พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไว้มากมาย โดยได้รวบรวมมาจากทั่วทั้งประเทศเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่สาธารณชน
ในปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ฯ เอง ได้มีการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการจัดแสดงมาตามยุคสมัย รวมถึงข้อมูลทางวิชาการที่มีการสืบค้นอย่างมากขึ้นในปัจจุบัน โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุงห้องจัดแสดงใน ‘อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุและข้อมูลของบ้านเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 เป็นต้นมา โดยแบ่งเป็น ห้องล้านนา ห้องสุโขทัย ห้องกรุงศรีอยุธยา ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และห้องกรุงรัตนโกสินทร์
แอดเองเพิ่งมีโอกาสได้ไปเข้าชมส่วนที่มีการปรับปรุงใหม่ของที่นี่ คือห้องล้านนา และห้องสุโขทัย โดยได้สะดุดตากับเทวรูปที่มีขนาดใหญ่มากสององค์ในห้องสุโขทัย ซึ่งทั้งสององค์นี้เคยถูกนำมาจัดแสดงแล้วในนิทรรศการพิเศษ “แผ่นดินไทยในอดีต” ณ พระที่นั่งศิวโมกพิมาน เมื่อปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา
องค์แรกคือ “พระวิษณุ หรือพระนารายณ์” ตามประวัติว่าย้ายมาจากเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ พระองค์เป็นหนึ่งในสามของตรีมูรติ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้รับการนับถือในฐานะเป็นผู้รักษาโลกและจักรวาล มีนิกายของตนโดยเฉพาะคือ ‘ไวษณพนิกาย’ ทั้งยังมีภาคอวตารต่างๆ มากมาย ได้แก่ พระราม พระกฤษณะ เป็นต้น 🌞
เทวรูปองค์นี้ทำจากสำริด มีความสูงรวมฐาน 268 เซนติเมตร ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายทรงกลม มี 4 กร สองกรบนทรงจักรและสังข์ ทั้งยังทรงเครื่องประดับอย่างกษัตริย์ นุ่งภูษายาว ที่พระเศียรประดับศิราภรณ์คล้ายกับกีรีฏมงกุฎ หรือหมวกทรงกระบอก ซึ่งเป็นเครื่องแสดงฐานะของวรรณะกษัตริย์
อีกองค์หนึ่งคือ “พระอิศวร หรือพระศิวะ” ตามประวัติว่าย้ายมาจากเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์เช่นกัน พระองค์เป็นหนึ่งในสามของตรีมูรติ โดยได้รับการนับถือในฐานะผู้ทำลาย แต่เป็นการทำลายเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ มี “ไศวนิกาย” เป็นนิกายที่บูชาพระองค์เป็นเทพสูงสุด
เทวรูปของพระองค์ทำจากสำริด มีความสูงรวมฐาน 305 เซนติเมตร ประทับยืนบนฐานซึ่งมีรางน้ำมนต์ยื่นออกมาด้านข้าง ทรงเครื่องประดับอย่างกษัตริย์ นุ่งภูษายาว ที่มวยพระเกศาด้านหน้าประดับรูปจันทร์เสี้ยวและกึ่งกลางพระนลาฏมีพระเนตรที่สาม ทั้งยังทรงสายธุรำตามแบบของพราหมณ์ โดยสายธุรำมียอดเป็นเศียรนาค 3 เศียร
นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า เทวรูปทั้งสองนั้นน่าจะมีรูปแบบของศิลปะสุโขทัย เนื่องจากพระพักตร์ของเทวรูปทั้งสองมีลักษณะเดียวกับพระพักตร์ของพระพุทธรูปสุโขทัย จึงเป็นไปได้ว่าอาจสร้างขึ้นโดยช่างกลุ่มเดียวกัน โดยสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20
ทั้งยังมีหลักฐานจากศิลาจารึกที่ร่วมสมัยสุโขทัย คือศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ที่ระบุว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1หรือพญาลิไท โปรดฯ ให้สร้างเทวาลัยและประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาฮินดู เพื่อให้บรรดาพราหมณ์และดาบสทั้งหลายได้สักการะบูชา โดยมีการสันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวคือ หอเทวาลัยมหาเกษตร ที่ตั้งอยู่นอกเมืองสุโขทัยทางตะวันตก เนื่องจากมีการค้นพบเทวรูปที่มีรูปแบบเดียวกัน ณ ที่แห่งนี้
แต่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ กลับมีความเห็นต่างออกไป โดยสันนิษฐานว่าเทวรูปทั้งสองนี้ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าสร้างในสมัยสุโขทัย แต่น่าจะย้ายมาจากโบสถ์พราหมณ์ที่พระนครศรีอยุธยาแทน เทวรูปทั้งสองนี้จึงน่าจะเป็นศิลปะอยุธยา อายุระหว่าง พ.ศ.2199-2231
โดย อ.พิริยะ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่กรองศอของเทวรูปทั้งสองนั้น มีความเว้าตามพระศอและพระอุระเช่นเดียวกับกรองศอของเทวดาปูนปั้นที่วัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย ซึ่งท่านมองว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มากกว่า อีก 2 จุดที่สำคัญคือสายธุรำของพระศิวะ มีลักษณะใกล้เคียงกับนาคสำริดที่น่าจะมาจากพระปรางค์วัดจุฬามณี จ.พิษณุโลก และฐานบัวคว่ำบัวหงายของพระนารายณ์ ที่การตกแต่งกลีบบัวที่ฐานนั้นสามารถเทียบเคียงได้กับกลีบบัวปูนปั้นที่กำแพงแก้วรอบเจดีย์ห้ายอด วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย และลายกลีบบัวบนแผ่นศิลาจำหลักลายดอกบัวของดาวเพดานอุโมงค์วัดศรีชุม จ.สุโขทัย
ซึ่งที่งานกล่าวเทียบเคียงทั้งหมดนี้ อ.พิริยะ กล่าวว่า เป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยาแทบทั้งสิ้น ทำให้เทวรูปทั้งสององค์นี้อาจเป็นงานในยุคอยุธยาแทน
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี