ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ชื่อยาวๆ จำยากๆ ของกรุงเทพมหานครนั้น ที่จริงแล้วบ่งบอกถึงความสำคัญของ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือที่เรียกกันง่ายๆ จนเคยปากมากกว่าว่า “พระแก้วมรกต”
หลักฐานมีอยู่ที่บางประโยค ในชื่อเต็มของกรุงเทพฯ เองคือท่อนว่า “อมรรัตนโกสินทร์” ซึ่งหมายความว่า “ที่เก็บรักษาแก้วอันยั่งยืน” (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปล)
แน่นอนว่า “แก้ว” ในที่นี้หมายถึง “พระแก้วมรกต” เพราะในยุคที่สร้างกรุงเทพฯ จะมีแก้วอะไรสำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ไปกว่าพระแก้วมรกตได้อีกเล่าครับ?
แต่หลักฐานยืนยันที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะกล่าวยํ้าถึงประวัติการตั้งชื่อเมืองกรุงเทพฯ อยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ตำนานพระแก้วมรกต สำหรับอาลักษณ์อ่าน ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใจความตอนหนึ่งทรงอ้างถึงพระราชพิธีตอนสถาปนานามพระนคร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดังข้อความที่ว่า
“…จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาบรมราชธานี เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้เป็นเครื่องสิริสำหรับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้…”
ความตอนนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของพระแก้วมรกตในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพระนครแห่งใหม่ ในราชวงศ์จักรี
ถึงแม้ว่า ชื่อเมืองในพระราชนิพนธ์ข้างต้นของรัชกาลที่ 4 จะเป็นชื่อที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว คือเปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์” ตามชื่อในรัชกาลก่อนหน้า (คือสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระราชทานนามไว้ มาเป็น “อมรรัตนโกสินทร์” ในรัชสมัยของพระองค์
“รัตนโกสินทร์” ต่างหากที่เป็นชื่อหลักมาแต่เดิมเพราะที่มีอยู่ทุกยุค ทุกสมัย และเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันอย่างดีถึง ความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” ที่มีต่อเมืองแห่งนี้ ที่ปัจจุบันเรียกกันจนเคยปากว่า กรุงเทพฯ
น่าสนใจนะครับ ว่าทำไมพระแก้วมรกต จึงกลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญของกรุงเทพฯ ถึงขนาดต้องตั้งชื่อเมืองว่าเป็นที่สถิตของพระพุทธรูปองค์นี้? เรื่องนี้อาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติที่มาของพระแก้วมรกตกันมากขึ้นอีกนิด
แน่นอนว่า พระแก้วมรกต ไม่ได้สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ แต่เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ที่มีประวัติเก่าแก่ และสืบเนื่องยาวนาน
มีเอกสาร และตำนานหลายฉบับที่เล่าถึงประวัติของพระแก้วมรกต ทั้งที่แต่งด้วยภาษาบาลี ภาษาไทย ภาษาเขมร และภาษาลาว แต่ละฉบับมีเรื่องเล่าที่ต้องตรงกันว่าพระนาคเสน (พระภิกษุองค์เดียวกับที่ “ถก” พระธรรมกันอย่างออกรสกับพระยามิลินท์ ในมิลินทปัญหา ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งในพระพุทธศาสนา) เป็นผู้สร้างขึ้นในอินเดียเมื่อราว พ.ศ.500 จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตรมาอีก 300 ปี ก่อนจะมีผู้อัญเชิญไปประดิษฐานที่เกาะลังกา
ต่อมาพระเจ้าอนุรุทธ กษัตริย์แห่งเมืองพุกาม ได้มาอัญเชิญไปไว้ยังบ้านเมืองของตน แต่ระหว่างทางนั้นได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ นานา จนทำให้พระแก้วมรกตได้เคยประดิษฐานตามเมืองสำคัญต่างๆ ในอุษาคเนย์อยู่หลายเมืองเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น นครธม ที่กัมพูชา (คือเมืองเสียมเรียบ) นครอโยธยา เมืองกำแพงเพชร จนท้ายสุดค่อยไปจบลงที่เมืองเชียงราย ซึ่งมีความระบุว่า เจ้าเมืองเชียงรายในขณะนั้นได้หุ้มองค์พระแก้วมรกตด้วยปูน แล้วค่อยลงรักปิดทอง จากนั้นจึงค่อยสร้างเจดีย์ครอบเอาไว้ที่วัดป่าเยียะ
ความต่อจากนั้นก็คือ กาลเวลาล่วงเลยมาช้านานจนวันหนึ่งในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน (ครองราชย์ที่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1945-1985) เจดีย์แห่งนั้นหักพังลง จึงมีการนำพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดิษฐานอยู่ภายในออกมาเป็นประธานที่วัดแห่งนั้น (ปัจจุบันวัดป่าเยียะ จึงได้ชื่อว่า วัดพระแก้ว) แต่ปูนบางส่วนที่พอกทับพระพุทธรูปกะเทาะออกเล็กน้อย ใครต่อใครจึงได้รู้กันทั่วว่าภายในปูนเป็นพระแก้วมรกต ความทราบถึงพระเจ้าสามฝั่งแกน จึงโปรดอัญเชิญมายังเมืองเชียงใหม่
แต่เรื่องไม่ได้จบกันง่ายๆ แค่นั้น เพราะปรากฏว่าระหว่างทาง ช้างที่ใช้อัญเชิญองค์พระแก้วมรกตเกิดไม่ยอมเดินไปเมืองเชียงใหม่มันเสียดื้อๆ ตามธรรมเนียมโบราณจึงต้องจัดให้มีการเสี่ยงทายว่าช้างจะเดินไปที่ไหน ปรากฏว่าช้างเดินไปที่เมืองลำปาง พระแก้วมรกตจึงได้ไปประดิษฐานอยู่ที่ลำปางเสียพักใหญ่
ตำนานเรื่องพระแก้วมรกตฉบับที่เก่าที่สุด ที่แต่งด้วยภาษาบาลี คือ “รัตนพิมพวงศ์” จบความลงแค่ตรงนี้เพราะหนังสือเก่าเล่มนี้ เขียนขึ้นเมื่อสมัยที่พระแก้วมรกตยังประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง ส่วนตำนานฉบับที่แต่งทีหลัง ตอนที่เขียนพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่ไหน ก็เขียนจนจบลงที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ
ดังนั้นตำนานจึงยังคงเป็นได้เพียงแค่ตำนาน ยิ่งเมื่อพิจารณาด้วยองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะกระแสหลักของไทยในปัจจุบันแล้ว พระแก้วมรกต ควรจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในล้านนา สกุลช่างพะเยา เมื่อราวหลัง พ.ศ.1900 ลงมาแล้ว ไม่เก่าไปกว่านั้น แปลง่ายๆ ว่าพระแก้วมรกต ถูกสร้างขึ้นในก่อนหรือใกล้เคียงกับช่วงที่ฟ้าผ่าเจดีย์วัดป่าเยียะ จนมีคนไปพบพระพุทธรูปองค์นี้ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเท่านั้นแหละ ประวัติที่มีมาก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น
อันที่จริงแล้ว แม้กระทั่งรัชกาลที่ 4 เอง ก็ทรงเคยมีพระราชวินิจฉัยในทำนองคล้ายๆ กันนี้นะครับ ดังความในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ที่ว่า
“…เมื่อเปรียบเทียบไปโดยละเอียด ดูเหมือนว่า(พระแก้วมรกต) จะเป็นฝีมือช่างลาวเหนือโบราณ ข้างเมืองเชียงแสน เห็นคล้ายคลึงมากกว่าฝีมือช่างเมืองอื่น แลถึงจะเป็นช่างที่เมืองลาวก็เป็นช่างดีช่างเอกทีเดียวมิใช่เลวทรามด้วยเป็นของดีงามเกลี้ยงเกลามากอยู่ไม่หยาบคาย…”
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เดียวกันกับที่ผมยกมาไว้ข้างต้น สิ่งที่ควรสังเกตเพิ่มเติมก็คือ รัชกาลที่ 4 ทรงระบุด้วยว่า “เชียงแสน” ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย เป็นพวก “ลาวเหนือ” ไม่ได้ทรงอ้างว่าเป็นไทย?
ความตรงนี้อาจจะขัดใจความรู้สึกของคนไทยในปัจจุบัน แต่คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรเลยในสมัยที่พระองค์มีพระราชวินิจฉัย เห็นตัวอย่างได้จาก หนังสือเก่าฉบับหนึ่งซึ่งเขียนขึ้นใน พ.ศ.2350 ช่วงปลายรัชกาลที่ 1 คือ “พงศาวดารเหนือ” ที่นักเรียนประวัติศาสตร์ชั้นฝึกหัด มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับดินแดนล้านนา แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร และดินแดนละแวกใกล้เคียง เพราะตอนเหนือของขอบข่ายอำนาจยุคต้นกรุงเทพฯ สุดอยู่แค่นั้น ถัดขึ้นไปคือล้านนา ซึ่งไม่นับตนเองว่าเป็นไทยแล้ว
ลักษณะอย่างนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็นเอาสมัยต้นกรุงเทพฯ ตอนที่อยุธยาโดนตีแตกเมื่อพ.ศ.2310 บ้านเมืองแตกออกเป็นหลายก๊ก ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้คือ ก๊กพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตาก (สิน) ซึ่งในปี พ.ศ.2313 พระองค์ได้โปรดให้พระยายมราช (บุญมา) ผู้ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 จะได้ครองวังหน้า ดำรงตำแหน่งเป็นกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ยกทัพขึ้นไปตีก๊กเจ้าเมืองฝาง (ซึ่งก็เป็นอีกก๊กที่เกิดขึ้นเมื่ออยุธยาแตก) ที่เพิ่งยกทัพไปยึดพิษณุโลก
เมืองฝางที่ว่า คือเมืองสวางคบุรี ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ชื่อจังหวัดก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าเป็นเมืองตอนเหนือสุดของอยุธยา และกรุงเทพฯ ในยุคนั้นเพราะคำว่า “อุตรดิตถ์” แปลว่า “ท่าเรือทางเหนือ”
ดังนั้น เวลาที่ใครบอกว่า พระแก้วมรกต เคยเป็นของไทยมาก่อนที่ลาวจะเอาไปนั้น ถ้านับกันด้วยอาณาเขตในปัจจุบันแล้วผมก็คงไม่มีอะไรจะเถียง แต่ถ้านับจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้วผมก็ไม่แน่ใจนักว่าผู้สร้างพระแก้วมรกต เขาจะนับตนเองว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า?
“พระแก้วมรกต” จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง “ล้านนา-ล้านช้าง” ที่ถือตนเองว่าเป็น “ลาว” มาแต่แรกเมื่อพระไชยเชษฐา ซึ่งขึ้นครองราชย์ที่เชียงใหม่ ได้ย้ายไปสถาปนาและปกครองอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต หรือล้านช้าง ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อเรือน พ.ศ.2091 จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ที่ในขณะนั้นประดิษฐานอยูที่เชียงใหม่ไปไว้ที่นั่นด้วย แถมยังได้อัญเชิญไปไว้ที่เวียงจันทน์อีกครั้งใน 12 ปีต่อมา เมื่อพระองค์ย้ายไปปกครองที่นั่น
พระเจ้ากรุงธนบุรีย่อมทรงทราบถึงความศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญของพระแก้วมรกต การมีพระคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรบ้านใกล้เรือนเคียงไว้เป็นเครื่องประดับพระยศจึงยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นพระจักรพรรดิราช (คือราชาเหนือราชาทั้งหลายตามอุดมคติในพระศาสนา) ของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2321 จึงโปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา) ไปตีเมืองเวียงจันทน์ และอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาด้วย
เมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกเมื่อพ.ศ.2325 จึงทรงให้ความสำคัญกับพระแก้วมรกตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อทรงเป็นผู้ไปอัญเชิญจากเมืองเวียงจันทน์ลงมาเอง ยิ่งเมื่อตำนานพระแก้วมรกตฉบับเก่าที่สุดอย่าง รัตนพิมพวงศ์ อ้างว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นจาก “แก้วมณีโชติ” ซึ่งปรัมปราคติแบบไทยๆ ถือว่าเป็นหนึ่งในแก้วเจ็ดชิ้น ที่เป็นสมบัติของพระจักรพรรดิราช ผู้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งปวงแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้ก็ยิ่งทั้งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสำคัญยิ่งขึ้น
พ.ศ.2327 รัชกาลที่ 2 ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ฝั่งพระนคร และประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ขึ้นในเมืองที่มีพระพุทธรูป ที่สร้างขึ้นจากแก้วมณีโชติของพระจักรพรรดิราช ผู้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งปวงนั่นเอง
จากนั้นจึงทรงพระราชทานนามพระนครแห่งนี้ให้สอดคล้องกับพระนามของ “พระแก้วมรกต” ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” หรือเมืองที่เก็บรักษา “แก้ว” อันยั่งยืน
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี