มีโอกาสผ่านไปจังหวัดเพชรบุรี ที่ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย ซึ่งพื้นที่นี้มีอุโบสถหรือโบสถ์สร้างจากไม้สักทั้งหลัง ลวดลายแกะสลักบนแผ่นไม้งดงามละเอียดละออกยิ่งนัก เลื่องลือกันว่าเป็นงานศิลป์สุดวิจิตร
หันหัวรถยนต์หักซ้ายจากทางหลวงสายเพชรเกษมระหว่างหลักกิโลเมตร 129-130 เข้าไปในถนนทางเข้าหมู่บ้านระยะทาง 1 กิโลเมตรเศษ เปลี่ยนเส้นทางมุ่งหน้า “วัดกุฏิบางเค็ม” แทนที่จะตรงดิ่งเข้าตัวเมืองเพชรบุรี
ชั่วระยะเวลาไม่ถึงห้านาที เห็นวัดกุฏิบางเค็มตั้งอยู่ซ้ายมือขนาดพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต พระสงฆ์ 4-5 รูปจับกลุ่มสนทนากันอยู่หน้าร้านขายยาหอมของวัด
วัดกุฏิบางเค็มเป็นวัดมหานิกาย ประมาณกันว่าสร้างขึ้นราวปลายสมัยอยุธยาหรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มีอายุ 200 ปีเศษมาแล้ว อุโบสถของวัดนี้เป็นที่รู้กันว่าสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ใช้ไม้มะค่าเป็นเสา โดยไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างนี้นํามาจากจังหวัดนครสวรรค์ ล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนมาถึงคลองบางเค็ม ท่าน้ำของวัดจึงนำขึ้นมาก่อสร้าง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพยายามเข้ามาจัดให้เป็นวัด “อันซีน”ของเพชรบุรี ขณะที่เดินทางไปถึงทางวัดกำลังรื้อย้ายสิ่งก่อสร้างบางส่วน และทุบกำแพงที่เคยเป็นระเบียงคดของวัดออก ค่อยๆ ทยอยย้ายพระพุทธรูปที่รายรอบอยู่ในระเบียงคดไปไว้ในอาคารหลังใหม่ที่กำลังจัดสร้าง ช่างที่รื้อย้ายบอกว่าทางวัดต้องการให้บริเวณพระอุโบสถเปิดโล่ง เผยให้คนเห็นความงามของโบสถ์ไม้สักที่แกะสลักไว้อย่างวิจิตรงดงาม โดยมีกรมศิลปากรเข้ามาดูแลการซ่อมแซมโบสถ์
หลายคนหลายความคิด แต่ที่สุดทั้งชาวบ้านและพระเห็นด้วยกับความคิดที่ให้รื้อกำแพงออกและปล่อยให้เห็นตัวโบสถ์งามสง่าอย่างที่เป็นมาในอดีตกว่าร้อยปี
อาจารย์ “ล้อม เพ็งแก้ว” ศาสตราภิชาน ปราชญ์เมืองเพชร พูดถึงพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ ว่าเป็นของดีของจังหวัดเพชรบุรี ใครได้เห็นได้ชมเป็นต้องตะลึงพรึงเพริดด้วยความวิเศษอุกฤษฏ์ของฝาไม้สักแกะสลักทั้งหลัง เป็นเรื่องทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก แลวรรณกรรมจีนชื่อดัง “ไซอิ๋ว” มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
สำหรับตัว “อุโบสถ” เป็นอาคารไม้สักขนาด 7 ห้อง มีมุขลดยื่นออกไปทางด้านหน้าและหลังอีกด้านละ 1 ห้อง แล้วทำเป็นพาไลโดยรอบอีก 1 ห้อง ภายในโบสถ์ไม่มีเสา อาคารหลังนี้จึงนับเสาใหญ่ได้ 56 ต้น เสาเล็ก 4 ต้น รวม 60 ต้น เสาแถวนอกสุดโดยรอบ(32ต้น) เป็นเสาแปดเหลี่ยม นอกนั้นเป็นเสาสี่เหลี่ยมทั้งสิ้น
ส่วนหลังคาเมื่อมองด้านข้างจะเห็นเป็นหลังคา 4 ชั้น (รวมทั้งหลังคาพาไล) ทางด้านหน้าและหลังจะเห็นพาไลต่อหลังคาปีกนกลงมา มีเสาคู่กลางทะลุหลังคาพาไลขึ้นไปรับมุขทั้งหน้าและหลัง จึงเป็นแบบอย่างงานช่างที่ไม่มีโบสถ์แห่งใดในเพชรบุรีเหมือน เครื่องเงินลํายองเป็นไม้แกะสลัก ลงลักปิดทอง ประดับกระจก มีลวดลายแกะสลักเป็นแบบอย่างทางช่างที่ไม่มีอุโบสถแห่งใดเหมือน หน้าบันทั้ง 2 ด้านเป็นลายสลักไม้ทั้งหมด ด้านหน้าเป็นลายเหรียญเงินตรามงกุฎสมัยแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีภาพป่าประกอบจนเต็มทั้งกรอบจั่ว (การใช้ลายป่าประดับ เช่นนี้ก็ไม่พบเห็นที่หน้าบันโบสถ์วัดอื่นๆ) ส่วนด้านหลังแกะเป็นลายเหรียญเงินตราแผ่นดินครั้งรัชกาลที่ 5 มีลายกนกเปลวประกอบ
นอกจากนี้ ความงดงามสะดุดตาของโบสถ์อยู่ที่ฝาไม้แกะสลักทั้งหลังรวม 20 แผง ทุกแผงล้วนเด่นสะดุดตา อาทิ แผงทางขวา ท่อนล่าง มีช่องประตู บานประตูทั้งสองแกะเป็นลายกนกกอดเกี่ยวสอดสลับกันสามชั้น ฐานลายเป็นเขามอ มีสัตว์ คือ เลียงผา เสือ กระต่ายอาศัยอยู่ มีกระรอก ลิง ไต่อยู่ตามก้านลาย บางที่มีนกฮูก นกเค้าแมวเกาะ กลางบานแกะเป็นภาพจับยักษ์กับลิง หลังลายยังมีภาพลิงนั่งจับเจ่าซ่อนอยู่ นับเป็นการแกะสลักกลายที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง สองข้างช่องประตู แกะเป็นทหารแขกอาสายืนถือตะบอง สองข้างซุ้มแกะเป็นค้างคาวกำลังบิน มีทหารยืนถืออาวุธ (หอกสามง่าม) อยู่สองข้าง เหนือขึ้นไปแกะเป็นภาพทศชาติ เรื่องภูริทัต ตอนปราบงู
ส่วนแผงกลาง ไม่มีช่องประตู ท่อนล่างแกะเป็นทศชาติเรื่องพระมโหสถ เป็นภาพที่เรียกว่า ศึกจุลนี แกะเป็นขุนพลทรงช้างศึกมาประชิดเมือง พระมโหสถกำลังยืนบนป้อม ข้างกำแพงเมืองมีไม้ต้น ไม้ดอก และดอกไม้ร่วมประดับ ฯลฯ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความงามแผงไม้ฝาผนังแกะสลักของพระอุโบสถ หากมีโอกาสผ่านไปทางเมืองเพชรบุรี และผ่านหน้าซุ้มประตูวัดกุฏิบางเค็ม ลองเข้าไปดูให้เห็นกับตาว่าของจริงนั้นสวยงามปานใด
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี