“สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” เป็นบันทึกโดยอาลักษณ์ของคณะราชทูตเปอร์เซียของกษัตริย์สุลัยมานแห่งราชวงศ์เศาะฟะวียฮฺที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หนังสือต้นฉบับเป็นภาษาเปอร์เซียชื่อว่า “สะฟีนะ-อิ-สุลัยมาน” ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาและบทบาทของชาวเปอร์เซียต่อการเมืองการปกครองกรุงศรีอยุธยา อาลักษณ์ผู้นี้มีนามว่า อิบนิ มูฮัมหมัด อิบรอฮีม เป็นคนช่างสังเกต เจ้าคารม รู้ศาสนา และมีจินตนาการทางกวี ได้บันทึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับชาวอิหร่านหรือเปอร์เซียได้อย่างน่าสนใจ ตามบันทึกระบุว่า มีชาวเปอร์เซียในกรุงศรีอยุธยาประมาณ 30 คน ที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และทุกคนล้วนแต่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ที่ดิน บ้านเรือนให้อยู่อาศัย พร้อมทั้งตำแหน่งในการบริหารบ้านเมือง และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์ยังทรงพระเยาว์ก็มักไปคบค้าสมาคมกับชาวอิหร่านอยู่เสมอจนคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมการดำเนินชีวิตของชาวอิหร่านเป็นอย่างดี
ยึดอำนาจพระเชษฐา
เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคต พระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้าไชยได้ขึ้นครองราชบังลังก์สืบต่อ อาลักษณ์บันทึกว่า เหตุนี้ได้สร้างความ “อิจฉา” ต่อสมเด็จพระนารายณ์ผู้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเช่นกัน พระองค์จึงคิดวางแผนการชิงราชสมบัติ โดย
“พระองค์เสด็จไปหาพระเจ้าอา (สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา) พลางทูลว่า ไฉนพระเจ้าอาจึงทรงประทับอยู่เฉย ๆ ขณะที่พระเชษฐาของพระองค์ (สมเด็จเจ้าฟ้าไชย) ทรงเป็นกษัตริย์ พระเจ้าอาคิดจะถวายบังคมกราบกระนั้นหรือ จงอย่าคิดท้อถอย พระองค์จะทรงให้กำลังสนับสนุนทุกประการ…”
สมเด็จพระนารายณ์ทรง “เป่าหู” สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาสำเร็จ และร่วมมือกันชิงราชบัลลังก์ ตามบันทึกระบุว่า รุ่งเช้าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปหาสมเด็จเจ้าฟ้าไชยและทรงสังหารพระเชษฐาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แล้วจึงทูลเชิญสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยา และถึงช่วงเวลานี้ อาลักษณ์คณะราชทูตเปอร์เซียระบุว่า ชาวอิหร่านในกรุงศรีอยุธยาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 100 คน
โอกาสที่เหมาะสม
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่าการยึดอำนาจครั้งนี้สมเด็จพระนารายณ์น่าจะเป็นผู้นำในการก่อการ เพราะสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาดูไม่ค่อยมีกำลังไพร่พลมากนัก อีกเหตุผลหนึ่งคือขุนนางบางกลุ่มสนับสนุนสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเพราะทรงเป็นผู้ที่อ่อนแอและควบคุมง่ายกว่าสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงเข็มแข็งกว่า แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงหมายปองราชบัลลังก์เช่นกัน เพียงแต่ทรงรั้งรอจังหวะที่เหมาะสมและพันธมิตรที่จะหนุนหลังพระองค์ในการยึดอำนาจ
บันทึกของอาลักษณ์คณะราชทูตเปอร์เซียระบุว่า เกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสมเด็จพระศรีสุธรรมราชากับสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นไม่นานจากการยึดอำนาจที่ผ่านมา สมเด็จพระนารายณ์ทรงจัดการปกครองโดยไม่ได้ปรึกษาสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา จนกระทั่งทรงฆ่าเสนาบดีคนหนึ่งต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาโดยไม่มีเหตุผล หลังจากนั้นพระองค์จึงไม่ได้มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาอีกเลย
กระทั่งสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเรียกประชุมเสนาบดีเพื่อคิดจะกำจัดสมเด็จพระนารายณ์ แต่มีชายคนหนึ่งที่เคยเติบโตมาตั้งแต่เล็ก ๆ พร้อมกับสมเด็จพระนารายณ์ ที่อยู่ในที่ประชุมนั้น ได้ลอบนำความไปทูลแจ้งให้สมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงเห็นว่า “…ได้เวลาตามแผนการที่วางไว้แล้ว จึงทรงขอความช่วยเหลือจากชาวอิหร่านและพวกฝรั่งเศส”
แม้จะหาข้ออ้างในการยึดอำนาจได้ แต่สิ่งสำคัญในการยึดอำนาจนั่นคือกำลังทหาร ซึ่งทรงเลือกใช้กองทหารอาสาต่างชาติมากกว่าจะใช้ “กองทัพชาวนา” ของกรุงศรีอยุธยา
กองทหารต่างชาติ
เรื่องกองทหารต่างชาตินี้เป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการก้าวขึ้นสู่อำนาจของสมเด็จพระนารายณ์และเป็นฐานอำนาจทางทหารที่สำคัญในการค้ำจุนราชบัลลังก์ไปจวบจนสิ้นรัชกาล ทำไมกองทหารต่างชาติจึงสำคัญต่อการเมืองกรุงศรีอยุธยา?
ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของกองทหารต่างชาติว่า ทหารเหล่านี้รับเงินโดยตรงจากกษัตริย์ ถูกจัดให้เป็นกองทหารอาสาหรือใช้เป็นราชองครักษ์ไปในตัว จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกษัตริย์ มีความรู้และปฏิบัติการตามแบบทหารอย่างมีประสิทธิภาพ เชี่ยวชาญอาวุธอย่างปืนไฟ ไม่ต้อง “เข้าเดือน” เช่นไพร่กรุงศรีอยุธยา แม้จะมีจำนวนน้อยแต่ก็รวมไพร่พลได้รวดเร็วกว่า ซึ่งเหมาะแก่การยึดอำนาจอย่างฉับพลันที่ไม่จำเป็นต้องใช้ “กองทัพชาวนา” หรือทหารไพร่ของกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก ๆ ก็สามารถยึดอำนาจได้
อีกทั้งกองทหารต่างชาติไม่มีฐานอำนาจทางการเมืองในกรุงศรีอยุธยา ไม่ถูกควบคุมโดยขุนนาง ไม่มีอำนาจควบคุมไพร่ทาส นอกจากจะเป็นเครื่องมือทางทหารแล้วยังถูกใช้เพื่อต่อกรหวังลดอำนาจของขุนนางในกรุงศรีอยุธยาลงอีกด้วย กองทหารต่างชาติจึงเหมาะเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทหารอย่างสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์ที่จะทรงเลือกใช้อย่างไม่ต้องสงสัย
สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวเปอร์เซีย และหากสังเกตจากบันทึกของอาลักษณ์เปอร์เซียที่ระบุว่าก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีชาวเปอร์เซีย 30 คน จนเมื่อรัชสมัยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชามีชาวเปอร์เซีย 100 คน การเพิ่มขึ้นของชาวเปอร์เซียจึงเทียบได้กับการเพิ่มพูนผู้สนับสนุนและเพิ่มอำนาจให้พระองค์ การรั้งรอโอกาสอันเหมาะสมจึงเป็นแผนการที่แยบยลมากทีเดียว
และไม่ใช่แต่ชาวเปอร์เซียเท่านั้น สมเด็จพระนารายณ์ยังทรงมีพันธมิตรจากกองทหารต่างชาติอื่นอีกหลายเชื้อชาติ แต่ไม่มีชาวจีน ผลสุดท้ายคือพระองค์จะใช้กองทหารเปอร์เซียเป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจและสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
ยึดอำนาจพระเจ้าอา
“พอถึงเดือนมุหัรฺร็อม และชาวอิหร่านก็จะทำพิธีในเดือนนั้นพระนารายณ์จึงทรงรับสั่งให้ชาวอิหร่านทำขบวนแห่ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอา ส่วนพระองค์และทหารคู่ใจจะเสด็จตามข้างหลัง พวกอิหร่านก็พากันไปเฝ้าและทูลว่า วันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนา อยากจะเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด…”
พิธีดังกล่าวคือ พิธีตะซิยัต (Taziyat) เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกและอาลัยถึงอิหม่ามฮุเซ็น (หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ เจ้าเซ็น) ผู้นำศาสนาของมุสลิมนิกายชีอะหฺ โดยพิธีจะแต่งริ้วขบวนทหารจำลองเหตุการณ์สงครามสมัยอิหม่ามฮุเซ็นแห่ไปยังพระราชวังหลวงเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทอดพระเนตร แผนการนี้ลุล่วงด้วยดี ขั้นต่อไปคือการกำจัดหรือตัดกำลังทหารของฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่ ในบันทึกระบุว่า
“…พระเจ้าแผ่นดินในสยามไม่ทรงบำรุงกองทัพไว้นอกจากราษฎรมาเป็นทหารเท่านั้น แต่บางครั้ง เมื่อจำเป็นก็เกณฑ์พวกเหล่านี้มาเป็นทหาร ในหมู่พวกเหล่านี้มีพวกที่กล้าหาญหลายกลุ่ม… พระเจ้าแผ่นดินจึงประทานที่อยู่ในวังใกล้ ๆ พระองค์เพื่อเป็นยามคอยป้องกัน สมเด็จพระนารายณ์จึงออกอุบายให้ทหารของพระองค์เผาหมู่บ้านของพวกนี้ซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี…”
และเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ทหารเหล่านั้นจำต้องละทิ้งหน้าที่ไปดับไฟ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาจึงรับสั่งให้ทหารรักษาการณ์ออกไปช่วยดับไฟอีก แผนการเข้าทางสมเด็จพระนารายณ์มากขึ้นเมื่อทรงเกลี้ยกล่อมทหารรักษาการณ์เข้ามาเป็นพรรคพวกได้เพิ่มอีก
“…ตอนนี้พวกอิหร่านก็เอาพิธีทางศาสนาเป็นอุบายบังหน้า ถือโอกาสเข้าไปในพระราชวัง เข้าล้อมวังและให้ปืนใหญ่ยิง สมเด็จพระนารายณ์ก็เสด็จมาสมทบด้วย ทั้งทรงส่งพระสุรเสียงว่า ‘ข้าแต่ท่านอะลี’ แล้วทั้งหมดก็กรูกันเข้าไปยังที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน…”
ที่ว่ายิงปืนใหญ่นั้น เข้าใจว่าเป็นการสร้างภาพเพื่อให้ขบวนแห่ที่พรรณานั้นคึกคักสมจริงขึ้น เพราะเป็นการทำพิธีไว้อาลัยท่านอิมามหุสัยน์ที่เสียชีวิตในการสงครามที่กัรฺบะลา เรื่องที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงตะโกนออกนามของท่านอิมามอฺะลี บิดาของท่านอิมามหุสัยน์นั้นน่าเป็นจริง เพราะพวกชีอฺะฮฺมักจะออกนามเช่นนี้เสมอเมื่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, 2545)
อาลักษณ์คณะราชทูตเปอร์เซียบันทึกเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงกระโดดน้ำหลบหนีไปแต่ไม่ช้าก็ถูกจับกุมพระองค์ได้แล้วทรงถูกถอดออกจากราชบัลลังก์ และสมเด็จพระนารายณ์ก็สถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์ใหม่เมื่อวันที่ 8 มุหัรฺร็อม ฮ.ศ.1068 ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1657
อิบนิ มูฮัมหมัด อิบรอฮีม อาลักษณ์ผู้บันทึกหลักฐานชิ้นนี้พร้อมคณะราชทูตออกเดินทางจากท่าบันดัรฺอัฺบบาส ในดินแดนเปอร์เซีย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ.1685 และเดินทางกลับถึงท่าเรือนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1688 รวมระยะเวลากว่า 3 ปี
อ้างอิง
สำเภากษัตริย์สุลัยมา. (2545). แปลโดย ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2537). การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. (กุมภาพันธ์, 2542). อกามะหะหมัด ชาวเมืองแอสตาราบัด (Aqa Mahammad Astarabadi) อัครมหาเสนาบดีชาวอิหร่าน ในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 20 (ฉบับที่ 4) : หน้า 108
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี