ช่วงนี้หลายๆ คนอยู่บ้าน ก็มีกิจกรรมให้ทำแตกต่างกันไป หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตเลยก็คือ “ทำอาหาร” โดยเฉพาะพวกขนมหวาน ที่ขั้นตอนไม่ยุ่งยากเท่าอาหารคาว “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ขอเปิดสูตรการทำบัวลอย โดยบัวลอยนี้ไม่ใช่บัวลอยธรรมดา แต่เป็นบัวลอยมังคุดมะพร้าวอ่อน ที่หน้าตาน่ารักน่าทาน โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Thipsee Bacou ผู้ใจดี จะเป็นผู้มาแบ่งปันสูตรให้เราในครั้งนี้

ส่วนผสมของแป้งบัวลอย จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

1. แป้งข้าวเหนียว 120 กรัม
2. แป้งมัน 80 กรัม
3. กะทิ 110 มล.
……………

4. แป้งข้าวเหนียว 80 กรัม
5. น้ำใบเตยสด 70 มล.
…………..
6. แป้งข้าวเหนียว 120 กรัม
7. กะทิ 110 มล.
8. สีผสมอาหาร สีแดง+สีน้ำเงิน

น้ำกะทิบัวลอย

1. กะทิ 800 มล.
2. น้ำมะพร้าวน้ำหอม 200 มล.
3. เนื้อมะพร้าวอ่อน 190 กรัม
4. น้ำตาลทรายขาว 150 กรัม
5. น้ำตาลมะพร้าว 80 กรัม
6. เกลือป่น 1 ช้อนชา
7. ใบเตยสดมัด

วิธีทำก็ไม่ยาก ทำตามบัวลอยแบบปกติได้เลย เพียงแต่ขนมบัวลอยมังคุด จะใช้เวลาค่อนข้างเยอะ เพราะต้องทำตัวขนม 2 แบบนั่นเอง

สามารถติดตามการทำขนมสูตรอื่นๆ ได้ที่เพจ Thipsee’s Kitchen-ครัวทิพซี่

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

95958333_3193737407569442_3042423750084526080_o

ช่วงฤดูร้อนแบบนี้ นอกจากผักตลาดจะหายาก ราคาแพง แถมสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ร้านรวงแผงผักในตลาดสดพลอยปิดไปเสียมากแล้ว ผักยืนต้นที่จะพอหาเก็บได้ตามข้างทางก็ไม่ค่อยแตกยอดแตกใบ ถ้าเราไม่ได้เตรียมไปตัดแต่งกิ่งไว้ก่อนหน้า อีกทั้งที่ดินรกร้างย่านชานเมืองและต่างจังหวัดก็ถูกหักล้างถางพงปลูกกล้วยปลูกมะนาวอย่างปัจจุบันทันด่วน พลอยทำให้พื้นที่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ป่าอาหาร” ที่คนเก็บหาของป่ากิน (gatherer) เคยสามารถเก็บพืชผักยืนต้น หรือผักล้มลุกมากินได้ สูญหายไปมากเลยทีเดียว

แต่ก็มีพืชบางชนิดนะครับ ที่พอจะออกดอกออกผลให้เก็บกินได้บ้าง โดยที่เราไม่ต้องไปจัดการอะไรกับมัน อย่างหนึ่งก็คือต้นกระถินข้างทาง ที่อยู่ในช่วงติดฝักแก่ฝักอ่อนให้เก็บได้ แล้วก็ต้นคูน หรือราชพฤกษ์ (Cassia fistula) ที่ทางราชการปลูกเรียงรายเป็นไม้ประดับไว้ริมถนน ออกดอกเป็นพวงระย้าสีเหลืองสดทั่วทุกมุมเมืองเวลานี้

ดอกคูนนั้นกินสดๆ หรือจะดอง ยำ แกงส้มก็ได้ครับ เฉพาะแกงส้มดอกคูนนั้น เราแกงเปล่าๆ เลย หรือจะเอาดอกคูนไปชุบไข่ทอดเสียก่อน เหมือนทำแกงส้มชะอมไข่ก็ยังได้

อีกอย่างหนึ่งที่อยากชวนไปหาเก็บ ชวนลองทำ ลองกิน เพราะว่าเป็นช่วงที่มีมากตามข้างทาง ก็คือ “ลูกตำลึง”

ตำลึง (Ivy Gourd) ไม้เถาล้มลุกที่คนส่วนใหญ่กินเฉพาะยอดอ่อน เป็นผักที่รสชาติดี มีเนื้อในละมุนละไม ที่สำคัญคือมันเป็นวัชพืชที่ขึ้นมากตามข้างทางทั่วไป ไม่ต้องเป็นป่ารกชัฏอะไรนักก็สามารถมีเถาตำลึงขึ้นพันรั้ว กำแพง พุ่มไม้ สายไฟ ฯลฯ ให้เราเอื้อมเด็ดยอดอ่อนมากินได้ง่ายๆ

ลูกตำลึง มีรูปพรรณสัณฐานและสีสันคล้ายแตงกวา แต่เล็กกว่า ลูกสุกสีแดงจัด กินเป็นผลไม้รสหวานได้ พวกนกก็ชอบมาจิกกิน แล้วพอพวกมันไปถ่ายมูลไว้ในที่ไกลๆ ก็เป็นการช่วยแพร่พันธุ์ตำลึงให้กระจายไปได้อีกทางหนึ่ง

ช่วงเปลี่ยนผ่านจากลูกดิบไปเป็นลูกสุกของตำลึงค่อนข้างเร็ว ภายใน 1-2 วัน ลูกดิบเขียวจะเริ่มสุกแดง

ตำราอาหารโบราณ อย่างตำรับสายเยาวภา ของสายปัญญาสมาคม (พ.ศ. 2478) พูดถึงลูกตำลึงไว้ใน “หมวดผักผล” ว่า “ผลตำลึง ใช้ผลอ่อน ใช้แกงและดอง” แม้ตำราฯ ไม่ได้ระบุขั้นตอนวิธีทำ แต่เนื่องจากยังมีชุมชนที่กินลูกตำลึงดิบอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดมีขายเป็นถุงๆ ในตลาดสดเมืองเพชรบุรี ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ เราจึงยังรู้ว่า เมื่อได้ลูกตำลึงดิบ ซึ่งควรเป็นลูกอ่อนสีเขียวที่เนื้อในและเยื่อหุ้มเมล็ดยังไม่เริ่มสุกแดง ก็ผ่าครึ่งตามยาวลูก หรือใช้สากทุบพอแตก บีบเมล็ดออกทิ้งไป แล้วเคล้าเกลือป่น คั้นให้น้ำเฝื่อนออกไปบ้าง เพียงเท่านี้ก็เอาไปทำกับข้าวกินได้

รสชาติลูกตำลึงดิบออกขมเล็กน้อย ที่ภาษาภาคกลางตอนเหนือ เช่น แถบสิงห์บุรี นครสวรรค์ เรียก “ขมหร่อมๆ” ดังนั้น นอกจากเอาไปดองเกลือแบบที่ตำรับสายเยาวภาฯ บอก ส่วนใหญ่ก็นิยมแกงคั่วใส่กะทิกัน

แกงคั่วลูกตำลึงชามแรกที่ผมกินเมื่อยี่สิบปีก่อนที่เมืองเพชรบุรี แกงกับกุ้งทะเลตัวเล็กๆ น้ำแกงไม่ข้นมาก ออกสีนวลๆ ใส่รากกระชายตำมากเสียจนรู้สึกว่าได้กินน้ำยากะทิขนมจีนรส “ขมหร่อมๆ” มันอร่อยจนผมไม่กล้าบอกว่ามื้อนั้นกินข้าวไปกี่จานเลยทีเดียว

ถ้าจะลองแกงกินสักหม้อ ก็เพียงหากะทิสด หรือกะทิกล่องสำเร็จรูปมาใส่หม้อแกง ละลายเครื่องแกงเผ็ดซึ่งเราตำปลาย่างป่นและรากกระชายแยะๆ ผสมเข้าไปจนละเอียด ยกตั้งไฟ พอเดือดก็ใส่ลูกตำลึงที่ทำไว้แล้ว จะปรุงเค็มด้วยเกลือ น้ำปลา หรือน้ำปลาร้าก็แล้วแต่ชอบ เดาะน้ำตาลปี๊บให้มีรสหวานตามเพียงเล็กน้อย

สักครู่ใหญ่ๆ ลูกตำลึงจะสุก เปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นสีขี้ม้า ก็ใส่เนื้อสัตว์อะไรที่เราจะกิน เช่น กุ้งสด เนื้อย่าง ปลาย่าง เนื้อปู หรือหมูสามชั้นย่างหั่นเป็นชิ้นพอคำลงไป เติมหัวหรือหางกะทิเพิ่ม ให้ได้ความข้น มัน ของน้ำแกงอย่างที่ต้องการ เพียงเท่านี้ก็เสร็จ

กินราดข้าวสวยร้อนๆ หรือขนมจีน ก็อร่อยทั้งนั้น

ลูกตำลึงมีฤทธิ์เป็นยาเย็น นอกจากมันจะถูกระบุไว้ในตำรากับข้าวโบราณแล้ว ยังพบในจารึกอโรคยาศาล สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เขมรโบราณช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วย

โศลกที่ 4 ในด้านที่ 3 ของจารึกปราสาทตาเมียนโต๊จ อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึง “ผลตำลึงหนึ่งผล” รวมอยู่ในรายการเภษัชและเครื่องบูชาเทวรูปในศาสนสถาน ดังนั้น ลูกตำลึงคงเคยมีสรรพคุณทางยาเขมรสายอายุรเวทบางประการ ที่ในปัจจุบันลืมเลือนกันไปแล้ว เพราะผมลองค้นจากหนังสือการแพทย์ตำรับขอมโบราณ ซึ่งคุณศิริ ผาสุก แปลจากคัมภีร์โบราณ ฉบับภาษาเขมร ก็มีเพียงตัวยาแก้ผอมแห้งเท่านั้นที่มีส่วนผสมของผักตำลึง

ไม่ปรากฏมีที่ใช้ลูกตำลึงในตำรายาอื่นๆ แต่อย่างใด

……………….

นอกจากตลาดสดเมืองเพชรบุรี ผมเคยเห็นแม่ค้าที่ตลาดโพธิ์พระยา เมืองสุพรรณบุรี เก็บลูกตำลึงดิบมาขาย ถุงละ 10 บาท มันไม่ใช่ผักที่คนที่อื่นกินกันทั่วไปจนถึงกับเอามาขายได้อย่างเมืองเพชร ดังนั้น ถ้าอยากจะกิน คงต้องตระเวนหาเก็บเองตามข้างทาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยนะครับ

ผมเองเมื่อออกไปปั่นจักรยานเล่นตามถนนเล็กๆ ละแวกย่านบางแค บางบอน ฝั่งกรุงเทพฯ ธนบุรี แค่ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร ก็สามารถเก็บลูกตำลึงมาได้พอแกงหม้อใหญ่ทีเดียว เพราะถ้าจะมีใครเก็บตำลึง เขาคนนั้นก็มักจะเก็บแต่ยอดอ่อนเท่านั้น เราหมายตาได้ไม่ยากหรอกครับ สังเกตลูกสุกแดงๆ ตามพงไม้ข้างทางให้ดี เมื่อจอดรถลงไปดูตรงตำแหน่งนั้น ก็มักจะพบลูกดิบห้อยย้อยเป็นราวอยู่ด้วยเสมอ

ถ้าออกกำลังกายโดยวิ่งจ๊อกกิ้ง ก็จะยิ่งสังเกตพบได้ง่ายกว่าพวกขี่จักรยานอย่างผมเสียอีกนะครับ

ช่วงเวลาอันยากลำบากของการเข้าสมาคม ระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงนี้ ใครจำต้องเปลี่ยนจากเข้าสถานออกกำลังฟิตเนส ไปเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน รับอากาศเปิดโล่งของเมือง ก็ลองใช้ความสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างกิจกรรมสันทนาการนั้น เปลี่ยนวัชพืชข้างทางเป็นกับข้าวกับปลาที่อาจจะอร่อยถูกปากชนิดคาดไม่ถึงกันดูบ้างซิครับ

ไม่แน่นัก มันอาจจะเปลี่ยนทัศนะมุมมองเกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารในเมือง หลังโลกถูกจัดระเบียบใหม่ด้วยเชื้อไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ก็ได้

หลังการเขย่าครั้งใหญ่อันน่าสะพรึงกลัว ย่อมไม่มีอะไรหยุดอยู่ที่เดิม

อาหาร รวมถึงกระบวนการผลิต ตอบสนอง ตลอดจนขั้นตอนการจัดการวัตถุดิบอาหาร ก็เช่นเดียวกัน

แกงคั่วชักส้มหยวกกล้วย

การทำกับข้าว ไม่ว่าจะสำรับใดก็ตาม เมื่อทำครั้งแรกๆ มันมีความรู้สึกเหมือนกำลังพาคนที่ไม่รู้จักเข้าบ้าน คืออาจจะรู้เลาๆ ว่าเขาเป็นใคร ร่ำเรียนมาทางไหน แต่ก็ยังไม่รู้จักนิสัยใจคอ การพูดการจาจะเข้ากับเราและคนที่บ้านเราได้หรือไม่ เรียกว่าอยากจะคุ้นเคย แต่ก็ไม่แน่ใจ ต้องค่อยๆ ทำความรู้จักกันไปทีละหน่อย

ความรู้สึกนี้เกิดแก่ผมเมื่อไปได้หยวกกล้วยอ่อนๆ จากรถพุ่มพวงเจ้าประจำมาถุงหนึ่ง แต่ครั้นจะเอามาแกงเหลืองกับปลากุเราสด แกงเผ็ดไก่บ้าน หรือแกงปลาใส่วุ้นเส้น ฯลฯ ก็ออกจะซ้ำซากไปหน่อย เหมือนเราคุยอยู่แต่กับเพื่อนคนเดิมๆ นั่นแหละครับ

พอดีผมซื้อกุ้งสดมาด้วย เลยต้องคิดให้กุ้งกับหยวกกล้วยอยู่ในหม้อเดียวกันให้อร่อยให้จงได้

ผมลองเปิดหนังสือตำราอาหารวิทยาลัยในวัง พบว่ามีแกงอยู่สองสามหม้อที่พอจะดัดแปลงทำได้ คือ “แกงคั่วกุ้งกระท้อน” เป็นแกงเผ็ดกะทิใส่กุ้ง มีรสเปรี้ยวแทรกรสมันกะทิด้วยเนื้อกระท้อน ฟังดูน่าอร่อยทีเดียวแหละ ผมเลยคิดจะยกกระท้อนออก ใส่หยวกกล้วยกรอบๆ อ่อนๆ ที่ดูดซับน้ำกะทิได้ดีเข้าไปแทน ส่วนรสเปรี้ยวที่หายไปพร้อมกระท้อนนั้น ผมมีน้ำต้มฝักมะขามสด เป็นมะขามค็อกหมูฝักใหญ่ๆ ต้มได้น้ำสีเขียวอ่อน รสเปรี้ยวสดชื่นมากๆ อยู่แล้ว

ใครไม่มี ใช้น้ำคั้นมะขามเปียกแทนได้ครับ

แต่ครั้นพอผมเปิดหนังสือนี้ไปอีกสามสี่หน้า พบว่ามีสูตร “แกงชักส้ม” ด้วย มันเป็นแกงส้มปลาใส่ผักบุ้ง ปรุงเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียก และที่พิเศษก็คือลูกมะกรูดผ่าซีก ใส่ลงไปทั้งซีกเลยทีเดียว

เรื่องแกงชักส้มนี้คาใจผมมานาน ว่าทำไมจึงเรียกชื่อเช่นนี้ ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้หรอกครับ ทั้งไม่เคยทำเลยด้วย จึงคิดว่าเป็นจังหวะเหมาะ ที่จะหยิบยืมเทคนิคการปรุงรสเปรี้ยวด้วยลูกมะกรูดนี้มาผสมผสานให้ “แกงคั่วชักส้ม” ใส่หยวกกล้วยและกุ้งสดของผมมีเสน่ห์ชวนชิมแบบพิเศษพิสดารยิ่งขึ้น

การประกอบสร้างครั้งนี้ เริ่มจากแกะกาบกล้วยส่วนที่แก่ออก เอาเฉพาะอ่อนๆ หั่นแช่น้ำไว้ กุ้งสดปอกเปลือกผ่าหลัง ชักเส้นดำออก เปลือกและหัวกุ้งเอาไปต้มเป็นน้ำซุปหวานๆ สักครึ่งชั่วโมง กรอกเอาแต่น้ำ

เตรียมกะทิสด พริกแกงเผ็ดที่ชอบ เกลือ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บนิดหน่อย น้ำต้มมะขามสดหรือน้ำคั้นมะขามเปียก แล้วก็ลูกมะกรูดสัก 1-2 ลูก ใบมะกรูดอีกหน่อย

แวบแรกที่ผมเห็นเครื่องเคราวัตถุดิบชุดนี้ อดคิดไม่ได้ว่า ของดีๆ มาเจอกันแบบนี้ ทำแล้วจะไม่อร่อยก็ให้มันรู้ไปสิน่า

ผมเอาหม้อซุปเปลือกกุ้งตั้งไฟ ผสมกะทิพอให้ใสๆ หน่อยก่อน ต้มจนเริ่มเดือด ปรุงเค็มด้วยเกลือ น้ำปลา แล้วผมเหลือบไปเห็นปลาอินทรีเค็มทอดเหลือในจาน เลยบี้เนื้อใส่ไปราว 2 ช้อนโต๊ะ

ราวกับว่ามันเป็นบทสนทนาที่เชื่อมระหว่างคนแปลกหน้าได้พอดี กลิ่นปลาเค็มหอมโชยขึ้นมาทันที ช่างยั่วยวนเสียจริงๆ ตอนนี้เบาไฟไว้ก่อนครับ

อีกเตาหนึ่งผมตั้งกระทะใส่กะทิเคี่ยวจนแตกมันเป็นขี้โล้ ควักพริกแกงเผ็ดลงผัดจนหอมฉุย แล้วตักใส่หม้อแกง พอเดือด ใส่หยวกกล้วยหั่นลงไป เติมกะทิเพิ่มให้มีความข้นมันตามชอบ

เริ่มปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามที่เรามี ให้จัดไว้สักนิด เผื่อหยวกกล้วยดูดรส เติมน้ำปลาถ้ายังไม่เค็ม เดาะน้ำตาลปี๊บ ถ้าเราเป็นคนชอบกินหวาน

ใส่กุ้ง ใบมะกรูด สักครู่เดียวกุ้งก็สุกครับ เราก็ดับไฟ ใส่ลูกมะกรูดผ่าซีกลงไป กดให้จมน้ำแกง วิธีใส่ลูกมะกรูดแบบนี้ ผมจำมาจากการปรุงน้ำพริกขนมจีนแบบโบราณน่ะครับ

ถ้าคนที่ไม่รู้จักเปรียบได้กับสำรับที่ไม่เคยปรุง “แกงคั่วชักส้มหยวกกล้วย” ที่หอมกลิ่นปลาเค็มดีๆ เปรี้ยวสดชื่นด้วยน้ำมะขามและน้ำมะกรูด ซึ่งส่วนหนึ่งถ่ายเทมาอยู่ในชิ้นหยวกกล้วยกรอบๆ ชุ่มน้ำแกงหม้อนี้ ก็คงเป็นแกงหน้าใหม่ รสชาติดี ที่คนทำจะต้องลงมือทำอีกบ่อยๆ

เหมือนแขกแปลกหน้าผู้ถูกอัธยาศัย ซึ่งกลับกลายมาเป็นมิตรสหายรู้ใจไปในที่สุดนั่นแหละครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย
แจกสูตรซ่าหริ่ม-ทับทิมกรอบ พร้อมน้ำกะทิสด ขนมหวานไทย ขายดีช่วยดับร้อน

เพจกลุ่มครัวครูตุ๊ก โดยอาจารย์ขนิษฐา ชัยชาญกุล เเจกสูตรขนมไทยทำไม่ยาก เหมาะแก่การขายในช่วงหน้าร้อนมาก นั่นคือ ซ่าหริ่ม และ ทับทิมกรอบกะทิสด 

ส่วนผสมของแป้งทำซ่าหริ่ม มีดังนี้  

แป้งถั่วเขียว 100 กรัม
น้ำลอยดอกมะลิ 400 กรัม
น้ำใบเตยข้นๆ 50 กรัม
สีผสมอาหาร

วิธีทำ

1. เทน้ำลอยดอกมะลิเล็กน้อยลงในอ่างแป้ง ขยำให้เข้ากันแล้วใส่น้ำที่เหลือจนหมด กรองใส่กระทะเทฟล่อน เตรียมแป้งไว้ 3 ส่วน ดังนี้

– ส่วนที่ 1 ใส่น้ำใบเตย เติมสีเขียว 2-3 หยด
– ส่วนที่ 2 ใส่สีชมพู 2-3 หยด (ให้เพิ่มน้ำลอยดอกมะลิ 50 กรัม)
– ส่วนที่ 3 เป็นสีขาว (ให้เติมน้ำลอยดอกมะลิ 50 กรัม)

2. กวนแป้งส่วนที่ 1 ใช้ไฟแรง พอแป้งสุกเหนียวใส (ใช้เวลาประมาณ 5-7 นาที) เทแป้งใส่กระบอก กดลงในภาชนะที่ใส่น้ำเย็นจัดๆ พร้อมน้ำแข็ง หลังจากกดตัวซ่าหริ่มแล้ว พักทิ้งไว้สักครู่ พอแป้งอยู่ตัวจึงค่อยตักช้อนขึ้นมาผึ่งในกระชอนให้สะเด็ดน้ำ แล้วจึงค่อยนำใส่บนผ้าขาวบางที่ปูบนภาชนะที่มีช่องรูระบายน้ำ ให้น้ำออกให้หมด โรยดอกมะลิและกลีบกุหลาบมอญปิดผ้าไว้

ส่วนผสมของ ทับทิมกรอบ มีดังนี้ 
แห้วต้มสุก 400 กรัม
แป้งมัน 400 กรัม
แป้งเท้ายายม่อม 50 กรัม (บดละเอียด)
สีผสมอาหารสีแดง สีเขียว เเละสีชมพู
ขนุนหั่นเป็นเส้น (โรยบนขนมตอนราดน้ำกะทิ) 

วิธีทำ

1. หั่นแห้วที่ต้มสุกแล้วเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม
2. ผสมแป้งมันกับแป้งเท้ายายม่อมให้เข้ากัน พักไว้ 
3. นำแห้วที่หั่นไว้ แบ่งเป็น 2 ถ้วย หยดสีผสมอาหารถ้วยละสี แช่แห้วไว้ประมาณ 10 นาที ให้แห้วดูดสี
4. ตักแห้วขึ้นจากสีที่แช่ไว้ลงคลุกกับแป้งที่เตรียมไว้ คลุกให้ทั่วๆ (ข้อ 2)
5. ตั้งน้ำร้อนให้เดือด (น้ำต้องเดือด) จึงนำแห้วที่คลุกแป้งลงต้ม คนเบาๆ มือ
6. รอจนเม็ดทับทิมลอยขึ้น ต้มต่อ1-2 นาทีอีกสักครู่จนแป้งสุกใส
7. ช้อนตัวเม็ดทับทิมขึ้นมา ล้างน้ำเปล่าและตักขึ้นทันทีเพื่อลอยในน้ำเย็นจัดๆ ที่ใส่น้ำแข็ง พักไว้จนตัวทับทิมเย็น
8. ช้อนเม็ดทับทิมที่เย็นสนิทขึ้นใส่ในชาม หรือโถแก้ว เทน้ำเชื่อมลงคลุก เพื่อป้องกันไม่ให้ทับทิมติดกัน เสิร์ฟโดยราดน้ำกะทิ โรยน้ำแข็ง

หมายเหตุ 
– สามารถใช้แห้วดิบหั่นต้มสุก หรือจะใช้แห้วเชื่อมสำเร็จรูปก็ได้ มีขายในแม็คโคร

สำหรับส่วนผสมของกะทิ ทานได้กับซ่าหริ่มและทับทิมกรอบ 
1. กะทิ 1 กิโลกรัม
– กรณีมะพร้าวขูดขาว 2 กิโลกรัม คั้นน้ำข้น-แบบไม่ใส่น้ำ (บอกร้านที่คั้นกะทิ) หรือ
– กรณีกะทิกล่อง ควรใช้ยี่ห้ออร่อยดี
2. น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
3. ใบเตยหอมทั้งใบ 5 ใบ มัดให้แน่น

วิธีทำ

1. ผสมกะทิกับน้ำตาลทราย ใส่ใบเตย คนจนกว่าน้ำตาลทรายจะละลายหมด
2. ยกขึ้นนำไปตุ๋นในน้ำร้อน จนน้ำกะทิร้อน มีควันขึ้น ใช้ที่วัดอุณหภูมิได้เกินกว่า 95 องศา ยกลง…ทิ้งไว้ให้เย็นในอุณหภูมิห้อง
3. พักให้เย็นสนิท อบด้วยควันเทียนให้หอม 1 ชั่วโมง โรยด้วยดอกมะลิ กลีบกุหลาบมอญ (ตามแต่จะหาได้)
หมายเหตุ น้ำที่ใช้คั้นกะทิ ควรนำมาต้มกับใบเตยก่อนนำไปคั้นนะคะ กะทิจะหอม และไม่บูดเสียก่อนจะทำขนมเสร็จ

เวลารับประทาน ตักตัวซ่าหริ่มใส่ถ้วย 3 สี ใส่น้ำกะทิ น้ำแข็งทุบละเอียด

🤩 ตัวซ่าหริ่ม อยู่ได้ 1 วัน ใส่ตู้เย็นยืดอายุได้อีก 2-3 วัน แต่เนื้อสัมผัสจะกระด้างขึ้นไม่นุ่มนวล
🤩 ทับทิมกรอบ ระยะเวลาการเก็บเหมือนกัน แต่เนื้อแป้งที่หุ้มจะหลุดลอก เนื้อสัมผัสไม่ละมุนเหมือนทำใหม่ๆ
🤩 น้ำกะทิ จะมีลักษณะใส ขุ่น ข้น หวานจัด จึงทำให้เก็บได้นานด้วยตัวของมันเอง ให้ใส่ภาชนะปิดสนิท หรือใส่ถุง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากอากาศ จากสิ่งรอบตัว
🤩 ทับทิมกรอบแบบโบราณ เราจะชุบเฉพาะด้านเดียว โดยการจุ่มลงในสีแดง เหลือไว้อีกด้าน เมื่อชุบแป้งลงต้ม จะเป็นสีเหลือบๆ สวย คล้ายกับเม็ดทับทิมจริงๆ

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

หยุดอยู่บ้าน เวลาว่างเยอะ ทำ “ก๋วยเตี๋ยวหลอด” ขายบ้าง ให้บ้าง พอได้ทุน

อาหารโบราณ “ก๋วยเตี๋ยวหลอดแบบรถเข็น” มีเส้นใหญ่ตัดเป็นเส้น ใส่กุ้งแห้งแดง (กินสีมากไม่ดีนัก ถึงแม้จะเป็นสีผสมอาหารก็ตาม) เต้าหู้ หมูสามชั้น ต้มพะโล้ ใส่กุนเชียงหั่น กุ้งแห้งทอด โรยกระเทียมเจียว กากหมู ราดน้ำจิ้มซีอิ๊วดำพริกตำ กินร้อนๆ ถ้วยใคร ถ้วยมัน ห่างกันสามวา ทำให้วันหยุดยาว หฤหรรษ์ขึ้นไม่น้อย

ส่วนผสม ก๋วยเตี๋ยวหลอดแบบรถเข็น

เส้นใหญ่ก๋วยเตี๋ยวหลอดจะมีกุ้งแห้งแดงแทรกอยู่ หั่นเป็นเส้นยาว 1 กิโลกรัม

(ไม่มีใช้เส้นใหญ่ธรรมดา)

ถั่วงอก  1 กิโลกรัม

กุ้งแห้งตัวเล็กทอดกรอบตามชอบ

กุนเชียงหั่นเล็กทอดสุกตามชอบ

มันหมูแข็งหั่นเล็ก เอาไปเจียวให้กรอบ

กระเทียมสับเจียวกับน้ำมันหมู

ต้นหอม ผักชี ซอยไว้โรยหน้า

ส่วนผสม น้ำพะโล้ราด

รากผักชีทุบ        4 ราก

โป๊ยกั้ก               4 ดอก

อบเชย               1 แท่ง

ผงพะโล้            1 ช้อนโต๊ะ

น้ำมันหมู           2 ช้อนโต๊ะ

เต้าหู้ขาวหั่นสี่เหลี่ยมเล็กทอดพอสุก 1 แผ่น

เห็ดหอมแช่น้ำให้นิ่ม หั่นเล็ก ผัดพอสุก 4-5 ดอกใหญ่

หมูสามชั้นหั่นเล็กบาง ทอดพอสุก 2-3 ขีด

น้ำเปล่า             6-7 ถ้วย

ซีอิ๊วดำเค็ม         2-3 ช้อนโต๊ะ

น้ำตาลปี๊บ         ¼ ถ้วย

น้ำตาลทราย      2 ช้อนโต๊ะ

เกลือ                 2 ช้อนชา

ซอสปรุงรส         2 ช้อนโต๊ะ

พริกไทย             2 ช้อนชา

วิธีทำ น้ำราด

ผัดรากผักชี กับเครื่องเทศ ผงพะโล้ น้ำมันหมูให้หอม ใส่ซีอิ๊วน้ำตาลปี๊บลงไปผัดพอดำ ใส่เต้าหู้ทอด เห็ดหอม หมูสามชั้น เติมน้ำ เคี่ยวไปประมาณครึ่งชั่วโมง ปรุงรสอีกทีให้เข้มเข้าไว้

ส่วนผสม น้ำจิ้ม

น้ำตาลทราย      ½ ถ้วย

ซีอิ๊วดำเค็ม         ¼ ถ้วย

น้ำส้มสายชู        ¼ ถ้วย

พริกแดงตำ        2 ช้อนโต๊ะ

ทั้งหมดนี้คนผสมรวมกัน

วิธีประกอบร่าง

เอาเส้นกับถั่วงอกใส่ถ้วยนึ่งรวมกันให้นิ่ม เทใส่ถ้วยตัวใครตัวมัน ราดน้ำพร้อมเครื่อง โรยกุนเชียง กุ้งแห้ง กากหมู ต้นหอม ผักชี โรยน้ำจิ้ม กินได้เลย

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

ผู้เขียน : ยศพิชา คชาชีวะ

สูตรอาหารโบราณบางอย่างที่เราไม่คุ้นชื่อ ไม่เคยเห็นมาก่อน บางทีก็ดูเหมือนว่ายากที่จะทำกินนะครับ ตัวอย่างที่เรามักพบในตำราเก่าๆ ก็อย่างเช่น “แกงจืดลูกรอก”

“ลูกรอก” คือ “ไส้กรอกไข่” มันเป็นการกรอกไข่ดิบปรุงรสลงไปในไส้หมูหรือไส้ไก่ มัดเป็นเปลาะๆ ต้มในหม้อน้ำ หรือนึ่งจนสุก จากนั้นหั่นแว่นหนาบางแล้วแต่ชอบ เอาไปผ่านความร้อนในขั้นตอนการปรุงกับข้าวอีกครั้ง ไข่สุกที่กรอกในไส้นั้นจะพองออกทั้งสองด้าน แลดูสวยงามน่ากินเป็นอันมาก จะแค่จิ้มน้ำจิ้มอะไรที่ชอบ หรือต่อยอดเป็นกับข้าวที่คุ้นเคย อย่างเช่นแกงจืด ต้มยำ หรือผัดพริกเผ็ดๆ มันๆ ก็ได้ทั้งนั้น

จับเจ่าอยู่กับบ้านนานๆ ทำกับข้าวซ้ำๆ จนเบื่อ ลองทำลูกรอกกินสนุกๆ ซีครับ ของที่เราต้องใช้หลักๆ มันมีแค่ไข่กับไส้หมูอ่อนเท่านั้นเองแหละ

ตำราเก่าสมัยศตวรรษก่อนบอกวิธีล้างไส้หมูไว้แบบที่ดูว่ายาก แต่พอค้นในอินเตอร์เน็ต มีวิธีใหม่ๆ หลายแบบที่ง่ายกว่ามาก ผมลองเลือกมาใช้แบบหนึ่ง คือตัดเลาะพังผืดไขมันขาวๆ ของไส้อ่อนออก หั่นไส้ให้ยาวเส้นละสักฟุตกว่าๆ ต่อปลายด้านหนึ่งกับก๊อก เปิดน้ำแรงๆ เพื่อชะเอาของสกปรกในไส้ออกไประดับหนึ่งก่อน

พอน้ำชักจะใส ก็ “กลับไส้” โดยค่อยๆ ปลิ้น ใช้ตะเกียบยาวๆ ดัน ขอบอกว่ามันไม่ยากอย่างที่ผมเคยคิดเลยครับ ทำแบบนี้จนครบทุกเส้นไส้ แล้วใส่กะละมัง ขยำเกลือสักครู่ ล้างน้ำ

จากนั้น ขยำกับแป้งมันสำปะหลัง ล้างน้ำ

ตบท้ายด้วยขยำน้ำส้มสายชู ล้างน้ำ

ทีนี้กลับไส้ไปตามเดิม ด้วยวิธีเดิม คือใช้ตะเกียบช่วย เราจะได้ไส้สด สะอาดเอี่ยม สีชมพูสวยกิ๊ก และมีความเหนียวดีพอจะเอาอะไรที่อยากกินยัดเข้าไปได้แล้ว อย่าเพิ่งใจร้อนเอาเจ้าไส้นี่ไปนึ่งจิ้มน้ำจิ้มซะล่ะครับ มาทำไข่กันก่อน โดยตีไข่ไก่หลายๆ ใบจนฟู กรองกระชอนตาละเอียดๆ แล้วปรุงด้วยกระเทียมพริกไทยรากผักชีตำ ซีอิ๊วขาว

หาด้ายดิบสั้นๆ มาไว้หลายๆ เส้น เริ่มกรอกไข่โดยผูกปลายด้านหนึ่งของไส้ให้แน่น แล้วหากรวยมาสวมปลายอีกด้าน ค่อยๆ เทไข่กรอกลงไปพอประมาณ มัดผูกตัวไส้ให้เป็นไส้กรอกไข่อ้วนๆ ยาวสักท่อนละเกือบๆ คืบก็ได้ครับ ทำไปจนหมดความยาวของไส้แต่ละเส้น

ตั้งหม้อน้ำใบใหญ่หน่อย ใส่เกลือนิดเดียว หาอะไรรองในก้นหม้อ จะเป็นตะแกรง หรือช้อนหลายๆ คันก็ได้ กันไม่ให้ไส้ติดก้นหม้อจนแตกขณะเริ่มต้ม

พอน้ำเดือด หรี่เป็นไฟอ่อนที่สุดครับ แล้วค่อยๆ หย่อนไส้กรอกไข่ของเราลงไปเลย

ด้วยน้ำร้อนนิ่งๆ แบบนี้ ใช้เวลาต้มราว 45 นาที ไส้กรอกไข่ของเราจะสุกระอุดี ก็ตักเอาขึ้นมาวางให้เริ่มเย็น

ถ้าจะกินเป็นลูกรอกจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดแซ่บๆ อย่างที่ผมกินมื้อนี้ ก็หั่นเป็นท่อนสั้นๆ เอากลับลงไปลวกในหม้อเดิม เร่งไฟขึ้นได้เล็กน้อยครับ สักครู่เดียว เราจะแลเห็นความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นลูกรอกเก๋ๆ ชัดถนัดตา พอแก้เซ็งกับการทำกับข้าวแบบดาดๆ เดิมๆ ไปได้บ้างล่ะครับ

แต่ถ้าจะเอาไปทำกับข้าวอื่น เช่น ผัดเผ็ด ผัดจืด ต้มยำ ต้มจืด หรือพะโล้ ก็ต้องเอาไส้ที่เราหั่นนี้ ใส่ไปตอนหลังสุดเลยนะครับ มันบานเร็ว ถ้ารีบใส่ อาจจะบานมากจนแตกเสียรูปทรงได้

สูตรที่ผมทำนี้ ใช้ไข่หมดทั้งใบ แต่มีสูตรโบราณบางแห่ง ใช้เฉพาะไข่ขาวก็มี ลองดูซีครับ ว่าผลมันจะออกมาต่างกันยังไง หรือใครจะลองใช้ไส้ใหญ่ กระทั่งไส้เป็ดไส้ไก่ดูก็ไม่เลว

หาเรื่องสนุกๆ ง่ายๆ ทำกินกันเถอะครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

เมนูหนึ่งที่หลายคนมักจะสั่งติดโต๊ะไว้เสมอเวลาไปกินอาหารนอกบ้านคือ “เต้าหู้ทรงเครื่อง”

สาเหตุที่ชอบสั่งก็เพราะเผื่อให้เด็กๆ (ลูก หลาน) ที่พาไปด้วยได้กิน เพราะกินง่ายและได้ประโยชน์

ที่สำคัญ เหมาะกับการทำกินกันที่บ้านในช่วงทำงานจากที่บ้าน เพื่อหลบไวรัสแบบนี้

ส่วนผสม

เต้าหู้ไข่ 2 หลอด, เนื้อหมู 100 กรัม, หอมหัวใหญ่ 1/4 หัว, แคร์รอต 1/4 ถ้วยตวง, มะเขือเทศ 1 ลูก, แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1/2 ถ้วยตวง, แป้งข้าวโพด 1 ช้อนชา, ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ, ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา, น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา, ต้นหอม ผักชีสำหรับโรยหน้า, พริกไทยเล็กน้อย, น้ำเปล่า เล็กน้อย, น้ำมันสำหรับทอด

  วิธีทำ

  1. นำเนื้อหมูมาสับให้ละเอียด
  2. นำผักต่างๆ ล้างน้ำให้สะอาด นำแคร์รอต มะเขือเทศ หัวหอมใหญ่ มาหั่นเป็นชิ้นเต๋าเล็กพักไว้ ซอยต้นหอมและผักชีพักไว้
  3. นำเต้าหู้ไข่มาหั่นเป็นชิ้นๆ ขนาดไม่บางจนเกินไป เอาไปชุบแป้งสาลีอเนกประสงค์สำหรับทอดคลุกเคล้าให้ทั่ว (คลุกอย่างเบามือ ระวังเต้าหู้เละ) แล้วพักไว้
  4. ตั้งกระทะใส่น้ำมันปริมาณพอสมควร ใช้ไฟปานกลาง เมื่อน้ำมันร้อนให้ลดไฟลง นำเต้าหู้ที่เตรียมไว้ลงไปทอดให้พอเหลือง แล้วตักขึ้นพักไว้
  5. นำแป้งข้าวโพดผสมกับน้ำเปล่าเล็กน้อย คนให้เข้ากัน แล้วพักไว้
  6. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันเล็กน้อย พอเริ่มร้อนใส่เนื้อหมูสับลงไปผัดให้สุก ตามด้วยหัวหอมใหญ่และแคร์รอต ผัดให้สุกแล้วปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซีอิ๊วขาว น้ำตาล ต้นหอมและมะเขือเทศลงไป ตามด้วยแป้งข้าวโพดผสมน้ำ ผัดให้น้ำข้นเหนียว ใส่เต้าหู้ไข่ลงไป ปิดไฟ คลุกเคล้าเบาๆ ตักใส่จาน

โรยหน้าด้วยผักชี พร้อมอร่อย

ข้าวคลุกกะปิ เป็นอาหารจานเดียวของทางภาคกลาง ที่นำเอาข้าวก้นหม้อ หรือข้าวค้างคืนมาคลุกกับกะปิดีในครัว แล้วตั้งน้ำมันให้ร้อน ใส่กะปิลงไปผัดให้หอม ผัดให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ใส่ข้าวลงผัด ใช้ไฟแรงผัดให้เข้ากัน ตักข้าวขึ้นใส่จาน จัดเสิร์ฟพร้อมกับหอมแดงซอย กุ้งแห้งทอด กุนเชียงทอด พริกทอด หรือพริกขี้หนูซอย ไข่เจียวหั่นฝอย ถั่วฝักยาวซอย มะม่วงดิบสับเส้นยาว แตงกวา มะนาว และหมูหวาน จากนั้นก็แค่คลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน ได้รสชาติกลมกล่อมของข้าวผัดกะปิ เมนูอาหารจานเดียวที่อร่อยครบเครื่อง หอมหวนชวนหิวอย่างแน่นอน

อาหารหลักของคนไทยที่ขาดไม่ได้ในเกือบทุกมื้อ ก็คงหนีไม่พ้น ข้าว เพราะข้าวก็คือจุดเริ่มต้นของอาหารนั่นเอง คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก และเมื่อเรานำข้าวมาผัดกับกะปิได้รสชาติที่เข้ากันเกิดรสอร่อยรวมอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว พร้อมรสชาติที่ได้จากเครื่องเคียงที่ผสมผสานเข้ากัน จนทำให้เมนูข้าวคลุกกะปิจานนี้กลายเป็นเมนูโปรดของท่านไปเลย

สำหรับ กะปิ ถือว่าเป็นเครื่องปรุงก้นครัวของไทยมาแต่โบราณกาล ใช้ทำอาหารได้หลากหลายทั้ง แกง ผัด และปรุงเป็นน้ำพริก ให้รสชาติเค็ม และมีกลิ่นหอม ข้าวคลุกกะปิ เป็นอาหารจานเดียวของคนโบราณที่นำกะปิมาคลุกกับข้าวสวย แล้วกินกับเครื่องเคียงต่างๆ ที่มีรสอร่อยหลายรสในจานเดียว เช่น รสหวานจากหมูหวาน เปรี้ยวจากมะม่วง เผ็ดจากพริกขี้หนู และมีเนื้อสัมผัสทั้งกรอบจากกุ้งแห้งทอด และความนุ่มจากไข่เจียว

กะปิคุณภาพดี ต้องทำมาจากเคยที่นำมาหมัก มีแคลเซียมสูงมาก ช่วยบำรุงกระดูก ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่มีอยู่ในนม กะปิมีวิตามินบี 12 สูงมาก ซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงต้องมาจากอาหารที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย วิตามินบี 12 นั้นจะช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และยังมีไขมันโอเมก้า 3 ชนิดเดียวกับปลาทะเลน้ำลึก จึงช่วยเรื่องเส้นเลือดอุดตัน และโรคหัวใจได้อย่างดี

จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ใน “บันทึกความหิว” มีใจความว่า….ข้าฝันไปว่าเสด็จยายทรงปรุงข้าวคลุกกะปิให้กินอร่อยมาก

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ข้าวคลุกกะปิ นั้นน่าจะเป็นอาหารดั้งเดิมของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งจากต้นตำรับของข้าวคลุกกะปิ คือ ข้าวคลุกปลาดุกย่าง โดยทั้งข้าวคลุกกะปิและข้าวคลุกปลาดุกย่าง วิธีการทำและใช้เครื่องปรุงลักษณะเดียวกัน วิธีการทำไม่ยุ่งยาก และหาเครื่องปรุงได้ง่าย ลักษณะของข้าวคลุกกะปิต้องมีสีนวล มีรสชาติของกะปิ และมีกลิ่นหอม กะปิที่ใช้ต้องเลือกกะปิอย่างดี มีสีสวย สีไม่คล้ำมาก ข้าวที่ใช้ต้องเป็นข้าวที่หุงไม่แฉะ เม็ดสวย จึงนิยมใช้ข้าวเสาไห้ หรือข้าวหอมมะลิเก่า โดยหุงใช้น้ำน้อย สมัยโบราณท่านจะห่อกะปิด้วยใบตอง แล้วนำไปปิ้งไฟให้มีกลิ่นหอมก่อนนำมาคลุกกับข้าว ปัจจุบัน ใช้วิธีนำกะปิลงไปผัดในกระทะให้หอมแล้วคลุกกับข้าวเพื่อช่วยเพิ่มความหอมของกะปิ และทำให้เม็ดข้าวมีสีสวย เครื่องเคียงสำคัญของข้าวคลุกกะปิ ซึ่งจะขาดไม่ได้คือ กุ้งแห้งทอดกรอบ และเครื่องเคียงประกอบอื่นๆ ได้แก่ หมูหวาน ไข่เจียวหั่นฝอย หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย มะม่วงดิบ ผักชี และแตงกวา เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวคลุกกะปิ 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 549 กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นปริมาณพลังงานประมาณ 1 ใน 3 ของที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี ต่อวัน

ส่วนปริมาณโปรตีน จัดว่ามีค่อนข้างสูงคือประมาณ 25 กรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ซึ่งมาจากเนื้อหมู กุ้งแห้ง และไข่เจียว เป็นส่วนใหญ่

แต่เมื่อดูปริมาณไขมัน อาจถือได้ว่าข้าวคลุกกะปิเป็นอาหารจานเดียวที่ให้ปริมาณไขมันสูงไปบ้าง คือ พลังงานที่ได้จากไขมันมากกว่า ร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด หรือคิดเป็น ร้อยละ 43 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคทั้งวัน

สำหรับผู้ที่กินข้าวคลุกกะปิ 1 จาน คือ ถ้าเป็นเด็กหญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุที่ต้องการพลังงานวันละ 1,600 กิโลแคลอรี ไขมันวันละประมาณ 53 กรัม ข้าวคลุกกะปิ 1 จาน จะให้พลังงานพอดีสำหรับเป็นอาหาร 1 มื้อ แต่มีปริมาณไขมันที่ค่อนข้างมากเกินไป ดังนั้น จึงควรลดปริมาณไขมันที่จะกินในมื้อถัดไปลง ซึ่งอาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด อาหารที่ใส่กะทิ หรือกินอาหารเหล่านี้ให้น้อยลง

ข้าวคลุกกะปิ อาหารจานเดียวรสเด็ด

ข้าวคลุกกะปิ ที่นำข้าวสวยไปผัดคลุกเคล้ากับกะปิจนหอม เป็นเมนูที่เครื่องเคียงเยอะมาก  และสามารถกินได้ทุกอย่างที่อยู่ข้างๆ จาน ถึงแม้ว่าเป็นเมนูที่ต้องใช้เวลาทำ แต่ก็คุ้มค่าในการรอคอยที่จะได้กินในฝีมือตัวเอง หากเตรียมทุกอย่างพร้อม ไปดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลย

ส่วนผสม

  1.  หอมแดงสับ
  2.  หมูสามชั้น
  3. น้ำตาลปี๊บ
  4.  ซีอิ๊วขาว
  5.  ซีอิ๊วดำ
  6. กุนเชียง
  7.  ไข่ไก่
  8.  กะปิ
  9.  ข้าวสวย
  10.  พริกขี้หนูซอย
  11.  มะม่วงเปรี้ยว
  12.  กุ้งแห้ง
  13.  ถั่วฝักยาว
  14. หอมแดงซอย
  15.  แตงกวา
  16.  มะนาว

วิธีทำ

เตรียมเครื่องเคียงก่อน มีหมูหวาน กุนเชียงทอด ไข่ฝอย มะม่วงเปรี้ยวสับ มะนาวหั่นซีก หอมแดงซอย ถั่วฝักยาวซอย กุ้งแห้ง และแตงกวา

นำกระทะใส่น้ำมัน 2 ช้อนโต๊ะ นำหัวหอมแดงลงไปผัดจนหอม ใส่หมูสามชั้นลงไปผัดจนสุก จากนั้นใส่เครื่องปรุง น้ำตาลปี๊บ ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ลงไปผัดให้เข้ากัน เติมน้ำเล็กน้อย เคี่ยวหมูไปเรื่อยๆ ประมาณ 10 นาที เคี่ยวให้เหนียวเสร็จแล้วตักใส่ถ้วยแยกไว้

ทำไข่ฝอย ตีไข่ให้พอแตก ทอดด้วยไฟอ่อน ทอดจนสุกทั้งสองด้านแล้วนำขึ้นมาหั่นฝอยๆ

นำข้าวสวยมาคลุกกับกะปิ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อข้าว 2 ถ้วย คลุกบนกระทะด้วยไฟอ่อน หรือนำมาคลุกในชามแล้วใส่ถุงมือขยำ จัดเตรียมข้าวคลุกกะปิใส่จานและตกแต่งด้วยเครื่องเคียงที่เตรียมไว้ แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จสรรพ พร้อมรับประทานได้

จุดเด่นของอาหารไทยอย่างหนึ่งคือ รสชาติที่มีครบทั้งรส และกลิ่น คือ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด และหอมยั่วน้ำลาย อาหารจานเดียวที่มีครบเครื่องครบรสอย่าง ข้าวคลุกกะปิ เมนูโบราณที่ยุคปัจจุบันยังขายดิบขายดี ถูกจริตคนไทยมาโดยตลอด

ดังนั้น ข้าวคลุกกะปิ จึงเป็นเมนูโบราณที่ในยุคปัจจุบันยังได้รับความนิยม ด้วยเพราะเครื่องเคียงต่างๆ ที่อร่อยถูกอกถูกใจคนไทย และข้าวที่ใช้ทำต้องเป็นข้าวสวยที่หุงเสร็จต้องทิ้งไว้ให้แห้ง ข้าวมีเมล็ดร่วนสวย ไม่แฉะ ไม่เละ ส่วนกะปิที่ใช้ทำก็ต้องเป็นกะปิอย่างดี จึงจะทำให้ข้าวที่นำมาคลุกกะปิหอม อร่อย กินคู่กับหมูหวาน และสารพัดเครื่องเคียงที่เพิ่มเติมให้เมนูข้าวคลุกกะปิมีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม และยังมีรสชาติที่อร่อยยิ่งขึ้นอีกด้วย

สูตรอร่อยทานได้ทั้งครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ปลื้มการกินชีส และมักกะโรนีเป็นชีวิตจิตใจ บอกเลยว่าสูตรนี้โดน! กับสูตร “มักกะโรนีอบชีส” หอมอร่อยในเวลาแค่แป๊บเดียว
ส่วนผสม
  • มักกะโรนี 1 ถ้วย
  • เนื้อไก่ 100 กรัม
  • ไส้กรอกหั่นชิ้น 50 กรัม
  • มะเขือเทศ 1 ลูก
  • มอสซาเรลลาชีส
  • เชดด้าชีส หรือพาร์เมซานชีส
  • เนยสด 30 กรัม
  • แป้งสาลี 2-3 ช้อนโต๊ะ
  • นมสด 1 ถ้วย
  • หอมใหญ่สับ 2 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ
  • พริกไทยดำป่น
  • น้ำมันพืชเล็กน้อย
  • ซอสมะเขือเทศสำหรับเสิร์ฟ
วิธีทำ
  1. ตั้งน้ำให้เดือด เติมเกลือเล็กน้อย จากนั้นใส่มักกะโรนีลงต้มให้สุก ใช้เวลาประมาณ 8-10 นาที จากนั้นนำขึ้นจากหม้อ แช่ด้วยน้ำเย็น 1 ครั้ง แล้วใส่ถ้วยพักไว้ (สามารถใช้น้ำมันคลุกมักกะโรนีให้ไม่ติดกัน)
  2. ขั้นตอนต่อไป ตั้งกระทะด้วยไฟกลาง ใส่เนยสดลงไปผัดแทนน้ำมันจะมีกลิ่นหอมกว่า จากนั้นใส่หอมใหญ่สับ ผัดให้พอสุก ตามด้วยไส้กรอกและเนื้อไก่หั่นชิ้น ผัดพอสุก
  3. ใส่นมสด และแป้งสาลีตามลงไปผัดในกระทะ คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน
  4. ใส่เชดด้าชีส และพาร์เมซานชีส ลงไปผัด ตามด้วยมักกะโรนีต้มสุก ผัดจนส่วนผสมแห้ง (ระหว่างนี้สามารถเติมนมสดลงไปผัดได้)
  5. ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยป่นอีกเล็กน้อย ใส่ถ้วยสำหรับเข้าเตาอบ
  6. ฝานมะเขือเทศวางบนมักกะโรนีที่ผัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามด้วยมอสซาเรลลาชีสโรยหน้าปิดท้ายก่อนเข้าเตาอบ
  7. อบด้วยความร้อน 180 องศา โดยใช้ระยะเวลา 15 นาที
  8. เสิร์ฟพร้อมซอสมะเขือเทศ
หอมกรุ่นจากเตากับสูตร “มักกะโรนีอบชีส” จานนี้บอกเลยว่ากินเพลิน จนต้องทำกินอีกบ่อยๆ แน่นอน ที่สำคัญเป็นจานอร่อยที่เด็กๆ สามารถกินได้ด้วยล่ะค่ะ

ที่มา : Tesco Lotus

สถานการณ์การกักกันบริเวณไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น พื้นที่ตรงนี้ก็เลยยังจะพยายามเสนอสำรับกับข้าวที่ค่อนข้างปรุงง่าย ใช้วัตถุดิบน้อย เก็บได้นานวัน การอุ่นกินแต่ละครั้งทำได้สะดวก ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ายังพอมีตลาดสดเปิดขายอยู่ หรือกระทั่ง “รถพุ่มพวง” โภชนายานเคลื่อนที่ยังคงวิ่งเข้าออกตามตรอกซอกซอยในทุกหมู่บ้านย่านชานเมือง ทำให้ความมั่นคงทางอาหารดูจะยังไม่ถูกสั่นคลอนมากนักนะครับ

ถ้าจะมีอาหารจานเดียวที่ทำง่าย ใช้วัตถุดิบไม่กี่อย่าง อีกทั้งมีความหลากหลายของสูตรแยกออกไปมากมาย แต่ละสูตรก็มีความอร่อยต่างกัน จนไม่สามารถอ้าง “ความแท้” หรือแทบบอกไม่ได้ว่าจานไหนอร่อยกว่ากัน หนึ่งในนั้นก็ย่อมคือ “ข้าวหน้าไก่” ครับ

อันว่าข้าวหน้าไก่นี้ ผมได้กินตอนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ จานแรกๆ เมื่อสามสิบปีก่อน เป็นร้านแถวศาลาว่าการ กทม. ในจานข้าวหรือเส้นบะหมี่ลวกสุกนั้นมีใบผักกาดหอมรอง ราดน้ำไก่เขละๆ ชิ้นไก่หั่นสี่เหลี่ยมเล็กๆ โรยผักชี พริกไทยป่น กินกับน้ำส้มพริกดอง ซอสเปรี้ยว แกล้มพริกชี้ฟ้าหั่นแว่น ได้กลิ่นซีอิ๊ว น้ำมันหอย และน้ำตาลเคี่ยวไหม้ (caramel) ที่ไม่แรงมากนัก

จากนั้นได้กินอีกหลายร้าน อย่างที่บอกนะครับ ข้าวหน้าไก่มีความหลากหลายมากๆ ร้านที่หรูหราหน่อยจะมีไข่ดาวทอดไฟอ่อน กุนเชียงหั่นเคียงมาในจานข้าว บางทีก็เป็นเส้นหมี่ขาวลวก มีหลายร้านทำใหม่ๆ สดๆ เดี๋ยวนั้นเลย โดยใส่หน่อไม้บ้าง ยอดมะพร้าวบ้าง ไม่ได้เคี่ยวไก่ในหม้อซุปข้นๆ นานเป็นชั่วโมงๆ อย่างร้านที่คนเก่าๆ เขาชอบกินกัน

การตั้งไฟเคี่ยวไก่ในซุปข้นๆ แบบนั้น ทำให้สามารถเก็บ “หน้าไก่” ไว้ในตู้เย็นได้นาน เมื่อจะกิน ก็ตักออกมาอุ่นบนเตา ซุปจะกลับข้นหนืดเหมือนเดิม โดยรสชาติไม่เปลี่ยนไปมากนัก

ผมชอบหน้าไก่ของร้านย่านถนนงามวงศ์วาน นนทบุรี ซึ่งได้ยินว่าเดี๋ยวนี้เขาเลิกขายเสียแล้ว มันเป็นหน้าไก่ข้นๆ สีอ่อน รสชาติอ่อนๆ ไม่หวานเลยครับ แม้จะเคี่ยวไว้นาน แต่เนื้อไก่เขานุ่มดี ที่สำคัญเขาเสิร์ฟกับน้ำปลาพริกขี้หนูมะนาว โดยพริกขี้หนูสวนสีเขียวถูกหั่นซอยละเอียดยิบ นับเป็นวัฒนธรรมการกินข้าวหน้าไก่ที่โบราณจริงๆ

พอผมชอบแบบนั้น ก็เลยลองทำดู แต่สูตรที่จะชวนทำวันนี้คงไม่เหมือนร้านเขาเป๊ะๆ หรอกครับ เพราะผมก็ลองปรับจากสูตรของ พี่หมึกแดง-ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ บ้าง สูตรของร้านสุขวดี เชิงสะพานพระราม 8 ที่เลิกขายไปแล้วบ้าง แถมใส่อะไรที่ผมชอบเข้าไปอีกนิดหน่อย ก็ได้ออกมาเป็นหน้าไก่รสอ่อนๆ ที่ถ้าใครทำกินแล้วชอบใจ ว่ามันทำง่ายดี ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มนู่นนี่นั่นเข้าไปให้อร่อยในแบบของตัวเองได้เสมอครับ

ผมใช้ไก่ส่วนสะโพก เลาะเอาหนังและริ้วมันเปลวไก่ออกไปเจียวในกระทะ จนได้น้ำมันไก่หอมๆ

ส่วนเนื้อสะโพกแน่นๆ เด้งๆ ที่เลาะจากกระดูกนั้น หั่นชิ้นลูกเต๋าเล็กๆ หมักซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำเค็ม เกลือ เหล้าจีนเล็กน้อย เต้าเจี้ยวดำตำละเอียด น้ำมันงา และแป้งมันสำปะหลัง ทิ้งไว้ในตู้เย็นราว 1-2 ชั่วโมง

กระดูกไก่เราไม่ปล่อยให้เสียเปล่าครับ เอาลงต้มในหม้อน้ำ ใส่ขิงแก่หั่นแว่น รากผักชีทุบ พริกไทยดำบุบเล็กน้อย ปรุงด้วยเกลือ ต้มเคี่ยวไปสัก 1 ชั่วโมง จนรสหวานของกระดูกไก่ออกมารวมกับกลิ่นขิงและรากผักชีดีแล้ว ก็กรองเอาแต่น้ำ

ละลายแป้งมันกับน้ำในถ้วย เตรียมไว้เติมความข้นในตอนท้าย

เริ่มทำโดยตั้งกระทะน้ำมันไก่ให้ร้อน เอาเนื้อไก่หมักลงผัดกลับไปกลับมาสักครู่ พอไก่สุก เติมน้ำตาลอ้อยนิดเดียว จากนั้นเทน้ำซุปที่กรองไว้ใส่ให้ท่วม พอเดือดจึงหรี่เป็นไฟกลางค่อนข้างอ่อน ซุปจะเดือดเบาๆ เราก็ชิมรสดูครับ อย่าให้เค็มหรือหวานเกินไป มันจะมีกลิ่นซีอิ๊วขาว น้ำมันงา และกลิ่นขิงลอยอ้อยอิ่งอยู่เพียงอ่อนๆ

ทีนี้ใส่น้ำละลายแป้งมัน จนซุปข้นอย่างที่ต้องการ แล้วเคี่ยวต่ออีกสักพัก ก็จะได้หน้าไก่รสอ่อนใส มีความข้นชวนให้ตักไปราดข้าว หรือราดเส้นหมี่กิน โดยทำน้ำปลาพริกดีๆ สักถ้วย แต่งหน้าด้วยผักชี แตงกวา จะเพิ่มกุนเชียงกับไข่ดาวหรือไม่ก็ตามใจนะครับ แต่อย่าลืมพริกชี้ฟ้าหั่นแว่นล่ะ มันจะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาก

ทำหม้อใหญ่หน่อย เก็บไว้กินได้หลายมื้อนะครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย