คำว่า “ตลาด” นอกจากจะเป็นสถานที่เพื่อซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากันแล้ว ตลาดอีกนัยหนึ่งยังเป็นที่ชุมนุม เป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นที่นัดพบหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของคนในชุมชน เหตุนี้เมื่อมีชุมชนอยู่ที่ไหนก็มักจะมีตลาดอยู่ที่นั้นด้วย ตลาดจึงมีมาแต่ครั้งโบราณทุกยุคทุกสมัย
ที่จะกล่าวถึงนี้เป็นตลาดในช่วง ร.ศ.128 หรือ พ.ศ.2452 สภาพบ้านเมืองกรุงเทพมหานครในห้วงเวลานั้นได้สะท้อนผ่านการไปจับจ่ายซื้อหาวัตถุดิบเพื่อนำไปประกอบอาหารในครัวของ “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์” ผู้ได้รับฉายาว่า “แม่ครัวหัวป่าก์” นั่นเอง
ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นผู้มีความสามารถในการทำอาหารคาวหวานของไทยทุกชนิด และยังเป็นคนเขียนตำราอาหารเล่มแรกของเมืองไทย คือ “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสมรสกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในสมัยรัชกาลที่ 5
เนื้อหาบางส่วนในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ได้กล่าวถึง“ตลาด” ของกรุงเทพฯ ในเวลานั้น โดยใช้คำบอกเล่าแบบคนในยุคนั้น ซึ่งอาจจะเข้าใจยากสักหน่อย ดังนั้น จึงขอแปลงเป็นภาษาของยุค 2564 ให้อ่านได้สบายขึ้น…ท่านผู้หญิงเขียนเล่าว่า “…ในการครัวทำกับข้าวของกินนี้ ที่เป็นสิ่งสำคัญก็การไปตลาดซื้อสิ่งของที่จะมาทำเครื่องคาวหวานนั้น ผู้ที่ไปซื้อสิ่งของควรต้องเป็นผู้ที่ชำนาญ รู้เทศะ รู้กาล รู้ฤดู รู้วัตถุชนิดของดีและเลวทราม ที่จะได้สิ่งที่เป็นอาหารมาประกอบสำรับให้เป็นที่โอชารส เมื่อชำนาญในการรู้ถิ่นที่อาหารแล้ว ก็จะได้ของดีราคาย่อมเยาเบาลงด้วย วัตถุที่เป็นอาหารในเวลาปัจจุบันนี้ เป็นที่บ่นอยู่ด้วยกันแทบทุกครอบครัวว่า อาหารแพงเต็มที ยิ่งกว่าก่อนหลายเท่าหลายทวี เพราะสินค้าที่เป็นเครื่องปรุงอาหารการกินนี้ในท้องตลาดจำหน่ายซื้อขายกันโดยความอิสระชอบใจของผู้ขายอย่างเดียว
…ในบางประเทศที่มีพลเมืองมาก อาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญ อำเภอ กำนัน คอยเป็นธุระกำหนดพิกัดราคา เปลี่ยนแปลงสินค้าที่เป็นอาหารตามฤดูกาล เพื่อป้องกันคนจนที่จะซื้อจ่ายใช้สอยเป็นอันรู้ราคาได้ ราคาไม่ผิดเพี้ยนกันตามท้องตลาดต่างๆ เพราะมีกำหนดราคาจำนวนสิ่งของที่ทำครัวเป็นอาหาร แต่ในท้องตลาดของเรา ของที่ขายชนิดเดียวกันก็มีราคาผิดเพี้ยนไปได้ตามท้องตลาดต่างๆ แล้วแต่ผู้ขายจะหากำไรได้เพียงไร ก็โก่งเอาราคาขึ้นไปเพราะว่าความต้องการมากขึ้น สิ่งที่มีจะจำหน่ายไม่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นกว่าความวัฒนะของพลเมือง อาหารจึงได้แพง ราคาจึงผิดต่างๆ กันในท้องตลาด เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไปจ่ายตลาดต้องเป็นคนสำคัญของพ่อบ้านแม่เรือน ด้วยแม่เรือนจะสั่งให้ซื้อของตามที่ต้องการ ก็ปรารถนาจะได้ของที่สดที่ดี ผู้จ่ายตลาดถ้าไม่รู้ถิ่นที่ชำนาญแล้ว บางทีก็จะไปซื้อของไม่ดีราคาก็ยิ่งแพง และไม่ได้ตามที่แม่เรือนต้องการ
เพราะฉะนั้นจึงได้รวบรวมเสบียงอาหารตามความสังเกตที่ได้ซื้อใช้อยู่ ทั้งอาหารสดและเสบียงกรัง ดัง ปลา เนื้อ สัตว์เลี้ยง ของเถื่อน(ของป่า) ผัก ผลไม้ เครื่องปรุงอาหารธัญชาติ เป็นต้น ตามลำดับดังต่อไปนี้…
เป็นสิ่งอันมีอยู่ตามท้องตลาดในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือ “ตลาดท้องน้ำ” กับ “ตลาดสำเพ็ง” มีเนื้อปลา ของสด แห้ง ของคาวหวาน และผักผลไม้ หาได้ที่ดีแปลกประหลาด เป็นต่อวายหรือปกติตามฤดูกาล และสรรพเครื่องอาหารข้างจีน ด้วยสำเพ็งนี้แบ่งตลาดเป็นส่วนๆ ไป
…เป็นต้นว่า ตอนบนเชิงสะพานหัน ผลไม้ หมู ผัก ฯลฯ และตลาดเจ๊สัวเนียม หรือตลาดพระยาไพบูลย์ก็เรียก ตลาดกรมภูธเรศท้องสำเพ็ง วัดเกาะ ตลาดน้อย ตลาดเหล่านี้มีทั้งปลา เป็ด ไก่ สุกร ของสดเค็ม เป็นต้น ตลาดท้องน้ำมีของแห้งสเบียงกรังโดยมากกว่าของสด ต่อไป ตลาดบางรัก มีผักฝรั่ง เนื้อโค เนื้อแกะ เป็นต้น ส่วนตลาดในพระนครนั้น ตลาดท่าเตียน มีทั้งบกและน้ำ ซึ่งแต่ก่อนมี ตลาดท้ายสนม ครั้นร่วงโรยไปก็มารวมอยู่ด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้ได้ยินว่าเรียก ตลาดวัง มีผักผลไม้ของสวนของสดและขนมเป็นอันมาก ออกซื้อขายแต่เวลาดึกพอสายก็เลิก แล ตลาดยอด ตลาดเสาชิงช้า ตลาดบ้านหม้อ ตลาดสามเสน ตลาดนางเลิ้ง ตลาดหัวลำโพง ตลาดบ้านทวาย ตลาดสมเด็จ ตลาดพลู ตลาดบ้านขมิ้น ตลาดคลองมอญเป็นตลาดเรือ ขายผักลูกไม้ของสวนในเวลาบ่าย ยังตลาดเล็กๆ อีกมากแห่ง ตลาดเหล่านี้ผู้ไปจ่ายของอาจที่จะเลือกซื้อหาสิ่งของตามที่ต้องการ ทั้งของสดและของแห้ง อันมีอยู่ในท้องตลาดนั้นๆ…”
จากการบอกเล่าของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ทำให้พอจะมองเห็นว่ากรุงเทพมหานครในห้วงเวลา ร.ศ.128 บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ สมกับคำว่า “เมืองไทยใหญ่อุดมดินดีสมเป็นนาสวน..”
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี