Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

คลองด่าน ย่านข้าหลวงเดิม

คลองด่าน ย่านข้าหลวงเดิม

พระพุทธมหาจักรพรรดิ ภายในพระอุโบสถ             วัดนางนองวรวิหาร

วัดเก่าแก่ใหญ่น้อยที่คลองด่าน ควบคู่อยู่กับชุมชน กระจายตัวอยู่ตามลำคลองคดเคี้ยวที่บริเวณใจกลางของชุมชนบางขุนเทียน ซึ่งเป็นย่านเก่าของข้าหลวงเดิม ที่เกี่ยวข้องกับสายพระราชตระกูลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็มีวัดวางตัวอยู่ทั้งสองฟากข้างของลำคลองรวมทั้งสิ้น 3 วัด ซึ่งก็ล้วนเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติในพระองค์อยู่ไม่มากก็น้อย

ทั้ง 3 วัดที่กล่าวถึงก็ได้แก่ วัดราชโอรสราชวรวิหาร วัดหนังราชวรวิหาร และวัดนางนองวรวิหาร ซึ่งล้วนแต่เคยมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

ที่สำคัญคือทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องอยู่กับแนวคิดเรื่อง “พระจักรพรรดิราช” ผู้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งหลายในสากลจักรวาล ตามอย่างอุดมคติทั้งในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู

เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง วัดเก่าแก่ที่มีหลักฐานเก่าถึงสมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย พระพุทธรูปบางองค์ยังมีพระพุทธลักษณะอย่างอยุธยา ราว พ.ศ.2150

เล่ากันว่าที่การที่รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นผู้ดำเนินการบูรณะวัดจอมทอง ตั้งแต่ครั้งก่อนครองราชย์ จึงเรียกชื่อวัดนี้ต่อๆ กันมาว่า “วัดราชโอรส”

สถาปัตยกรรมทั้งหลายในวัดราชโอรส ล้วนสร้างขึ้นใหม่ในคราวบูรณะใหญ่ครั้งนั้นนี่แหละ แผนผังของวัดในคราวบูรณะนี้วางแกนโดยให้ความสำคัญกับแนวแกนเดิมของวัด ที่หันหน้าเข้าหาคลองด่าน ซึ่งก็คือ “ถนน”คมนาคมอย่างเก่า

ล้อมรอบพระอุโบสถที่ใจกลางของวัด ยังประดับไว้ด้วยแผ่นจารึกตำรายา ความรู้ทางเวชศาสตร์นานาชนิด เชื่อได้ว่าเป็นต้นแบบความคิดในการจำหลักชุดข้อมูลความรู้แขนงอื่นๆ ที่สืบทอด และขยายผลไปถึงที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า วัดโพธิ์ จนกลายเป็นอย่างที่เรียกกันว่า “มหาวิทยาลัยบนแผ่นหิน”

แนวคิดในการเผยแพร่ความรู้ของรัชกาลที่ 3 โดยเฉพาะความรู้ทางเวชศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือชีวิตของผู้เจ็บ ผู้ทุกข์ ไม่ต่างอะไรไปกับการบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์ผู้หวังตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างพระมโหสถในทศชาตินั่นเอง

“วัดหนัง” เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติย้อนไปได้ถึงยุคอยุธยา ยังมีระฆังสำริดระบุศักราช พ.ศ.2260 ตรงกับในกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภายในวัด ในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดหนังได้รับการบูรณะโดยสมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมารดาเรียม พระบรมราชชนนีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3

วัดราชโอรสารามวรวิหาร

วัดหนังราชวรวิหาร

พระประธานภายในพระอุโบสถ วัดหนัง เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างอย่างสุโขทัย มีจารึกระบุปีสร้าง พ.ศ.1966 คงเคลื่อนย้ายมายังกรุงเทพฯ ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 พร้อมกันกับกลุ่มพระพุทธรูปฝีมือช่างสุโขทัยองค์อื่นๆ เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับสำนึกในราชวงศ์จักรีที่ว่าสืบสายมาทางเมืองสุโขทัย-พิษณุโลก ดังปรากฏหลักฐานอยู่มากในหนังสือเก่าสมัยต้นของกรุงเทพฯ

แม้ไม่ใช่วัดที่ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยรัชกาลที่ 3 โดยตรง แต่ก็เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องพระจักรพรรดิราชในรัชกาลของพระองค์ มีเรื่องเล่าว่า ราชนิกุลสายท่านเพ็ง ซึ่งเป็นพระชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นชาวสวนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บริเวณวัดหนัง

การประดิษฐานพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับต้นราชวงศ์จักรีไว้ ณ สถานที่ที่เป็นถิ่นฐานเดิมของต้นสกุลสายพระราชมารดา จึงมีนัยยะเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องพระจักรพรรดิราชอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย

ท้ายที่สุดคือ “วัดนางนอง” ซึ่งมีพระพุทธรูปประธาน ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่าง “จักรพรรดิราช” ล้อมรอบด้วยภาพจิตรกรรมภายในอีกหลายๆ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดียวกันกับคติจักรพรรดิราชทั้งหมด

วัดนางนองวรวิหาร

เฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ภาพเขียนระหว่างช่องหน้าต่าง และภาพเขียนที่ส่วนเหนือกรอบหน้าต่าง ภาพเขียนส่วนเหนือกรอบหน้าต่างเขียนเรื่อง พระพุทธเจ้าเนรมิตพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชทรมานท้าวชมพูบดี ส่วนระหว่างกรอบหน้าต่างเขียนเป็นภาพกำมะลอเล่าเรื่องสามก๊ก ตัดตอนมาเฉพาะตั้งแต่ที่เล่าปี่เริ่มมีบทบาทสำคัญพอจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย เรื่อยไปจนกระทั่งจบลงที่ชัยชนะเหนือโจโฉ แสดงให้เห็นถึงการคัดสรรเรื่องเล่าที่แสดงถึงเกียรติคุณของเล่าปี่เป็นการเฉพาะ ซึ่งยิ่งชวนให้นึกถึงพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ที่มีต่อวัฒนธรรมจีน อย่างที่รู้ๆ กันดีอยู่แหละครับ

นอกจากนี้ เฉพาะที่ผนังหุ้มกลองทั้งสองด้านระหว่างบานประตู เขียนภาพลายมงคลอย่างจีน คือภาพนกกระเรียนที่ด้านหลังของพระประธาน และภาพฮก ลก ซิ่ว ที่ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน

บานหน้าต่าง บานประตู ภายในพระอุโบสถ ยังประดิษฐ์เป็นลวดลายลงรักปิดทอง รูปเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย เฉพาะที่กรอบประตูทางเข้าด้านนอกของพระอุโบสถ มีลายลงรักปิดทองเรื่องกำเนิดรัตนะ ทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับคตเรื่องพระจักรพรรดิราช

งานช่างทั้งหลายในวัดนางนอง ก็ล้วนแต่บูรณะซ่อมแซม โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระพุทธรูปประธาน ภายในพระอุโบสถ ศูนย์กลางของวัด จึงเปรียบเสมือนเครื่องหลอมรวมพร้อมประกาศสภาวะแห่งพระมหาจักรพรรดิของรัชกาลที่ 3 ทั้งทำตามอุดมคติอย่างอุษาคเนย์ ทั้งทำตามปรัมปราคติอย่างชมพูทวีป

คลองด่าน ละแวกบางขุนเทียน เป็นย่านราชนิกุลสายท่านเพ็ง สายพระราชมารดาในรัชกาลที่ 3 จึงกลายเป็นย่านสำคัญในสมัยต้นกรุงเทพฯ ในฐานะถิ่นฐานเดิมของรัชกาลที่ 3 ความหมายและเรื่องราวที่แฝงอยู่ในแนวคิดการออกแบบวัดในละแวกนี้

ที่มา:ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ภาพกำมะลอลายฮก ลก ซิ่ว