สถานีวิทยุเวียดนามในประเทศไทย แผนกส่วนกระจายเสียงต่างประเทศ ออกอากาศรายงานเรื่องของชนกลุ่มน้อย “ชนชาติจาม” ที่อยู่ในเวียดนาม โดยกล่าวว่าเผ่าจามเป็นชนชาติในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ที่มีความสัมพันธ์ด้านเครือญาติกับชนเผ่า รัคลาย เอเด จูรู และยาราย ในเวียดนาม มีความคล้ายคลึงกันในด้านชาติพันธุ์กับชาวอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไนในอาเซียน
“ชาวจาม” ถือเป็น 1 ใน 54 ชนเผ่าในเวียดนาม ซึ่งอยู่ในเขตริมฝั่งทะเลทางภาคกลางและตอนใต้ของเวียดนาม ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมที่รุ่งเรืองโดยการรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยเผ่าจามในเวียดนาม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดนิงถวน บิ่งถวน ฟู๊เอียน บิ่งดิ๋ง อานยาง เป็นต้น และได้แบ่งเป็นหมู่บ้านชุมชนที่มีเอกลักษณ์วัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนาเฉพาะถิ่น
นายเลยวีด๋าย หัวหน้าหน่วยวิจัยและค้นคว้าวัฒนธรรมเวียดนาม แห่งพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนาม เผยว่า ชาวจามในเวียดนามแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามนิกายของศาสนา กล่าวคือ หนึ่ง-จามบาลามน หรือจามนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีจำนวนมากที่สุด สอง-จามบานี หรือชาวจามนิกายอิสลามเก่า สาม-จามอิสลาม หรือจามอิสลามใหม่ และสี่-จามเฮอรอย (H’Roi) ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ
กลุ่มชาวจามบาลามนและจามบานี อาศัยในจังหวัดนิงถวนและบิ่งถวน ส่วนกลุ่มชาวจามอิสลามใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดอานยาง เตยนิง และนครโฮจิมินห์ ชุมชนกลุ่มนี้เป็นชาวจามที่อพยพจากเวียดนามแล้วไปอาศัยในกัมพูชาระยะหนึ่ง แต่ก็ได้กลับมาตั้งรกรากในเขตภาคใต้เวียดนามจนถึงปัจจุบัน
สถานีวิทยุเวียดนาม ยังรายงานถึงประเพณีและกิจกรรมต่างๆ ที่ชาวจามถือปฏิบัติ อาทิ ก่อนเดือนถือศีลอดจะเข้าสุเหร่ากินเจครึ่งเดือน อีกครึ่งเดือนเป็นช่วงไปทำพิธีที่สุสานและพิธีเซ่นไหว้ใหญ่ในชุมชน สำหรับกลุ่มจามบานี ก็เตรียมฉลองปีใหม่ภายในเวลา 3 วัน ก่อนเข้าปีใหม่จะไปเยี่ยมสุสาน ชาวจามบานีจะกินเจเพียง 3 วัน โดยมื้อแรกตั้งแต่เช้าตรู่และอดไปจนถึงเวลา 6 โมงเย็นถึงจะสามารถรับประทานมื้อต่อไปได้ ขณะที่ชาวจามอิสลามต้องกินเจ 30 วัน โดยจะรับประทานอาหารกันปกติในช่วงกลางคืนเท่านั้น
กลุ่มชาวจามเฮอรอย เป็นกลุ่มอาศัยในพื้นที่จังหวัดบิ่งดิ๋งและฟู๊เอียน ไม่นับถือศาสนาใดๆ แต่มีความเลื่อมใสในประเพณีดั้งเดิมที่คล้ายกับชนเผ่าบานาเอเด ที่อยู่ใกล้เคียงกันความแตกต่างทางด้านศาสนา ทำให้เกิดความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวจามนิกายต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากมองโดยรวมแล้ววัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าจามทั้ง 4 กลุ่มนั้นเหมือนกัน ที่แตกต่างกันก็คือ กลุ่มจามบาลามนและบานี ถือ “ผู้หญิง” เป็นใหญ่ และเป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่จามอิสลามนับถือบทบาทผู้ชาย
อีกด้านที่ถือว่าแตกต่าง คือกลุ่มจามบาลามนและบานี มักอาศัยในบ้านไม้ยกพื้นที่ไม่สูงนัก ส่วนชาวจามอิสลามและจามเฮอรอยจะอาศัยในบ้านยกพื้นสูงกว่า
เรื่องราวจากสถานีวิทยุเวียดนาม ทำให้นึกถึงหนุ่มชาวจามที่บังเอิญเจอกัน ที่ศาสนสถาน “ปราสาทหมี่เซิน”(MY Son) เมืองฮอยอัน ตอนนั้นหนุ่มชาวจามได้บอกเล่าถึงจุดมุ่งหมายที่เดินทางมาปราสาทหมี่เซิน ก็เพื่อศึกษาหา “รากเหง้า” ของบรรพบุรุษชาวจาม เพราะถือว่าปราสาทหมี่เซินเป็นพื้นที่สำคัญแห่งอาณาจักรจามปา การแลกเปลี่ยนความเห็นกันเพียงน้อยนิด ทำให้ได้ข้อมูลว่าเวลานี้ชาวจามที่เหลืออยู่ในเวียดนาม กำลังศึกษาค้นคว้าข้อมูลของบรรพบุรุษชนชาติจามอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็อนุรักษ์ให้คงอยู่และสืบทอดต่อไปยังลูกหลานเหลนโหลน เขาบอกเสียงเศร้าๆ ว่า “ตอนนี้แม้แต่ภาษาพูดของคนจามก็กำลังจะสูญหาย คนรุ่นใหม่พูดได้น้อยมาก”
กลุ่มปราสาทหมี่เซิน
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บอกให้รู้ว่าชาวจามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในอดีตชาวจามได้ก่อตั้ง “อาณาจักรจามปา” ขึ้น ซึ่งครอบคลุมเมืองเว้ กว่างนาม ถัวเถียน ฟานรัง และญาจาง ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน เมื่อครั้งโบราณกองทัพจีนยกมาตีเมืองวิชัย เมืองหลวงของอาณาจักรจามปา (ปัจจุบันคือเมืองบิญดิ่ญ) ครั้งนั้นมีชาวจีนชื่อ “หม่าตวนหลิน” เข้ามาบันทึกเรื่อง “ชาวหลินอี้” (ชื่อที่จีนเรียกชาวจาม) ไว้ว่า
“บ้านสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ไม่ว่าหญิงหรือชายมีผ้าฝ้ายผืนเดียวห่อหุ้มร่างกาย ชอบเจาะหูและห้อยห่วงเล็ก ผู้ดีใส่รองเท้าหนัง ไพร่เดินเท้าเปล่า พระราชาสวมพระมาลาทรงสูง ทรงช้าง และล้อมรอบด้วยเหล่าข้าราชบริพารถือธงและกลดกั้น…”
เป็นภาพที่พอจะจินตนาการถึงบ้านเมืองของชาวจามได้
กลุ่มปราสาทหมี่เซิน
กลุ่มปราสาทหมี่เซิน
อย่างไรก็ตาม อาณาจักรจามปารุ่งเรืองสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 แต่พอช่วงปลายต้องทำสงครามกับอาณาจักรไดเวียดทางทิศเหนือ และอาณาจักรขอมโบราณทางทิศใต้ สงครามยืดเยื้อต่อเนื่องจนในปี พ.ศ. 1688 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ที่สร้างนครวัด เข้ายึดครองเมืองหลวงได้ อีก 4 ปีต่อมาชาวจามจัดกองทัพยกมาตีเอาเมืองหลวงคืนได้ และในปี พ.ศ. 1720 กองทัพเรือจามปาบุกเข้าโจมตีเผาทำลายเมืองพระนครเสียหายยับเยิน จึงทำให้เมืองนครหลวงเสื่อมไประยะหนึ่ง จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1763) ได้ทำสงครามปราบกษัตริย์จามปาสำเร็จ เรื่องราวตอนนี้มีภาพสลักยุทธนาวีกับกองทัพจาม ณ ปราสาทนครธม และ ปราสาทบันทายฉมา ปรากฏให้เห็นด้วย
ใน พ.ศ.2014 กษัตริย์เลถั่นตองแห่งไดเวียด ส่งทัพมาตีเมืองวิชัย เมืองหลวงของจามปา สามารถยึดเมืองได้สำเร็จ ต่อมาใน พ.ศ.2375 สมเด็จพระจักรพรรดิมิงห์ มาง จึงได้ผนวกดินแดนส่วนที่เหลือของจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม และกลืนชาวจามจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม
บ้านเมืองของจามปาในระยะเริ่มแรก ตั้งอยู่ในเขตหุบเขา ไกลจากชายฝั่งทะเล ก่อนกลายมาเป็นกลุ่มพ่อค้าเดินเรือทะเลออกค้าขายในภูมิภาคต่างๆ ชาวจามเข้าสู่การเป็นนครรัฐ
ดยการรับศาสนาฮินดู ซึ่งมีศาสนสถานสำคัญทางฮินดูอยู่บนภูเขา โดยเฉพาะที่หุบเขาหมี่เซิน (My Son) เมืองฮอยอัน ถือเป็นกลุ่มศาสนสถานบนภูเขาขนาดใหญ่ ส่วนปราสาทจามทางชายฝั่ง ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่ “เมืองญาจาง” คือปราสาทโปนาคา (PoNagar Tower) เป็นปราสาทสำคัญของคนจามอุทิศให้แก่ Yan Po Nagar เทพสตรีผู้เป็นแม่แห่งแผ่นดิน ปราสาทโปนาคานี้มีรูปเคารพในศาสนาฮินดู ที่เป็นศักติของพระศิวะในภาคของมหิศวรมธินีหรือนางทุรคา อยู่เหนือประตูปราสาทกลาง
กลุ่มปราสาทหมี่เซิน
ส่วนในประเด็นอิสลามนั้น เริ่มเข้ามาในจามปาเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่านำมาโดยพ่อค้าอาหรับที่เข้ามาแวะพักเมื่อเดินทางผ่านเมืองท่าแถบนี้ และกำหนดอายุจากแผ่นหินที่จารึกเหนือหลุมฝังศพได้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ดี ชาวจามถือว่าตนเองเป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม แต่สำหรับคนจามบานีนั้นความเป็นอิสลามกลับมีส่วนในชีวิตประจำวันของพวกเขาน้อยมาก
ปัจจุบันในเวียดนาม ชาวจามได้สร้างบ้านแปลงเรือนและรักษาวัฒนธรรมของตนสืบต่อกันมานานกว่าพันปี โดยมีชนชาติจามอาศัยในจังหวัดต่างๆ ของเวียดนาม ได้แก่ จังหวัดนิงถวน (Ninh Thuan) อานยาง (An Giang) ไตนิง (Tay Ninh) บิ่งดิ๋ง (Binh Dinh) ฟู๊เอียน (Phu Yen) แค๊งฮว่า (Khanh Hoa) และนครโฮจิมินห์ สำหรับคนจามในจังหวัดนิงถวนนั้น มี 22 หมู่บ้าน แยกเป็นคนจามบานี 7 หมู่บ้าน คนจามบาลามงที่นับถือฮินดู 15 หมู่บ้าน คนจามทั้งสองกลุ่มนี้จะแยกหมู่บ้านกันอย่างเด็ดขาด ไม่ยุ่งเกี่ยวกันและไม่นิยมแต่งงานข้ามกลุ่ม ทำให้ผู้คนในแต่ละกลุ่มไม่มีโอกาสเรียนรู้หรือใช้ชีวิตที่สัมพันธ์กันแต่อย่างใด
มติชนอคาเดมี จัดทริปยลอาณาจักรโบราณชาว “จาม” ผ่านมรดกโลกด้านวัฒนธรรมอย่าง ปราสาทหมีเซิน กลุ่มปราสาทยิ่งใหญ่กลางขุนเขา กับอิทธิพลอินเดียและการนับถือศาสนาฮินดู กับเรื่องราวความเชื่อ ศรัทธา และสงครามที่นำไปสู่การสูญสิ้นดินแดน!
ตามรอยประวัติศาสตร์ชาว “เวียด” ชมความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรที่สัมพันธ์กับจีนอย่างแน่นแฟ้น ผ่านสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้ง พระราชวังเมืองเว้, สะพานญี่ปุ่น, ศาลเจ้าเฝือกเกี๋ยน, ศาลเจ้าก๋วงเจีย, สุสานจักรพรรดิมินห์ มาง และสุสานจักรพรรดิไคดิงห์ ฟังเรื่องราวการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากฝรั่งเศส และการปิดฉากสถาบันกษัตริย์ของเวียดนาม
นำชมและบรรยายโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ
กำหนดเดินทาง 7-10 มีนาคม 2562 (4 วัน 3 คืน)
ราคา 29,900 บาท
คลิกอ่านโปรแกรมเดินทางได้ที่ https://bit.ly/2DOkzuC
สนใจสอบถามรายละเอียด หรือสำรองที่นั่งได้ที่เฟซบุ๊กมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand
หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40matichon-tour