เป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งกับจำนวนใบเสมามากมายเป็นร้อยๆ ชิ้น และไม่ใช่ใบเสมาที่เคยเห็นรอบพระอุโบสถหรือโบสถ์ตามวัดทั่วไป แต่ใบเสมาที่พบเห็นที่ “บ้านคอนสวรรค์” ตำบลคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ นั้น ใหญ่ยักษ์สูงท่วมหัว บางชิ้นสูงถึงสองเมตรเลยทีเดียว ในเสมาเหล่านี้ “รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับใบเสมาหินทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงคติการสร้าง รูปแบบ และการแพร่หลายของการสร้างหลักหินหรือใบเสมาในอีสาน ว่าบทบาทของหลักหิน ใบเสมา มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากจารึกและภาพสลักธรรมจักร พุทธประวัติ ชาดก ซึ่งคติการสร้างน่าจะเป็นการเป็นนิมิตเขตพัทธสีมาของสงฆ์ เพื่อกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเขตสังฆกรรม นอกจากนี้ภาพสลักที่พบเห็นบนใบเสมา ทั้งภาพพุทธประวัติ และชาดกบนหลักหิน เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงจารีต ประเพณี และทัศนคติของคนในยุคนั้น ซึ่งภาพที่เห็นชัดเจน คือ บทบาทของสตรีในฐานะมารดา ภรรยา และเทพี
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน จะพบใบเสมากระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งภาค สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 3 กลุ่ม ตามลุ่มแม่น้ำสำคัญ คือ 1.กลุ่มใบเสมาที่พบบริเวณลุ่มน้ำชี พบในเขตจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และบางส่วนของอุดรธานี เป็นกลุ่มที่พบใบเสมาหนาแน่นมากที่สุด 2.กลุ่มใบเสมาที่พบบริเวณลุ่มน้ำมูล พบในจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่พบใบเสมาหินหนาแน่นน้อยที่สุด 3.กลุ่มใบเสมาที่พบบริเวณลุ่มน้ำโขง พบในจังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู บางส่วนของจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และนครพนม โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขาและไหล่เขาภูพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
คติการสร้างใบเสมาหินในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจมีที่มาหลากหลาย บ้างเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา บ้างเกี่ยวกับคติความเชื่อท้องถิ่นอันเกี่ยวกับการบูชาผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คติความเชื่อทั้งสองเป็นฐานสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการสร้างใบเสมาเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังอาจมีหน้าที่การใช้งานอย่างอื่นอีก เช่น เป็นหลักเขตที่ดินหรือศิลาจารึก นักวิชาการบางท่านที่เชื่อว่าประเพณีการสร้างใบเสมาทวารวดีอีสานอาจสืบคติมาจากวัฒนธรรมหินตั้ง (Megatithic Culture) ในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยในครั้งนั้นนิยมปักหินในแหล่งฝังศพ จึงเชื่อว่าสร้างขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับการนับถือผี ต่อมาเมื่อมีการรับความเชื่อทางพุทธศาสนาจากภายนอกจึงเกิดเป็นใบเสมาที่มีหน้าที่ในทางพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา
หน้าที่ของใบเสมาเหล่านี้ สรุปเป็นประเด็น ดังนี้ 1.ใช้แสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา โดยปักล้อมรอบอุโบสถ อาคารสำคัญ สถูปเจดีย์ หรือการปักเป็นเครื่องหมายของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในคติความเชื่อท้องถิ่น 2.เพื่อเป็นกุศลผลบุญตามคติพุทธศาสนา เป็นการอุทิศหรือบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 3.เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชา ทำหน้าที่คล้ายสถูปเจดีย์หรือพระพุทธรูปเพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชา
สำหรับรูปทรงใบเสมาทวารวดีอีสาน ใบเสมาหินที่ปรากฏในภาคตะวันอกเฉียงเหนือ มีลักษณะแตกต่างกันทั้งในด้านรูปทรง ขนาด และการตกแต่ง ขึ้นอยู่กับความนิยมในแต่ละท้องถิ่น รูปทรงใบเสมาแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ 1.แบบแท่งหินธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแท่งหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีการถากโคนหรือตกแต่งก้อนหินให้เป็นรูปทรงที่แน่นอน 2.แบบแผ่นหินแบน มีลักษณะคล้ายกลีบบัว ส่วนยอดมีลักษณะแหลมหรือโค้ง เกิดจากการถากแท่งหินให้เป็นแผ่นแบน 3.แบบแท่งหิน ลักษณะคล้ายเสาหินที่เกิดจากการถากหรือตกแต่งก้อนหินให้เป็นแท่งรูปทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หรือแท่งกลม ส่วนปลายมีลักษณะสอบแหลมหรือสอบโค้ง
ส่วนลวดลายบนใบเสมาทวารวดีอีสานที่ปรากฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งที่เป็น “ใบเสมาเรียบ” ไม่ประดับตกแต่งลวดลายใดๆ และ “ใบเสมามีการสักลวดลาย” ใบเสมาที่สลักลวดลายอาจแบ่งลวดลายออกได้ 5 ประเภทคือ 1.ลายกลีบบัว ปรากฏที่ส่วนฐานของใบเสมา นิยมสลักลายกลีบบัวคว่ำ กลีบบัวหงายและเกสรบัว 2.ลายก้านขด ลายกนก ลายก้อนเมฆหรือลายพรรณพฤกษา นิยมสลักไว้ที่บริเวณส่วนรากฐานหรือบริเวณลำตัวของใบเสมา 3.ภาพสลักสถูปเจดีย์ ภาพหม้อต่อด้วยกรวย(เครื่องบวงสรวงหรือหม้อปูรณฆฏะ) หรือแนวสันแกนนูน นิยมสลักไว้บริเวณตอนกลางของใบเสมา ตั้งแต่ส่วนฐานไปจนถึงส่วนยอด บางครั้งอาจสลักลวดลายอื่นประกอบ 4.ภาพบุคคลหรือสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา นิยมสลักไว้บริเวณตอนกลางของใบเสมา เช่น ภาพพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และรูปธรรมจักร 5.ภาพเล่าเรื่อง นิยมสลักไว้บริเวณตอนกลางของใบเสมาหรือเหนือลายกลีบบัว ลายกนก มักสลักเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ หรือชาดกในพุทธศาสนา โดยมีภาพบุคคล สัตว์ และสิ่งของเป็นองค์ประกอบ เพื่อแสดงเหตุการณ์ตอนสำคัญของเรื่อง เราพบใบเสมาในบริเวณพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งภาคตวันออกเฉียงเหนือ
ใบเสมาหินทรายที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามและเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติ ได้แก่ “ใบเสมาหินทรายจำหลักภาพพระพุทธประวัติ ตอน พิมพาพิลาป”
เป็นใบเสมารูปทรงแบบแผ่นแบน สภาพชำรุดหักเป็นสองท่อนต่อไว้ ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งแบบกลีบบัว สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ด้านล่างของใบเสมาจำหลักเป็นภาพกำแพงเมือง มีซุ้มประตูทรงปราสาทซ้อนกัน 3 ชั้น ด้านข้างประตูทั้งสองมีภาพบุรุษถืออาวุธประจำอยู่ด้านละ 2 คน ด้านบนของใบเสมาจำหลักเป็นภาพบุคคลประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่ภายในซุ้มอาคารเครื่องไม้ มีประภามณฑลอยู่ด้านหลังพระเศียร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธเจ้า ด้านขวามีบุรุษนั่งชันเข่าแสดงท่าสำรวม 2 คน คนที่นั่งอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า สวมมงกุฏยอดแหลมแสดงถึงวรรณะสูง ด้านซ้ายเป็นภาพสตรี 2 คน สตรีคนที่นั่งอยู่ใกล้กับพระพุทธเจ้า นั่งพับเพียบกำลังสยายผมเช็ดพระบาทของพระพุทธองค์ สตรีอีกนางหนึ่งอุ้มเด็กที่กำลังชี้นิ้วไปที่พระพุทธองค์ สันนิษฐานว่าเป็นพระราหุล
ใบเสมาแผ่นนี้น่าจะจำหลักภาพเรื่องราวในพระพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระบิดาและประยูรญาติ เหตุการณ์ในภาพน่าจะเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์เทศนาโปรดพระนางยโสธราหรือพระนางพิมพา ที่พระตำหนัก พระนางยโสธราได้แสดงความเคารพอย่างสูงด้วยการสยายพระเกศาเช็ดพระบาทพระพุทธองค์
โบราณวัตถุชิ้นนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ เนื่องจากเป็นใบเสมาที่จำหลักภาพเล่าเรื่องพระพุทธประวัติเรื่อง “พิมพาพิลาป” ที่พบเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย และปรากฏเฉพาะในศิลปะทวารวดีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเท่านั้น จึงมีคุณค่าในด้านศิลปะ ด้านวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะและพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ส่วนอีกชิ้นสำคัญไม่แพ้กัน เป็น “ใบเสมาหินทรายสันนิษฐานจำหลักภาพชาดก เรื่อง กุลาวกชาดก” เป็นใบเสมารูปทรงแบบแผ่นแบน สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนบนถึงส่วนยอด ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งแบบกลีบบัว สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียวเช่นกัน จากสภาพที่เหลืออยู่ปรากฏร่องรอยภาพกลุ่มบุคคล 4 คน และสัตว์ 2 ชนิด ด้านซ้ายมือของภาพสลักเป็นภาพช้างสวมเครื่องประดับที่ศีรษะและคอ ถัดมาตอนกลางของภาพสลักภาพบุคคลประธาน เป็นรูปบุรุษอยู่ในอิริยาบถนั่งพับขาซ้ายบนแท่น ขาขวาห้อยลงกับพื้น แขนซ้ายวางราบที่ขาซ้าย แขนขวาถืออาวุธปลายแหลมยกขึ้นระดับอก สวมศิราภรณ์ กุณฑลและกรองศอ ด้านขวามือเป็นภาพสตรี 3 คน
สตรีที่ยืนอยู่ใกล้ประธานของภาพมีนกเกาะอยู่บนมือขวา สตรีทั้งสามสวมศิราภรณ์ กุณฑล และกรองศอ ด้านหลังสลักเป็นภาพต้นไม้ มีผู้ทำการศึกาาและสันนิษฐาน ว่าน่าจะเป็นภาพสลักเล่าเรื่องราวชาดกเรื่อง “กุลาวกชาดก” เรื่องราวในภาพเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่ท้าวสักกเทวราชพานางสุชาดาที่ไปเกิดเป็นนกกระยางในป่าแห่งหนึ่ง ขึ้นมาบนเทวโลก เพื่อให้นางนกได้เห็นผลบุญของพระองค์ ผลบุญของนางสุธรรมา นางสุจิตรา และนางสุนันทา ที่ได้ทำไว้จนได้มาจุติบนเทวโลก เพื่อให้นางกลับตัวและรักษาศีล 5 เพื่อจะได้เกิดในชาติภพที่ดีต่อไป การสลักภาพเล่าเรื่องราวในพุทธศาสนาบนใบเสมาหินทรายแบบแผ่นแบน เป็นลักษณะพิเศษที่พบในเมืองฟ้าแดดสูงยาง เมืองโบราณสมัยทวารวดีที่เจริญขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-15
ส่วน “บ้านคอนสวรรค์” ไม่ปรากฏหลักฐานระบุแน่ชัดว่าตั้งเป็นหมู่บ้านมาตั้งแต่เมื่อใด เนื่องจากไม่มีการเขียนหรือบันทึก เพียงแต่เป็นการสันนิษฐานจากหลักฐานโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ปรากฏอยู่ หากจะสันนิษฐานตามหลักฐานแล้ว ไม่ว่าจากคูเมืองโบราณหรือเนินดินที่เป็นสถานที่ตั้งเมืองเก่า ชาวบ้านเรียกว่า “โนนกู่” พอจะคาดเดาได้ว่าชุมชนที่เคยอาศัยตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ตรงกับยุคสมัยที่เรียกกันว่า “ทวารวดี” มีอดีตที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยเมื่อ 1,500 ปี มาแล้ว หลักฐานที่ยังหลงเหลือและพบเห็นได้ในปัจจุบันก็คือ เสมาหินทราย บางอันมีอักษรจารึกปรากฏอยู่