมพรนี้เนื้อแน่น ไม่เละง่าย ดังนั้น เราควรต้มจนนุ่ม เคี่ยวในน้ำแกงให้รสของพริกแกงและกะทิซึมเข้าเนื้อ เพราะกระทะนี้เรา “ผัด” ไม่ใช่แกงเขียวหวานหรือแกงเผ็ด ที่ถ้ายิ่งอุ่น มะเดื่อจะยิ่งเอิบอิ่มน้ำแกงในหม้อได้เรื่อยๆ เรียกว่าถ้าแกงไว้ค้างคืน จะกินอร่อยกว่าแกงเสร็จใหม่ๆ มากเลยแหละ

ถ้าใครหาต้นมะเดื่อจนเจอ (ซึ่งไม่ยากเลยครับ) ทำใจกล้า เด็ดมาปรุงจนสำเร็จอย่างที่ผมชวนทำ แล้วรู้สึกว่าอร่อยดี ก็เท่ากับว่าท่านเป็นเสียงเงียบๆ อีกเสียงหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานะของมะเดื่อ จาก (วัช) พืชยืนต้น มาเป็นพืชอาหาร ซึ่งผลิตวัตถุดิบชั้นดี ปลอดภัย เป็นโอชะของไม้ริมทางให้ครัวไทยมาตั้งแต่เมื่อเกือบร้อยปีก่อน

เรื่องเก่าๆ ไม่เล่า มันลืม ของอร่อยๆ พอไม่ได้กินบ่อยๆ ก็พลอยลืมเลือนไปได้เช่นกัน

ในกรณีมะเดื่อนี้ การอนุรักษ์พันธุ์ของมันจึงคือการ “รู้จักกิน” นั่นเองครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปทำธุระกึ่งๆ เที่ยวที่ตลาดโพธิ์พระยา ตลาดริมน้ำท่าจีนแห่งใหญ่ในเขตตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ตลาดนี้ติดทุกวัน ช่วงตั้งแต่ราวบ่าย 3 โมงไปจนถึง 6 โมงเย็น

หากจะย้อนอดีตของพื้นที่แถบนี้ สองฝั่งน้ำท่าจีนเขตเมืองสุพรรณเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วคงมีสวนผัก ถั่ว พริก ขิง มะเขือ ฯลฯ เยอะแยะไปหมด เพราะในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ได้เขียนพรรณนาไว้มาก ช่วงที่เรือของท่านผ่านบางปลาม้า โคกคราม สวนขิง ทับขี้เหล็ก ท่าโขลง โพคลาน บางมดแดง ตาลเสี้ยน ฯลฯ และตอนผ่านโพธิ์พระยานั้น ท่านแต่งโคลงไว้ว่า

โพธิ์พระยาท่าตลิ่งล้วน ล้อเกวียน

โพไผ่ไม้เต็งตะเคียน ตะขบบ้างฯ”

เรียกว่าสุนทรภู่ฉายภาพความเป็นชุมทางการค้าขายพบปะกันของพ่อค้าเกวียนและพ่อค้าเรือ จากทางบกและทางน้ำในช่วงนั้น ผ่านสัญลักษณ์คำกวีได้อย่างมีชั้นเชิงทีเดียว

ตลาดโพธิ์พระยาในบ่ายวันนั้น แม้แม่ค้าปลาจะพากันออกตัวว่า ปลาสดมีน้อย เพราะว่า “มันแล้งมากค่าปีนี้ ปลาหายากจริงๆ” แต่ก็ยังได้เห็นปลาสังกะวาด ปลาเทโพ ปลาแดง ปลากราย และปลาเบี้ยวตัวยาวเกือบวา ผมนั้นอดไม่ได้ เผลอซื้อเนื้อปลากรายขูดสดๆ มา 3 ขีด ทั้งที่ยังไม่รู้จะเอาไปทำอะไรกินด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี เดินไปอีกไม่กี่แผงถัดจากนั้น ผมก็รู้เป้าหมายล่ะครับ เพราะมีแม่ค้าสาวเก็บลูกตำลึงดิบมาขาย ถุงละ 10 บาทเท่านั้นเอง สบายแล้วทีนี้ ไม่ต้องตะลอนปั่นจักรยานไปหาเก็บตามข้างทางเหมือนแต่ก่อน

ผมคิดจะทำ “แกงคั่วปลากรายใส่ลูกตำลึง” ครับ

ลูกตำลึงดิบรสจะขมเฝื่อนหน่อยๆ มันมีสำหรับที่เอาไปแกงคั่วใส่กะทิในหลายพื้นที่ อย่างเช่นที่เพชรบุรีแกงใส่กุ้งทะเลตัวเล็กๆ ทีนี้ผมต้องใช้อะไรอีกบ้างล่ะ ก็มีพริกแกงเผ็ดครับ แล้วต้องเพิ่มรากกระชาย ผมซื้อทั้งสองอย่างนี้จากร้านขายพริกแกงในตลาดเลยแหละ กลิ่นพริกแกงเผ็ดโพธิ์พระยาเขาหอมฉุนดีจริงๆ

แกงคั่วตามขนบครัวภาคกลางนั้น ถ้าไม่ใส่เนื้อปลาต้มโขลกไปกับพริกแกง ก็มักใช้ปลาย่างป่นแทน ผมชอบปลาย่างมากกว่า มันมีกลิ่นเฉพาะตัวดีครับ เลยซื้อปลาสร้อยย่างป่นมาอีกหนึ่งกระปุกเล็ก ราคา 30 บาท

เป็นอันว่า ปฏิบัติการจ่ายของที่เริ่มจากเนื้อปลากราย 3 ขีดนี้ จะจบลงที่แกงคั่วลูกตำลึงแบบบ้านๆ 1 หม้อ แถมยังอัดแน่นไปด้วยจิตวิญญาณแบบโพธิ์พระยาล้วนๆ เลยแหละ

ขั้นตอนการทำอาจซับซ้อนหน่อย ลองดูไปทีละอย่างนะครับ

เริ่มด้วยผ่าลูกตำลึงดิบเป็นสองซีกตามยาว แช่น้ำเกลือ แล้วค่อยๆ บีบๆ บี้ๆ อย่างมีศิลปะ จนเมล็ดหลุดออกไปหมด เหลือแต่เนื้อและไส้ สรงขึ้นมาขยำเคล้าเกลือป่นเบาๆ ทิ้งไว้ก่อน

เนื้อปลากรายเอาลงโขลกในครกไม้ หรือครกดินเผา ตำด้วยสากไม้ สลับกับทยอยหยอดน้ำเกลือลงไปสักถ้วยเล็กๆ หยอดไปตำไป ราว 15-20 นาที จะรู้สึกว่าเนื้อมันหนึบแน่นขึ้น ทีนี้เอาน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชชโลมมือไม่ต้องมาก แล้วปั้นเนื้อปลาที่เราเอาช้อนตักควักขึ้นมาเป็นก้อนๆ ปั้นตะล่อมไปจนเป็นลูกกลมๆ แน่นๆ เอาลงต้มในหม้อหางกะทิจนสุก ช้อนขึ้นใส่ชามไว้

หั่นรากกระชายมากน้อยตามชอบ โขลกกับพริกแกงและปลาป่นจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน

ติดไฟตั้งหม้อหางกะทิที่ลวกปลากรายนั้นอีกครั้ง ตักพริกแกงใส่ไป พอเดือดจนเริ่มหอม เติมเกลือ น้ำปลา น้ำตาล ใส่ลูกตำลึงที่บีบเอาน้ำขมเฝื่อนออกบ้าง เมื่อลูกตำลึงเริ่มจะสุก ก็เติมหัวและหางกะทิให้ได้ความข้นใสอย่างที่ต้องการ ตามด้วยลูกชิ้นปลากรายแท้ๆ เหนียวหนึบหนับของเรา

อนึ่ง หากจะให้ครบเครื่องแกงคั่วกะทิภาคกลางสูตรบ้านๆ ก็เติมน้ำปลาร้าปนลงไปบ้าง หรือจะใช้น้ำปลาร้าแทนน้ำปลาไปเลยแบบหม้อนี้ของผม ก็ไม่มีใครว่าหรอกครับ

กลิ่นแกงคั่วปลากรายใส่ลูกตำลึงหม้อนี้ เมื่อสุกแล้วหอมกระชายและปลาร้า กลิ่นขมจางๆ จะอ่อนกว่าแกงมะระ เราอาจเคี่ยวให้กะทิแตกมันได้บ้างครับ แต่อย่ามาก โดยรวมๆ แล้วจะคล้ายน้ำยากะทิที่ขมนัวๆ แถมมีลูกชิ้นปลากรายเนื้อหนึบๆ ลอยเต็มหม้อ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย
(จากซ้าย)กฤช เหลือลมัย , เอกภัทร เชิดธรรมธร

“การกะเกณฑ์ว่าอะไรเป็นอาหารไทย ไม่ใช่อาหารไทย ตำราอาหารมีภาษากล่อมเกลาให้เราเชื่อสิ่งบางสิ่งว่าเป็นไทยแท้ ต้องเป็นแบบนี้ ห้ามเปลี่ยน บางสิ่งไม่ใช่ไทยแท้ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่100ปีที่แล้วไม่มี

“เพราะอะไรตำรากับข้าวจึงอนุรักษ์นิยม มีการพิมพ์ตำราจำหน่ายไปทั่ว มีกลิ่นโหยหาอดีตความเป็นไทยแท้ จะเห็นได้ว่าเมนูอาหารมันสอดคล้องกับสภาพสังคม ณ เวลานั้น” กฤช เหลือลมัย ผู้เขียนคอลัมน์ ต้นสายปลายจวัก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาหัวข้อ “อาหารนอกตำรา” จัดโดยสโมรสรศิลปวัฒนธรรม โดยมี เอกภัทร เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ที่มติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ในวงเสวนา กฤช เหลือลมัย สื่อถึงคำจำกัดความของอาหารไทย ได้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ให้เห็นว่าอาหารในแต่ละภูมิภาคมีมากกว่าที่เราคิด มากกว่าในตำรา รวมทั้งยกตัวอย่างเมนูอาหารที่ไม่มีอยู่ในตำรา ว่า

อาหารอีสานในตำรามีแต่ลาบก้อย แต่ไม่ค่อยมีอาหารเขมร เพราะฉะนั้นคิดว่าตำรามาตรฐานมีอุดมการบางอย่างทางการเมืองแฝงอยู่ เช่น เขาต้องการให้เห็นว่าอาหารอีสานมีแต่ลาว แต่ไม่มีจีนหรือเขมร ปัญหาตรงนี้ทำให้เกิดภาพจำบางอย่างบางภาพชัดเจนมาก ขณะที่บางภาพหายไป

ในภาคเหนือ มีเมนูน้ำพริกอ่อง แต่ไม่เห็นอาหารชาวเขาในตำรา ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องผิดร้ายแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ในวันนี้เราพยายามส่งเสียงเล็กๆ เพื่อนำไปสู่พัฒนาการอาหารไทย ให้มีพลวัตก้าวไปข้างหน้ามากกว่ากรอบตรงนี้ ภายใต้ตำราที่ตกหล่นไป อีกด้านเป็นตำรากระแสรอง เป็นสูตรอาหารพื้นถิ่น

โดย กฤช เหลือลมัย ได้กล่าวถึง ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ว่า เป็นคนหัวก้าวหน้าในเรื่องอาหาร ที่เขียนหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ เนื่องจากความคิดปิดกั้นเรื่องอาหาร ไม่มีในตำรานี้ เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่จะมาสร้างที่อยู่ให้กับ “อาหารนอกตำรา”

นอกจากนี้ กฤช เหลือลมัย มองว่า ความแตกต่างของอาหารแต่ละที่ขึ้นอยู่กับ “ภูมิอากาศ” ด้วย บางคนไปเที่ยว12ปันนา กินเนื้อน้ำค้าง แต่พอมาทำเองที่บ้าน ชักเนื้อขึ้นไปตากสูงๆ แต่ทำออกมาก็กินไม่เหมือนกัน

ไฮไลท์ของการเสวนาอาหารนอกตำรา กฤช เหลือลมัย ได้ฉายภาพกับข้าวกระแสรอง กว่า 20 เมนู ที่เห็นแล้วชวนหิวเลยทีเดียว พร้อมทั้งเจ้าตัวยังปรุงเมนู “ผัดพระราม”แสนอร่อย เมนูกับข้าวรสเข้มข้นจัดจ้าน สีเขียวเข้ม ที่มีส่วนผสมของหอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู ข่า รากผักชี(เยอะๆ) เอามาตำ ผัดกับหัวกะทิ ใส่น้ำปลา ใบกระเพรา ใบผักชี มาให้ผู้เข้าฟังเสวนาชิมด้วย เมนูนี้หน้าตาจะเหมือนแกงเขียวหวานแห้ง แต่ไม่มีกลิ่นมะกรูดเท่าไหร่ รสชาติจัดจ้าน ถ้าได้กินกับข้าวสวยร้อนๆ บอกเลยว่าสะเด็ดมาก

(จากซ้าย)กฤช เหลือลมัย , เอกภัทร เชิดธรรมธร

นอกจากนี้กับข้าวกระแสรองที่ กฤช เหลือลมัย ฉายภาพให้ดู แต่ละเมนูขอบอกว่า เรียกน้ำย่อยยั่วๆเลยจ้า อาทิ แกงเหลืองส้มโก่ยกับกุ้งทะเล โดยส้มโก่ย เป็นพืชขึ้นเป็นเถา บางคนเรียกว่าองุ่นป่า มีรสเปรี้ยวปนขม ปกติไม่ค่อยนำมาทำอาหาร เคยได้ยินว่าที่จ.สุราษฎร์ธานี เอามาทำไวน์ผลไม้ ผมเอาส้มโก่ยมาแกงเหลืองกับกุ้งทะเล รสชาติอร่อยมาก และเมื่อส้มโก่ยเจอกับความร้อน จะทำปฏิกิริยา ไม่กัดลิ้น กินง่ายด้วย

เมนูแกงจืดเกสรดอกทุเรียน , แกงส้มดอกราชพฤกษ์กุ้ง ซึ่งดอกราชพฤกษ์ยังเอามาดอกจิ้มน้ำพริกกะปิอร่อยมาก , ผัดกระเพราที่ใช้กระเพราที่เก็บตามริมทาง กลิ่นฉุนมหากาฬ , แกงหลอก เป็นอาหารจ.เพชรบุรี เครื่องแกงจะไม่ใส่พริกในพริกแกง เอาไปผัดกับหัวกะทิ ใส่ฟักทอง หน่อไม้เปรี้ยว เมนูนี้คนเพชรบุรีบอกว่ามันไม่ใช่แกงจริง หากินยาก ในจ.เพชรบุรีน่าจะมีขายอยู่ 2 ร้าน , ผัดเผ็ดมะพร้าวขูด , แกงร้วม มีในจ.สิงห์บุรี เป็นแกงกะทิใส่หน่อไม้ พริกแกงเผ็ด โดยเมนูนี้ กฤช เหลือลมัย ค้นพบว่าคำว่าร้วมเป็นคำไทยลาว ใช้ในพื้นที่จ.นครสวรรค์และลพบุรี แปลว่า ขมอ่อนๆ

ผัดพระราม

ข้าวพระรามลงสรง , พะโล้เห็ดเผาะ , ต้มจิ๋ว ใครอ่านตำราอาหารในวัง เป็นต้มเนื้อวัวกับมันเทศ เค้าโครงคือต้มยำ ใส่ตะไคร้ ข่า หอม กระเทียม เนื้อวัวติดมัน อย่าลืมพริกแห้งเม็ดใหญ่เผา , แกงคั่วกะทิหัวจาก พบที่บ้านยางแดง สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มีความเค็มนิดๆอร่อยมาก , พล่าดอกพยอม พบที่บ้านยางแดง เครื่องยำประกอบด้วย น้ำพริกเผา หมูย่าง น้ำมะนาว น้ำปลา รสชาติกรุบกรอบหอม อร่อยดี

โดย กฤช เหลือลมัย อธิบายเกี่ยวกับ “น้ำพริกเผา”ด้วยว่า ผมเข้าใจผิดมาตลอด น้ำพริกเผาจริงๆไม่ใช่แบบที่ขายบรรจุขวดในปัจจุบัน แบบนี้สมัยก่อนเรียกว่าน้ำพริกผัด เป็นน้ำพริกผัดแบบจีน หอมกระเทียมพริกเอาไปเจียวหมด ส่วนน้ำพริกเผาจริงๆจะเอาเครื่องไปคั่วไฟ ตอนแรกนึกว่าไม่มีแล้ว แต่ยังพบเห็นได้ตามตลาดชาวบ้าน

ขาไก่ซุปเปอร์ บางคนนึกถึงร้านสกายไฮ ราชดำเนิน เปิดวันนี้วันสุดท้าย(20ก.พ.) ขาไก่ซุปเปอร์แต่ละร้านจะไม่เหมือนกัน บางร้านไม่ต่างกับต้มยำ แต่ที่สกายไฮมีความข้นมาก ทำไมถึงเรียกขาไก่ซุปเปอร์ มีเรื่องเล่าว่ามาจากร้านข้าวต้มแถวถ.วิภาวดีมีเมนูนี้ และตั้งอยู่ใกล้โรงแรมชื่อซุปเปอร์ เรียกไปเรียกมาเลยเป็นขาไก่ซุปเปอร์ แต่อาจมีเรื่องเล่าเวอร์ชั่นอื่นก็ได้ 

นอกจากนี้ กฤช เหลือลมัย ยังยกตัวอย่างกับข้าวกระแสรองอีกหลายเมนู อาทิ แกงเขียวหวานมะเดื่อ , แกงขาว , ยำเห็ดตับเต่า , อ่อมปูนา ฯลฯ

โดยเขาสรุปว่า จากอาหารหลาย10เมนูในหัวข้ออาหารนอกตำรา ชี้ให้เห็นว่าในโลกนี้ไม่ได้มีชนชั้นสูงเท่านั้น ยังมีชาวบ้านตัวเล็กๆด้วย อาหารก็เช่นเดียวกัน การอธิบายคำว่าอาหารไทยนั้นทำไม่ได้ ประเทศไทยกว้างมาก มีหลายเชื้อชาติ บางครั้งค้นหาในกูเกิลถึงนิยามอาหารไทย ก็ออกมาเป็นภาคกลาง 

“ผมมองว่าอาหารเป็นภาพสะท้อนของสังคม ผ่านวัฒนธรรม ลึกๆพยายามเสนอแนวคิดอีกมุม ลึกๆอาหารมีมากกว่าที่เราเข้าใจ นิยามอาหารไทยแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางทีตำราอาหารมันสร้างภาพที่แช่แข็งของอาหาร ไม่เป็นพลวัตของอาหาร

“อาหารไทยเคยปรากฏในงานศิลปะไหม ทิศทางอาหารไทยมันจะนำพาไปสู่การทะลุเปลี่ยนแปลงสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้จริงหรือ ผมว่ายาก อย่างทำอาหารตามยูทูบ เรากล้ากินไหม ตรงนี้มันอยู่ที่รักแรกลิ้นแบบไหนมากกว่า รักแรกลิ้นคืออาหารที่เราคุ้นเคย อาหารที่เราเคยกินตั้งแต่ตอนเด็กๆแล้วอร่อย รสชาตินั้นก็จะติดปากเรา

“ขนบการทำอาหารไทย คือ ทำตามวัตถุดิบ ขั้นตอน วิธีการ อาจไม่ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบเลยก็ได้ มันอยู่ได้ด้วยวิธีทำอาหาร ถ้าคนยุคก่อนเคยอยู่วัด เรียกว่าวัฒนธรรมแกงสำรวม มีของถวายพระเยอะๆ เด็กวัดจะมีวิธีทำให้ของเหล่านี้กินได้ เทลงหม้อและอุ่น ในแต่ละวัดจะมี1คนที่ทำได้ ไม่ใช่ทำได้ทุกคน การปรุงนั้นเกิดได้ปัจจุบันทันด่วน โดยไม่มีทางเลือก ทำให้เร็วที่สุด

“รวมทั้งสิ่งหนึ่งที่หายไปในวัฒนธรรมอาหารไทยแบบหนึ่ง คือ ต้องรู้จักวัตถุดิบ มันเรียกร้องความสามารถเรียกร้องประสบการณ์ลิ้นของคุณ เข้าใจวัตถุดิบที่แท้จริง เป็นขนบนอกตำรา เรียนนอกตำรา”กฤช เหลือลมัย กล่าวในการเสวนา

นอกจากนี้คอลัมนิสต์ต้นสายปลายจวัก ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอาหารไทยแท้มีหรือไม่ และอาหารไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรด้วย ว่า อาหารไทยแท้มีในแต่ละยุค มันเปลี่ยนมาตลอด มีอาหารของเขาในยุคนั้นๆ พอยุคต่อๆมาคนไม่กิน ก็เลื่อนเปลี่ยนผ่านไป ความแท้ก็มีแต่ในยุคสมัยของมัน ซึ่งรวมถึงอาหารพื้นถิ่นก็ต้องเป็นอาหารไทย เพราะอยู่ในประเทศไทย

ผัดพระราม

“ส่วนอาหารไทยในอนาคต ผมว่ามันคงเปลี่ยนมากๆ ถ้าเราดูสภาพตอนนี้ ร้านอาหารในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ของที่เราเคยกินแล้ว ตอนนี้แทบจะหาข้าวแกงกินไม่ได้แล้ว เป็นอาหารอย่างอื่นที่เข้ามาใหม่ อาทิ อาหารฟิวชั่น คงไปข้างหน้าโดยรับเอาอิทธิพลอาหารตามเทรนด์ของโลกเยอะขึ้น อย่างอาหารเกาหลี  อาหารจีน ตอนนี้มีหม่าล่าเต็มบ้านไปหมด เหล่านี้ในอนาคตจำกัดเป็นอาหารไทยได้อยู่แล้ว

“ถามว่าเมื่อก่อนก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารไทยไหม แต่ตอนนี้ก๋วยเตี๋ยวก็เป็นอาหารไทยแล้ว ผัดไทยยังเป็นอาหารไทยเลย ทั้งๆที่ผัดไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว เพราะฉะนั้นนิยามคำว่าอะไรไทยไม่ไทยมันเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อก่อนพริกไม่ใช่อาหารไทยแน่ถ้าเป็นสมัยอยุธยาตอนกลาง มันมาจากสำเภาลำแรกพอลงมาปั๊บจะบอกว่าเป็นอาหารไทยก็ไม่ใช่แน่ๆ แต่ตอนนี้มันใช่แล้ว น้ำพริกก็เป็นอาหารไทย มันจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย พอคนกินมากขึ้น คุณจะบอกว่ามันใช่อาหารไทย ฉะนั้นอย่างหม่าล่า ดูจากส่วนผสมก็เป็นอาหารที่เรากินอยู่แล้ว

ถามว่า อาหารไทยแท้ๆจะมีไหม กฤช เหลือลมัย กล่าวว่า ต้องถามว่าไทยแท้คืออะไร พอถามมากเข้า มันก็จะจำกัดนิยมความเป็นแท้เข้ามาอยู่ที่สเตตัสของคนถามหรือคนที่มีอำนาจมากขึ้นๆ และก็อันตรายด้วย

“อาหารไทยมันไม่สามารถขังตัวเองเอาไว้ในกรอบหรือเรื่องอนุรักษ์นิยม เราแค่พูดว่ามันเป็นอุปสรรค แต่ลิ้นคนมันขังไม่ได้หรอก ลิ้นมันจะซอกซอนไปหาอะไรอร่อยๆกิน ถ้ามันชอบถูกปากมันก็จะยึดมาเป็นของกินหลักของมัน ก็จะมาเป็นอาหารไทยได้ แต่พอมันไม่ถูกปากไม่อยู่ในกระแส มันก็ถูกปฏิเสธไปเอง”คอลัมนิสต์ชื่อดังกล่าวทิ้งท้าย

วาระครบ 120 ปีชาติกาล อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 บังเอิญพบเจอในเพจ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนบอกเล่าว่า ร้านอาหาร “มิตรโกหย่วน” ซึ่งพ่อเจ้าของร้านคนปัจจุบัน สนิทสนมกับอาจารย์ปรีดีมาตั้งแต่ยังอยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยกัน  เขียนเล่าไว้ว่า…

ใครที่เคยไปกินอาหารที่ร้าน มิตรโกหย่วน ย่านเสาชิงช้า ถนนดินสอ กรุงเทพฯ คงจะเคยเห็น “เมนูอาหาร” ที่เขียนไว้ในหน้าแรกเลยว่า

“สูตรอาหารดีๆ ก็ได้มาจาก ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ แนะนำไว้ให้ ตั้งแต่สมัยอากง ปัจจุบัน…ดำเนินงานโดย คุณเจี๊ยบ ลูกชายของโกหย่วน นั่นเอง”

คุณชัยตรี หาญจีระปัญญา (โกหย่วน) เคยให้สัมภาษณ์ “ครัว” ปีที่ 4 ฉบับที่ 46 (เมษายน 2541) ไว้ว่า

“สมัยอยู่อยุธยา ครอบครัวของเราเป็นเพื่อนบ้านกับคุณปรีดี พนมยงค์ ตอนนั้นคุณปรีดีกลับจากฝรั่งเศส เขาก็รู้จักอาหารฝรั่งดี เขาก็มาแนะนำเรื่องอาหารฝรั่งให้เตี่ยผมฟัง คนสมัยก่อนเขาไม่หวงวิชา แนะให้ทำเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเช่น ทอดเนื้อก่อน แล้วถึงทำน้ำสเต็กราดลงไป ใส่ถั่วลันเตา หอมใหญ่ มะเขือเทศตามลงไป พวกฝรั่งเขาชอบ”

ใครผ่านไปแถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แวะไปลองชิมที่ร้านมิตรโกหย่วนกันได้นะครับ

ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ 186 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร 10200

ผมคิดว่า การปรุงอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian Food) ให้คนที่ปกติสมาทานเนื้อสัตว์ทุกวันกินนั้นเป็นเรื่องท้าทายดี จะว่าไปน่าจะเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดที่ทั้งสองฝ่ายจะประนีประนอมเข้าหากัน เพื่อเสนอและรับการท้าทายในสิ่งที่ตนก็ไม่เคยคุ้นนะครับ

เพราะคนที่ติดรสเนื้อสัตว์ หรือรสปรุงแต่งอื่นๆ เช่น ผงปรุงรส ซอสปรุงรส น้ำตาลฟอกขาวนั้น มีลิ้นแบบหนึ่ง ขณะที่คนกินมังสวิรัติ (ที่อาจมีน้ำ/ผงปรุงรสของตนอีกชุดหนึ่ง) ก็ย่อมมีลิ้นอีกแบบหนึ่ง การข้ามฝั่งจึงดูเหมือนเป็นไปได้ยากเอาการ

แต่การใช้เทคนิคพลิกแพลงบางอย่าง ก็อาจทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความสนุกท้าทายไปได้นะครับ ตัวอย่างเช่น การพยายาม “เล่น” กับเห็ด อย่างเห็ดฟางหรือเห็ดนางฟ้า โดยเอาไปตากแดดก่อนปรุง หรือหมักเกลือนานหลายชั่วโมง จนกระทั่งได้รสเปรี้ยว ซึ่งถ้าใครเคยลองแล้ว จะรู้ว่า มันทำให้เห็ดที่ปรุงสุกแล้วมีกลิ่นรสใกล้เคียงเนื้อสัตว์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

การแลกเปลี่ยนรสลิ้นของสองฝั่งฝ่ายนี้ ที่ผมคิดว่าง่าย และสามารถทำได้หลากหลาย ก็คือใช้ “เต้าหู้” เป็นวัตถุดิบตัวกลางครับ เต้าหู้นั้นอุดมด้วยโปรตีนจากถั่วเหลือง คุณภาพเกือบเทียบเท่าเนื้อสัตว์ ยิ่งถ้าได้แหล่งประจำที่ทำอย่างประณีตพิถีพิถัน เนื้อแน่นนิ่ม รสชาติดี ก็จะสนุกกับโจทย์นี้ได้ไม่ยากเลยแหละ

ไม่เชื่อลองนึกถึงผัดกุยช่ายขาวหรือถั่วงอกกับเต้าหู้หมูสับตามร้านข้าวต้มกุ๊ยสิครับ ถ้าชักเอาหมูสับออกไปเสีย ก็ไม่น่าจะรู้สึกบกพร่องอะไรไปสักเท่าไหร่หรอกน่า

หว่านล้อมมาพักใหญ่ๆ ก็เพราะอยากชวนทำสำรับเต้าหู้ที่ผมลองปรับทำมาสองสามครั้งแล้ว คิดว่าพอจะลงตัวอยู่ครับ สำหรับ “เต้าหู้ผัดพริกดอง” สูตรนี้

การถอดวิญญาณมาลองปรุงแต่งรสกับข้าวมังสวิรัติกระทะนี้ เริ่มจากไปเสาะหาเต้าหู้ดีๆ ก่อน ผมเผอิญได้ “เต้าหู้โพธาราม” จากจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับว่ามีชื่อชั้นในระดับสูงของวงการเต้าหู้เมืองไทยมาครับ ก็เอามาทอดน้ำมัน แล้วหั่นชิ้นใหญ่ๆ เตรียมไว้

รสเผ็ดเค็มเปรี้ยวของจานนี้ ประสมขึ้นจากเต้าเจี้ยวดำ หอมแดง และ “พริกดอง” คือพริกดองน้ำส้มบดหยาบแบบที่ใช้ในร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว – ก๋วยเตี๋ยวเรือนั่นแหละครับ เราช้อนเอาแต่กากพริกติดน้ำส้มมานิดหน่อย ตำรวมในครกให้ละเอียด เติมน้ำมันงาและน้ำมันพริกแบบจีน จะได้ซอสข้นๆ มันๆ สำหรับผัด ที่กลิ่นหอมยั่วยวนมากๆ

ความสดชื่นของสูตรนี้มาจากหอมใหญ่ผ่าครึ่งหัว ซอยตามขวางชนิดบางเฉียบ กระเทียมโทนหั่นหยาบ ขิงแก่ซอยละเอียดคั้นน้ำเกลือหนึ่งครั้งแก้รสเฝื่อนขม และพริกชี้ฟ้าเขียวผ่าแคะเมล็ดและไส้ออก หั่นแฉลบเป็นเสี้ยวใหญ่หน่อย

ควรจะต้องมีกลิ่นหอมจากเหล้าจีนแบบที่ใช้ปรุงอาหารด้วย ขอให้เตรียมไว้สักหน่อยนะครับ

ของครบแล้วก็เริ่มทำได้เลย โดยตั้งกระทะน้ำมันบนไฟกลาง เทหอมใหญ่ลงผัดสักครู่พอให้ใสนุ่ม ใส่ขิงครึ่งหนึ่งก่อน ผัดต่ออีกหน่อย จึงเติมพริก กระเทียม และซอสข้นที่เราผสมไว้อย่างดีแล้วนั้นลงไปผัดให้เข้ากัน ใส่เหล้าจีน พอกลิ่นหอมส่าเหล้าโชยขึ้นมาก็ใส่เต้าหู้และขิงที่เหลือ ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันเร็วๆ หากน้ำแห้งเกินไปก็เติมพอให้ได้ความขลุกขลิก

ลองชิมดูครับ หากว่าอ่อนรสเค็มหรือเปรี้ยว ก็เติมซีอิ๊วขาวหรือพริกดองน้ำส้มอีกจนพอใจ

สุกดีแล้วตักใส่จาน ราดน้ำมันพริกแดงๆ จนชุ่ม จะทำให้มีกลิ่นหอมแบบเผ็ดๆ ผสานกับกลิ่นขิง น้ำมันงา เต้าเจี้ยวดำ ซีอิ๊วขาว และเหล้าจีน เมื่อบดพริกไทยดำหยาบๆ โรยหน้าเสียหน่อยก็แทบจะลืมไปว่านี่เป็นจานมังสวิรัติเอาเลยทีเดียว เพราะบรรดาเครื่องปรุงรสดีๆ ช่วยกันแต่งเติมกลิ่นและรสให้เต้าหู้เสียจนไม่ต้องสนใจเนื้อหมูเนื้อไก่อะไรอีกแล้ว

ยิ่งใครชอบเห็ดฟางหรือเห็ดหอมสด ก็หั่นบางๆ ตามยาวของดอก ใส่ลงผัดพร้อมขิงตั้งแต่แรก จะได้รสหวานลึกๆ ของน้ำเห็ดมาหล่อเลี้ยงให้ผัดพริกดองจานนี้สดชื่นขึ้นไปอีกครับ

เอาเข้าจริงแล้ว ดูเหมือนผมจะเป็นพวก “โลกสวย” ที่คิดว่าน่าจะนำเสนอรสชาติสดๆ จากวัตถุดิบดีๆ เพื่อดูดดึงแฟนคลับผงชูรส ผงปรุงรส ซอสปรุงแต่งรส ฯลฯ จากของทั้งสองฟากฝ่าย มาเป็นพรรคพวกให้ได้ในสำรับเดียว

แต่ความเชื่อแบบนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ มันต้องลองด้วยตัวเองสักครั้งนะครับ

ที่มา : มติชน

หลังจากทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มานาน สัปดาห์หยุดยาวแบบนี้ จึงมีโอกาสกลับไปพักผ่อนและไปเยี่ยมเยียนคุณยายที่บ้านต่างจังหวัดในรอบหลายเดือน

คุณยายจึงถือโอกาส ชวนเข้าครัว ทำ “แกงเทโพหมูสามชั้น” ใจหนึ่งก็อยากปฎิเสธ ด้วยเพราะทำอาหารไม่เป็น แต่คุณยายบอกว่าทำไม่ยากเลย มือใหม่เพิ่งหัดเข้าครัวก็ทำออกมาได้อร่อย

โดยวัตถุดิบในการทำมีดังนี้

  1. ผักบุ้งไทย 1 กำ
  2. หมูสามชั้น
  3. น้ำมะขามเปียกประมาณ 4-5 ช้อนโต๊ะ
  4. น้ำตาลปี๊บ 1/2 ช้อนโต๊ะ
  5. น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
  6. น้ำปลา
  7. ใบมะกรูด 45 ใบ
  8. หัวกะทิ หรือ กะทิ อร่อยดี
  9. หางกะทิ

วิธีทำ

1. นำหัวกะทิตั้งไฟ จากนั้นใส่เครื่องแกงลงไปแล้วคนให้เครื่องแกงแตกตัวเข้ากับหัวกะทิ

2. เมื่อเครื่องแกงแตกตัวเข้ากับหัวกะทิแล้ว ให้ใส่เนื้อหมูสามชั้นลงไปผัดให้สุก จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ และน้ำปลา

3. จากนั้นใส่ผักบุ้งลงไป เคี่ยวสักครู่ให้ผักบุ้งนิ่ม

4. เคี่ยวจนผักบุ้งนิ่มแล้ว จึงค่อยใส่หางกะทิลงไป

ทิ้งให้เดือดสักครู่แล้วจึงตักใส่ชาม เท่านี้เป็นอันเสร็จ ทานกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยนักแล

ผู้เขียน : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

น้ำพริกกะปิ

น้ำพริก เป็นอาหารหลักคู่ครัวไทยมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมักจะขาดไม่ได้ในสำรับอาหารไทยๆ จัดเป็นอาหารสุขภาพชั้นเยี่ยม เพราะทั้งส่วนผสมและวิธีการกินคู่กับผักเคียงที่ให้รสชาติ และได้ประโยชน์ทั้งโปรตีน วิตามินครบถ้วน อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลใจกับคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นปัญหายอดฮิตของคนในยุคสมัยนี้ สำหรับวิธีทำก็ง่ายและประหยัดอีกด้วย

ส่วนผสมหลักของน้ำพริกนั้นส่วนมากจะใช้พืชผักสมุนไพรที่นิยมปลูกเป็นผักสวนครัวที่หาได้ง่ายมีประโยชน์กับร่างกาย เช่น กระเทียม พริก มะนาว มะขาม และของที่มีติดครัวอยู่แล้วอย่าง กะปิ กุ้งแห้ง น้ำปลา น้ำตาล ถ้าไม่มีมะขาม มะนาว ก็ปรุงรสความเปรี้ยวด้วย มะม่วง ตะลิงปลิง มะอึก มะดัน แทนก็ได้

นอกจากใช้ผลไม้รสเปรี้ยวแล้ว น้ำพริกยังใช้ปลาแห้งต่างๆ มาทำได้อีก เช่น ปลาช่อนแห้ง ปลาสลิด หรือแม้แต่พืชผักอื่นๆ ที่ไม่มีรสจัด ก็ยังนำมาตำหรือทำน้ำพริกได้ เช่น ใบมะกรูด ใบทำมัง กล้วยดิบ เห็ด และรวมทั้งอาหารอื่นๆ ที่มักมีติดครัวอยู่แล้ว สามารถนำมาปรุงเป็นน้ำพริกรสแซ่บๆ ได้ เช่น ไข่ต้ม ไข่เค็ม ปลากระป๋อง เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว ปลาเค็ม ปลาร้า เป็นต้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจะมีตำราอาหารว่าด้วยเรื่องของน้ำพริกหลากหลายร้อยรส ที่จัดเป็นอาหารจานสร้างสรรค์ของไทยที่ชาติไหนๆ ก็ต้องอิจฉา เพราะคนไทยขอแค่ให้มีกระเทียม พริก กะปิ กุ้งแห้ง น้ำปลา น้ำตาล มะนาว พืชผักรสเปรี้ยว หรือ ปลา กุ้ง ปลากระป๋อง ปูเค็ม ก็สามารถดัดแปลงมาตำน้ำพริกได้สารพัดชนิด นำมากินกับผักสดหรือผักลวกต่างๆ เช่น ถั่วผักยาว แตงกวา กระถิน ชะพลู ชะอม มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง และมีเครื่องเคียงอย่าง ปลาช่อนแดดเดียว ปลาสลิด ไข่เจียว กินกับข้าวสวยร้อนๆ แค่นี้ก็เป็นอาหารสุขภาพของใครหลายๆ คนที่ไม่เคยล้าสมัยไม่ว่ายุคสมัยใดๆ

ที่มาของน้ำพริก

น้ำพริก เป็นอาหารที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายร้อยปี ช่วงแรกๆ ที่น้ำพริกเข้ามาในเมืองไทย ถูกใช้เพื่อการดับกลิ่นคาวในอาหารและกินพร้อมอาหาร สำหรับวิธีการทำน้ำพริกก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแค่มีรสเผ็ดของพริก รสเปรี้ยวของผลไม้ รสหวานจากน้ำตาล และรสเค็มจากเกลือและน้ำปลา เอามาผสมรวมๆ กันเท่านี้ก็เรียกว่า น้ำพริก ได้แล้ว

น้ำพริกภาคกลาง จะมีรสชาติกลมกล่อม ไม่มีรสใดรสหนึ่งโดดออกมาจนเกินไป คือ มีทั้งเผ็ด เค็ม เปรี้ยว และหวาน ที่ผสมกันพอเหมาะ น้ำพริกของคนภาคกลางส่วนมากเป็นตำรามาจากในวังที่เน้นเรื่องความสวยงาม เช่น น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู น้ำพริกเผา เป็นต้น

น้ำพริกเหนือ สำหรับเครื่องปรุงน้ำพริกของคนเหนือ ต้องเอาไปย่างหรือเผาให้สุกก่อน เพื่อจะช่วยเพิ่มความหอมและอร่อยให้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นน้ำพริกสูตรดั้งเดิมจะปรุงรสด้วยเกลือเป็นหลัก ส่วนผสมของน้ำพริกส่วนใหญ่ได้มาจากท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เนื้อสัตว์ พืช ผัก แมลง และที่ขาดไม่ได้ คือ ถั่วเน่า (ถั่วเหลืองที่เอามาหมักแล้วทำเป็นแผ่นตากแห้ง) แทนการใช้กะปิ จึงทำให้มีกลิ่นและรสเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร น้ำพริกที่ขึ้นชื่อและถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปู๋ (น้ำปู๋ หรือ น้ำปู ได้จากการตำปูสดเคี่ยวจนงวด) น้ำพริกข่า เป็นต้น

น้ำพริกลงเรือ เป็นน้ำพริกภาคกลาง
น้ำพริกใต้ รสชาติเผ็ดร้อนและจัดจ้าน
น้ำพริกเหนือ เช่น น้ำพริกอ่อง

น้ำพริกอีสาน ได้แก่ แจ่ว ป่น ซึ่งต้องกินกับข้าวเหนียวและอาหารพวก นึ่ง ปิ้ง ทอด ถ้าเอามาตำรวมกับเครื่องปรุง อย่าง ปลา เห็ด ก็จะเรียกว่า ป่น น้ำพริกอีสานส่วนมากจะมีรสเผ็ดนำ เค็มตาม ส่วนความหวานและเปรี้ยวได้รสชาติตามธรรมชาติของเครื่องปรุงเท่านั้น แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ ปลาร้า สำหรับน้ำพริกของคนอีสานที่ทุกคนรู้จัก เช่น ปลาร้าบอง น้ำจิ้มแจ่ว น้ำพริกปลาร้า เป็นต้น

น้ำพริกใต้ วิธีการทำมีหลายแบบ เช่น ใช้คลุกเคล้ารวมกันด้วยมือเรียก น้ำชุบหยำ หรือ น้ำชุบโจร แต่ถ้าตำและปรุงให้เข้ากันเรียก น้ำชุบผัด น้ำพริกคนใต้ส่วนมากจะมี พริก หัวหอมแดง และกะปิ น้ำพริกใต้รสชาติจะเผ็ดร้อนและจัดจ้านได้จาก พริกสด พริกแห้ง พริกไทย รสเค็มจากกะปิ เกลือ รสเปรี้ยวจากส้มแขก ตะลิงปลิง ระกำ มะนาว มะขามเปียก หรือมะขามสด น้ำพริกของคนใต้ที่รู้จักกันดี เช่น น้ำพริกไตปลาแห้ง น้ำพริกโจร น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกพริกไทย น้ำพริกมะขามทอด เป็นต้น

เมนูน้ำพริก

น้ำพริก เป็นอีกเมนูที่อยู่คู่คนไทยมานานจริงๆ เรื่องของประโยชน์ก็เป็นที่รู้กันดี ดูได้จากคนโบราณรุ่นก่อนๆ ที่แข็งแรงไม่มีโรคภัยเหมือนคนสมัยปัจจุบันที่ชื่นชอบกับอาหารจานด่วนกันมาก น้ำพริกนั้นมีให้เราเลือกกินมากมายจนไม่สามารถบรรยายได้หมด เอาเป็นว่า ใครชอบกินน้ำพริกอะไร ก็เลือกตามความชอบได้เลย และขอนำเสนอสูตรน้ำพริกรสดี 2 สูตร มาฝาก

ปลาร้าบอง

น้ำพริกกะปิ เชื่อว่าทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกับรสชาติน้ำพริกกะปิเป็นอย่างดี ขั้นตอนและวิธีทำง่ายๆ ขอแค่มีเครื่องปรุงสดๆ ใหม่ๆ ก็อร่อยแล้ว

เครื่องปรุง

– กะปิอย่างดี ห่อใบตองย่างไฟให้หอม 1/2 ช้อนโต๊ะ

– พริกขี้หนูสด 10 เม็ด (เผ็ดมาก เผ็ดน้อยแล้วแต่ตามชอบ)

– กระเทียม 5 กลีบ (กระเทียมไทยกลีบเล็ก)

– กุ้งสดต้มสุก 3-5 ตัว (กุ้งแห้งแช่น้ำให้นิ่มก็ได้)

 

– มะเขือพวง 10 ลูก (ใส่หรือไม่ ก็แล้วแต่ชอบ)

– น้ำมะนาว  2 ช้อนโต๊ะ (มะนาวต้องสด)

– น้ำตาลปี๊บ 1-1/2 ช้อนโต๊ะ (ตำน้ำพริกให้อร่อยต้องใช้น้ำตาลปี๊บเท่านั้น)

– น้ำปลา 1/2 ช้อนโต๊ะ (ถ้ากะปิอย่างดีและอร่อยก็ไม่ต้องใช้เลย บางคนใส่น้ำปลาเพื่อต้องการให้น้ำพริกขลุกขลิกเท่านั้นเอง หรือจะใช้เป็นน้ำต้มกุ้งยิ่งดี)

วิธีทำ

พริกขี้หนูสด กระเทียม กุ้งต้มหรือกุ้งแห้ง ใส่ลงในครก ตำส่วนผสมให้เข้ากันดี จากนั้นใส่กะปิย่างหอม น้ำตาลปี๊บ ใส่มะเขือพวงลงไปตำหรือบุบพอแตก ทีนี้ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว (บีบสดๆ จะหอมเปลือกมะนาว) ชิมรสชาติให้มีครบทั้ง 3 รส เค็ม เปรี้ยว หวาน ทีนี้ก็ตักใส่ถ้วย กินกับผักสด ผักลวกตามแต่ชอบ

ถ้าชอบเผ็ดมากก็เติมพริกสดบุบๆ ลงไปได้ สำหรับมะเขือพวงอย่าตำ ต้องบุบพอแตกเท่านั้น ห้ามตำจะไม่อร่อย

น้ำพริกสูตรที่ 2 คือ น้ำพริกปลากระป๋อง ที่บางคนอาจจะคิดว่า ปลากระป๋องไม่น่าจะเอามาทำน้ำพริกได้แล้วจะอร่อยหรือ เมนูน้ำพริกปลากระป๋อง อาจเป็นเมนูเด็ดบนโต๊ะอาหารของท่านก็ได้

น้ำพริกปลากระป๋อง

เครื่องปรุง

– ปลากระป๋อง ชนิดดีๆ 1 กระป๋อง

– ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เอาไว้แต่งหน้า

– กระเทียม หัวหอมแดง

– พริกชี้ฟ้า

– น้ำปลา น้ำตาล

– น้ำมันพืช

– ผักสดต่างๆ เช่น แตงกวา ผักกาดขาว ถัวผักยาว มะเขือเปราะ

วิธีทำ

นำเอา ข่า ตะไคร้ กระเทียม หัวหอมแดง พริกชี้ฟ้า ไปเผาพอสุก อย่าให้ไหม้ แล้วนำมาโขลกหยาบๆ ไม่ต้องถึงกับละเอียดมาก จากนั้นเอาไปผัดในน้ำมันให้มีกลิ่นหอม เติมน้ำตาล น้ำปลา แล้วจึงเอาปลากระป๋องใส่ลงไปคนจนได้ที่ ชิมให้ได้รสชาติตามต้องการ ทีนี้ก็ตักขึ้นมาใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย กินกับผักสดชนิดต่างๆ หรือจะกินกับผักต้มก็ได้

กุศโลบายอย่างหนึ่งของคนโบราณที่ทำให้เราได้กินผักก็คือ น้ำพริก เพราะด้วยรสชาติที่เผ็ดร้อนของน้ำพริก เราจึงไม่สามารถที่จะกินน้ำพริกกับข้าวเปล่าๆ ได้เพียงอย่างเดียว ส่วนวิธีการกินน้ำพริกแต่ละชนิดก็ต้องกินคู่กับผักชนิดต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เช่น ผักสด ผักต้ม ผักทอด ผักผัด เป็นต้น

เมื่อเรากินน้ำพริกแนมผัก จะได้รสชาติอร่อยและคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงเส้นใยผักยังช่วยในระบบการย่อยอาหารได้อีกด้วย และที่สำคัญที่สุดการกินน้ำพริกยังเป็นการอนุรักษ์รักษาพืชพันธุ์พื้นถิ่นไม่ให้สูญหายไป และทุกครั้งที่เรากินน้ำพริกแนมผักหรือเครื่องเคียงต่างๆ จึงเป็นการอนุรักษ์ผักพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นไม่ให้สูญพันธุ์ ดังนั้น น้ำพริก จึงเป็นการสนับสนุนให้คนทั่วไปนิยมกินผักนั่นเอง

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน

ผู้เขียน : พิชญาดา เจริญจิต

ปริศนานามของอาหารไทยสำรับหนึ่งที่คงถกเถียงกันไปอีกนานชนิดไม่รู้จบ เห็นจะคือ “ปริศนาปลาเห็ด” นะครับ

เพราะว่า ขณะที่ผู้คนแถบลุ่มน้ำภาคกลางทั้งตอนล่างและตอนบน เรียกปลาสับปลาขูดผสม พริกแกง เกลือ น้ำปลา ใบมะกรูด (หรือใบอะไรอื่นๆ) ปั้นก้อนแบนทอด ว่า “ปล่าเห็ด” นั้น คนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และภาคกลางหลายแห่งในสัดส่วนไม่น้อยกว่ากัน กลับเรียก “ทอดมัน”

ตำราอาหารไทยสูตรมาตรฐานนั้นย่อมเรียกทอดมันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อย่างที่ว่านะครับ การถกเถียงเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกแห่ง เพราะแต่ละคนย่อมมีชื่อเรียกซึ่งตนคิดว่าดั้งเดิม เก่าแก่ จริงแท้ ถูกต้อง ที่ต่างเรียกขานมาตั้งแต่เด็ก เฉพาะของใครของมันเสมอ

บางคนพยายามแยกแยะขนาดว่า ถ้าเป็นปลาเห็ด ต้องเป็นปลาเล็กปลาน้อยสับทั้งก้าง ต่อเมื่อเป็นเนื้อปลาขูดล้วนๆ จึงเรียกทอดมัน แต่ก็มักมีคนแย้งทันที่ว่า ไม่จำเป็นหรอก บางแห่งใช้เนื้อปลากรายปลาฉลาดแล้วเรียกปลาเห็ด ก็มีถมไป

ความเป็นมาเชิงนัยประวัติมีคนเขียนละเอียดๆ ไว้ในที่อื่นแล้วนะครับ วันนี้ผมจึงจะทำเป็นลืมๆ ประเด็นปริศนานามนี้ไปก่อน เพราะเผอิญว่าไปได้ปลาสลิดสดตัวเล็กขนาดเท่าปลากระดี่ ชาวบ้านจับได้จากทุ่งจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี แล้วตัดหัวขอดเกล็ดควักไส้ เอามาขายที่ตลาดเช้า ราคากิโลกรัมละ 70 บาทเท่านั้นเอง

“สับทำแกงสับนกหรือทอดมันก็ได้จ้ะ” แม่ค้าบอกว่า เนื้อปลาสลิดตัวเล็กจะนิ่มกว่าปลากระดี่ ผมเลยคิดจะทำทอดมัน-ปลาเห็ดจากปลาสลิดดูสักครั้ง

เมื่อล้างสะอาด ตัดครีบตัดหาง จับส่วนโคนหางวางบนเขียงใหญ่ สับด้วยมีดอีโต้ถี่ๆ จากหัวไล่ลงมาให้ก้างอ่อนตัวก่อนสัก 7-8 ตัว จากนั้นจึงตะล่อมเป็นกอง โรยเกลือเล็กน้อย ค่อยๆ สับต่อไปจนก้างละเอียดปนกับเนื้อ รู้สึกได้อย่างที่แม่ค้าบอกเลยว่า เนื้อปลาสลิดนี้มันนิ่มดีจริงๆ สับจนคิดว่ามากพอควรแก่การนะครับ

ทีนี้เตรียมพริกแกงเผ็ด โดยซื้อจากร้านที่ชอบ อาจโขลกต่อให้ละเอียดขึ้นก็ได้ และสูตรนี้ ผมอยากให้ปลาเห็ดของผมมีกลิ่นรากกระชายเสริมกลิ่นปลาและพริกแกงด้วย (นึกออกใช่ไหมครับ แม่ครัวภาคกลางมักอดเติมกระชายไม่ได้ เวลาจะแกงปลาหรือทำน้ำยาขนมจีน) เลยหั่นรากกระชายใส่โขลกปนไปจนเข้ากัน เอาเนื้อปลาสลิดลับของเราลงครกน้ำพริกนี้ เติมน้ำปลา โขลกรวมไปให้เข้ากัน ทยอยเติมใบมะกรูดชอย พอเห็นว่าเนื้อเนียนดีแล้ว ก็เอามือชุบน้ำมัน ปั้นเนื้อปลาเห็ดที่เพิ่งตำเสร็จใหม่ๆ นี้ เป็นลูกกลม แล้วกดให้แบนหนา แบบเดียวกับเวลาเราทำทอดมันนั่นแหละครับ

ตั้งกระทะน้ำมันบนไฟกลางค่อนข้างอ่อน พอน้ำมันร้อน เอาชิ้นปลาเห็ดของเราลงทอดทีละสองสามชิ้น พอด้านหนึ่งเกรียมก็พลิกอีกด้าน สุกพองหอมดีแล้ว กันไว้ให้สะเด็ดน้ำมันข้างกระทะก่อน จึงค่อยตักใส่จาน

“ปลาเห็ด” ของผมจานนี้ รสค่อนข้างเผ็ดเพราะใส่พริกแกงมาก ใครไม่กินเผ็ดก็ลดลงตามส่วนนะครับ ถ้าได้ลองทำครั้งแรกแบบธรรมดาๆ นี้แล้ว ก็คงนึกต่อได้ว่า เราแต่ละคนชอบแบบไหน เช่น หากชอบให้เนื้อนิ่มกว่านี้ ก็เติมแป้งมันและไข่ไก่ในส่วนผสมด้วยก็ได้ ชอบกลิ่นรสเผ็ดร้อนก็ใช้ในกะเพราหรือผักแพวแทนใบมะกรูด ฯลฯ

สูตรที่ผมทำนี้ มีกลิ่นรากกระชายหอมเหมือนเวลาเรากินน้ำยาขนมจีนเลยครับ ข้อแม้สำคัญของปลาเห็ดที่ทำจากปลาเล็กปลาน้อยก็คือ เราต้องสับก้างให้แหลกละเอียดจริงๆ จึงจะไม่ตำปาก ตำคอ กินแล้วมันกรุบๆ ดี แถมได้แคลเซียมเป็นประโยชน์แก่ร่างกายเต็มที่

ถ้าไม่ชอบแบบทอด จะเสียบไม้ย่าง หรือห่อใบตองปิ้งเป็นงบไปเลย ก็อร่อยครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

ส้มซันคิส เป็นส้มจากอเมริกาและออสเตรเลีย เปลือกหนาและมีกลิ่นหอม มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ รสชาติเข้มข้นอร่อย นิยมเอาเปลือกทำแยม หรือเอาเนื้อและเปลือกทำแช่อิ่มใส่เค้ก

วันนี้จะเอาส้มซันคิสมาทำซอสส้มราดบนกุ้งทอด อาหารจานนี้จะมีรสชาติเปรี้ยว เค็ม หวานกลมกล่อม เราใช้ส้มติดเปลือกมาผัด จะมีรสขมนิดๆ จากเปลือก อร่อยดีค่ะ

ส่วนผสม

  • กุ้งแชบ๊วยขนาดใหญ่ 9 ตัว
  • แป้งข้าวโพดสำหรับคลุกกุ้ง

ส่วนผสมซอสส้ม

  • ส้มซันคิส                   3 ผล
  • ซอสหอยนางรม      2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย            2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำเปล่า                         1/4 ถ้วย
  • แป้งข้าวโพด 1 ช้อนชา ต่อน้ำเปล่า 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันสำหรับทอด

วิธีทำ

ปอกเปลือกกุ้งเหลือหางไว้ เลาะเส้นดำที่หลังออก จากนั้นตั้งกระทะให้น้ำมันร้อนจัด นำกุ้งคลุกกับแป้ง เคาะแป้งไปทอดในน้ำมันร้อนจัด เมื่อกุ้งสุกแล้วตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน

วิธีทำ ซอสส้ม

คั้นส้มซันคิส 2 ลูก อีกลูกหั่นทั้งเปลือกเป็นชิ้นเล็กๆ พักไว้ จากนั้นใส่น้ำเปล่า น้ำตาลทรายและซอสหอยนางรมในกระทะ ตั้งไฟพอเดือด ใส่ชิ้นส้มลงไปเคี่ยวพอหอม ตามด้วยน้ำส้มคั้น ละลายแป้งข้าวโพด ค่อยๆ ใส่น้ำซอสให้พอข้น คนเร็วๆ แล้วตักราดบนตัวกุ้ง เสร็จแล้วจัดชิ้นส้มแต่งให้สวยงาม

ใกล้เทศกาลตรุษจีน นิยมจัดส้มซันคิสใส่กระเช้าอวยพร ถ้ารับประทานไม่ทัน แบ่งมาทำกุ้งซอสส้มได้นะคะ อร่อยและมีวิตามินซีค่ะ

ที่มา : ครัวอิ่มอร่อยกับคุณตุ๊ก

เคยมีใครเป็นแบบนี้บ้างไหมครับ คือเกิดจดจำได้แม่นว่า ได้ไปกินอาหารจานอร่อยที่ร้านนั้นๆ มา ถึงแก่นำข่าวคราวความเลิศรสมาแจ้งแก่มิตรสหาย แต่ครั้นยกโขยงชวนกันไปกิน กลับไม่มีรายการนั้นในเมนูเอาเลย ครั้นคุยสืบสาวกับแม่ครัว เธอก็ว่าร้านเราไม่เคยมีแบบนั้นนะคะ ฯลฯ

การเล่นตลกระหว่างความทรงจำและการหลงลืมนี้ บางครั้งก็ทำเอาไม่แน่ใจว่า ตกลงเราเคยกินจริงๆ ไหม หรือว่าที่แท้สับสนระหว่างความจริงกับความฝัน อย่างไรก็ดี หากเราพอทำอาหารเป็นอยู่บ้าง การแกะรอยอะไรแบบนี้ก็เป็นเรื่องน่าสนุกไม่น้อย

ผมเองก็(จำได้แม่นว่า)เคยกินยำกากหมูอร่อยมากๆ ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านเชิงสะพานอรุณอมรินทร์ ฝั่งกรุงเทพธนบุรี แล้วก็เป็นอย่างที่เล่าแหละครับ แต่กรณีนี้ รสอร่อยในความทรงจำมันแจ่มชัดเสียจนการหลงลืมก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ผมเลยว่าจะลองชวนประกอบสร้างยำจานนี้กินกันใหม่อีกสักรอบน่ะครับ

ขอเรียกมันว่า “ยำกากหมูตั้งฉ่าย” เพราะว่านอกจากกากหมูกรอบๆ เพิ่งเจียวเสร็จใหม่ๆ แล้ว รสเค็มของยำจานนี้มาจาก “ตั้งฉ่าย” ผักหมักดองเค็มแห้งๆ ที่คนจีนใช้มากในแกงจืด ซุปก๋วยเตี๋ยวหมู และข้าวต้มเครื่อง ถ้าเราใช้อย่างที่มีชิ้นใบมากหน่อยจะได้รสชาติดีครับ แล้วเติมรสเค็มแหลมๆ ด้วยน้ำปลา เลือกยี่ห้อที่ผสมน้ำตาลเยอะๆ เลยก็ได้ครับคราวนี้ เพราะเราต้องการรสหวานมาเสริมน้ำยำของเราด้วย

รสเผ็ดมาจากพริกขี้หนูสวน ซอยไม่ต้องละเอียด

ส่วนกลิ่นหอม มาจากหอมแดงหั่นตามยาว ไม่ต้องบางมากเช่นกัน แล้วก็ต้นหอมผักชีซอยหยาบๆ

ที่ผมจำไม่ได้ก็คือว่ามันมีกระเทียมด้วยไหม แต่คะเนเอาจากส่วนผสมนี้ ถ้าจะมีกระเทียม ก็ควรใช้กระเทียมจีนกลีบใหญ่หั่นบางๆ รสจะได้ไม่เผ็ดซ่าเกินไป ผมเองไม่อยากให้ยำกากหมูจานนี้เผ็ดซ่ามาก ก็เลยไม่ใช้กระเทียมครับ แต่ผมเพิ่มของขบเคี้ยวกรอบๆ มันๆ อย่างเมล็ดแตงโมอบ (เม็ดกวยจี๊) เข้าไป

การใช้เม็ดกวยจี๊เพิ่มความกรอบมันให้อาหารจานยำจานพล่านี้ แม่ครัวสมัยร้อยกว่าปีก่อนใช้กันบ่อยนะครับ อย่าง พล่าเนื้อสด สูตรตำราแม่ครัวหัวป่าก์นี่ขาดไม่ได้เลยแหละ

การประกอบสร้างยำกากหมูตั้งฉ่ายในความทรงจำของผมครั้งนี้ใช้เวลาชั่วประเดี๋ยวเดียว มันก็เหมือนอาหารจานยำเกือบทั้งหมดของครัวไทยนะครับ คือเมื่อเตรียมเครื่องเคราเรียบร้อย ต้องปรุงอย่างรวดเร็ว แล้วตักไปกินกันทันที ไม่อย่างนั้นก็จะ “เซ็ง” เสียหมด

ในชามใบใหญ่ใส่กากหมู เราบรรจงเทหอมแดง พริกขี้หนู ตั้งฉ่าย เม็ดกวยจี๊ โคนต้นหอมหั่น แล้วราดน้ำปลา น้ำมะนาวสด คลุกเร็วๆ ชิมรสให้ได้อย่างที่ชอบ จะได้ยำแห้งๆ ที่ยังมีความกรอบของกากหมูเจียวใหม่ๆ อยู่

โรยหน้าด้วยเม็ดกวยจี๊ หอมแดงซอย พริกขี้หนู และใบผักชีอีกอย่างละนิดละหน่อย หลังตักใส่จานแบน

ความทรงจำพิเศษก็คือกลิ่นหมักเค็มของตั้งฉ่าย มันทำให้รสชาติยำจานนี้แปลกไปกว่าที่เคยกิน จนผมถึงกับไม่ลืมมัน ไม่ว่ามันจะเคยมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม

1

สำหรับคนที่พิสมัยกากหมูระดับเสพติดย่อมทราบว่า ทุกวันนี้ ฟาร์มหมูหลายแห่งเลี้ยงหมูด้วยระบบอินทรีย์ที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฉีดเร่งใดๆ หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “หมูหลุม” นะครับ และคงสืบค้นรายละเอียดของมันได้ไม่ยาก ที่ผมจะบอกก็คือ ถ้าได้มันหมูของหมูหลุมนี้มาเจียวทำกากหมูละก็ ยำกากหมูตั้งฉ่ายจานนี้จะไม่มีวันถูกลืมเลือนจากความทรงจำของใครที่เคยได้ลิ้มชิมแน่นอน

“..อย่าดูถูกกากหมูเป็นอันขาด” ปรมาจารย์ด้านการกินในอดีตหลายท่านยืนยันไว้เช่นนั้น

ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย