Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

การประทับพระราชยาน ในกระบวนพยุหยาตรา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “ความทรงจํา” เกี่ยวกับการประทับพระราชยานเสด็จพระราชดําเนินไปยังที่ต่างๆ ซึ่งโดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) จะประทับเพียงลําพังพระองค์ แต่ในบางคราวก็โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสพระราชธิดาที่ยังทรงพระเยาว์โดยเสด็จไปบนพระราชยานด้วย

“…ถ้าเสด็จไปด้วยมีกระบวนแห่มักทรงพระราชยาน แต่แรกฉันขึ้นวอพระที่นั่งรองตามเสด็จ ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าลูกเธอที่เคยขึ้นพระราชยานรุ่นก่อนทรงพระเจริญ พระองค์หนักเกินขนาด โปรดให้เปลี่ยนชุดใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ฉันอยู่ในพระราชยานตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ มาจนสิ้นรัชกาล พระเจ้าลูกเธอที่ได้ขึ้นพระราชยาน เป็นชุดเดียวกันรวม 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ กับสมเด็จพระวัสสาฯ สองพระองค์นี้ประทับบนพระเพลา หรือถ้าไปทางไกลก็ประทับข้างซอกขนอง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับตัวฉันนั่งเคียงกันข้างหน้าที่ประทับ

เรื่องขึ้นราชยานฉันจําได้ไม่ลืม เพราะเคยตกพระราชยานครั้ง 1 เมื่อตามเสด็จงานวัดหงส์ ในปีเถาะ พ.ศ. 2410 ขากลับเสด็จขึ้นพระราชยานที่ท่าราชวรดิษฐ์ เห็นจะเป็นด้วยฉันง่วงนั่งหลับมาในพระราชยาน เมื่อผ่านประตูกําแพงแก้วพระที่ดุสิตมหาปราสาท ทางด้านตะวันออก พอคนหามพระราชยานลงบันได ข้างหน้าพระราชยานต่ำลง ฉันก็พลัดตกลงมา จมื่นจง (โต- ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระยาบําเรอ เลื่อนเป็นพระยาวิเศษสัจธาดาในรัชกาลที่ 5) อุ้มส่งขึ้นนั่งอย่างเดิม ไม่ได้เจ็บปวดชอกช้ำอันใด…

…เรื่องตกพระราชยานนี้ชอบกล เจ้าพี่ท่านได้ขึ้นพระราชยานมาก่อน บางพระองค์ก็เคยตก ใครตกก็จําได้ไม่ลืม เพราะนานๆ จะมีสักครั้ง 1 แต่ประหลาดที่มามีเหตุเช่นนั้นแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ในรัชกาลที่ 5 ครั้งตามเสด็จไปวัดกลางเมือง สมุทรปราการ เวลานั้นฉันเป็นราชองครักษ์เดินแซงไปข้างพระราชยาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ขึ้นพระราชยานแต่พระองค์เดียว ประทับพระยี่ภูข้างหน้าที่ประทับ เมื่อกระบวนแห่เสด็จถึงวัด จะไปที่หน้าพระอุโบสถ แต่พอผ่านศาลาโรงธรรมที่พวกพ่อค้าตั้งแถวคอยเฝ้า มีผู้ชูฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ดํารัสสั่งให้หยุดพระราชยานเพื่อจะทรงรับฎีกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เห็นจะกําลังเผลอพระองค์ พอพระราชยานหยุดชะงักก็พลัดตกลงไปข้างหน้า เป็นครั้งหลังที่สุดที่เจ้านายตกพระราชยาน…”

นอกจากนั้นยังพบความในบันทึกของ จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “…ทรงเล่าอย่างขันๆ ว่า ไม่มียานพาหนะใดที่จะนั่งด้วยอาการเป็นคิงแท้ๆ เท่าราชยาน เพราะหาความสุขสบายมิได้เลย ทรงตรัสว่าที่นั่งกว้างพอดีกับพระที่นั่ง (คือ ก้นของท่าน) ที่วางพระบาทมีเฉพาะเพียงพระบาททั้งคู่วางชิดๆ กันได้ไม่ตก แต่หมิ่นเต็มที่ บางทีต้องไขว้และก็ต้องไขว้ซ้ายบนบ้าง ขวาบนบ้าง เรียงคู่บ้าง สลับกันไป เช่นนี้ตลอดทาง ไม่มีทางทําอย่างอื่นได้ เพราะบางคราวทรงนึกจะไขว่ห้างก็ไม่กล้าทํา เพราะเกรงจะไม่เหมาะสม

สองข้างบัลลังก์ยังเป็นกระจังทําด้วยทอง บางที่แกะด้วยไม้มีกนกแหลมๆ เต็มไปหมด วางพระกรเข้าก็เจ็บ ไม่วางก็ไม่รู้จะวางที่ไหน ต้องทน ขยับเขยื้อนได้ยากเต็มที่ เพราะที่จํากัด และลอยอยู่ด้วยพลังของคน ถ้าขยับเขยื้อนรุนแรงข้างล่างก็เดือดร้อน ดีไม่ดีพลิกคว่ำลงเป็นเสร็จ ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่แล้ว

รับสั่งว่า บางทีเป็นเหน็บทั้งขา ต้องขยับให้หายชา แล้วทรงกระดิกพระดัชนีให้พระโลหิตเคลื่อน พอค่อยทุเลา นั่งพิงอย่างสบายก็ไม่ได้ เสียทรง ทําให้ไม่งาม ท่านว่าทูลกระหม่อม คือ หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เคยสอนไว้ว่า นั่งราชยานต้องดัดทรงเป็นละคร คือ ดันกระเบนเหน็บให้ตัวตรง แล้วคิดดูซิ ประทับอยู่บนนั้นตั้งชั่วโมง

หมายเหตุ : ข้อมูลจากอาจารย์วรชาติ มีชูบท. “กระบวนพยุหยาตรา และ กระบวนราบ”, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2560