จำนวนผู้เสียชีวิตและป่วยด้วยโรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สำหรับในประเทศไทยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2559 ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกว่า 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน1 อีกทั้งยังเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับสอง รองจากโรคมะเร็ง2 ทั้งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เพราะโรคหัวใจเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเรา เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด และความอ้วน
นายแพทย์วิวัฒน์ แสงเลิศศิลปชัย จากศูนย์หัวใจโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ระบุถึงโรคหัวใจว่า การที่อวัยวะทุกส่วนของร่างกายจะทำหน้าที่ได้ดีนั้น หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอโดยไม่สะดุด ดังนั้นหากหัวใจเราไม่แข็งแรง การทำงานของระบบอื่นๆ ในร่างกาย ก็จะสะดุดตามไปด้วย เรียกได้ว่าหัวใจเป็นศูนย์กลางของระบบอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายทั้งหมด
โรคหัวใจนับเป็นปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนและสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งนายแพทย์วิวัฒน์ได้กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันดูแลตนเองต่างๆ ดังนี้
1. กรรมพันธุ์และอายุที่มากขึ้น
กรรมพันธุ์และอายุที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถตระหนักรู้ถึงผลจากสองสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงในการเป็นโรคก็มากขึ้นตามไปด้วย และหากบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายป่วยเป็นโรคหัวใจ ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจของเราก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อตรวจหาภาวะความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งเรารู้ตัวว่ามีแนวโน้มเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ยิ่งควรต้องมีวินัยใส่ใจตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะรักษาได้ทันเวลาและเพิ่มโอกาสในการรักษา
2. การรับประทานอาหาร
การรู้จักเลือกรับประทานอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเรารับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย เราก็จะสุขภาพดีตามไปด้วย รวมทั้งทำให้ร่างกายสมดุล ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรคหัวใจด้วยเช่นกัน เพราะโรคหัวใจเกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และความอ้วน ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง แต่อย่างไรก็ตามจะไม่รับประทานไขมันเลยก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะร่างกายก็จะขาดพลังงาน ทุกสิ่งจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล
“ในหนึ่งวันเราควรรับประทานปริมาณไขมันให้อยู่ระหว่าง 15-30% จากปริมาณแคลอรี่ที่เราบริโภคทั้งวัน และใน 15-30% ของปริมาณไขมันนั้น ควรเป็นไขมันดีหรือไขมันประเภทไม่อิ่มตัวมากกว่าครึ่งของปริมาณไขมันที่บริโภคทั้งหมด โดยไขมันดีหรือไขมันประเภทไม่อิ่มตัวนั้น มีคุณสมบัติในการลดไขมันไม่ดีในเลือดหรือโคเลสเตอรอลตัวร้ายอย่าง LDL ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดี ได้แก่ น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน อโวคาโด และถั่ววอลนัท เป็นต้น” นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าวเสริม
3. การไม่ออกกำลังกาย
ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน ทำให้หลายๆ คนละเลยการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากพอๆ กับการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกายทุกวัน เพียงวันละ 30 นาที จะส่งผลดีต่อการช่วยควบคุมน้ำหนัก สลายไขมันส่วนเกิน รวมถึงช่วยลดความเครียดจากการทำงาน ช่วยให้จิตแจ่มใส และนอนหลับได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
“หากเราไม่สามารถจัดสรรเวลาออกกำลังกายได้ทุกวันจริงๆ ในฐานะแพทย์ ผมแนะนำให้ออกกำลังกายให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งเราสามารถแบ่งสรรเวลาความมาก-น้อย ในแต่ละครั้งแต่ละวันได้ตามความสะดวกของตนเอง แต่ไม่ควรมาออกกำลังกายทั้ง 150 นาที ในหนึ่งวัน ควรเฉลี่ยให้เหมาะสมไปในแต่ละครั้ง ซึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวถึงข้อแนะนำในประเภทกีฬาหรือการออกกำลังกายของแต่ละคนโดยเฉพาะ เพราะโรคหัวใจมีหลายประเภท กีฬาบางประเภทอาจเหมาะกับผู้ป่วยบางคน แต่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยอีกคน ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคหัวใจที่แต่ละคนเป็นด้วย” นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าว
ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาดูแลและป้องกันการเกิดโรคหัวใจก่อนที่จะสายเกินไป เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการบริโภคและการดำเนินชีวิต ดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเราให้มากขึ้น หมั่นหาเวลาออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ เพียงเท่านี้เราก็รู้เท่าทันและห่างไกลกับการเป็นโรคหัวใจแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก แบรนด์น้ำมันมะกอก เบอร์ทอลลี่®