หากใครเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ราชบุรี ลองมองหาอาคารตั้งเยื้องไปทางซ้ายมือถ้าเดินเข้าจากประตูด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ จะเห็นเป็นตึกสองชั้นทาสีเหลือง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งที่ทำการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ราชบุรี อาคารหรือตึกสีเหลืองหลังนี้แท้จริงแล้วเป็น “ทำเนียบ” หรือ “บ้านพัก” ของ “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)” ที่คนไทยทั้งหลายมักคุ้นหูเมื่อเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ทำเนียบของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อยู่ในบริเวณเดียวกันกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นั่นเอง
เหตุใด ทำไม จึงมีทำเนียบของท่านมาปรากฏขึ้นใกล้กับพิพิธภัณฑ์ “ปราจิน เครือจันทร์” หัวหน้พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ ราชบุรี เล่าถึงที่มาที่ไป ว่าอาคารทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นที่ที่ท่านมาพำนักในช่วงบั้นปลายของชีวิต ภายหลังว่างจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน หลังจากพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 และทรงขึ้นเป็นกษัตริย์เต็มตัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ที่ว่างจากตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แม้จะเป็นที่ปรึกษาอยู่ก็ตาม ได้มาพำนักที่ราชบุรี ด้วยเหตุผลว่าอากาศดี ไกลจากปัญหาทางการเมือง แต่หากครั้งใดที่ในพระนครมีเหตุ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ต้องเข้าไปและไปเข้าเฝ้าฯ
ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านเป็นแม่กองขุดคลองดำเนินสะดวก ที่ราชบุรี เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างเมืองทางตะวันตกและภาคกลาง มีคนจีนเป็นแรงงานหลัก กระทั่งขุดคลองสำเร็จ และเปิดใช้เมื่อ พ.ศ.2411 ตรงกับปีที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ดังนั้น เมื่อมาราชการที่เมืองราชบุรี สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้พำนักยังจวนริมน้ำแม่กลอง สันนิษฐานว่าอาคารนี้เดิมน่าจะเป็นเรือนไม้ แต่ปัจจุบันไม่หลงเหลือหลักฐานแล้ว อย่างไรก็ตาม มีบันทึกในประวัติศาสตร์ ระบุว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่ พ.ศ. 2418 ได้มาพักผ่อนรักษาตัวที่เมืองราชบุรีหลายปี ท่านได้สร้างบ้านหลังใหญ่ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง เป็นที่พักผ่อน มีบุตรหลานและข้าราชการออกมาเยี่ยมเยียนและพักแรมกับท่านเป็นประจำ
มีเรือนว่าราชการหรือทำเนียบ ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง (ปัจจุบันเป็นค่ายภาณุรังษี กรมการทหารช่าง) ต่อมาย้ายทำเนียบมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ (คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2412 ให้สร้างศาลารัฐบาลมณฑล (ปัจจุบันเป็นห้องสมุดประชาชน) อาคารที่พักทางราชการ และอนุญาตให้สร้างศาลเจ้ากวนอู ได้ตัดถนนสายสำคัญสองสาย คือ ถนนหลักเมือง หรือ ถนนศรีสุริยวงศ์ และ ถนนเขาวัง ในปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองสร้างพระราชวังบนเขาสัตตนารถ (เขาวัง) และขุดคลองดำเนินสะดวกเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ครั้นในปี พ.ศ. 2422 ได้สร้างวัดศรีสุริยวงศารามขึ้นในเมืองราชบุรี และปี พ.ศ. 2425 ได้สร้างศาลาขึ้นหลังหนึ่งที่ตำบลมะขามเตี้ย ใช้เป็นที่ประชุมของประชาชนที่มาทำบุญที่วัดมะขามเตี้ย หลังจากนั้นไม่นานท่านก็ถึงแก่พิราลัย ต่อมาบ้านพักของท่านตกเป็นของหลวง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อเกิดมีนามว่า “ช่วง” เป็นบุตรชายคนโตของ “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)” กับ ท่านผู้หญิงจันทร์ ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) น้องกรมหมื่นนรินทรภักดี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2351 ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่บ้านสมุหพระกลาโหม (อยู่ระหว่างกำแพงพระบรมมหาราชวังกับวัดพระเชตุพนฯ) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน และต่างมารดาอีก 35 คน บิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 2 ท่านมีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม สนใจการศึกษาข้อราชการบ้านเมือง และได้ร่วมงานกับ
บิดาในกิจการด้านพระคลังและกรมท่า ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าเลื่อนนายไชยขรรค์มหาดเล็กหุ้มแพร (ช่วง) ขึ้นเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “หลวงนายสิทธิ์” ในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ บันทึกไว้ว่าหลวงสิทธิ์นายเวรสนใจในการศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง เป็นนายช่างไทยคนแรกที่สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้ ท่านได้ต่อเรือกำปั่นรบเรียกว่า “เรือกำปั่นบริค” ลำแรก เข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2378 และได้พระราชทานชื่อเรือว่า “แกล้วกลางสมุทร” ชีวิตตลอด 5 แผ่นดินรัตนโกสินทร์ ท่านได้รับใช้สนองคุณแผ่นดินเป็นที่ประจักษ์ทั้งคนไทยและต่างชาติ นับเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อแผ่นดินมากมายอีกผู้หนึ่ง
สำหรับ “ทำเนียบ” ของท่านในรั้วเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ราชบุรี นั้น ในรายการชวนเที่ยวศิลปวัฒนธรรม ทัวร์ “พลังศรัทธา พุทธศาสน์ งานช่าง ทวารวดี” ซึ่งบรรยายโดย อาจารย์รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร “มติชนอคาเดมี ทัวร์” ได้รับการเอื้อเฟื้อจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ให้ใช้ทำเนียบดังกล่าว เป็นที่รับประทานอาหารกลางวัน พร้อมด้วยเมนูพื้นบ้านหลากรสความอร่อย ระหว่างรับประทานอาหารจะได้เห็นความเป็นไปของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เข้ามาแพร่หลายในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมกันนั้นหากมีโอกาส จะได้สักการะป้ายพระวิญญาณของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งอยู่บนชั้นสองของอาคารนั่นเอง