ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
ถํ้าเขาหลวงเป็นถํ้าใหญ่ที่สุดของ “เขาหลวง” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ทางทิศเหนือไม่ไกลจากเขามหาสวรรย์ หรือ เขาวัง ภายในถํ้าเขาหลวงยังเป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์ รอยพระพุทธบาท และพระพุทธรูปขนาดน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ซึ่งมีผู้คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติและกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงครองสมณเพศในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้เคยเสด็จจาริกมายังถํ้าเขาหลวง และทรงพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุบาง
ประการไว้ ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการพระพุทธรูปที่ถํ้าเขาหลวงอีกหลายคราว นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดทางขึ้นลงให้มั่นคงแข็งแรง และได้โปรดเกล้าฯ ให้สั่งกระเบื้องหน้าวัวจากเมืองสงขลาเพื่อมาปูพื้นถํ้าเขาหลวง ซึ่งเป็นกระเบื้องชนิดเดียวกันกับที่ปูพื้นพระราชมณเฑียรในพระนครคีรี รวมทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างระฆังขึ้นคู่หนึ่งสำหรับแขวนไว้ในถํ้าเขาหลวงโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันพบหลักฐานเพียงใบเดียว ทั้งหมดนี้นับเป็นการปฏิสังขรณ์ถํ้าเขาหลวงครั้งใหญ่ในรัชสมัยนั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถํ้าเขาหลวงยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเตรียมรับรอง คอลลอย เลนเบิร์ต ราชทูตจากปรัสเซียที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการ และยังเป็นสถานที่ต้อนรับดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ (Duke Johon Alberkt) ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิก (Braunschweig) และพระชายา ซึ่งได้เสด็จมายังสยามในฐานะพระราชอาคันตุกะในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ได้เสด็จฯ มายังถํ้าแห่งนี้ โดยได้ทรงนมัสการพระพุทธรูปสำคัญภายในถํ้าเขาหลวงทุกครั้งเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระนครคีรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และของพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อซ่อมแซมพระพุทธรูปในถํ้าเขาหลวง
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมทนต์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระทนต์สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินีในรัชกาลที่ 4 และพระทนต์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5 นับเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ ถํ้าเขาหลวง จ.เพชรบุรี
หลักฐานสมัยกรุงศรีอยุธยาในถํ้าเขาหลวงเท่าที่เห็นได้ในปัจจุบันได้แก่ หลวงพ่อถํ้าหลวง พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักประมาณ 3 เมตร เป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านละแวกเขาหลวงและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา และยังมีรอยพระพุทธบาทที่ประกอบด้วยลายมงคล 108 ซึ่งมีลวดลายประดับที่เป็นศิลปะอยุธยา
นอกจากนี้ ภายในถํ้าเขาหลวงยังมีเจดีย์แปดเหลี่ยมที่ประดับลวดลายปูนปั้นสมัยอยุธยาที่มีความงดงามและสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง มีทั้งลายกลีบบัว ลายดอกกลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายซุ้มหน้านาง และลายอื่นๆ เป็นหนึ่งในหลักฐานว่าช่างปูนปั้นเมืองเพชรมีฝีมือเยี่ยมยอดมาแล้วแต่โบราณกาล ภายในถํ้ายังพบพระพุทธรูปอู่ทองอีกจำนวนหนึ่ง เป็นหลักฐานว่าถํ้านี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว
ที่ถํ้าเขาหลวงยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 3 องค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ.2403 พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร พระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ ทรงร่วมปฏิสังขรณ์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งเพื่อทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-4 เป็นพระพุทธรูปที่มีจารึกพระปรมาภิไธยและตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ไว้ภายในถํ้าเขาหลวง ซึ่งมีรูปแบบโดยรวมเป็นแบบแผนทั่วไปของพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ คือ พระพักตร์ที่สงบนิ่งคล้ายหุ่น พระเนตรเรียวเล็กเหลือบตํ่า พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งเรียวแหลม พระโอษฐ์แย้มสรวล พระกรรณยาว เม็ดพระศกเล็ก มีอุษณีษะและพระรัศมีเป็นเปลวสูง
นอกจากนี้ เจ้านายหลายพระองค์ในราชวงศ์จักรีได้โดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปขนาดเล็ก หน้าตักราว 1 ศอก เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล เรียงรายอยู่โดยรอบผนังถํ้าอีกเป็นจำนวนมากกว่าร้อยองค์ ทุกองค์เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพุทธรูปหลายองค์มีจารึกพระนามพระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 การสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามพระราชวงศ์จำนวนมากเช่นนี้ เชื่อว่าสร้างขึ้นตามพระนามและพระอิสริยยศขณะนั้น สะท้อนถึงแนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับพระราชวงศ์ที่ปรากฏพระนามตามจารึก ไม่ว่าจะสิ้นพระชนม์แล้วหรือยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ขณะเดียวกันพระพุทธรูปที่มีพระนามเหล่านั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงพระราชวงศ์พระองค์นั้นๆ ด้วย จึงนับเป็นกลุ่มพระพุทธรูปที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับราชสำนักในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างยิ่ง
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี