ก่อนออกเดินทางไปท่องอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถิ่นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่ง “มติชนอคาเดมี” จัดทริปสุดหฤหรรษ์ขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมี “อาจารย์ปรีดี พิศภูมิวิถี” ผู้เชี่ยวชาญช่ำชองประวัติศาสตร์ไทยทั้งเรื่องไพร่เรื่องเจ้า ทำหน้าที่เป็นวิทยากรพาทัวร์ตลอดทั้งวัน ใครยังไม่ได้จองไปร่วมแจมด้วยก็ต้องรีบแล้ว เพราะการไปทริปครั้งนี้ “อาจารย์ปรีดี” มีเกร็ดประวัติศาสตร์มันๆ มาเล่าสู่กันฟัง…
อย่างเรื่องของ “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี” พระบรมราชินีพระองค์แรกของจักรีวงศ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสตรี “ขี้หึงเป็นที่สุด” ประวัติศาสตร์มีบันทึกไว้ว่าทรงเคยใช้ “ดุ้นแสม” ฟาดศรีษะ “เจ้าคุณแว่น” พระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 จนเลือดอาบมาแล้วเพราะความขี้หึง สมเด็จพระอมรินทราฯ มีพระนามเดิมว่า “นาค” พระราชสมภพเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2280 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นธิดาของคุณทอง ณ บางช้าง และคุณสั้น (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระรูปศิริโสภาคยมหานาคนารี) เป็นคหบดีเชื้อสายมอญ มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน 10 คน ทุกคนล้วนได้รับพระราชทานยศเป็น “เจ้าคุณ” ทั้งนั้น
ที่กล่าวถึง “อัมพวา” เป็น “ถิ่นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ก็เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งสมรสกับ “คุณนาค” หรือสมเด็จพระอมรินทราฯ ผู้มีพื้นเพบ้านเดิมเป็นคนอัมพวา แขวงบางช้าง หรือตำบลบางช้างในปัจจุบัน ในสมัยโบราณ “แขวงบางช้าง” เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีความเจริญในด้านการทำสวน ปลูกพืชผักผลไม้ และในเรื่องของการค้าขาย มีหลักฐานเชื่อได้ว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แขวงบางช้างมีตลาดค้าขายเรียกว่า “ตลาดบางช้าง” นายตลาดเป็นหญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก นายตลาดผู้นี้อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง ซึ่งต่อมาเป็นราชนิกุล “ณ บางช้าง”
ก่อนหน้าที่สมเด็จพระอมรินทราฯ จะก้าวสู่การเป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกแห่งจักรีวงศ์นั้น เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2303 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดเกล้าฯ ให้นายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ต่อมาหลวงยกกระบัตรได้แต่งงานกับ “คุณนาค” บุตรีคหบดีบางช้าง และได้ย้ายบ้านไปอยู่หลังวัดจุฬามณี ต่อมาเมื่อไฟไหม้บ้าน จึงได้ย้ายไปอยู่ที่หลังวัดอัมพวันเจติยาราม อีก 3 ปี
พ.ศ. 2310 เมื่อพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้ ท่านแก้ว (สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ได้คลอดบุตรหญิงคนหนึ่งตั้งชื่อว่า “บุญรอด” (ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2) ครั้งเมื่อพระยาวชิรปราการรวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดแล้ว ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตากสิน หลวงยกกระบัตรจึงได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิม ในช่วงนี้เองคุณนาคได้คลอดบุตรคนที่ 4 เป็นชายชื่อ “ฉิม” ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสิน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา กระทั่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรี
เรื่องของสมเด็จพระอมรินทราฯ ในหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คของสำนักพิมพ์มติชน ฉบับพิเศษชื่อว่า “ลูกแก้วเมียขวัญ” เขียนโดย “ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย” เนื้อหากล่าวถึงสมเด็จพระอินทราบรมราชินี ว่า ทรงเป็นสตรีที่มีความรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะทดแทนความรักได้ การพบรักระหว่างหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี และคุณนาคนั้น ประหนึ่งนิยายโรแมนติก เล่ากันว่าคุณนาคเป็นสตรีที่มีรูปโฉมงดงาม กระทั่งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ให้ทหารมหาดเล็กไปนำตัวเพื่อมาเป็นสนมนางใน แต่บิดาคุณนาคหวงลูกสาวไม่อยากให้เข้าวังเป็นนางใน จึงไปขอร้องให้บิดาของหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี กราบบังคมทูลว่าได้หมั้นหมายกับลูกชายไว้แล้ว
ขณะที่อีกกระแสเล่าว่าทั้งหลวงยกกระบัตรและคุณนาค พบรักกันตามครรลองของคนหนุ่มสาวทั่วไป กล่าวคือคุณนาค แม้จะเกิดในตระกูลคหบดี แต่ก็ต้องทำงานหลักตามอาชีพ ไม่ว่าลอกท้องร่อง วิดน้ำ พรวนดิน ดายหญ้า ขึ้นต้นหมากรากไม้เก็บผล หรือแจวเรือพายเรือ การเป็นหญิงขยันขันแข็งทำงานนี่เอง วันหนึ่งคุณนาคกำลังปีนขึ้นเก็บผลไม้บนต้นไม้ในสวนริมคลอง เกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาบาดเจ็บจุกเสียดอยู่โคนต้น ก็ให้บังเอิญหลวงยกกระบัตรหนุ่มมีอันต้องนั่งเรือผ่านมาพบเห็นเหตุการณ์ เข้าพอดีจึงได้ช่วยเหลือ เป็นต้นเหตุของความสัมพันธ์ที่สานต่อมาเป็นความรักและได้แต่งงานในที่สุด
หลังแต่งงาน ศึกสงครามในบ้านเมืองยังไม่สงบ ฝ่ายชายต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษามาตุภูมิ ส่วนฝ่ายหญิงก็ยังคงทำงานบ้าน งานสวน ดังเดิม กระทั่งปลายกรุงศรีอยุธยา สภาพบ้านเมืองแตกสลายยับเยินเปลี่ยนวิถีชีวิตจิตใจของผู้คนโดยสิ้นเชิง หลวงยกกระบัตรตัดสินใจอพยพครอบครัวเดินทางเข้ากรุงธนบุรี เพื่อสมทบกับพระยาตากกู้บ้านฟื้นเมือง การเดินทางจากสมุทรสงครามมายังกรุงธนบุรีสมัยนั้น โดยทางเรือตามคลองสามสิบสองคด เพื่อมาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างทางมีเหตุการณ์พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของสองสามีภรรยา และอุปนิสัยสุขุมเยือกเย็นของหลวงยกกระบัตร ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ในหนังสือโครงกระดูกในตู้
ว่า… ระหว่างเดินทาง เจ้าคุณชูโต ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณนาค ร่วมเดินทางไปเพื่อกอบกู้บ้านเมืองด้วยกันนั้น กำลังเคร่งเครียดกับสถานการณ์บ้านเมือง มีใจอันร้อนรน เมื่อมองเห็นสองสามีภรรยานั่งพูดจาเล่นหัว หัวเราะหัวใคร่กันอยู่กลางลำเรือ ก็เกิดโมโหเดือดกล่าวหาน้องสาวน้องเขย ว่า “…ไม่รู้จักกาละเทศะ บ้านเมืองเป็นกลียุค บ้านแตกสาแหรกขาดถึงป่านนี้แล้ว ยังมานั่งหยอกล้อกันอยู่ได้ คนเช่นนี้ไฉนจะไปกู้บ้านกู้เมืองได้สำเร็จ…” มิใไยที่สองสามีภรรยาจะชี้แจงให้ฟังว่าระยะทางที่จะไปยังอยู่อีกไกล การศึกสงครามข้างหน้ายังมีอีกมาก เมื่อยังไม่ได้เผชิญหน้าก็ควรทำจิตใจและร่างกายให้สบาย จะได้มีกำลังใจไว้ต่อสู้กับข้าศึก
เจ้าคุณชูโตเอาแต่เกรี้ยวกราด ไม่ยอมฟังเหตุผล ขอแยกตัวไปตามลำพัง ด้วยคำทิ้งท้ายว่า “…เมื่อรักสุขรักสบายก็จงไปด้วยกันแต่สองคนผัวเมียเถิด เราจะแยกทางไปแต่ตัว จะไปแก้แค้นทดแทนอ้ายพม่าข้าศึกให้ได้…”ว่าแล้วก็กระโดดขึ้นฝั่งและหายสาบสูญไปแต่บัดนั้น ส่วนหลวงยกกระบัตรได้ใช้ความสุขุมเยือกเย็นรับราชการเป็นทหารกล้า ในกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินจนเป็นที่ประจักษ์ และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ได้ตำแหน่งสูงสุด คือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
สำหรับคุณนาคนั้นตลอดชีวิตในช่วงต่อมายังคงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แม้ภัยสงครามจะผ่านไปและฐานะความเป็นอยู่ของคุณนาคเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้หญิงของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เล่ากันว่าตลอดพระชนมชีพของท่าน จะต้องเตรียมเสบียงอาหาร ซึ่งประกอบด้วยอาหารแห้งนานาชนิดใส่ไว้ในกระจาด 2 ใบ พร้อมสาแหรกและไม้คานวางไว้ข้างๆ ตัว เพื่อสะดวกต่อการหยิบฉวย และพระกระยาหารที่ประกอบขึ้น แม้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งพระราชินีแล้ว ยังคงเป็นพวกอาหารที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานๆ ไม่ว่าจะเป็นผักดองหรือของเค็มต่างๆ
มีเสียงร่ำลือกันว่าอุปนิสัยอย่างหนึ่งของคุณนาค คือ ขี้หึงเป็นที่สุด จนมีคำเปรียบเทียบติดปาก “มเหสีขี้หึงเหมือนหนึ่งเสือ” ความขี้หึงของสมเด็จพระอมรินทราฯ เท่าที่ปรากฏเป็นเรื่องราวคือครั้งที่ท่านหึง คุณนวล น้องสาวของท่าน ซึ่งกำลังเป็นสาวเกรงว่าจะเป็นที่ต้องตาของท่านเจ้าคุณสามี จึงทรงหาโอกาสสนับสนุนให้คุณนาวลสมรสกับ นายบุนนาค ต้นสกุล บุนนาค ซึ่งกำลังเป็นพ่อหม้ายตำแหน่งทนายหน้าหอของเจ้าคุณสามี มีผลให้สกุลบุนนาคเกี่ยวพันกับราชวงศ์จักรสืบมา
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระอมรินทราฯ ไม่อาจทรงยึดอดีตให้คงอยู่ สิ่งที่กาลเวลานำมาและเป็นเหตุให้ชีวิตในครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงก็คือ สาวชาวเวียงจันทน์ ชื่อ “คุณแว่น” ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพากลับมาด้วยเมื่อครั้งยกทัพไปตีเวีงจันทน์ เล่ากันว่าท่านผู้หญิงนาคทำใจรับการมีสตรีอื่นมาร่วมสามีด้วยไม่ได้ ลุแก่โทสะถึงขั้นใช้ดุ้นแสมฟาดหัวสตรีที่เป็นส่วนเกิน เหตุการณ์ครั้งนั้นร้ายแรงขนาดที่ท่านเจ้าพระยาใช้ดาบเงื้อง่าจะฟันคุณนาค ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองขาดสะบั้นลง เพราะนับแต่นั้นมา ทั้งสองก็แยกกันอยู่ และมิกลับมาคืนดีกันอีกเลย
แม้เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ไม่ทรงยกย่องสถาปนาพระอิสริยยศแก่คุณหญิงนาคแต่อย่างใด คุณหญิงนาคก็คงเป็นคุณหญิงนาคตามเดิม มีชีวิตปกติสุขแบบคนสามัญชนทั่วไป
มีบ้างที่จะเข้าไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อเยี่ยมพระราชธิดาสองพระองค์ของท่านเป็นครั้งคราว แต่ก็กลับก่อนประตูวังจะปิดในตอนพลบค่ำทุกครั้งไป เมื่อ “พ่อฉิม” พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว ทรงสถาปนาคุณหญิงนาคขึ้นเป็น “สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี” คนทั่วไปจึงเปลี่ยนสรรพนามจาก “คุณหญิง” มาเป็น “สมเด็จพระพันปี” แทน ตั้งแต่นั้นมา และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยใหม่เป็น “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริพระชนมายุได้ 89 พรรษา พระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ และโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง แล้วนำพระบรมอัฐิไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นพระราชินีเพียงพระองค์เดียวที่ไม่ได้มาประทับที่พระราชวังหลวง เพราะความหึงหวงต่อพระสวามีของพระองค์