ที่กรมธนารักษ์ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน เป็นวันแรกที่กรมธนารักษ์เปิดให้จ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นวันแรก ณ หน่วยรับและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร ,หน่วยรับและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ สำนักบริหารเงินตรา ถนนจักรพงษ์ , หน่วยรับและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ สำนักบริหารเงินตรา จังหวัดปทุมธานี และศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ของกรมธนารักษ์ (HUB) 6 แห่ง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ สงขลา และสุราษฎร์ธานี พบว่าประชาชนให้ความสนใจแลกเหรียญล็อตแรกกันเป็นจำนวนมาก
นายพชร กล่าวว่า ในวันแรกที่เปิดให้แลกเหรียญ กรมจัดเป็นชุดเพื่อความสะดวกของประชาชน ราคา 1,005 บาท ประกอบด้วยเหรียญชนิดราคา 10 บาทจำนวน 40 เหรียญ ชนิดราคา 5 บาทจำนวน 40 เหรียญ ชนิดราคา 2 บาทจำนวน 100 เหรียญ ชนิดราคา 1 บาทจำนวน 100 เหรียญ ชนิดราคา 50 สตางค์จำนวน 200 เหรียญ และชนิดราคา 25 สตางค์จำนวน 20 เหรียญ สำหรับเหรียญตั้งแต่ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์นั้นไม่ได้เปิดให้ประชาชนแลก เพราะเป็นเหรียญใช้ในทางด้านบัญชีเท่านั้น โดยเหรียญชุดเปิดให้แลกไปจนถึงช่วงก่อนสงกรานต์ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนที่ต้องการเก็บไว้สะสม อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถมาแลกเหรียญในแต่ละชนิดไปใช้หมุนเวียนปกติ ซึ่งกรมเริ่มจ่ายเหรียญให้กับร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 เมษายน 61
“เตรียมเหรียญชุดไว้ในวันแรกประมาณ 3,000 ชุดเพื่อให้แลกแต่ละหน่วย คิดว่าน่าจะเพียงพอ ถ้าไม่พอสามารถเสริมได้อีก โดยเหรียญที่เปิดให้แลกนี้เป็นเหรียญหมุนเวียนที่ผลิตออกมาเรื่อยๆ ในปีนี้เตรียมเหรียญไว้ถึง 2,300-2,400 ล้านเหรียญ เพราะคาดว่าจะมีประชาชนแลกเพื่อนำไปเก็บสะสมไว้ จากปกติกรมจะผลิตเหรียญหมุนเวียนปีละ 1,300 ล้านเหรียญ”นายพชร กล่าว
ด้านนางสาวปวีณา เรืองศรี ประชาชนที่มารอคิวแรก กล่าวว่า เดินทางมาพร้อมเพื่อนคือ นางสาวธันยพร นิธิสุนทรพงษ์ โดยตนเดินทางมาจากแถวแจ้งวัฒนะ เพื่อมาหาเพื่อนแถวสะพานควาย และเดินทางมารอคิวตั้งแต่ตี 4 ตั้งใจอยากแลกเหรียญเป็นคิวแรกของล็อตแรก รู้สึกดีใจมากที่สามารถแลกเหรียญเป็นคิวแรกได้ โดยนำเหรียญชุดดังกล่าวเก็บสะสมไว้ เพราะที่ผ่านมานิยมสะสมเหรียญ และธนบัตร เพื่อเอาไว้เป็นสมบัติให้ของลูกหลาน หลังจากแลกเหรียญแล้วจะเดินทางไปแลกธนบัตรยังธนาคารต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์