สำหรับใครที่อยากไปพักผ่อนหย่อนใจแต่ยังไม่มีโปรแกรมเดินทางไปที่ไหนไกลๆ ขอแนะนำสถานที่ใกล้ๆ แค่...อยู่ใกล้สนามหลวงนี่เอง คือ...พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตรงสนามหลวง อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กำลังจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง”อาโรคยปณิธาน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคมถึง 7 สิงหาคม 2565 ที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เมื่อไปถึงแล้วซื้อตั๋ว 30 บาทสำหรับคนไทย ต่างชาติ 200 บาท ถ้าไม่รู้ว่าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานอยู่ตรงไหน ก็สอบถามจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ได้
เหตุแห่งที่มาของการจัดนิทรรศการเรื่องนี้ มีว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นหนึ่งในความทุกข์ 4 ประการของมนุษย์ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้คนต่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วย่อมสร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจต่อตัวผู้ป่วยเอง จนต้องหาหนทางบำบัดรักษาให้หายจากโรคภัยนั้น แต่ถ้าหากโรคภัยเกิดขึ้นกับคนในสังคมพร้อม ๆ กัน ย่อมต้องมีความอลหม่าน
วุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าเราเรียนรู้ว่าโรคระบาดได้สร้างความเจ็บป่วยล้มตายแก่คนในสังคมมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันระบบสาธารณสุข มีการพัฒนาสามารถควบคุมและจัดการโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทำให้เราห่างไกลจากคำว่า “โรคระบาด” จนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 สร้างวิกฤติให้กับประชากรโลกตลอดสองปีที่ผ่านมา จึงเกิดการเรียนรู้เพื่อสู้โรคขนานใหญ่ องค์ความรู้ด้านการรักษาโรคในอดีตถูกพลิกฟื้น ควบคู่ไปกับการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตยารักษา และวัคซีนป้องกันโรค มุ่งหมายเพื่อหาแนวทางการบำบัดแก้ไขโรคร้ายให้คลายลง
ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์พยายามแสวงหาหนทางให้พ้นจากโรค ไม่ว่าจะด้วยสัญชาตญาณ การสังเกตจากธรรมชาติและสัตว์ การลองผิดลองถูก จนสั่งสมขึ้นเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ในการรักษาโรค ซึ่งมีทั้งการรักษาเยียวยาทางกายและจิตใจ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และยังคงต้องคิดหาหนทางใหม่ ๆ ที่จะต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ
ด้วยเหตุนี้ หากเราได้ศึกษาเรียนรู้โรคภัย ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรค ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่อันสำคัญของแต่ละบุคคล ชุมชน รัฐ และผู้นำ ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต นำมาวิเคราะห์ ปรับใช้ ในการจัดการของทุกภาคส่วน สังคมมนุษย์ก็อาจผจญกับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างเท่าทัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้น เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจโรคระบาดที่ประชากรโลกกำลังเผชิญอยู่ กรมศิลปากรจึงได้จัดนิทรรศการพิเศษเรื่องนี้ขึ้น ซึ่ง “อาโรคยปณิธาน” นั้น หมายถึงความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค
ประกอบด้วยหัวเรื่องนำเสนอ อาทิ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ โรคภัยของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดี นำเสนอโรคต่าง ๆ ที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งทางด้านโบราณคดี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จารึก และบันทึกต่าง ๆ ศาสตร์แห่งการรักษา นำเสนอแนวทางการรักษาโรคที่มีวิธีอธิบายสมุฏฐานและวิธีบำบัดโรคมากกว่าหนึ่งวิธี ได้แก่ ศาสตร์ด้านความเชื่อ ศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย และศาสตร์ด้านการแพทย์แผนตะวันตก และสังคมระดมปัญญา สู่ชีวิตวิถีใหม่
นำเสนอการจัดการวิกฤติโรคระบาดในสังคมไทยให้ผ่านพ้นจากโรคร้ายด้วยพลังของทุกภาคส่วนในสังคม เรื่องราวอันน่าสนใจนี้ รอคอยให้ผู้สนใจไปชม ทั้งได้ความรู้เรื่องโรคภัยในอดีต นำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบัน ต่อยอดไปสู่การรักษาโรค ร่างกายและจิตใจ นำพาไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลโรคในที่สุด
นิทรรศการดังกล่าว เปิดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00-16.00 น. ปิดทำการวันจันทร์และวันอังคาร
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี