พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปเที่ยวต่าง จังหวัด ซึ่งระหว่างการเดินทางผู้ขับรถอาจเหนื่อยล้า อ่อนเพลียระหว่างขับขี่คลายความเมื่อยล้าด้วยการเลือกกินผลไม้ที่เป็นแหล่ง วิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง ฯลฯ เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าที่มาจากความเครียดและกังวลขณะขับรถ แต่การกินฝรั่งต้องระวังในเรื่องท้องอืด อาจจะเลือกกินแอปเปิ้ลมะม่วงดิบ สับปะรด ส้ม จะบรรเทาความง่วงได้อย่างดีอาหารประเภทกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ถั่วเหลือง อาหารทะเล ไข่ จะช่วยให้มีพลังกระฉับกระเฉง ตื่นตัวควรเลี่ยงกินอาหารประเภทข้าวแป้ง-น้ำตาล เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว และข้าวเหนียวในปริมาณมากเกินไป เพราะการกินข้าว-แป้งในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายหลั่งสารซีโรโทนินออกมาในสมอง นอกจากอาหารประเภทกลุ่มข้าว-แป้งแล้วก็ยังมีผลไม้จำพวกกล้วยหอม จะทำให้อารมณ์ของบุคคลรู้สึกสงบเยือกเย็น ลดภาวะวิตกกังวล และบางคนก็มีปฏิกิริยามากถึงขั้นง่วงซึมได้

พญ.อัมพร กล่าวต่อไปว่า การกินคาร์โบไฮเดรตประเภทของหวานและน้ำตาลสูง เช่น เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม เค้ก คุกกี้ แต่กินผักผลไม้และธัญพืชน้อยจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดมีความรู้สึกอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ควรหลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก กะหล่ำปลีดิบ ดอกกะหล่ำ ถั่ว บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง ถั่วเปลือกแข็ง และเครื่องดื่มที่มีฟอง เช่น โซดา มีผลทำให้ท้องอืดเฟ้อและง่วงนอน ไม่กินอาหารเร็วเกินไปหรือกินอาหารในปริมาณมากเกินไป เลี่ยงกินอาหารมัน แกงกะทิหรือกินอาหารที่มีรสเผ็ดไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำอัดลมมากเกินไป ควรเลือกกินอาหารให้ตรงเวลากินอาหารที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้สม่ำเสมอในปริมาณเหมาะสม เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช (โฮลวีต) ธัญพืชและเลือกกินแหล่งอาหารโปรตีนที่ย่อยง่าย ในปริมาณที่เหมาะสม พอดี พออิ่ม เน้นผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ที่สำคัญงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากแวะพักดื่มกาแฟคลายง่วงระหว่างทางขอให้เลือกสูตรหวานน้อย

“ทั้งนี้ ก่อนขับรถทางไกลทุกครั้ง ผู้ขับควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วงและสวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ ที่สำคัญควรตรวจสภาพของรถยนต์ให้พร้อมใช้งานปรับการนั่งขับรถให้ถูกต้อง โดยเลื่อนเบาะที่นั่งให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับตนเอง หลังพิงพนักพอดี ไม่นั่งห่างหรือชิดพวงมาลัยมากเกินไปเพราะจะทำให้หลังโค้ง พิงพนักไม่ได้ หรือพิงได้แต่เวลาขับต้องเหยียดแขนและเข่ามากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากปวดหลังเป็นเวลานานและไม่มีการดูแลอย่างถูกวิธี อาจทำให้เสี่ยงปวดหลังถาวรได้ ส่วนผู้ที่ขับรถทางไกลก็ควรหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง ยืดเหยียดร่างกาย เพื่อลดความเมื่อยล้า ก่อนเดินทางต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 


ที่มา มติชนออนไลน์