พระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร วัดราชโอรสฯ พระพุทธรูปสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้มีการสถาปนาและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ มากมายครั้งใหญ่ทั่วพระนคร ทั้งด้วยพระองค์เองและการสนับสนุนให้ขุนนางมีส่วนในการสร้าง จึงถือเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการอย่างแท้จริงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากระหว่างรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 เป็นระยะเวลาของการสร้างบ้านแปลงเมืองและยังอยู่ในภาวะสงคราม ครั้นถึงรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ ทำให้ภาวะทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าขายกับราชสำนักจีน
จากการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามในรัชสมัยของพระองค์ ได้ปรากฏอิทธิพลทางศิลปะอย่างใหม่ขึ้นในงานศิลปกรรมโดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม คืออิทธิพลศิลปะจีน จึงนิยมเรียกงานศิลปกรรมในยุคนี้ว่าศิลปะ “แบบนอกอย่าง” หรือตามความเข้าใจในปัจจุบันว่า “แบบพระราชนิยม” ซึ่งมีความแตกต่างจาก “แบบประเพณีนิยม” ที่มีมาแต่เดิม ทั้งนี้มีผลมาจากการติดต่อค้าขายกับจีนประการหนึ่ง และความต้องการให้สิ่งก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรงประการหนึ่ง หรือเพื่อให้สร้างเสร็จได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ : 2551 : 9)
นอกจากงานสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวแล้ว พบว่ามีการสร้างงานประติมากรรมโดยเฉพาะพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าน่าจะมากที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิราชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือพระประธานขนาดใหญ่ที่โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานตามวัดต่างๆ ที่มีการสถาปนาและปฏิสังขรณ์ในรัชกาลของพระองค์
หนึ่งในวัดที่สำคัญคือ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือวัดราชโอรส เดิมเป็นวัดโบราณชื่อว่า “วัดจอมทอง” ตั้งอยู่ริมคลองด่าน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
หนังสือตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2363 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงยกทัพไปขัดตาทัพพม่าที่เมืองกาญจนบุรีในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นได้เสด็จประทับแรมหน้าวัดจอมทองเพื่อทำพิธีเบิกโขลนทวาร และได้ทรงอธิษฐานไว้ เมื่อสำเร็จราชการจึงทรงสร้างวัดจอมทองแล้วทูลถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงพระราชทานนามว่า “วัดราชโอรส” (ศานติ ภักดีคำ : 2561 : 2)
ความงดงามของวัดแห่งนี้ นายมี มหาดเล็ก ได้พรรณนาไว้ใน “กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ดังความตอนหนึ่งว่า
๏ วัดไหนไหนไม่ลือระบือยศ เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ
ทรงสร้างด้วยมหาวิริยาธึก โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ ฟังข่าวคำลอสุดอยุธยา…
นอกจากอิทธิพลของศิลปกรรมจีนที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมแล้ว ภายในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร” พระประธานหล่อด้วยโลหะ (สำริด) ปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 3.10 เมตร สูง 4.50 เมตร ซึ่งที่ฐานเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรังคารและศิลาจารึกดวงพระชะตาของรัชกาลที่ 3
พระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2364 ส่วนพระนามของพระพุทธรูปรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชทานในภายหลัง
มีข้อที่น่าสังเกตเล็กน้อยคือ โดยส่วนใหญ่พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่พระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตรองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ : 2551 : 221)
ลักษณะสำคัญของพระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร แสดงลักษณะที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง เส้นขอบเปลือกพระเนตรและพระขนงป้ายเป็นแผ่นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลาย พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์เกือบเป็นเส้นตรงตวัดปลายพระโอษฐ์เพียงเล็กน้อย คล้ายเรือประทุน แตกต่างจากพระโอษฐ์พระพุทธรูปอยุธยาหรือสุโขทัยที่นิยมโค้งเป็นคลื่น ลักษณะพระโอษฐ์และการแย้มสรวลเพียงเล็กน้อยนี้เองที่กล่าวกันว่ามีพระพักตร์อย่างหุ่น คือสีพระพักตร์แสดงอาการนิ่งคล้ายกับหุ่นละคร อันเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ : 2551 : 221)
สำหรับการทำพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์ “อย่างหุ่น” นี้ ความจริงเป็นงานที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 มาแล้ว แต่มาปรากฏอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยต้นแบบในการสร้างระยะแรกนั้น คือพระพุทธธรรมมิศราชธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวนารามฯ ซึ่งรัชกาลที่ 2 เป็นผู้ปั้นหุ่นพระพักตร์ และพระพุทธจุฬารักษ์ พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชสิทธารามฯ โดยรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นพระเศียร และรัชกาลที่ 3 ทรงปั้นส่วนพระองค์
พระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ถือเป็นงานประติมากรรมชิ้นสำคัญของงานช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ อันเนื่องมาจากเป็นผลงานที่พระมหากษัตริย์ทรงปั้นด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะพระพุทธจุฬารักษ์นั้น รัชกาลที่ 3 ทรงมีส่วนร่วมในการปั้นด้วยพระองค์เอง จึงน่าจะเป็นต้นแบบสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปที่เป็นรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลของพระองค์ ที่พบอยู่โดยทั่วไป โดยเป็นกลุ่มพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ เช่น พระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปที่มีลักษณะโดยรวมแล้วเหมือนกันกับพระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร เช่น พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวนาราม พระชัมภูนุท มหาบุรุษลักขณา อสีตยานุบพิตร ในพระวิหาร วัดอรุณราชวนารามฯ พระเสฏฐตมุนี วัดราชนัดดารามฯ และพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา วัดเฉลิมพระเกียรติฯ จ.นนทบุรี ที่ว่ากันว่าหล่อขึ้นในคราวเดียวกันที่โรงหล่อหลวง เสร็จแล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานตามวัดนั้นๆ ตามพระราชประสงค์