เจ้านายสตรีล้านนา
เรื่องราวของเมืองเชียงใหม่หรือล้านนากับสยาม มีสัมพันธ์กันมาแต่โบราณกาล โดยมากแล้วออกแนว tragedy มากกว่าจะ แฮปปี้ เอนดิ้ง
เพราะหากจะกล่าวถึงการสมรสเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับสยาม คงจะหนีไม่พ้นกรณีของ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ถวายตัวเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5
แต่นอกจากการถวายตัวของเจ้าดารารัศมีแล้ว ยังมีการสมรสระหว่างเจ้านายสตรีล้านนากับเจ้านายและข้าราชการสยามอีกหลายคู่ เริ่มจาก…
ในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าศรีอโนชา ขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (ต่อมาทรงเป็นวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1) ดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า
“…พระกษัตริย์เจ้าตากสินปราบชนะมารปักขะข้าศึกได้เชียงใหม่ ในศักราช 1136 ตัว ปีกาบสง้า เดือน 5 เพ็ง วัน 1 หั้นแลฯ…ก็ตั้งพระยาจ่าบ้านหื้อเป็นพระยาเชียงใหม่…ตั้งเจ้ากาวิละขึ้นเป็นพระยาละคร พระมหากษัตริย์เจ้าตากสินและเจ้าพระยาจักรี
ก็พาเอาเสนาโยธาล่องไปทางเมืองเถิน ล่องไปตามกระแสแม่น้ำระมิงค์แลฯ พันดั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ก็มีใจรักใคร่ได้ยังนางศรีอโนชา ราชบุตรีอันเป็นน้องเจ้ากาวิละ จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดมาขอเจ้าทั้ง 7 พระองค์พี่น้อง มีเจ้าชายแก้ว พระบิดาเป็นประธาน
รำพึงเห็นกัลญาณมิตรอันจักสนิทติดต่อไปภายหน้า ก็เอายังนางศรีอโนชาถวายเป็นราชเทวี แห่งเจ้าพระยาเสือ คือ พระยาสุรสีห์หั้นแลฯ เจ้าพระยาสุรสีห์เมื่อได้นางศรีอโนชาราชเทวีแล้ว ก็เสด็จเมือทางเมืองสวรรคโลก หั้นแลฯ…”
“เจ้าศรีอโนชา” และ “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท” ทรงมีพระราชธิดาพระนามว่า เจ้าฟ้าพิกุลทอง เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. 2346 เจ้าศรีอโนชาคงจะประทับอยู่กับพระราชธิดา จนกระทั่งเจ้าฟ้าพิกุลทองสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2353 ขณะพระชนมายุได้ 33 พรรษา หลังจากนั้นก็ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่กล่าวถึงเจ้าศรีอโนชาอีก
ถึงสมัยพระเจ้าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เป็นผลให้เจ้านายสตรีล้านนามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อประสานประโยชน์ให้กับเครือญาติด้วยการสมรสกับเจ้านายสยาม นั่นคือ การเข้าถวายตัวของ เจ้าทิพเกสร ธิดาเจ้าสุริยะกับเจ้า
สุวรรณา ซึ่งมีฐานะอยู่ในชั้นหลานของพระเจ้ากาวิละในสายสกุล ณ เชียงใหม่ เจ้าทิพเกสรถวายตัวเมื่อ พ.ศ. 2426 ก่อนการเข้าถวายตัวของเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระญาติ ประมาณ 2 ปี หลังจากเจ้าจอมทิพเกสรถวายตัวแล้วใน พ.ศ. 2427 ก็ได้ประสูติพระราชโอรส พระนามว่า พระองค์เจ้าดิลกจันทรนิภาธรต่อมารัชกาลที่ 5 พระราชทานพระนามใหม่ว่า “พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ” หมายถึง “ศรีเมืองเชียงใหม่”
การปฏิรูปการปกครองของสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เจ้านายและข้าราชการระดับสูงของสยามได้เข้ามามีบทบาทในล้านนามากขึ้น ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ได้พบปะเจ้านายสตรีล้านนา และนำไปสู่การสมรสในที่สุดหลายคู่ เช่น เจ้าสุมิตรา ธิดาเจ้าราชวงศ์ (ขัตติยะ) ณ เชียงใหม่ สมรสกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงพิเศษที่มาปฏิบัติราชการที่เชียงใหม่ เจ้าข่ายแก้ว ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าทักษิณนิเกตต์ (มหายศ ณ เชียงใหม่) ได้สมรสกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา (พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต) ข้าหลวงพิเศษเชียงใหม่ (พ.ศ. 2432-2434)
เจ้ากาบคำ ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าหนานสมมนุษย์ ได้สมรสกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษมณฑลลาวเฉียง (พ.ศ. 2436-2442) ต่อมาเจ้ากาบคำได้สมรสใหม่กับมหาอำมาตย์ตรี พระยาวิเศษฤาชัย ข้าหลวงตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยมณฑลพายัพ
เจ้าอุบลวรรณา ธิดาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับพระยาปาจิน ขุนนางกรุงเทพฯ
เจ้าฟองแก้ว ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าน้อยบัวระวงษ์ ข้าหลวงในความปกครองของเจ้าดารารัศมี ได้สมรสกับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ่ม มาลากุล) แต่อยู่ในสถานะภรรยารอง
กรณีของเจ้าฟองแก้วนั้นตกอยู่ในภาวะที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากญาติฝ่ายสามี รวมทั้งต้องถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างชาวเชียงใหม่มาเป็นแบบชาวกรุงชั้นสูง เช่น ให้ตัดผมแบบชาวกรุงเทพฯ เพื่อที่ญาติฝ่ายสามีจะไม่ขายหน้าใครว่ามีสะใภ้เป็นลาวจากเชียงใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนวัฒนธรรมเช่นนี้ก็ไม่ได้ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง สุดท้ายก็จําต้องแยกทางกัน
เจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่ สมรสกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลพายัพในช่วง พ.ศ. 2458-2462 แม้ว่าเจ้าทิพวันจะมีบทบาทในการติดตามพระองค์เจ้าบวรเดชไปตรวจราชการยังที่ต่าง ๆ
จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงใหม่ แต่เจ้าทิพวันก็ไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิตสมรส ได้หย่าร้างกับพระองค์เจ้าบวรเดชในเวลาต่อมา
เจ้าลดาคำ ธิดาเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ สมรสกับสมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน แต่ก็ต้องอยู่ในสถานะหม่อม ท้ายที่สุดก็ต้องหย่าร้างกับพระสวามี
การสมรสกับข้าราชการหรือเจ้านายจากสยาม แม้ว่าดูเผิน ๆ แล้วน่าทำให้เกิดการเลื่อนสถานภาพของเจ้านายสตรีล้านนาโดยผ่านการสมรส แต่ในท่ามกลางบริบทของการปฏิรูปการปกครองซึ่งเจ้านายฝ่ายเหนือตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลสยามนั้น
เจ้านายฝ่ายเหนือได้รับการดูถูกเหยียดหยามอย่างมากว่าเป็น “ลาว” ที่ป่าเถื่อนด้อยอารยธรรม ครอบครัวของเจ้านายและข้าราชการในกรุงเทพฯ จึงยากที่จะยอมรับ “สะใภ้ลาว”
การสมรสที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้านายสตรีล้านนากับเจ้านายและขุนนางสยามเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มชนชั้นปกครองทั้งรัฐบาลสยามและเชียงใหม่ ได้ใช้เจ้านายสตรีเข้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ นอกจากจะทำให้เจ้านายฝ่ายเหนือได้รับความเกรงใจจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในส่วนกลางแล้ว ยังเป็นการสร้างพันธมิตรทางการเมืองอีกด้วย
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี