คำว่า “ทวารวดี” ในความหมายทางศิลปะ และประวัติศาสตร์ของไทยนั้น หมายถึงชื่อรวมของกลุ่มชน ยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่พัฒนามาจากสังคมเกษตรกรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งชุมชนเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับกลุ่มชนภายนอกที่มีความเจริญมากกว่า โดยเฉพาะจากอินเดีย เมื่อราวประมาณ 2,000-1,800 ปีมาแล้ว ซึ่งผลของการขยายตัวของประชากรประกอบกับการติดต่อกับภายนอกทำให้สภาพของสังคมเริ่มมีความซับซ้อนเกิดการรวมตัวเป็น “นครรัฐ” ขนาดใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมแบบเดียวกันขึ้น ซึ่งรู้จักกันในนามว่า “ทวารวดี”
จดหมายเหตุของภิกษุจีน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวถึงดินแดนที่มีชื่อว่า “โถโลโปตี้”(To-Lo-Po-Ti) ว่า เป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างอีสานปุระ (ขอมโบราณ) กับศรีเกษตร (พม่าโบราณ) ซึ่งครั้งแรกก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่า หมายถึงเมืองใดกันแน่ แต่ต่อมาได้ค้นพบเงินเหรียญในบริเวณภาคกลางของไทยที่มีจารึกว่า “ศรีทวารวตี ศวรปุณยะ” อันได้แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี” จึงทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า “นครรัฐทวารวดี”ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12-16
แม้ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ศูนย์กลางของนครรัฐทวารวดีนั้นอยู่ในเมืองใด แต่ได้พบหลักฐานที่เป็นงานศิลปกรรมกระจายอยู่เกือบทั่วทุกภาคของประเทส จึงมีความเป็นไปได้ว่าศูนย์กลางของนครรัฐทวารวดี อาจมิได้มีเพียงแห่งเดียว แต่น่าจะอยู่ในลักษณะของ “รัฐ” หลายๆรัฐมารวมกัน โดยมีอำนาจปกครองตนเอง ส่วนหลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่คล้ายคลึงกันนั้น อาจมิได้หมายความว่าเป็นอำนาจรวมศูนย์ แต่คงเกี่ยวเนื่องกับการรับอิทธิพลรากเหง้าศิลปกรรมทางพุทธศาสนาจากที่เดียวกันมากกว่า
วัฒนธรรมมอญโบราณ ที่เรียกกันว่า ทวารวดี น่าจะเกิดขึ้นในภาคกลางของประเทศไทยก่อน จากการรับอารยธรรมจากอินเดีย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11-15 เป็นต้นมา จากนั้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 ก็ได้แพร่ขยายมายังดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามในราวพุทธศตวรรษที่ 15 อิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรได้แพร่กระจายเข้ามาครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอีสาน จึงทำให้วัฒนธรรมทวารวดีถูกบดบังหายไปในที่สุด
งานศิลปกรรมของศิลปะทวารวดีนั้น เข้าใจว่ารับอิทธิพลมาจากศิลปะคุปตะและปาละเสนะของอินเดียเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ต่อมาได้มีการผสานศิลปะพื้นเมืองของแต่ละถิ่นเข้าไปด้วย จึงทำให้เกิดรูปแบบที่แตกต่างในรายละเอียดของแต่ละภูมิภาคออกไป
ศิลปะทวารวดีพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นงานศิลปกรรมที่ได้มีการผสมผสานกับศิลปกรรมพื้นเมืองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะงานศิลปกรรมประเภทใบเสมาหินขนาดใหญ่ ที่อาจถือเป็นเอกลักษณ์ของอีสานโดยเฉพาะ เนื่องจากแทบไม่พบในภาคอื่นเลย ใบเสมาหินเหล่านี้มีความโดดเด่นและแตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มใบเสมาแถบผ้าเมืองแดดสงยาง อ.กมลาไสย และใบเสมาที่บ้านหนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มักนิยมสลักเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดก เช่นเดียวกับกลุ่มเสมาที่เมืองคอนสวรรค์ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ
ส่วนใบเสมา แถบอ.วังสะพุง จ.เลย มักสลักเป็นภาพสถูปอยู่กลางแผ่นเสมา ซึ่งแม้จะเป็นคติเดียวกับที่พบบนใบเสมาแถบจ.ยโสธร แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สำหรับใบเสมาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะต่างๆที่มาผสมผสานกัน เช่น ศิลปะของจาม ศิลปะทวารวดีภาคกลาง ตลอดจนศิลปะเขมรในระยะต่อมา ใบเสมาสามารถกำหนดอายุได้ว่า คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 โดยประมาณ
พระพิมพ์สมัยทวารวดี ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบกันทั่วไป ส่วนใหญ่แล้ว พระพิมพ์สมัยนี้สืบทอดรูปแบบมาจากศิลปะทวารวดีภาคกลาง และบางชิ้นก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะปาละของอินเดียด้วย นอกจากนี้พระพิมพ์บางองค์ก็แสดงอิทธิพลศิลปะคุปตะและหลังคุปตะ (ของอินเดีย) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของศิลปะพื้นเมืองที่เข้าไปผสมผสานอยู่เสมอก็ทำให้มีรูปแบบที่ผันแปรต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค
ตัวอย่างพระพิมพ์กลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มพระพิมพ์จากอ.นาดูน จ.มหาสารคาม และจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ ที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะปาละ และคุปตะ ตามลำดับ ส่วนแผ่นเงินดุนรูปพระพุทธองค์ และสัญลักษณ์ทางศาสนา ที่พบจากโบราณสถานอุ่มญาคู อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ก็นับว่าเป็นงานศิลปกรรมที่มีความงดงามอย่างยิ่งกลุ่มหนึ่ง
งานศิลปกรรมที่น่าสนใจอีกประเภทหนึ่ง ของสมัยทวารวดีในภาคอีสาน ก็คือ การสลักภาพพระพุทธองค์บนแผ่นผา โดยเฉพาะการจำหลักภาพพระพุทธไสยาสน์บนเพิงหิน เช่น ที่ภูปอ และภูค่าว จ.กาฬสินธุ์ หรือพระไสยาสน์บนเทือกเขาภูเวียง จ.ขอนแก่น นับเป็นงานที่แสดงถึงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในสมัยทวารวดีได้เป็นอย่างดี
___________________
ศิลปะลพบุรี หมายถึงศิลปวัตถุซึ่งมีอิทธิพลหรือรับแบบอย่างทางศิลปะขอมหรือเขมรที่พบในประเทศไทย รวมทั้งศิลปวัตถุที่ทำขึ้นในประเทศไทย โดยรับอิทธิพลทางศิลปขอมและเขมร โดยเหตุที่ได้พบศิลปวัตถุดังที่กล่าวเป็นครั้งแรกและมากมายในจ.ลพบุรี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ จึงได้ดำริให้ใช้คำว่า ศิลปะสมัยลพบุรี มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ต่อมาเมื่อมีการศึกษาทางวิชาโบราณคดีเพิ่มเติมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จึงได้ขยายการกำหนดอายุศิลปะลพบุรี ไปถึงพุทธศตวรรษที่ 12-20
ศิลปวัตถุสมัยลพบุรีที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นศิลปกรรมที่นับเนื่องทางศาสนา มีทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพรมหมณ์ หรือ ฮินดู พระพุทธรูปในสมัยลพบุรีนิยมเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ปางสมาธิ ปางแสดงธรรม ซึ่งมักจะเป็นพระพุทธรูปยืน เช่น ที่ปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปสมัยทวารวดี
ในประเทศไทยพระพุทธรูปในสมัยลพบุรี จะมีพระเกตุมาลาเป็นตุ่มนูน ขมวดพระเกศาบนเป็นก้นหอย มีเส้นไรพระศกเป็นกรอบรูปพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม มักจะมีศิราภรณ์เป็นทรงเทริด หรือกระบังหน้า ประดับบนพระเศียร พระกรรณยาว ในพุทธศตวรรษที่ 18 พระพุทธรูปมักจะมีพระเนตรที่หลุบต่ำคล้ายหลับ พระพักตร์อมยิ้ม แสดงความเมตตากรุณา เป็นแบบที่เรียกกันว่ายิ้มบายน (เนื่องจากราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับศิลปขอมหรือเขมรในสมัยบายน รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา)
พระพุทธรูปในช่วงแรกจะไม่มีชายสังฆาฏิ และนุ่งผ้าเว้าลงมาถึงบั้นพระองค์ ต่อมาพระเศียรมีขมวดพระเกศา พระเกตุมาลาหรือพระเมาลี ประกอบด้วยกลีบบัวซ้อนกัน3ชั้น และเหนือนั้นเป็นรัศมีรูปบัวตูมหรือลูกแก้วเล็กๆ พระพุทธรูปยืนจะมีชายอันตรวาสก (สบง) ยาวเลยจีวร เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะลพบุรี นับว่าเป็นศิลปะที่มีอิทธิพลต่อศิลปในประเทศไทยในสมัยต่อมา คือ ศิลปอู่ทอง และสมัยอยุธยาตอนต้น
สำหรับเทวรูปหรือรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู มีทั้งที่สลักด้วยศิลาและหล่อด้วยโลหะมักจะเป็นเทวรูปยืน มีศิราภรณ์ขมวดพระเกศาเป็นทรงกระบอกหรือทรงกรวย มีกระบังหน้าพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม มีหนวดเครา มีสร้อยคอและเครื่องประดับอื่นๆ นุ่งผ้าแบบสมพต คือ โจงกระเบนสั้น มีขมวดชายผ้า ผ้าห้อยหน้าหลัง เป็นการใช้เครื่องแต่งกายตามประเพณีดั้งเดิม ลักษณะทั้งหมดดังที่กล่าวใช้ความแตกต่างเป็นเครื่องกำหนดอายุสมัย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
อิทธิพลทางศิลปขอมหรือเขมร หรือศิลปลพบุรีในอีสานนั้น เผยแพร่จากอาณาจักรกัมพูชาเข้ามายังประเทศไทยจากอีสานตอนล่าง หรือบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ พาดผ่านนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ บางแห่งที่พบ เช่น ที่มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานี หนองคาย คือ อีสานตอนบน ไปถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่น ที่เวียงจันทน์ และนครจำปาศรี เป็นอิทธิพลของศิลปะขอมหรือเขมรที่ขึ้นมาตามเส้นทางแม่น้ำโขง
ศิลปวัตถุสมัยลพบุรี ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ส่วนใหญ่ เป็นศิลปวัตถุที่ได้มาจากการดำเนินการทางโบราณคดี คือการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองนครจำปาศรี อ.นาดูน จ.มหาสารคาม และโบราณสถานกู่แก้ว บ้านหัวสระ ต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เนื่องจากกรมศิลปากรกำหนดนโยบายว่า พบศิลปวัตถุจากที่ใดควรนำไปจัดแสดง ณ จังหวัดนั้นๆ หรือภายในเขตที่ตั้งของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ ส่วนศิลปวัตถุที่นำมาจากที่อื่น เพื่อประสงค์ให้การเข้าชมศึกษาเป็นที่เข้าใจชัดแจ้งยิ่งขึ้น
________________________
ทัวร์ ‘ทวารวดี’ ปะทะ ‘เขมร’ วัฒนธรรมไฮบริดต้นลุ่มน้ำชี จ.ชัยภูมิ-ขอนแก่น
วิทยากร รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ & รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
วันเสาร์อาทิตย์ที่ 9-10 พ.ย.62
ราคา 7,200 บาท
สนใจติดต่อ inbox เฟซบุ๊กMatichon Academy – มติชนอคาเดมี
โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour
line : @matichonacademy