วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร หรือเดิมชื่อว่า ‘วัดหมู’ เป็นวัดเก่าแก่ริมคลองด่าน ติดกับวัดปากน้ำภาษีเจริญ ตามประวัติไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด มีแต่เพียงเรื่องเล่าว่า ‘จีนอู๋’ เป็นผู้สร้างเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามพระราชทานแด่เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) พระสนมเอก
สำหรับชื่อวัดหมูนั้น มีการสันนิษฐานว่าบริเวณจุดเชื่อมคลองด่านและคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) ที่อยู่ใกล้เคียงรอบวัดเป็นที่ตั้งเรือนแพของคนจีนที่ประกอบอาชีพขายหมู ดังปรากฏในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ว่า
๏ ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
(นิราศเมืองเพชร)
ภายในวัดนอกจากจะมีงานสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลศิลปะจีน หรือที่เรียกว่า “แบบพระราชนิยม” ปรากฏให้เห็นทั้งพระอุโบสถและพระวิหารแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่มีที่อื่นเหมือน คือภายในพระอุโบสถมีการประดิษฐานพระประธาน 28 องค์ บนฐานชุกชี (แท่นพระ) เดียวกัน โดยเป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะ ปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะที่เหมือนกันทุกองค์ตามรูปแบบของงานประติมากรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีขนาดเท่ากันหมดทุกองค์อีกด้วย โดยมีนักวิชาการได้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคติของพระอดีตพุทธเจ้า 28 พระองค์
คติการสร้างพระอดีตพุทธเจ้าปรากฏในงานศิลปกรรมทุกยุคสมัย แต่ที่พบส่วนใหญ่มักเป็นงานจิตรกรรม เท่าที่พบหลักฐานที่สามารถสืบค้นได้คือในศิลปะสุโขทัย ล้านนา และอยุธยาตอนต้น
โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้นปรากฏหลักฐานค่อนข้างมากที่เขียนไว้บนผนังในคูหาปรางค์ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นคตินิยมที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ควบคู่มากับการสร้างปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น ปรางค์หมายเลข 16ค วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรางค์วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี ปรางค์วัดราชบูรณะ ปรางค์วัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เป็นต้น (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ : 2551 : 258)
ต่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พบการเขียนจิตรกรรมพระอดีตพุทธเจ้าที่สืบทอดจากสมัยอยุธยาหลายแห่ง แต่มีลักษณะเดียวกัน เช่น วัดบางยี่ขัน ในพระวิหาร วัดสุทัศนเทพวนารามฯ วัดบวรสถานสุทธาวาสฯ เป็นต้น
สำหรับงานจิตรกรรมนั้นมักเขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้า โดยแบ่งออกเป็นช่องๆ เรียงเป็นแถวๆ โดยพบทั้งที่เป็นองค์เดียวบ้าง มีสาวกพนมมือประกอบอยู่ซ้าย-ขวาบ้าง พบทั้งที่เป็น 24 องค์บ้าง 27 องค์บ้าง และ 28 องค์บ้าง
ในคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมักมีคติที่กล่าวถึงพระอดีตพุทธเจ้า ซึ่งมักเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือพระสมณโคดมหรือพระศรีศากยมุนี
ซึ่งมีความหมายที่อธิบายได้ว่า 24 พระองค์ หมายถึงพระอดีตพุทธเจ้าที่ทรงพยากรณ์ว่าพระศรีศากยมุนีจะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ถ้าเป็น 27 พระองค์ก็จะรวมพระอดีตพุทธเจ้าในสารมัณฑกัลป์ อีก 3 พระองค์ที่ไม่ได้ให้คำพยากรณ์ด้วย และถ้าเป็น 28 พระองค์จะหมายถึงการนับรวมพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนีด้วยอีกหนึ่งพระองค์ (เสมอชัย พูลสุวรรณ : 2539 : 39)
ส่วนการสร้างพระอดีตพุทธเจ้า 28 พระองค์ในงานประติมากรรมนับเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในงานศิลปกรรมไทย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ : 2551 : 259) ถือได้ว่าเป็นแนวความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งคงเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น ดังปรากฏหลักฐานที่วัดอื่นๆ ที่ได้รับการสถาปนาร่วมสมัยกันนั่นเอง
สำหรับพระพุทธรูปทั้ง 28 พระองค์ ของวัดอัปสรสวรรค์ฯ นี้ได้มีพระนามจารึกไว้ที่หน้าฐานทุกพระองค์ องค์ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดจอม มีพระนามจารึกว่า “พระพุทธตัณหังกร” ที่เหลือมีพระนามดังนี้ พระพุทธเมธังกร พระพุทธสรณังกร พระพุทธทีปังกร พระพุทธโกณฑัญญะ พระพุทธมังคละ พระพุทธสุมนะ พระพุทธเรวตะ พระพุทธโสภิตะ พระพุทธอโนมทัสสี พระพุทธปทุมะ พระพุทธนารทะ พระพุทธปทุมุตตระ พระพุทธสุเมธะ พระพุทธสุชาตะ พระพุทธปิยทัสสี พระพุทธอัตถทัสสี พระพุทธธรรมทัสสี พระพุทธสิทธัตถะ พระพุทธติสสะ พระพุทธปุสสะ พระพุทธวิปัสสี พระพุทธสิขี พระพุทธเวสสภู พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ และพระพุทธโคดม ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยประดิษฐานอยู่ด้านหน้าที่สุดที่ชั้นล่าง