“หน่อไม้” มักอยู่ในรายชื่ออาหารที่ผู้หลักผู้ใหญ่มักไม่แนะนำให้ลูกหลานรับประทาน รวมถึงตัวเองด้วย ด้วยความเชื่อว่า หน่อไม้อันตราย เป็นอาหารแสลง ก่อให้เกิดโรคอันตราย เป็นแผลก็จะยิ่งทำให้แผลแย่ลง โดยเฉพาะหลังผ่าตัด รวมถึงยังเป็นสาเหตุของโรคอันตรายอย่าง “โรคมะเร็ง” อีกด้วย

แต่อันที่จริงแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน?

หน่อไม้ เป็นหน่ออ่อนของไผ่ที่แตกจากเหง้าใต้ดินมีลักษณะสีเหลืองอ่อน รสสัมผัสกรุบกรอบ ราคาย่อมเยา สามารถนำมาปรุงอาหารได้อย่างหลากหลาย ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด และยังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ไม่ใช่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น

หน่อไม้ อันตรายจริงหรือ?

หน่อไม้ มีทั้งประโยชน์ และโทษ หากเลือกกินอย่างเหมาะสม ก็สามารถให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ แต่หากินหน่อไม้ไม่ถูกวิธี ไม่มีความระมัดระวังในการกิน ก็อาจเป็นโทษต่อร่างกายได้จริงๆ

หน่อไม้ที่เราบริโภคกัน มีอยู่หลายประเภท

หน่อไม้ดิบ

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หน่อไม้ดิบหรือหน่อไม้ที่ยังปรุงไม่สุก อาจได้รับพิษจาก

สารไซยาไนด์ ซึ่งมีอยู่ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย สามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก สารไซยาไนด์จะจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดง (hemoglobin) แทนที่ออกซิเจนทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน หมดสติและอาจทำให้เสียชีวิตได้

ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหน่อไม้ดิบ นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กล่าวว่า การบริโภคหน่อไม้ที่ต้มสุกจะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการได้รับสารไซยาไนด์ แต่หากอุณหภูมิและระยะเวลาในการต้มไม่เหมาะสมก็ไม่สามารถลดปริมาณสารชนิดนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคก่อนที่จะนำหน่อไม้ไปบริโภคควรปรุงให้สุก ด้วยการต้มหน่อไม้ในน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งสามารถลดปริมาณสารไซยาไนด์ลงได้ถึงร้อยละ 90.5

หน่อไม้ดอง

หน่อไม้เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่นิยมนำมาหมักดองเพื่อการเก็บรักษาอาหารเอาไว้ให้ได้นานยิ่งขึ้น โดยมักทำการดองเอาไว้ในปิ๊บเป็นเวลาหลายเดือน หากขั้นตอนการหมักดองไม่สะอาดเพียงพอ จะเกิดเป็นเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum เจริญเติบโตอยู่ในหน่อไม้ที่อยู่ในปี๊บ หากทำมาปรุงอาหารด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ อาจได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ท้องเสีย หากสารพิษโบทูลินเริ่มซึมจากระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่กระแสเลือดและระบบประสาท อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อหนังตา ลูกตา ใบหน้า การพูดการกลืนผิดปกติ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หายใจไม่ออก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ หน่อไม้ที่สะอาด และปรุงสุกด้วยความร้อน ปลอดภัยในการบริโภคก็จริง แต่ยังมีคนบางประเภทที่ไม่ควรบริโภคหน่อไม้มากจนเกินไป ได้แก่

  1. ผู้ป่วยโรคเกาต์ เพราะหน่อไม้มีสารพิวรินสูง อาจจะทำให้กรดยูริกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์สูงขึ้น
  2. ผู้ป่วยโรคไต ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกมากเกินไป (เช่น หน่อไม้) เพราะอาจมีปัญหาในการขับกรดยูริกส่วนเกินออกไปจากร่างกายไม่ได้

หน่อไม้ ปลอดภัยกว่าที่คิด

แม้ว่าจะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่ควรบริโภคหน่อไม้ แต่ในคนที่มีสุขภาพปกติดี รวมถึงผู้ป่วยเหล่านี้ สามารถรับประทานหน่อไม้ได้

  • ผู้ป่วยเบาหวาน หน่อไม้ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดแต่อย่างใด
  • ผู้ป่วยโรคตับ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบ หรือตับแข็ง ก็สามารถรับประทานหน่อไม้ได้ ไม่มีผลกระทบต่ออาการของโรค
  • ผู้หญิงที่มีประจำเดือน มีระดูขาว หน่อไม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดระดูขาวในผู้หญิงแต่อย่างใด
  • ผู้ที่มีแผล หลังผ่าคลอด หลังผ่าตัด หน่อไม้ไม่ได้มีส่วนทำให้แผลอักเสบ หายช้า หรือติดเชื้อใดๆ เช่นกัน
  • หน่อไม้ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแต่อย่างใด (ยกเว้น หน่อไม้ฝรั่ง ที่สารแอสพาราจีน (Asparagine ) ซึ่งมีอยู่ในหน่อไม้ฝรั่งและอาหารอีกหลายชนิด เป็นตัวการที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งเต้านมแพร่กระจายและเจริญเติบโตลุกลามไปทั่วร่างกายได้มากยิ่งขึ้น)

ข้อมูลทางโภชนาการของหน่อไม้

คุณค่าทางสารอาหารของหน่อไม้ ปริมาณ 100 กรัม

  • แคลอรี (kcal) 27
  • ไขมันทั้งหมด 0.3 g
  • ไขมันอิ่มตัว 0.1 g
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.1 g
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่เดี่ยว 0 g
  • คอเลสเตอรอล 0 mg
  • โซเดียม 4 mg
  • โพแทสเซียม 533 mg
  • คาร์โบไฮเดรต 5 g
  • เส้นใยอาหาร 2.2 g
  • น้ำตาล 3 g
  • โปรตีน 2.6 g
  • วิตามินเอ 20 IU
  • วิตามินซี 4 mg
  • แคลเซียม 13 mg
  • เหล็ก 0.5 mg
  • วิตามินดี 0 IU
  • วิตามินบี 6 0.2 mg
  • วิตามินบี 12 0 µg
  • แมกนีเซียม 3 mg

ประโยชน์ของหน่อไม้

หน่อไม้มีกากใยอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ลดความเสี่ยงอาการท้องผูก นอกจากนี้ยังมีแคลอรี่ต่ำ จึงสามารถรับประทานได้ และเหมาะสำหรับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีโปรตีน โพแทสเซียม วิตามินเอ และแคลเซียมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักว่า หน่อไม้ที่กินแล้วมีประโยชน์ ต้องเป็นหน่อไม้ปรุงสุก หน่อไม้ดอง (ที่สะอาด) มีคุณค่าทางสารอาหารต่ำกว่า แต่ไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกายมากอย่างที่กลัวกัน และไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ควรรับประทานหน่อไม้มากเกินไป ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกรับประทานอาหารอย่างหลากหลายจะดีกว่า

ที่มา : Sanook

หลายคนอาจเคยผ่านหูผ่านตากับกระแสข่าวในสังคมออนไลน์ถึง “ผัก 5 ชนิดห้ามกินดิบ” เพราะมีสารที่อาจก่ออันตรายได้ ประกอบด้วยกะหล่ำปลี ถั่วงอก หน่อไม้และมันต่างๆ ถั่วฝักยาว และผักโขม แต่ทราบหรือไม่ว่า ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร เนื่องจากผักเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการและสารสำคัญช่วยป้องกันโรคบางชนิดเช่นกัน

ผศ.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตอบข้อสงสัยในประเด็นข้างต้นว่า จริงๆ แล้วผักทั้ง 5 ชนิด ไม่ได้ห้ามรับประทานดิบโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ว่าผู้ป่วยบางกลุ่มอาจต้องระวัง ประกอบด้วย

1.กะหล่ำปลี ข้อจำกัดของการห้ามกินดิบ คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ โดยในกะหล่ำปลี จะมีสารชื่อกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้สร้างฮอร์โมนธัยรอกซินได้น้อยกว่าปกติ หรือทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำยิ่งขึ้น แต่หากนำกะหล่ำปลีไปผ่านความร้อน สารกอยโตรเจนก็จะสลายไปได้

“แต่สำหรับคนปกติที่ร่างกายไม่มีปัญหาอะไร ก็สามารถกินได้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วกะหล่ำปลีมีประโยชน์ เพราะมีสารที่เรียกว่า ไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) เป็นสารที่สามารถกระตุ้นเอนไซม์ทำลายสารพิษได้ ที่สำคัญยังมีสารพฤกษเคมี (Phytochemical) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอีก

แต่หากกังวลสารกอยโตรเจน ก็อาจนำไปนึ่งผ่านความร้อนเล็กน้อย สารกอยโตรเจนก็จะหายไปบ้าง ในขณะที่สารไอโซไทโอไซยาเนตจะสลายไปเล็กน้อยก็ไม่เป็นอันตรายกับคนปกติ” ผศ.ชนิพรรณกล่าว และว่า ที่ต้องกังวลคือ กะหล่ำปลีอาจมีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างได้ ดังนั้น ก่อนนำมารับประทานต้องล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนด้วย

2.ถั่วงอก ที่ห้ามกินดิบเพราะอาจมีเชื้อจุลินทรีย์หรือสารฟอกขาวปนเปื้อนได้ เนื่องจากเมื่อเพาะถั่วงอกจะต้องอาศัยความชื้น ซึ่งเหมาะที่จุลินทรีย์จะเติบโตได้ง่าย อย่างพวกเชื้อซัลโมเนลลา และเชื้ออีโคไล ซึ่งหากกินดิบ โดยล้างไม่สะอาดก็อาจรับเชื้อเหล่านี้ ดังนั้น ทางที่ดีหากจะกินดิบ ก็ควรแช่น้ำด่างทับทิมก่อนเพื่อฆ่าจุลินทรีย์ แต่หากไปกินตามร้านอาหาร ก็ไม่แน่ใจว่าจะสะอาดหรือไม่ ยิ่งในคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างเด็กเล็ก หรือหญิงตั้งครรภ์ก็ย่อมเสี่ยงรับเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนร่างกายแข็งแรง

3.ถั่วฝักยาว ต้องระวังพวกสารกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากหากมีการฉีดสารเคมีป้องกันพวกแมลงศัตรูพืชนั้น ปกติจะต้องทิ้งไว้ประมาณ 7 วันเพื่อให้สารสลายไปเองตามธรรมชาติ แต่เราไม่รู้ว่ามีการทิ้งระยะการเก็บหลังฉีดพ่นยาตามระยะเวลาดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากมีการปนเปื้อนจะเป็นอันตราย เนื่องจากสารที่ใช้คือโมโนโครโตฟอส (monocrotophos) ถั่วฝักยาวจะดูดซึมสารเคมีนี้ไว้ภายใน การล้างจากภายนอกอาจไม่เพียงพอ ซึ่งหากจะรับประทานนอกจากล้างน้ำภายนอกแล้ว ต้องแช่น้ำทิ้งไว้สัก 5 นาที โดยอาจทำ 2 ครั้ง หรืออาจหักเป็นท่อนๆ ก่อนล้างเพื่อให้สารเคมีออก

4.หน่อไม้ดิบ รวมทั้งมันสำปะหลัง พวกนี้จะมีสารไซยาไนด์อยู่ตามธรรมชาติ ปกติจะไม่กินดิบกัน เพราะร่างกายจะขับสารพิษออกมาได้น้อยมาก ดังนั้น จึงต้องนำไปต้มในน้ำเดือด เพื่อให้ขับสารพิษเหล่านี้ออก อย่างไรก็ตาม หากเผลอกินเข้าไป สารไซยาไนด์จะไปจับเม็ดเลือดแดงทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และถึงตายได้ เหมือนที่เป็นข่าวหน่อไม้ปี๊บนั่นเอง ดังนั้น หากจะทานก็ต้องนำไปต้มในน้ำเดือด ซึ่งหากต้มประมาณ 10 นาที จะช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 90%

5.ผักโขม จริงๆ ผักโขมกินดิบ ไม่ได้ส่งผลอันตราย เพียงแต่มีสารต้านโภชนาการ อย่างกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) จะไปต้านการดูดซึมธาตุเหล็ก และแคลเซียม ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก และแคลเซียม แต่สำหรับคนปกติไม่มีปัญหา และในกรณีที่กินคนละมื้อ อย่างหากกินผักโขมดิบในมื้อเช้า และไปกินอาหารชนิดอื่นที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมในมื้ออื่นๆ ก็ไม่มีผลต่อการดูดซึมแต่อย่างใด

ดังนั้น การกินผักทั้ง 5 ชนิดนั้น หากต้องการกินดิบ ก็ต้องมีข้อควรระวัง แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามกินเลย และในผู้ป่วยบางกลุ่มโรคก็ต้องระมัดระวัง หากปฏิบัติตามหลักโภชนาการและแนวทางการบริโภคอาหารปลอดภัยก็ไม่ต้องกังวลแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมว่าหลักโภชนาการที่ดีคือ กินอย่างหลากหลาย ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่มา : มติชนออนไลน์