ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นการเกิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
ราวๆ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการย้ายเมืองนครชัยศรีจากตำบลบ้านท่านา มายังบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ โดยขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการรวบรวมโบราณวัตถุที่กระจัดกระจายอยู่ภายในแขวงมณฑลนครชัยศรี
เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น มีการรื้อทำลายโบราณสถานและโบราณวัตถุโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ที่ตัดผ่านจังหวัดนครปฐม จึงเกิดการรื้อทำลายโบราณสถานเพื่อปรับหน้าดิน รวมถึงการนำเอาเศษอิฐจากโบราณสถานไปถมสร้างรางรถไฟด้วย ฯลฯ
ดังนั้น ในปี พ.ศ.2438 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงมีพระดำริให้ทำการรวบรวมโบราณวัตถุ ในแขวงมณฑลนครชัยศรี โดยขณะนั้นเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี มอบให้หลวงพุทธเกษตรานุรักษ์ (จร จรณี) กับหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันท์) เป็นผู้ดำเนินการ
โบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรกนำมาเก็บรักษาไว้บริเวณระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุดังกล่าวเข้าไปไว้ในวิหารด้านตรงข้ามพระอุโบสถ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2454 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงรามชานุภาพ โปรดประทานชื่อวิหารหลังนี้ว่า “พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน”
ในปี พ.ศ.2477 กรมศิลปากรรับ “พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน” เข้ามาเป็นสาขาหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 บทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้พิพิธภัณฑสถานในความดูแลของกรมศิลปากร เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วย ดังนั้น พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์”
นับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 งานสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ตลอดจนงานขุดแต่งบูรณะโบราณสถานภายในจังหวัดนครปฐม ได้ดำเนินไปอย่างกว้างขว้าง เป็นผลให้มีโบราณวัตถุเพิ่มเข้ามายังพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นจำนวนมาก ทำให้อาคารจัดแสดงหลังเดิม (อาคารจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ในปัจจุบัน) มีขนาดไม่เพียงพอต่อการจัดแสดงโบราณวัตถุ ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในปี พ.ศ.2510 กรมศิลปากร จึงได้อนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารจัดแสดงหลังปัจจุบัน ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารจัดแสดงหลังเดิม มายังอาคารจัดแสดงหลังใหม่ และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2514 โดยใช้ชื่ออาคารหลังใหม่นี้ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” โดยโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่จัดแสดง ส่วนใหญ่นั้นเป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดี
สำหรับ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” ขณะนี้ได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมได้แล้วอย่างเป็นทางการ โดยกรมศิลปากรจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เนื่องจากเมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองขนาดใหญ่ และมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั้งในด้านการค้าและพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งอยู่ในช่วงวัฒนธรรมทวาราวดี ดังนั้น จึงมีโบราณวัตถุในสมัยนี้จำนวนมาก กรมศิลปากรได้คัดสรรโบราณวัตถุชิ้นเอกและมีความงามมาจัดแสดงให้ชมจำนวนกว่า 260 รายการ อาทิ ธรรมจักร พระพุทธรูปทวารวดี จารึกวัดพระงาม รูปหน้าพระพุทธรูป ลายปูนปั้นในงานสถาปัตยกรรม เป็นต้น
ผู้ชื่นชอบโบราณวัตถุและสนใจศึกษาหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี สามารถเดินทางไปชมด้วยตัวเอง หรือรับชมผ่านระบบออนไลน์ทาง facebook fanpage กรมศิลปากร และ youtube กรมศิลปากร ก็ได้ นอกจากเห็นความงดงามประณีตของช่างสมัยโบรารแล้ว โบราณวัตถุเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์อย่างมากในทางวิชาการของไทย
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี