ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่เป็นประธาน ภายในพระอุโบสถ ที่พระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันอย่างเคยปากมากกว่าว่า “วัดโพธิ์” นั้น จะเป็น “พระพุทธเทวปฏิมากร” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้อัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า วัดคูหาสวรรค์) แต่พระพุทธรูปที่ดูจะมีความโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันมากกว่า เมื่อกล่าวถึงวัดโพธิ์นั้น ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเป็น “พระพุทธไสยาสน์” หรือที่คุ้นหูกันมากกว่าในชื่อของ “พระนอน”
วัดโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เดิมชื่อ “วัดโพธาราม” (แน่นอนว่าที่เรียกสั้นๆ กันว่าวัดโพธิ์ ก็มีที่มาจากชื่อเก่าแก่นี้ด้วย) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ประชิดกับพระบรมมหาราชวัง แต่ส่วนของพระนอน ที่อยู่ในวิหารนั้น เป็นของที่สร้างเพิ่มเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่นอกแผนผังหลัก (master plan) ของวัด ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1
นอกเหนือจากพระนอนองค์โตแล้ว รัชกาลที่ 3 ยังทรงเป็นผู้เพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้างเข้าไปในวัดแห่งนี้อีกมากมาย ที่สำคัญอีกอย่างก็คือจารึกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจารึกตำรายา จารึกกลอนกลบท ฯลฯ จนทำให้มีการขนานนาม “วัดโพธิ์” ว่าเป็น “มหาวิทยาลัยในแผ่นหิน”
แต่ถ้าแผ่นศิลาจารึกเหล่านี้ จะทำให้วัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยบนแผ่นหินแล้ว (โดยไม่ต้องสนใจว่า รัชกาลที่ 3 จะทรงต้องการสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นจากแผ่นศิลาจารึกเหล่านี้จริงหรือไม่ก็ตาม?) วัดโพธิ์ก็คงจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยบนแผ่นหินแห่งแรกของสยามประเทศ เพราะเมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ได้โปรดให้มีการทำแผ่นจารึกตำรายาในทำนองเดียวกันนี้ประดับไว้ที่ วัดราชโอรส มาก่อนแล้วด้วย
วัดราชโอรส ตั้งอยู่ที่คลองด่าน เขตบางขุนเทียน เดิมชื่อวัดจอมทอง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งอยุธยาเช่นกัน
พื้นที่บริเวณคลองด่าน ย่านบางขุนเทียน เป็นพื้นที่ในนิวาสสถานเดิมของ สมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาในรัชกาลที่ 3 เฉพาะพื้นที่บริเวณวัดจอมทอง เป็นบริเวณที่รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบพิธีเบิกโขลนทวาร เนื่องในฐานะจอมพล ก่อนเสด็จไปขัดตาทัพพม่าที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเรือน พ.ศ.2363 (ความตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ว่าพระองค์ได้ทำพิธีดังกล่าวจริงหรือไม่?) อันเป็นเวลาก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์
ภายหลังเมื่อทรงสำเร็จราชการครั้งนั้นโดยสวัสดิภาพแล้ว จึงได้ทรงบูรณะ และสถาปนาวัดจอมทองขึ้นมาใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระราชทานนามให้ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึง รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์นั่นเอง
(ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นพระราชโอรส แต่ก็เป็นเพียงพระโอรสนอกพระบรมเศวตฉัตร คือประสูติก่อนที่พระราชบิดาจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลในยุคนั้น รัชทายาทจะต้องเป็นพระราชโอรสที่ประสูติหลังจากที่กษัตริย์ขึ้นครองราชย์แล้วเท่านั้น หมายความว่า หากจะกล่าวตามกฎมณเฑียรบาลโดยเคร่งครัดแล้ว พระองค์ไม่ทรงมีสิทธิ์ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์นั่นเอง)
น่าสนใจที่ การสร้างศิลาจารึกตำราที่วัดราชโอรส นอกเหนือจากที่จะใช้เป็นมหาวิทยาลัยบนแผ่นหิน (ซึ่งที่จริงเป็นคนในรุ่นร่วมสมัยปัจจุบันของเราต่างหาก ที่ไปทึกทักแปลความลากเข้ามาอย่างนั้น) แล้ว ก็อาจเป็นการเสริมสร้างบุญบารมีของพระองค์ด้วย
ข้อความบาทหนึ่งในกลอนยอพระเกียรติ 3 รัชกาล ของพระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจการสถาปนาวัดราชโอรสของรัชกาลที่ 3 ว่า
“เหลือมนุษย์สุดสร้างไว้อย่างนี้ เปนยอดทาน บารมีโพธิสัตว์”
ถึงแม้ว่าในบทร้อยกรองจะไม่ได้กล่าวถึงการสร้างจารึกตำรายาไว้โดยตรง แต่คำว่า “ทานบารมีโพธิสัตว์” ก็ชวนให้นึกถึง “พระมโหสถ” ซึ่งเป็นพระชาติที่ 5 ในทศชาติหรือสิบชาติสุดท้ายก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
คำว่า “พระโพธิสัตว์” ในศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทนั้นหมายถึง พระชาติต่างๆ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมโหสถ เป็นพระชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเคียงคู่กับพระเวสสันดร ในเรื่องทศชาติ โดยพระมโหสถนั้น เมื่อประสูติมาแล้ว พระอินทร์ได้นำเอาโอสถแท่ง ที่ใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้มาวางไว้ในผ่ามือ ต่อมาพระมโหสถได้ใช้พระโอสถแท่งนี้ในการรักษาโรคภัยให้กับผู้อื่น นับเป็นบุญบารมีอย่างหนึ่ง
กษัตริย์ในยุคโบราณบางพระองค์ก็บำเพ็ญบารมีด้วยการรักษาโรคภัยให้ประชาชน เช่น พระเจ้าอโศกมหาราชในอินเดีย ที่สร้างโรงพยาบาลรักษาคนและสัตว์ หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา ที่โปรดให้สร้าง “อโรคยศาล” (หรือศาลาไร้โรค) ไว้ในราชอาณาจักรของพระองค์ถึง 108 แห่ง และแม้กระทั่งรัชกาลที่ 1 เอง ก็โปรดให้จารึกตำรายา และฤาษีดัดตน ไว้ที่ศาลาราย วัดโพธิ์ด้วยเหมือนกัน
ถูกต้องแล้วครับ จารึกตำรายาที่วัดโพธิ์ชุดแรกเป็นของรัชกาลที่ 1 เอาเข้าจริงแล้ว รัชกาลที่ 3 จึงเพียงทรงบำเพ็ญบารมีแบบเดียวกับพระอัยยิกา (คือปู่) ของพระองค์ ด้วยการชำระ และทำจารึกตำราเพิ่มเท่านั้นเอง
สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งระหว่างวัดราชโอรส กับวัดโพธิ์ก็คือ “พระนอน”
แต่วัดราชโอรสที่รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นมาใหม่นั้น มีพระนอนเป็นพระประธานของวัดเลยทีเดียว
พระนอนที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างทั้งสององค์นั้น มีขนาดใหญ่ ซึ่งดูเผินๆ ก็อาจจะไม่แปลกอะไรนัก ถ้าจะคำนึงถึงการที่พระองค์ทรงมีสัมพันธ์อันดีกับชาวจีน ซึ่งชื่นชอบที่จะสร้างพระองค์โตๆ (และมักจะเรียกว่า ซำปอกง เหมือนกันไปหมด) แต่พระนอนที่องค์ใหญ่นั้นมีคติการสร้างเป็นการเฉพาะ เรียกว่า “ปางปราบอสุรินทราหู” โดยมีเนื้อความดังต่อไปนี้
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี “อสุรินทราหู” ซึ่งเป็นอสูรอุปราชของท้าวไวจิตตาสูร ผู้ครองอสูรพิภพ ได้รับฟังพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าจากเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงอยากฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์
แต่เจ้าอสูรตนนี้กลับคิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ส่วนตนเองมีร่างกายใหญ่โต หากไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองด้วยความลำบาก เมื่ออสุรินทราหู ไปเข้าเฝ้าจึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม
พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิของอสุรินทราหูอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูอสูร และทรงนอนในลักษณะเสด็จสีหไสยาสน์ พระเศียรหนุนภูเขาต่างพระเขนย พระบาททั้งสองข้างที่วางซ้อนกันอยู่ สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู จนอสูรตนนี้ต้องชะเง้อคอมอง
จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูขึ้นไปยังพรหมโลก บรรดาพรหมทั้งหลายมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธองค์ และต่างมองอสุรินทราหูเหมือนประหนึ่งมนุษย์ดูมดปลวกตัว อสุรินทราหูเกิดความกลัวต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุด
ตำนานเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่สมัยอยุธยานู่นแล้วนะครับ จึงไม่แปลกอะไรที่รัชกาลที่ 3 จะทรงรู้จักพุทธประวัติตอนนี้ด้วยเหมือนกัน
และถ้าหากยอมรับตรงกันว่า รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดและสร้างจารึกตำรายาขึ้นเพื่อบำเพ็ญบารมีอย่างพระโพธิสัตว์ สำหรับเตรียมพร้อมเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ใครคืออสุรินทราหูของพระองค์?
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี