ชาวต่างชาติคนสำคัญผู้หนึ่งที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย “สังฆราช ฌอง แบปติสต์ ปาลเลอกัวซ์ “ (Bishop Jean-Baptiste Pallegoix) เป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศส เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และพำนักอยู่จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นเวลายาวนานกว่า 32 ปี จึงได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทยอย่างยาวนาน กลายเป็นผลงานด้านงานเขียนที่ทรงคุณค่าแก่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
“ปาลเลอกัวซ์” เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2348 ที่เมืองกอมแบร์โตลท์ ประเทศฝรั่งเศส ก่อนเดินทางมาถึงประเทศไทย ปาลเลอกัวซ์และบาทหลวงแดส์ชาวานส์ ออกจากท่าเรือเมืองฮาฟร์(Havre)ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2371 มาพักอยู่ที่เมืองมาเก๊านานหลายเดือนจึงเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ แล้วค่อยเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นปาลเลอกัวซ์อายุได้ 25 ปี
ช่วงแรกมาพักอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ บางรัก ขณะนั้นยังไม่รู้ภาษาไทยแม้แต่คำเดียว จึงลงทุนลงแรงเรียนภาษาไทยอยู่หลายเดือนแล้วค่อยเริ่มต้นทำงานเผยแผ่คริสต์ศาสนาในหมู่พวกนอกรีตและชาวจีน หลังจากนั้นขออนุญาตไปประจำอยู่ที่วัดนักบุญยอเซฟ พระนครศรีอยุธยา เพราะวัดแห่งนั้นยังไม่มีบาทหลวงคาทอลิกแม้แต่คนเดียวตั้งแต่ครั้งเสียกรุงให้แก่พม่า พ.ศ.2310
ปาลเลอกัวซ์ได้ซื้อที่ดินของหมู่บ้านคริสตังดั้งเดิมตำบลหัวรอกลับคืนมา แล้วลงมือสร้างโบสถ์หลังใหม่ลงบนฐานเดิมของวัดนักบุญยอเซฟที่ถูกไฟไหม้จนกลายเป็นเถ้าถ่านมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา แต่จากการที่ปาลเลอกัวซ์ฝ่าฝืนคำสั่งของทางการสยาม ที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางออกนอกเขตพระนคร และยังละเมิดกฎหมายด้วยการนำเอาครูสอนพระคริสต์ธรรมและพวกคริสตังเดินทางไปรวมตัวกันอยู่ที่เมืองกรุงเก่าเพื่อรื้อฟื้นกลุ่มคริสตังขึ้นมาใหม่ จึงถูกขัดขวางจากขุนนางหัวเก่าที่หวาดระแวงในตัวปาลเลอกัวซ์ แม้ก่อนหน้านี้จะได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็ตาม ส่งผลให้โบสถ์วัดนักบุญยอเซฟมาแล้วเสร็จเอาในพ.ศ.2387 และกว่าจะทำพิธีเสกก็ล่วงเข้าปี 2410
ช่วงพ.ศ.2377 ปาลเลอกัวซ์ได้ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตเมืองลพบุรีเพื่อสอนคริสต์ศาสนาให้ชาวลาว แต่ถูกข้าราชการท้องถิ่นของเมืองลพบุรีจับมาขังคุกถึง 2 วัน แล้วถูกนำตัวไปพิจารณาคดียังเมืองพรหมตามข้อกล่าวหาของเจ้าเมืองลพบุรี แต่ในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว และต่อมาอีกหลายปีได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดคอนเซ็ปชัญ ระหว่าง พ.ศ.2379-พ.ศ.2381 ช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดคอนเซ็ปชัญได้สร้างศรัทธาแก่คริสต์ศาสนิกชนเป็นอย่างมาก มีคนเดินทางมาทำบุญจนวัดคับแคบจนต้องสร้างวัดใหม่
สังฆราชปาลเลอกัวซ์ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏ และทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส(วัดสมอราย) ซึ่งอยู่ติดกับวัดคอนเซ็ปชัญ มีเพียงลำคลองแคบๆกั้นกลางเท่านั้น ด้วยความที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระทัยใฝ่รู้ในวิทยาการแผนใหม่ของฝรั่งตะวันตก เมื่อทรงทราบกิตติศัพท์ความรอบรู้ของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ จึงให้นายเกิดมหาดเล็กไปเชิญมาเข้าเฝ้าแล้วขอให้ช่วยสอน ทำให้สังฆราชปาเลอกัวซ์ได้ถวายความรู้เรื่องสรรพวิทยาการของชาติตะวันตก เช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศส รวมทั้งเรื่องคริสต์ศาสนาแด่เจ้าฟ้ามงกุฏ
ขณะเดียวกันปาลเลอกัวซ์เองก็ได้เรียนรู้ภาษาบาลี ภาษาไทย พระพุทธศาสนา และพงศาวดารสยาม จากสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง การได้เข้าเฝ้าและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันนี้ ก่อให้เกิดมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างนักปราชญ์ทั้งสอง จนกลายมาเป็นพระสหายสนิทยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผลงานอันทรงคุณค่าของปาลเลอกัวซ์ คือเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยาม เช่น เล่าเรื่องกรุงสยาม ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยนั้น ตลอดจนสภาพบ้านเมือง ภูมิประเทศ การปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี ธรรมชาติ กฏหมาย การค้า การอุตสาหกรรม ภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และพุทธศาสนา นับเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี เรื่องสัพะ พะจะนะ พาสา ไท เป็นการเรียบเรียงพจนานุกรม 4 ภาษา คือไทย ละติน ฝรั่งเศส และอังกฤษ
ปาลเลอกัวซ์ได้ย้ายออกจากวัดคอนเซ็ปชัญไปอยู่ที่วัดอัสสัมชัญหลังจากเป็นสังฆราชอยู่ถึง 24 ปี มรณภาพเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2405 อายุ 57 ปี
การสูญเสียสังฆราชปาลเลอกัวซ์ครั้งนี้สร้างความเศร้าสลดแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดให้เจ้าพนักงานจัดหีบทองทึบของหลวงไปบรรจุศพ และแห่ศพโดยทางเรือจากวัดอัสสัมชัญนำไปฝังยังวัดคอนเซ็ปชัญ ศพของปาลเลอกัวซ์ฝังไว้ใต้พื้นที่แท่นกลางในวัดคอนเซ็ปชัญ มีแผ่นจารึกประวัติอยู่บนกำแพง ด้านเหนือหลุมศพ หลังงานศพของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ คณะมิชชันนารีต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายแหวนประจำตำแหน่งของสังฆราช
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงมีพระราชสาส์นตอบกลับ “…เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับจดหมายที่ท่านส่งถึงเราเมื่อวานนี้ เพื่อขอบใจในการที่เราไปร่วมพิธีปลงศพพระสังฆราชแห่งมาลโลสที่น่านับถือยิ่ง ซึ่งเป็นมิตรที่แสนดี สนิทสนมและจริงใจต่อเราเป็นเวลาถึง 28 ปี ข้อความในหนังสือของท่านทำให้เรายินดีอย่างที่สุดเช่นเดียวกับของกำนัลที่ท่านได้ส่งมาพร้อมกันนี้ อันแหวนเสกอวยพรของพระสังฆราชนั้น เราจำได้ในทันทีว่าเป็นเสมือนสิ่งที่พระสังฆราช มิตรที่รักที่สุดของเราเคยสวมใส่เมื่อท่านมาพบเราและเคยให้เราพิจารณาดู มีผู้บอกเราว่าพระสังฆราชจะใช้แหวนนี้เฉพาะวันงานพิธีเท่านั้น เพื่ออวยพรเหล่าคาทอลิกในพิธีมิสซา เรารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่พวกท่านได้มอบของที่ระลึกแห่งมิตรอันสนิทของเรามาให้เช่นนี้…”
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี